ต้นกระสัง Peperomia pellucida

ต้นกระสัง (Peperomia pellucida)

ต้นกระสัง หรือผักกระสัง เป็นผักพื้นบ้าน คนส่วนใหญ่มักจะถอนทิ้งเพราะคิดว่าเป็นวัชพืช มีลักษณะลำตันเป็นปล้องใสๆ สีขาว มองเห็นข้างในชัดเจน นิยมใช้เป็นต้นไม้ในการทดลองวิทยาศาตร์เรื่องการลำเลียงน้ำและอาหารของพืช เป็นพืชตระกูลเดียวกับพริกไทย มีรสชาติเผ็ดร้อน ซ่า มีสรรพคุณทางยาคือช่วยแก้โรคเกี่ยวกับธาตุลม นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยเกี่ยวกับการต้านโรคมะเร็งอีกด้วย

ลักษณะของต้นกระสัง

ผักกระสังเป็นพืชขนาดเล็ก จัดเป็นไม้ล้มลุก สูงประมาณ 15-20 เซนติเมตร ลำต้นอวบน้ำ ขาวใส เปราะหักง่าย มีใบและฝักคล้ายกับต้นพริกไทย ใบสีเขียวหนารูปหัวใจ ขอบใบเรียบ ออกดอกเป็นช่อตามปลายยอด มีสีเขียวอ่อนหรือสีครีม สามารถนำเมล็ดเล็กๆบริเวณช่อดอกไปขยายพันธุ์ได้ มักขึ้นในที่ชื้น บริเวณกระถางต้นไม้

ต้นกระสังต้านมะเร็งได้จริงหรือไม่?

ในศึกษาในหลอดทดลอง พบว่าสารสกัดจากใบกระสัง มีฤทธิ์ต้านมะเร็งเต้านมได้ นอกจากนี้ต้นกระสังยังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีสารที่มีประโยชน์แก่ร่างกาย เช่น วิตามินซี เบต้าแคโรทีน ฟลาโวนอยด์ รวมถึงมีเทนนินและอัลคาลอยด์ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญและเป็นตัวช่วยต้านเชื้อจุลชีพ (Antimicrobial)

แนวทางการใช้ผักกระสัง ในทางการแพทย์พื้นบ้าน

หมอพื้นบ้านในที่ต่างๆ เช่น ในประเทศอินเดีย นิยมใช้ผักกระสังมาตำพอกหรือคั้นเอาน้ำทาบริเวณฝีที่มีหนอง แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก หรือบริเวณหัวสิวได้ เนื่องจากมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ แก้อักเสบ ใบสดสามารถรักษาโรคลักปิดลักเปิด แก้ไข้ แก้ปวดข้อ ข้ออักเสบ

ในประเทศบังคลาเทศ ใช้ทั้งต้นกระสังมาต้มน้ำรักษาอาการท้องเสีย (เนื่องจากสารแทนนินในต้นกระสังมีสรรพคุณแก้อาการท้องเสีย) นำมาตำพอกบริเวณที่ถูกแมลงกัดต่อย หรือบริเวณที่ถูกงูกัดก็ได้เช่นเดียวกัน

ในประเทศไนจีเรีย ใช้ใบสดของกระสังรักษาโรคน้ำกัดเท้าและรักษาบาดแผล

เมนูแนะนำจากต้นกระสัง

เมนูที่ทำได้ง่ายและค่อยข้างนิยมกัน ได้แก่ ยำผักกระสัง ซึ่งสามารถเพิ่มผักชนิดอื่นลงไปเพื่อเพิ่มสีสันความน่ารับประทานได้ด้วย เช่น แคร์รอต มะม่วง แตงกวา เป็นต้น หรืออาจนำผักกระสังนำมาใช้แทนผักสลัด หรือใช้ส่วนยอดอ่อนมากินกับน้ำพริก ใส่ในแกงเลียง แกงอ่อม หรือแกงป่าก็ได้เช่นกัน

ข้อดีอีกอย่างของผักกระสังคือ เนื่องจากเป็นพืชที่ขึ้นเองตามธรรมชาติได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องรดน้ำหรือปุ๋ยบำรุงใดๆ กระสังจึงเป็นผักปลอดสารพิษ รับประทานได้อย่างปลอดภัย


เขียนบทความโดย ทีมแพทย์แผนไทยประยุกต์ HD


ที่มาของข้อมูล

  • รัตนะ สุวรรณเลิศ, หน่วยอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พืชพรรณ ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม, ผักกระสัง (http://clgc.agri.kps.ku.ac.th/resources/weed/peperomia.html), เข้าถึงเมื่อ 7 กันยายน 2562.
  • Raghavenra H.L. and Prashith Kekuda T.R., Department of Biochemistry School of Medicine Wollega University, Ethnobotanical use, Photochemistry and Pharmacological activities of Peperomia Pellucida (L.) Kunth (PIPERACEACE)-A review (https://www.researchgate.net/publication/322984851_ETHNOBOTANICAL_USES_PHYTOCHEMISTRY_AND_PHARMACOLOGICAL_ACTIVITIES_OF_PEPEROMIA_PELLUCIDA_L_KUNTH_PIPERACEAE-A_REVIEW), 3 January 2018.
  • Desy Fitrya, Characterization of Anticancer, Antimicrobial, Antioxidant Properties and Chemical Compositions of Peperomia Pellucida Leaf Extract (https://www.researchgate.net/publication/267036625), October 2011.
Scroll to Top