อัมพาตครึ่งซีก รักษาได้ด้วยกายภาพบำบัด scaled

อัมพาตครึ่งซีก รักษาได้ด้วยกายภาพบำบัด

อัมพาต หรือที่เข้าใจกันอย่างทั่วไปว่าอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง อุบัติเหตุต่อไขสันหลัง การกดทับรากประสาท หรือความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเส้นประสาทส่วนปลาย ซึ่งแต่ละสาเหตุจะมีกระบวนการฟื้นฟูตนเองของส่วนที่ได้รับความเสียหาย และวิธีการฟื้นฟูทางกายภาพบำบัดแตกต่างกัน ในที่นี้จะขอให้ความสำคัญกับอัมพาตที่เกิดจากโรคหลอดเลือดสมอง หรืออุบัติเหตุที่ทำให้เนื้อสมองเสียหายเป็นหลัก

อัมพาตคืออะไร?

อัมพาต (Paralysis) คือภาวะที่กล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายอ่อนแรงลง จนไม่สามารถเคลื่อนไหวได้เลย ซึ่งแตกต่างต่างจากอัมพฤกษ์ (Paresis) ที่กล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายอ่อนแรงลง แต่ยังสามารถเคลื่อนไหวได้อยู่

สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะอัมพาตหรืออัมพฤกษ์นั้นมีหลายสาเหตุ เช่น ประสบอุบัติเหตุรุนแรงจนสมองได้รับการกระทบกระเทือน อาจจะมีอาการอ่อนแรงของร่างกายซีกตรงข้ามกับสมองที่ได้รับการกระทบกระเทือน หรือผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มีหลอดเลือดสมองแตก อาจมีอาการอ่อนแรงของร่างกายซีกตรงข้ามกับสมอง อาการอ่อนแรงจะเกิดขึ้นกับร่างกายซีกใดซีกหนึ่ง

ทั้งนี้อาการอ่อนแรงครึ่งซีกนี้ นิยมเรียกว่า อัมพฤกษ์ครึ่งซีก (Hemiparesis) ถ้าอาการอ่อนแรงนั้นรุนแรงมากจนผู้ป่วยไม่สามารถขยับร่างกายข้างที่มีปัญหาได้เลย จะเรียกว่า อัมพาตครึ่งซีก (Hemiplegia) ในผู้ป่วยกลุ่มที่มีปัญหาอ่อนแรงจากพยาธิสภาพของสมองนี้ มีโอกาสที่จะกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ เพราะสมองมีความสารถพิเศษในการฟื้นตัว (Brain plasticity) แต่ต้องได้รับการฟื้นฟูอย่างถูกต้องในช่วงเวลาที่เหมาะสมจากนักกายภาพบำบัด ซึ่งแตกต่างจากผู้ป่วยอัมพาตที่เกิดจากพยาธิสภาพของไขสันหลัง ทั้งในเรื่องของอาการแสดงและการฟื้นตัว

กล่าวคือ อัมพาตที่เกิดจากพยาธิสภาพของไขสันหลังจะทำให้เกิดการอ่อนแรงของร่างกายทั้งสองข้างในระดับที่ต่ำว่าระดับของไขสันหลังที่มีปัญหาลงไป อาการแสดงจึงเป็นการอ่อนแรงครึ่งท่อนล่างของร่างกาย ไม่ใช่ครึ่งซีกซ้ายขวา หากกล้ามเนื้ออ่อนแรงลง แต่ผู้ป่วยยังสามารถขยับร่างกายได้บ้าง จะเรียกว่า อัมพฤกษ์ครึ่งท่อน (Paraparesis) แต่หากผู้ป่วยไม่สามารถขยับร่างกายได้เลย จะเรียกว่า อัมพาตครึ่งท่อน (Paraplegia) เนื่องจากสมองและไขสันหลังจัดเป็นระบบประสาทส่วนกลาง เมื่อเกิดพยาธิสภาพขึ้นจึงทำให้เกิดความเสียหายต่อร่างกายเป็นวงกว้าง

อย่างไรก็ตาม ยังมี การอัมพาตที่เกิดจากการกดทับของเส้นประสาทส่วนปลาย (Peripheral nerve) หรืออุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับเส้นประสาทส่วนปลาย ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรงลงได้เช่นกัน แต่การอ่อนแรงนั้นจะเป็นวงแคบกว่า เช่น ทำให้เกิดการอ่อนแรงตั้งแต่ข้อศอกลงไปถึงปลายมือ หรือทำให้เกิดการอ่อนแรงตั้งแต่ข้อเข่าลงไปถึงปลายเท้า อย่างไรก็ตาม ในผู้ป่วยที่มีพยาธิสภาพที่ระบบประสาทส่วนกลางบางราย ก็อาจจะพบว่าแขนมีอาการอ่อนแรงลง หรือขาเพียงข้างเดียวเหมือนมีพยาธิสภาพที่ระบบประสาทส่วนปลายก็ได้

โรคหลอดเลือดสมองคืออะไร ทำให้เกิดอัมพาตได้อย่างไร?

โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) คือโรคที่เกิดจากการทำงานของระบบประสาทผิดปกติ อันเนื่องจากระบบไหลเวียนเลือดที่ไปเลี้ยงสมองมีปัญหา ทำให้เนื้อสมองบางส่วนขาดเลือดหรือถูกก้อนเลือดกดทับ

สมองมีหน้าที่สำคัญคือเป็นศูนย์กลางรับความรู้สึกที่มีต่อสิ่งกระตุ้น ก่อนจะควบคุมให้ร่างกายเคลื่อนไหวเพื่อตอบสนอง เมื่อเนื้อสมองผิดปกติไปเนื่องจากขาดเลือดมาเลี้ยงหรือโดนกดทับ จึงส่งผลให้การควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อผิดปกติ ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ ผู้ป่วยบางรายอาจสูญเสียการรับความรู้สึกที่ผิวหนังไป ไม่สามารถบอกได้เมื่อโดนสัมผัส ไม่รับรู้อุณหภูมิของสิ่งที่จับ นอกจากด้านร่างกายแล้ว ในบางรายอาจจะพบความผิดปกติของการพูดและการเข้าใจภาษา (Global aphasia) ผู้ป่วยบางรายเข้าใจสิ่งที่คนอื่นพูด แต่ไม่สามารถพูดโต้ตอบกลับไปได้ บอกชื่อสิ่งของตรงหน้าไม่ได้ (Motor aphasia) ในผู้ป่วยบางรายสามารถพูดสื่อสารสิ่งที่ตัวเองรู้สึกนึกคิดได้ แต่ไม่สามารถเข้าสิ่งที่คนอื่นพูดได้เลย (Sensory aphasia)

ประเภทของโรคหลอดเลือดสมอง

โรคหลอดเลือดสมองสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ตามสาเหตุของการเกิด ได้แก่

  1. เส้นเลือดสมองอุดตัน (Ischemic stroke) มี 2 สาเหตุหลัก คือ
    1. หลอดเลือดเสื่อมสภาพ (Atherosclerosis) หรือมีรูเล็กลงเนื่องจากมีคราบไขมัน หรือหินปูนไปเกาะที่ผนังหลอดเลือด มักพบในผู้สูงอายุ
    2. ภาวะลิ่มเลือดอุดกั้น (Embolism) เกิดจากมีลิ่มเลือดที่แข็งตัวมาจากหลอดเลือดใดหลอดเลือดหนึ่งในร่างกายหลุดลอยมาอุดกลั้นในหลอดเลือดสมอง ทำให้เนื้อสมองหลังจากบริเวณที่ถูกอุดกั้นขาดเลือด และตายในที่สุด อาการมักค่อยเป็นไปช้าๆ
  2. เส้นเลือดในสมองแตก (Hemorrhagic stroke) มักพบในผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูง หลอดเลือดเปราะและโป่งพอง (Aneurysm) มักมีอาการอย่างฉับพลันกะทันหัน เลือดที่ออกมานอกหลอดเลือดสามารถคั่ง จับตัวกันเป็นก้อน และกดทับเนื้อสมองให้ตายได้

นอกจากนี้ยังมีอาการของโรคหลอดเลือดสมองอีกแบบที่พบได้บ่อย มักเป็นและหายไปได้เองภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งนับว่าเป็นอาการเตือนที่สำคัญ เนื่องจากเป็นอาการแสดงของ ภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (Transient ischemic attack) หากเป็นหรือพบว่าคนใกล้ชิดมีอาการนี้ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อหาวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดความพิการถาวรขึ้น

อาการของโรคหลอดเลือดสมอง

อาการและอาการแสดงของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมีมากมาย บางรายอาจสังเกตเห็นอาการได้ยาก ที่มักพบบ่อย ได้แก่

  • ปวดศีรษะมาก เวียนหัว มีอาเจียนพุ่ง
  • อ่อนแรงหรือชาซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย หยิบจับของแล้วตก ไม่สามารถเดินได้ด้วยตัวเอง
  • สังเกตเห็นมุมปากข้างใดข้างหนึ่งตก พูดช้า ลิ้นแข็ง พูดไม่ชัด พูดไม่ออก
  • ตาพร่า มองเห็นภาพเบลอ
  • หากเป็นผู้สูงอายุที่มีหลอดเลือดสมองตีบ อาจจะสังเกตพบว่ามีอาการซึมลงอย่างต่อเนื่อง และเคลื่อนไหว หรือพูดน้อยลง

เมื่อพบเห็นผู้ป่วยที่มีอาการเหล่านี้ควรรีบพาไปโรงพยาบาลอย่างเร็วที่สุด เพื่อจะได้สามารถช่วยเหลือได้ทัน การรักษาขาดเลือดมาเลี้ยง (Cerebral infraction) ซึ่งมีสาเหตุมาจาก เส้นเลือดสมองอุดตัน (Ischemic Stroke) ในปัจจุบันทำได้ด้วยการให้ ยาละลายลิ่มเลือด (Thrombolytic therapy) สำหรับผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดตีบหรือถูกอุดกั้นนั้น ถ้าทำได้ภ้ายใน 270 นาที หรือประมาณ 4 ชั่วโมงครึ่งนับตั้งแต่เริ่มมีอาการมักจะได้ผลดี หากช้ากว่านั้นเนื้อสมองที่ขาดเลือดส่วนใหญ่จะตายและไม่ตอบสนองต่อการรักษา ทางการแพทย์เรียกกระบวนการรักษานี้ว่า ทางด่วนโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke fast track) ส่วนการรักษาโรคหลอดเลือดสมองชนิดเส้นเลือดสมองแตกอาจจะต้องอาศัยการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน การพบแพทย์อย่างเร็วที่สุดเมื่อมีอาการจึงเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทั้งสองชนิดอย่างมาก

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง

มีปัจจัยเสี่ยงหลายข้อส่งผลต่อโรคหลอดเลือดสมอง ทั้งที่หลีกเลี่ยงได้และหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปัจจัยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ประกอบไปด้วย เพศชาย สูงอายุ และบุคคลในครอบครัวมีประวัติของโรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น ส่วนปัจจัยที่หลีกเลี่ยงได้ ได้แก่

  • เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมันในเลือดสูง
  • เป็นโรคอ้วน
  • มีพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่ไม่ส่งเสริมสุขภาพ ขาดการออกกำลังกายที่เหมาะสม สูบบุหรี่ ดื่มสุรา เป็นต้น

การฟื้นฟูทางกายภาพบำบัดจะช่วยผู้เป็นโรคหลอดเลือดสมองได้อย่างไรบ้าง?

การกายภาพบำบัดมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทุกชนิด ตั้งแต่ระยะพักฟื้นในโรงพยาบาลจนกระทั่งกลับไปพักรักษาตัวต่อที่บ้าน ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างการรักษาที่น่าสนใจในแต่ละช่วงเพื่อให้เห็นภาพชัดเจน โดยแบ่งตามระยะของอาการ ได้ 2 ระยะคร่าวๆ ดังนี้

1. ระยะพักฟื้นในโรงพยาบาล (Acute phase)

เป็นระยะแรกหลังผู้ป่วยมีอาการ กล้ามเนื้อยังอ่อนแรงอยู่มาก ในผู้ป่วยบางรายอาจจะไม่สามารถขยับร่างกายซีกหนึ่งได้เลย นักกายภาพจะให้การรักษาด้วยการออกกำลังกายแบบทำให้ (Passive exercise) เพื่อป้องกันข้อต่อติดแข็ง ป้องกันอาการบวมเนื่องจากการไม่ได้เคลื่อนไหว และอาการแทรกซ้อนอื่นๆ กระตุ้นให้กล้ามเนื้อเกิดการหดตัวด้วยไฟฟ้า (Electrical stimulation) ซึ่งเป็นวิธีเดียวที่สามารถทำให้กล้ามเนื้อของผู้ป่วยหดตัวได้ด้วยตนเอง ในกรณีที่ไม่มีคำสั่งจากสมอง โดยกระแสไฟฟ้านี้จะทำหน้าที่แทนกระแสประสาท มีด้วยกันหลายชนิด นักกายภาพบำบัดจะเลือกใช้ตามอาการของผู้ป่วย

เมื่อผู้ป่วยแข็งแรงขึ้น นักกายภาพบำบัดอาจจะช่วยให้ผู้ป่วยออกกำลังกายได้ด้วยตนเอง และมีแรงภายนอกช่วย (Active assisted exercise) ตามความสามารถของกล้ามเนื้อมัดนั้นๆ นอกจากนี้ยังมีการออกกำลังกายแบบพิเศษ ที่ช่วยสนับสนุนให้การเคลื่อนไหวของร่างกายอย่างธรรมชาติกลับมา เช่น การออกกำลังกายแบบกระตุ้นการรับรู้ของระบบประสาท (Proprioceptive neuromuscular facilitation) เป็นต้น

2. ระยะที่กลับไปพักรักษาตัวที่บ้าน (Rehabilitation Phase)

ในระยะนี้ขออนุมานว่าเป็นระยะที่ผู้ป่วยกลับไปพักรักษาตัวต่อที่บ้านเป็นหลัก หรืออาจจะเดินทางมารับการรักษาทางกายภาพบำบัดร่วมด้วยก็ได้ วัตถุประสงค์กายภาพบำบัดจะเน้นไปที่การฝึกการเคลื่อนไหว และให้ผู้ป่วยทำกิจวัตรประจำวันให้ได้ด้วยตัวเองมากที่สุด หรือสามารถกลับไปทำงานได้ มักประกอบไปด้วยการฝึกนั่ง ยืน เดิน เข้าห้องน้ำ รวมถึงการเลือกอุปกรณ์ช่วยพยุงต่างๆ ให้เหมาะสมกับอาการของผู้ป่วยแต่ละรายไป เช่น ในกลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองกล้ามเนื้อหัวไหล่ มักมีอาการอ่อนแรงเสี่ยงต่อการข้อไหล่หลุด นักกายภาพมักจะนิยมให้ใส่อุปกรณ์พยุงไหล่ (Bobath sling) เป็นต้น

นอกจากการรักษาที่ได้ยกตัวอย่างไปคร่าวๆ ยังมีการรักษาอีกหลายชนิดที่นักกายภาพบำบัดสามารถนำมาใช้ได้ ขึ้นกับอาการของผู้ป่วยแต่ละราย ข้อสำคัญสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองคือ มีช่วงเวลาที่สมองสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว หากได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมจากนักกาภาพบำบัด (Golden period) ซึ่งก็คือ 6 เดือนแรกนับจากเริ่มมีอาการ หลังจากนั้นการฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างช้าลง ดังนั้นทุกนาทีสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก

ภาวะอัมพฤษ์ อัมพาตครึ่งซีก รวมทั้งอาการอ่อนแรงที่เกิดจากพยาธิสภาพของสมอง ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสมองได้รับการกระทบกระเทือนโดยตรง หรือโรคหลอดเลือดสมองชนิดต่างๆ ทำให้เกิดความบกพร่องของร่างกายอย่างมาก มีโอกาสพัฒนาไปเป็นความพิการถาวรได้ การทำความเข้าใจสาเหตุและปัจใจเสี่ยงเพื่อให้รู้เท่าทันและหลีกเลี่ยงภาวะดังกล่าวจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ถึงแม้ว่าจะมีโอกาสสามารถฟื้นฟูให้ร่างกายกลับมาได้เหมือนปกติ แต่การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงทำได้ง่าย และใช้ต้นทุนน้อยกว่า เมื่อมีอาการแล้วการเข้ารับการรักษาและฟื้นฟูทางกายภาพบำบัดอย่างทันท่วงทีจะสามารถช่วยให้กลับมาใช้ชีวิตประจำวัน หรือพึ่งพาตัวเองได้มากที่สุด


เขียนบทความและตรวจสอบความถูกต้องโดย กภ. ธีรวิทย์ วิโรจน์วิริยะกุล

Scroll to Top