อาการเจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆ อาจเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อ การถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรือการทำงานผิดปกติของอวัยวะ แต่รู้หรือไม่ว่า พฤติกรรมในชีวิตประจำของคุณที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง ก็อาจเป็นสาเหตุของโรคได้เช่นกัน
วันนี้ HDmall อยากพาทุกคนมารู้จักกับ กลุ่มโรค NCDs ที่มีแนวโน้มพบผู้ป่วย และผู้เสียชีวิตมากขึ้นทุกปี มาดูกันว่ากลุ่มโรค NCDs คือโรคอะไร มีสาเหตุมาจากอะไร รวมถึงวิธีป้องกันและลดความเสี่ยง รวบรวมมาให้ครบในบทความนี้
สารบัญ
ทำความรู้จักกลุ่มโรค NCDs
กลุ่มโรค NCDs ย่อมาจาก Non-communicable diseases หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เป็นโรคที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ และไม่สามารถติดต่อระหว่างกันได้ เพราะกลุ่มโรค NCDs เกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่เหมาะสมเป็นระยะเวลานานอย่างต่อเนื่อง
ส่วนใหญ่โรคในกลุ่มนี้จะค่อย ๆ เกิดอย่างช้า ๆ มีอาการทีละน้อย โดยที่ผู้ป่วยอาจไม่รู้ตัว หากไม่ได้รับการรักษาจะส่งผลให้กลายเป็นโรคเรื้อรัง ทำให้สุขภาพร่างกายแย่ลงในระยะยาว และอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
กลุ่มโรค NCDs มีโรคอะไรบ้าง
ตัวอย่างโรค NCDs ที่พบบ่อย เช่น
โรคเบาหวาน
เกิดจากความผิดปกติของตับอ่อนที่หลั่งฮอร์โมนอินซูลินได้น้อยกว่าปกติหรือดื้ออินซูลิน ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงอย่างต่อเนื่องและเรื้อรัง หรือตั้งแต่ 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไป
หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รักษาอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนกับเส้นเลือดและระบบประสาท และอาจรุนแรงจนสูญเสียอวัยวะ
โรคความดันโลหิตสูง
เป็นภาวะที่ร่างกายมีความดันโลหิตสูงกว่าปกติเป็นเวลานานต่อเนื่อง คือมากกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท และมักไม่แสดงอาการ แต่จะส่งผลเสียต่อหลอดเลือดและหัวใจ ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
โรคไขมันในเลือดสูง
เป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับไขมันในเลือดมากกว่าเกณฑ์ปกติ โดยไขมันที่สูงอาจเป็นคอเลสเตอรอล หรือไตรกลีเซอไรด์ก็ได้
และยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เส้นเลือดตีบอุดตัน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง หากเลือดไหลเวียนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ได้ไม่เพียงพออาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
อ้วนลงพุง
อ้วนลงพุงเกิดจากการสะสมไขมันในช่องท้องมากเกินที่ร่างกายสามารถเผาผลาญได้หมด ส่งผลให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมา เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันพอกตับ เป็นต้น
โรคไตเรื้อรัง
เป็นภาวะที่ไตทำงานได้น้อยลงจนเกิดความผิดปกติต่าง ๆ นานมากกว่า 3 เดือนขึ้นไป มักไม่แสดงอาการระยะแรก
แต่เมื่อไตเสียหายหรือทำงานได้น้อยลงจะเริ่มแสดงอาการให้เห็น เช่น อาการบวมน้ำ บวมรอบดวงตาและใบหน้า ขาบวมกดแล้วเกิดเป็นรอยบุ๋ม ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะแดงเป็นเลือด หรือมีฟอง คลื่นไส้อาเจียน คันตามตัว เป็นต้น
โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง
เป็นภาวะที่ไขมันเกาะภายในผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแข็งตัว เพิ่มความให้หลอดเลือดตีบหรืออุดตัน จนนำไปสู่โรคต่าง ๆ เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น
โรคมะเร็ง
เป็นโรคที่เกิดจากเซลล์ในอวัยวะต่าง ๆ เติบโตผิดปกติจนเป็นก้อนเนื้อที่ลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียงหรือส่วนอื่นของร่างกายได้
โดยมะเร็งมีอยู่หลายชนิด ขึ้นอยู่ตำแหน่งที่เกิดและชนิดของเซลล์มะเร็ง เช่น มะเร็งปอด มะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก เป็นต้น
โรคถุงลมโป่งพอง
คือภาวะที่ถุงลมในปอดมีการขยายตัวมากกว่าปกติ ทำให้พื้นที่ผิวในปอดที่แลกเปลี่ยนออกซิเจนมีน้อยลง ส่งผลกระทบต่อการหายใจ และอวัยวะต่าง ๆ ได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ
ทำให้ผู้ป่วยมีอาการหายใจเหนื่อยหอบ หายใจตื้น มีอาการไอเรื้อรัง โดยสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคถุงลมโป่งพองมาจากการสูบบุหรี่
พฤติกรรมเสี่ยงที่ก่อให้เกิดกลุ่มโรค NCDs
กลุ่มโรค NCDs มีด้วยกันหลายโรค แต่ละโรคอาจมีสาเหตุการเกิดโรคที่แตกต่างกัน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่เหมาะสมจนกลายเป็นความเคยชิน และละเลยการดูแลสุขภาพโดยรวม ต่างก็มีผลต่อการเกิดโรคในกลุ่มนี้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
พฤติกรรมเสี่ยงที่ก่อให้เกิดกลุ่มโรค NCDs มีดังนี้
- รับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม เช่น รับประทานอาหารรสจัด ทั้งเค็มจัด เผ็ดจัด หวานจัด อาหารที่มีไขมันสูง รับประทานผักผลไม้น้อยน้อย รวมถึงรับประทานในปริมาณมากหรือให้พลังงานสูงเกินกว่าร่างกายต้องการ
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- สูบบุหรี่
- ออกกำลังกายน้อย หรือไม่ออกกำลังกายเลย
- มีความเครียดสะสม
- ทำงานหนัก และพักผ่อนไม่เพียงพอ
- รับประทานยาโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เช่น ยาชุด ยาแก้ปวด ยาสมุนไพร และยาลูกกลอน
- ดื่มน้ำน้อยเกินไป
เปลี่ยนพฤติกรรม ช่วยลดความเสี่ยงกลุ่มโรค NCDs
แน่นอนว่าเมื่อต้นเหตุของกลุ่มโรค NCDs มาจากพฤติกรรมในการใช้ชีวิตประจำวัน การลดความเสี่ยงกลุ่มโรค NCDs ได้นั้นคือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในแต่ละวันให้เหมาะสมและดีต่อสุขภาพ เช่น
- รับประทานอาหารให้หลากหลายและครบ 5 หมู่ อาหารที่รับประทานไม่ควรหวานจัด เค็มจัด หรือไขมันสูงจนเกินไป รวมถึงหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่หวานมันหรือน้ำตาลสูง หรือรับประทานแต่น้อย เช่น กาแฟเย็น ชาเย็น เครื่องดื่มปั่น น้ำหวาน น้ำอัดลม
- เน้นรับประทานผักผลไม้ให้มากขึ้น โดยผลไม้ควรเป็นชนิดที่ไม่หวานจัด และรับประทานในปริมาณที่พอดี
- ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีต่อครั้ง สัปดาห์ละ 5 ครั้งอย่างสม่ำเสมอ หรือรวมแล้ว 150 นาทีต่อสัปดาห์
- หลีกเลี่ยงและลดการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- หลีกเลี่ยงภาวะความเครียด หรือผ่อนคลายความเครียดสม่ำเสมอ
- ไม่ซื้อยารับประทานเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร รับประทานยาตามแพทย์สั่งหรือเท่าที่จำเป็น
และกุญแจสำคัญในการลดความเสี่ยงกลุ่มโรค NCDs คือ การตรวจสุขภาพประจำปี อย่างสม่ำเสมอ เพราะจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถตรวจเช็กสุขภาพร่างกายโดยรวมได้
หากตรวจพบความผิดปกติหรือโรคจะได้รักษาได้อย่างทันท่วงที ตลอดจนวางแผนการดูแลสุขภาพ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้
เห็นได้ว่ากลุ่มโรค NCDs เป็นผลสะสมของการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่เหมาะสมมาเป็นเวลานาน ในระยะแรกผู้ป่วยมักไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังป่วย กว่าจะรู้ตัวอีกที โรคก็ได้กลายเป็นโรคเรื้อรัง หรือโรคร้ายที่ยากต่อการรักษา และอาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในระยะยาว
บางกรณีอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต ในความเป็นจริงแล้ว กลุ่มโรค NCDs ป้องกันได้ด้วยการหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ และให้ความสำคัญกับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ
ลดความเสี่ยงโรคเรื้อรัง เลี่ยงกลุ่มโรค NCDs อย่าละเลยการตรวจสุขภาพประจำปี พบกับโปรดี ๆ แพ็กเกจราคาสุดคุ้มจากโรงพยาบาลชั้นนำที่ HDmall.co.th คลิกเลย! หรือเลือกแพ็กเกจไม่ถูก อยากได้คำแนะนำ จองคิวนัดหมาย ทักแอดมินได้เลย