หนังหุ้มปลาย คือเนื้อเยื่อครอบปลายองคชาตที่เด็กผู้ชายทุกคนมีมาตั้งแต่แรกเกิด มักจะเปิดตอนอายุประมาณ 5–7 ปี
เจ้าสิ่งนี้นี่เองที่กลายมาเป็นปัญหาหนุ่ม ๆ หลายราย จากภาวะหนังหุ้มปลายตีบ หรือก็คือการเปิดหนังหุ้มปลายไม่ออกนั่นเอง ซึ่งก่อให้เกิดการติดเชื้อ การอักเสบ และอาการต่าง ๆ ตามมามากมาย
หนังหุ้มปลายคืออะไร ภาวะหนังหุ้มปลายตีบเกิดจากอะไร อาการเป็นแบบไหน รักษาอย่างไร หรือหายเองได้หรือเปล่า มาไขข้อสงสัยในบทความนี้กันได้เลย
สารบัญ
หนังหุ้มปลาย คืออะไร
หนังหุ้มปลาย หรือหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย คือส่วนของเนื้อเยื่อที่ครอบปลายองคชาตเอาไว้ โดยทารกเพศชายทุกคนเกิดมาพร้อมกับหนังหุ้มปลาย ในบางครอบครัวหรือศาสนาจะขริบหนังหุ้มปลายออกด้วยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน
หนังหุ้มปลายจะค่อย ๆ หย่อนคล้อยไปตามอายุของเด็กที่โตขึ้น โดยส่วนใหญ่ หนังหุ้มปลายจะเปิดตอนอายุประมาณ 5–7 ขวบ ช่วยให้ถอกหรือรูดหนังหุ้มปลายลงเพื่อทำความสะอาดได้ง่ายขึ้น
อย่างไรก็ตาม หนังหุ้มปลายของหลาย ๆ คนก็ไม่ได้เปิดออกตอน 5–7 ขวบ และอาจเปิดในภายหลังได้
ภาวะหนังหุ้มปลายตีบ คืออะไร
ภาวะหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชายตีบ (Phimosis) หรือหนังหุ้มปลายรัด คือภาวะที่ไม่สามารถถอกเปิดหนังหุ้มปลายออกมาได้
สิ่งนี้ถือเป็นเรื่องปกติในทารกและเด็กเล็ก แต่สำหรับบางราย ภาวะดังกล่าวอาจเกิดจากการติดเชื้อ การอักเสบ หรือการเกิดรอยแผลเป็น และจำเป็นต้องรักษาด้วยการใช้ยาหรือการผ่าตัด
โดยภาวะหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศตีบ แบ่งเป็น 2 แบบ ได้แก่
- หนังหุ้มปลายตีบทางสรีรวิทยา (Physiologic phimosis) คือ ภาวะหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศตีบที่เป็นตั้งแต่เกิด ซึ่งเป็นเรื่องปกติ โดยจะเปิดหนังหุ้มปลายได้ตอนอายุประมาณ 5–7 ขวบ
- หนังหุ้มปลายตีบทางพยาธิวิทยา (Pathologic phimosis) คือ ภาวะหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศที่เปิดได้ตามปกติ แต่หนังหุ้มปลายจะตีบเมื่อเกิดการติดเชื้อ การอักเสบ หรือการเกิดรอยแผล ส่วนใหญ่จะเกิดกับผู้ชายวัยทำงาน และจำเป็นต้องเข้ารับการรักษา
ภาวะหนังหุ้มปลายตีบ เกิดจากอะไร
หนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชายตีบเกิดขึ้นได้ทั้งกับทารกและผู้ใหญ่ โดยในกรณีทารก มักเป็นเรื่องปกติ แต่หากเกิดในผู้ใหญ่ อาจมาจากหลาย ๆ สาเหตุ ดังนี้
- การติดเชื้อและการอักเสบที่หนังหุ้มปลาย อาจทำให้ผิวหนังยืดหยุ่นน้อยลง
- การถอกหรือรูดเปิดหนังหุ้มปลายแรงจนเกินไป ทำให้ผิวสูญเสียความยืดหยุ่น
- การดูแลความสะอาดผิดวิธี ทำความสะอาดไม่ทั่วถึง ทั้งหลังอาบน้ำ หรือหลังปัสสาวะ
- ปัญหาสภาพผิวหรือโรคทางผิวหนัง เช่น โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) โรคผิวหนังอักเสบ (Eczema) โรคไลเคน พลานัส (Lichen planus)
- โรคประจำตัวต่าง ๆ เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน อาจเสี่ยงต่อภาวะหนังหุ้มปลายตีบและติดเชื้อที่หนังหุ้มปลายได้ง่ายกว่า
ภาวะหนังหุ้มปลายตีบ อาการเป็นแบบไหน
ภาวะหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชายตีบไม่ได้ทำให้เจ็บหรือปวด แต่ถ้าหนังหุ้มปลายรัดแน่นจนเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อการปัสสาวะ การมีเพศสัมพันธ์ การทำความสะอาด และยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือการอักเสบได้
อย่างไรก็ตาม ภาวะหนังหุ้มปลายตีบยังอาจก่อให้เกิดอาการเหล่านี้ได้ เช่น
- หนังหุ้มปลายอวัยวะเพศมีรอยแดง บวม หรืออักเสบ
- อวัยวะเพศมีกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์
- รู้สึกเจ็บหรือปวดเวลาอวัยวะเพศแข็งตัว หรือขณะมีเพศสัมพันธ์
- รู้สึกเจ็บหรือปวดเวลาปัสสาวะ
- ปัสสาวะไม่ออก
- มีเลือดปนในปัสสาวะ
- มีเลือดออกมาจากหนังหุ้มปลาย
- มีสารคัดหลั่งเป็นมูกหนาออกมาจากหนังหุ้มปลาย
ภาวะหนังหุ้มปลายตีบ รักษาอย่างไร
วิธีรักษาภาวะหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชายตีบมีหลากหลายวิธี โดยพิจารณาจากสาเหตุ ปัญหา ความรุนแรง และอาการที่เกิดขึ้น
- สำหรับเด็กเล็ก แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ปกครองหมั่นถอกหรือรูดหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชายเบา ๆ วันละหลายครั้ง จะช่วยให้หนังหุ้มปลายยืดหยุ่น และเปิดออกมาล้างทำความสะอาดได้ขณะอาบน้ำ
- ทายาหรือครีมที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ เช่น Betamethasone, Fluticasone Propionate, Hydrocortisone หรือ Triamcinolone ที่ช่วยให้ผิวหนังนุ่มและผ่อนคลาย ทำให้หนังหุ้มปลายยืดหยุ่นขึ้น
- การผ่าตัดรักษาภาวะหนังหุ้มปลายตีบ หรือที่เรียกว่าการขริบอวัยวะเพศชาย เป็นการตัดหนังหุ้มปลายเพื่อเปิดผิวหนังที่หุ้มหัวองคชาตออก
ภาวะหนังหุ้มปลายตีบ หายเองได้ไหม
หนังหุ้มปลายตีบทางสรีรวิทยา (Physiologic phimosis) หรือหนังหุ้มปลายตีบที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เป็นหนังหุ้มปลายตีบที่มักจะหายไปเองตอนอายุประมาณ 5–7 ขวบ
แต่หนังหุ้มปลายตีบทางพยาธิวิทยา (Pathologic phimosis) หรือภาวะหนังหุ้มปลายตีบที่เกิดจากการติดเชื้อ การอักเสบ หรือการเกิดรอยแผล จำเป็นต้องได้รับการรักษา หายเองไม่ได้ หากเกิดการติดเชื้อหรือการอักเสบบ่อย ๆ แพทย์จะแนะนำให้ขริบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย
ภาวะหนังหุ้มปลายตีบ และการรักษาด้วยการขริบ
การขริบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย (Circumcision) หรือที่นิยมเรียกว่า “ขริบหนังหุ้มปลาย” คือการตัดผิวหนังหุ้มปลายของอวัยวะเพศชายบางส่วนออก เพื่อให้หนังหุ้มปลายอวัยวะเพศเปิดได้
การขริบหนังหุ้มปลายช่วยรักษาภาวะหนังหุ้มปลายตีบได้ โดยการตัดหนังหุ้มปลายออก เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ และไม่ทำให้กลับมามีภาวะหนังหุ้มปลายตีบซ้ำ
นอกจากนี้ การขริบหนังหุ้มปลายจะช่วยให้ดูแลรักษาความสะอาดได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังลดความเสี่ยงต่อการหมักหมม ที่อาจนำไปสู่การติดเชื้อจนเกิดโรคต่าง ๆ อีกมากมาย
หากมีภาวะหนังหุ้มปลายตีบจากการติดเชื้อ การอักเสบ หรือเป็นแผลที่ปลายอวัยวะเพศบ่อย ๆ อย่ารอช้า ทักมาปรึกษา HDmall.co.th ได้เลย!
พร้อมแนะนำแพ็กเกจขริบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย มีทั้งขริบแบบไร้เลือด ขริบด้วยเลเซอร์ ปลอดภัย ราคาคุ้มค่า วางใจได้ จาก รพ. หรือคลินิกใกล้บ้านคุณ