myths about migraine disease misunderstanding scaled

มัดรวม 6 เรื่องเข้าใจผิดของปวดหัว ‘ไมเกรน’

เมื่อพูดถึงโรคไมเกรน (Migraine) คนส่วนใหญ่ต้องนึกถึงอาการปวดหัวข้างเดียวเป็นอันดับแรก แม้ว่าเราทุกคนจะคุ้นหูกับอาการปวดหัวชนิดนี้ แต่ยังมีอีกหลายเรื่องที่คุณยังไม่รู้ และอาจเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคไมเกรน 

การทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคไมเกรนใหู้กต้อง จะช่วยให้คุณดูแลตัวเองจากโรคนี้ได้ดียิ่งขึ้น บทความนี้จะมาไขความเข้าใจเกี่ยวกับอาการไมเกรนให้ทุกคนได้เข้าใจกัน

1. อาการไมเกรนเป็นแค่อาการปวดหัว

แม้ว่าอาการไมเกรนที่คนรู้จักจะหมายถึงอาการปวดหัวตุบ ๆ อย่างรุนแรงที่หัวข้างใดข้างหนึ่ง แต่จริง ๆ แล้วอาการปวดหัวเป็นเพียงอาการหนึ่งของโรคไมเกรนเท่านั้น 

ทางการแพทย์แบ่งอาการไมเกรนออกเป็น 4 ระยะ คือ

  • ระยะนำ (Prodrome) จะเกิดอาการอารมณ์แปรปรวน อ่อนไหว นอนไม่หลับ ปัสสาวะบ่อย หรือท้องผูก ซึ่งจะเกิดก่อนอาการปวดหัวประมาณ 1-2 วัน
  • ระยะอาการนำ (Aura) จะเกิดขึ้นก่อนอาการปวดหัวราว 1 ชั่วโมง อาจพบกับอาการแขนขาอ่อนแรง เป็นเหน็บชา เห็นแสงวูบวาบ หรือตาพร่ามัว
  • ระยะปวด (Attack) เป็นระยะที่คนรู้จักกันมากที่สุด จะเกิดอาการปวดหัวตุบ ๆ อย่างรุนแรงตามจังหวะชีพจร และอาจเกิดร่วมกับอาการคลื่นไส้ เวียนหัว ไวต่อแสง เสียงดัง และกลิ่น สามารถเกิดนานต่อเนื่องตั้งแต่ 4-72 ชั่วโมง
  • ระยะหาย (Postdrome) เกิดขึ้นหลังอาการปวดหัวหายไป เหลือไว้แต่อาการอ่อนเพลีย ไม่มีสมาธิ และเหนื่อยล้า

อย่างไรก็ตาม คนที่เป็นไมเกรนไม่จำเป็นต้องมีอาการครบทุกระยะ อาจมีอาการเพียงบางระยะก็ได้เช่นกัน

2. ปวดหัวข้างเดียว คือ อาการไมเกรน

อาการปวดหัวไมเกรนที่พบบ่อยมักเกิดขึ้นเพียงข้างใดข้างหนึ่ง ในความเป็นจริงแล้ว อาการปวดหัวไมเกรนสามารถปวดพร้อมกันทั้งสองข้างได้ ลักษณะการปวดจะปวดตุบ ๆ เป็นจังหวะ มักปวดระดับปานกลางไปจนถึงรุนแรง 

การปวดหัวข้างเดียวจึงไม่ได้หมายความว่าคุณต้องเป็นไมเกรนเสมอไป ควรสังเกตอาการอื่น ๆ ที่เกิดร่วมด้วย

3. ปวดหัวไมเกรนทำได้แค่กินยา

ความเข้าใจผิดนี้อาจทำให้คุณรับมือกับอาการไมเกรนได้ไม่ดี เพราะนอกจากการใช้ยาแก้ปวดเพื่อแก้อาการปวดหัวไมเกรนแล้ว ยังมีอีกหลายวิธีที่สามารถช่วยป้องกัน และลดความเสี่ยงของโรคไมเกรนได้ เช่น

  • การเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น เช่น การอดนอน การอดอาหาร การกินอาหารบางชนิด ความเครียด การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เสียงดัง หรือสถานที่ที่มีแสงจ้า ซึ่งแต่ละคนอาจมีปัจจัยกระตุ้นไมเกรนไม่เหมือนกัน จำเป็นต้องสังเกตว่าอาการปวดหัวมักเกิดตอนไหน
  • การใช้อาหารเสริมลดความถี่ของไมเกรน อย่างวิตามินบี 2 และแมกนีเซียมตามที่แพทย์แนะนำ
  • การออกกำลังกายเป็นประจำ
  • การรักษาด้วยแพทย์ทางเลือก เช่น การกดจุด หรือฝังเข็มในแพทย์แผนจีน

4. คาเฟอีนทำให้เป็นไมเกรน

ข้อนี้มีทั้งส่วนถูก และผิด แม้ว่าคาเฟอีนจะสามารถกระตุ้นให้เกิดอาการไมเกรนได้ แต่ต้องบอกว่ากับเฉพาะบางคนเท่านั้น ในทางตรงกันข้าม เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน อย่างชาและกาแฟ อาจส่งผลดีในผู้ป่วยไมเกรนบางคนได้ด้วยเมื่อดื่มในปริมาณไม่มาก  

แต่ถึงอย่างนั้น หากคุณเคยลองดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนแล้วเกิดอาการ การเลี่ยงเครื่องดื่มประเภทนี้ย่อมดีกว่า

5. ไมเกรนต้องมีระยะอาการนำ หรือ Aura เสมอ

คนที่เป็นไมเกรนคงรู้จักกับระยะอาการนำหรือ Aura อยู่แล้ว ซึ่งเป็นระยะก่อนที่จะเกิดอาการปวดหัวขึ้น โดยจะมีอาการมือไม้อ่อนแรงหรือเป็นเหน็บชา ตาพร่า เห็นแสงวูบวาบ หรือได้ยินเสียงวิ้งในหู 

ในความเป็นจริงแล้ว คนที่เป็นไมเกรนอาจไม่มีอาการใด ๆ เกิดนำมาก่อน หรือไม่มีอาการในระยะ Aura นั่นเอง อาการปวดไมเกรนอาจเกิดขึ้นพร้อมมีอาการอื่น ๆ ในระยะปวดหัวได้เลย 

6. อาหารเสริมรักษาไมเกรนได้

แมกนีเซียม วิตามินดี และวิตามินบี 2 เป็นสารอาหารที่มีข้อมูลชี้ว่าส่งผลดีต่ออาการไมเกรน โดยอาจช่วยลดความถี่ของอาการไมเกรนได้ แต่ยังไม่มีข้อมูลยืนยันแน่ชัดว่าการใช้อาหารเสริมช่วยรักษาอาการไมเกรนให้หายได้ 

ดังนั้น ลำพังการใช้อาหารเสริมเพียงอย่างเดียวจึงไม่ใช้วิธีในการรับมืออาการไมเกรนที่ถูกต้อง แต่ควรทำร่วมกับวิธีอื่น ๆ อย่างการใช้ยาแก้ปวดตามคำแนะนำแพทย์ และการดูแลตัวเองควบคู่ไปด้วย

นอกจากเรื่องเข้าใจผิดเหล่านี้แล้ว ยังอาจมีหลายเรื่องที่คุณสงสัยเกี่ยวกับอาการไมเกรน และอาการปวดหัว HDmall ขอแนะนำให้ไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ อาการสุ่มเสี่ยงที่ไม่แน่ใจ และสอบถามข้อสงสัย เพื่อการดูแลตัวเองอย่างถูกวิธี

ปวดหัวจนแยกไม่ออก ไมเกรนหรือเปล่า ปวดแบบไหนก็ไม่ต้องกังวล HDmall.co.th มีแพ็กเกจตรวจหาสาเหตุของอาการปวดหัว โดยคุณหมอเฉพาะทาง คลิกเลย หรืออยากแก้อาการปวดหัวไมเกรนด้วยแพทย์แผนจีน การฝังเข็มเราก็มีเหมือนกัน เข้าไปเปรียบเทียบแต่ละแพ็กเกจได้ ที่นี่ เลย

Scroll to Top