เมื่อพูดถึงกระดูกบาง กระดูกพรุน คนมักจะนึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว อายุไม่เยอะยังไม่เป็นหรอก ความจริงแล้ว นอกจากอายุที่ทำให้กระดูกเสื่อมบางไปตามวัย ยังมีอีกหลายปัจจัยทำให้เสี่ยงต่อกระดูกบาง กระดูกพรุน โดยเฉพาะพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของเรา
สารบัญ
ภาวะกระดูกบาง กระดูกพรุน คืออะไร
ภาวะกระดูกพรุน หรือโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) เกิดจากความหนาแน่นของมวลกระดูกไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต หรือมวลกระดูกลดลง ทำให้กระดูกไม่แข็งแรงพอที่จะรับน้ำหนักของร่างกาย เมื่อเกิดอุบัติเพียงเล็กน้อยจะทำให้กระดูกเปราะบาง ผิดรูป แตก และหักได้ง่าย
ส่วนภาวะกระดูกบาง (Osteopenia) เป็นภาวะที่ความหนาแน่นและมวลของกระดูกน้อยกว่าปกติเหมือนกัน แต่ไม่น้อยถึงระดับที่วินิจฉัยว่าเป็นโรคกระดูกพรุน กล่าวคือ จะเกิดภาวะกระดูกบางขึ้นก่อน เมื่อไม่ได้รักษาหรือชะลอความเสื่อมของกระดูก จะทำให้เกิดกระดูกพรุนตามมา
พฤติกรรมเพิ่มความเสี่ยงภาวะกระดูกบาง กระดูกพรุน
การใช้ชีวิตประจำวันก็มีส่วนทำให้เสี่ยงภาวะกระดูกบางและกระดูกพรุนโดยไม่รู้ตัว ลองมาสำรวจดูว่า คุณกำลังทำพฤติกรรมทำร้ายกระดูกอยู่หรือไม่
สูบบุหรี่จัด
แคลเซียมมีหน้าที่สำคัญช่วยรักษาความเป็นกรดและด่างในเลือด เมื่อเราสูบบุหรี่จะทำให้ร่างกายเกิดภาวะเป็นกรด แคลเซียมเลยเป็นตัวที่มาช่วยรักษาสมดุลของเลือด ยิ่งสูบบุหรี่มากเท่าไร บุหรี่จะไปทำลายแคลเซียมของเรามากเท่านั้น
นอกจากนี้ สารนิโคตินและสารพิษในบุหรี่ยังทำลายเซลล์สร้างมวลกระดูก (Osteoblast) ซึ่งมีหน้าที่สร้างกระดูกใหม่จากแคลเซียมและโปรตีนตามกระบวนการของร่างกาย ทำให้กระดูกบางลง โดยเฉพาะคนที่สูบบุหรี่มากกว่า 20 มวนต่อวัน จะเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนได้สูง
ดื่มแอลกอฮอล์บ่อย ดื่มหนัก
แอลกอฮอล์ส่งผลเสียต่อร่างกายหลายอย่าง นอกจากเสี่ยงโรคตับแล้ว ยังกระทบต่อสุขภาพกระดูกของเราด้วย การดื่มแอลกอฮอล์จะขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมที่ลำไส้ ทำให้ร่างกายได้รับแคลเซียมน้อยลง และยับยั้งไม่ให้เซลล์สร้างมวลกระดูกทำงาน เกิดการสลายกระดูกเพิ่มขึ้น
การดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการดื่มเหล้า ไวน์ หรือเบียร์ โดยเฉลี่ยมากกว่า 3 แก้วต่อวัน เพิ่มโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนมากขึ้น ทางที่ดีไม่ดื่มเลยจะดีกับสุขภาพที่สุด หากอยากดื่ม แนะนำให้เลือกดื่มเครื่องดื่มที่มีปริมาณต่ำ ๆ และดื่มในปริมาณไม่มาก
ขยับตัวน้อย ไม่ออกกำลังกาย
ไม่ออกกำลังกาย นั่งท่าเดิมนาน ๆ ขยับร่างกายน้อย เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคกระดูกพรุนอย่างหนึ่ง เพราะการออกกำลังกายจะช่วยกระตุ้นกระบวนการสร้างกระดูก ทำให้การสลายมวลกระดูกช้าลง ลดความเสี่ยงจากกระดูกบางและกระดูกพรุน
รู้แบบนี้ อย่าลืมขยับร่างกายบ่อย ๆ มีไลฟสไตล์แอคทีค และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะตอนมีแดดอ่อน ช่วงเช้าหรือเย็น แนะนำให้เลือกประเภทการออกกำลังกายที่มีการลงน้ำหนักผ่านกระดูกหรือมีแรงต้าน เช่น วิ่งเหยาะ ๆ เดินเร็ว ปั่นจักรยาน ยกน้ำหนัก และเวทเทรนนิ่ง
ดื่มชา กาแฟ และเครื่องดื่มมีคาเฟอีนปริมาณมาก
เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ไม่ว่าจะเป็นกาแฟ ชา ช็อกโกแลต หากดื่มมากเกินพอดีจะทำให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมจากอาหารน้อยลง และยังเป็นตัวเสริมให้ขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะมากขึ้นด้วย เพิ่มความเสี่ยงให้กระดูกเปาะบาง
โดยพบว่า คนที่ดื่มชาหรือกาแฟเกินวันละ 3 แก้วต่อวัน จะเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกสะโพกหักถึง 3 เท่าเมื่อเทียบกันคนที่ไม่ดื่ม หรือดื่มเพียงเล็กน้อย
ชอบกินเค็ม
การกินเค็มในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่อาหารรสชาติเค็มเท่านั้น แต่ยังรวมอาหารที่มีโซเดียมสูง หรืออาหารที่มีเกลือเป็นส่วนประกอบมากกว่า 1 ช้อนชาด้วย ทำให้ร่างกายมีการขับโซเดียมและแคลเซียมในร่างกายออกทางปัสสาวะมากขึ้น
ดื่มน้ำอัดลมเป็นประจำ
ความซ่าหรือฟองฟู่ของน้ำอัดลมมักมาจากกรดฟอสฟอริก ซึ่งเร่งการขับแคลเซียมของร่างกายออกทางปัสสาวะ และยังทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมแคลเซียมจากสารอาหารที่รับประทานไปในแต่ละมื้อได้ ทางที่ดีไม่ควรดื่มเกิน 4 กระป๋องต่อสัปดาห์
เสี่ยงหรือสงสัยว่ามีภาวะกระดูกบาง กระดูกพรุน ทำอย่างไร
ปกติแล้ว ภาวะกระดูกบางและกระดูกพรุนมักไม่มีสัญญาณเตือน จนกระทั่งเกิดอุบัติเหตุแล้วถึงรู้ แค่ล้ม ชน กระแทกเบา ๆ กระดูกก็หัก โดยเฉพาะที่ข้อมือ หรือข้อสะโพก หรือวัดส่วนสูงแล้วความสูงลดลง เฉลี่ย 3 ซม. ต่อปี ซึ่งเกิดจากการะดูกสันหลังพรุนและกระดูกสันหลังยุบตัว
เมื่อมีอาการในข้างต้น หรือสงสัยว่ามีความเสี่ยงกระดูกบาง และกระดูกพรุน โดยเฉพาะคนที่มีครอบครัวมีประวัติเป็นโรคกระดูกพรุน เข้าสู่วัยหมดประจำเดือน หรืออายุ 60 ปีขึ้นไป สามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองกระดูกพรุน หรือตรวจสุขภาพกระดูกด้วยการตรวจวัดมวลกระดูก
นอกจากนี้ ยังสามารถตรวจพร้อมกับการตรวจสุขภาพประจำปีได้เลย เพื่อช่วยวางแผนป้องกัน หาทางชะลอ หรือทำให้กระดูกพรุนช้าลง ซึ่งจะต่างกันไปตามความเสี่ยงของแต่ละคน
HDmall.co.th มัดรวม โปรคัดกรองกระดูกพรุน ตรวจสุขภาพกระดูก เช็กความเสี่ยง ชะลอความเสื่อมกระดูกได้ทัน เลือกตรวจที่โรงพยาบาลใกล้บ้านคุณ