กลุ่มยารักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2

กลุ่มยารักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 กลุ่มเก่าและกลุ่มใหม่ มีอะไรบ้าง?

 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามียาหลายตัวที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้รักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ ซึ่งยาพวกนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่ยาใหม่เท่านั้น แต่เป็นยากลุ่มใหม่ที่ออกฤทธิ์แตกต่างจากยาที่มีอยู่เดิม

เราจำเป็นต้องเลิกใช้ยากลุ่มเก่าหรือไม่

คำตอบก็คือ ไม่จำเป็น ยารักษาโรคเบาหวานในกลุ่มเก่ายังคงสามารถใช้รักษาโรคได้ดีและมียา 2 กลุ่มที่กำลังมีการพัฒนาขึ้นมาอีก 2 ตัวเพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และสามารถทำให้การควบคุมระดับน้ำตาลอย่างเข้มงวดนั้นเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น

ยารักษาโรคเบาหวานกลุ่มใหม่ และยาชนิดใหม่

1. กลุ่ม DPP-4 inhibitors 

ยาในกลุ่มนี้จะยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ DPP-4 ที่ปกติทำหน้าที่ยับยั้งการทำงานของฮอร์โมน incretin จึงทำให้ incretin เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีการสร้างอินซูลินเพิ่มขึ้น ทำให้ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดลดลง

Sitagliptin phosphate: เป็นยาตัวแรกในกลุ่มนี้ที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยา ยานี้เป็นยาในรูปแบบกินวันละ 1 ครั้งพร้อมกับการคุมอาหารและการออกกำลังกาย หรือร่วมกับการทานยาเบาหวานในกลุ่มอื่น

2. กลุ่ม Incretin Mimetics

ยากลุ่มนี้จะเลียนแบบการทำงานของฮอร์โมน incretin ซึ่งช่วยให้ร่างกายผลิตอินซูลินได้มากขึ้น นอกจากนั้นยังช่วยลดอัตราการย่อยอาหาร ทำให้น้ำตาลกลูโคสเข้าสู่กระแสเลือดช้าลง ผู้ป่วยที่รับประทานยาในกลุ่มนี้อาจรู้สึกอิ่มนานขึ้น ทำให้ลดปริมาณอาหารที่กิน ซึ่งอาจช่วยลดน้ำหนักได้ในบางคน

Exenatide: เป็นยาในรูปแบบฉีด ใช้ร่วมกับยารับประทานของโรคเบาหวานอื่น ๆ ยานี้ไม่ใช่อินซูลินและไม่ได้ทำหน้าที่แทนอินซูลิน สามารถใช้ในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เท่านั้นและไม่สามารถใช้ร่วมกับอินซูลินได้ เป็นยาที่อยู่ในรูปแบบของปากกาฉีด ปริมาณยาที่ใช้เริ่มต้นที่ 5 ไมโครกรัม 2 ครั้งต่อวัน ก่อนอาหารเช้าและเย็น 60 นาที แพทย์อาจเพิ่มปริมาณยาขึ้นเป็น 10 ไมโครกรัมได้ขึ้นกับผลการรักษา

3. กลุ่ม Antihyperglycemic Synthetic Analogs

ยากลุ่มนี้เป็นสารที่สร้างขึ้นเลียนแบบฮอร์โมน amylin ซึ่งตับอ่อนใช้เพื่อลดระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือด โดยการยับยั้งการทำงานของ glucagon และช่วยเพิ่มความอิ่ม

Pramlintide acetate: ยาตัวนี้เป็นยาฉีดที่สามารถใช้ร่วมกับอินซูลินเพื่อให้คุมระดับน้ำตาลได้ดีขึ้น การใช้ยานี้จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำตาลต่ำ ดังนั้นผู้ป่วยที่จะใช้ยาตัวนี้จึงต้องมีการติดตามจากแพทย์อย่างใกล้ชิด

ยารักษาโรคเบาหวานกลุ่มเก่า

1. ยากลุ่ม Sulfonylureas

ยากลุ่มนี้เป็นยารักษาโรคเบาหวานแบบรับประทานที่เก่าที่สุด และเป็นยาเดียวที่ใช้รักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในช่วงก่อนปี 1995 ยากลุ่มนี้จะกระตุ้นในตับอ่อนหลั่งอินซูลินออกมามากขึ้น ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นคือภาวะน้ำตาลต่ำ และยากลุ่มนี้อาจใช้ไม่ได้ผลเมื่อผ่านไปไม่กี่ปี

ยาในกลุ่ม Sulphonylureas ที่นิยมใช้ ได้แก่ Glipizide, Glibenclamide, Glyburide, Glimepiride

2. ยากลุ่ม Biguanide

ยากลุ่มนี้ใช้ลดการสร้างกลูโคสที่ตับ และยังทำให้ร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินได้ดีขึ้น และช่วยลดระดับ cholesterol ได้เช่นกัน

Metformin: เป็นยาที่มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะน้ำตาลต่ำน้อยมากเมื่อใช้ตัวเดียว แต่อาจทำให้เกิดภาวะ Lactic acidosis ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้ไม่บ่อยแต่รุนแรงได้

3. ยากลุ่ม Alpha-Glucosidase inhibitors

ยากลุ่มนี้ช่วยชะลอการเปลี่ยนคาร์โบไฮเดรตเป็นน้ำตาลกลูโคสในกระบวนการย่อยอาหาร ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดในสูงมากเกินไป

ยาในกลุ่มนี้ เช่น Acarbose, Miglitol

4. ยากลุ่ม Thiazolidinediones

ยากลุ่มนี้ทำให้เซลล์กล้ามเนื้อ และไขมันตอบสนองต่ออินซูลินได้ดีขึ้น

ยาในกลุ่มนี้ เช่น Rosiglitazone, Plioglitazone

เมื่อ 21 พฤษภาคม 2007 องค์การอาหารและยาได้ออกประกาศเตือนเรื่องความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือภาวะอื่นๆ ทางหัวใจ และระบบไหลเวียนโลหิตที่อันตรายถึงชีวิตจากการกินยา Rosiglitazone คุณควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการใช้ยาตัวอื่นเพื่อควบคุมโรคเบาหวาน

5. ยากลุ่ม Meglitinide

ยากลุ่มนี้จะกระตุ้นการสร้างอินซูลินเมื่อมีน้ำตาลกลูโคสในกระแสเลือด หากระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ยากลุ่มนี้ก็จะไม่ทำงาน

ยาในกลุ่มนี้ เช่น Repaglinide, Nateglinide

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา

ยารักษาโรคเบาหวานเป็นยาที่ต้องใช้อย่างสมเหตุสมผลตามคำสั่งของแพทย์ มีการรับประทานหรือฉีดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลให้ปกติ แต่ยาบางชนิดก็มีอาจส่งผลข้างเคียงบางอย่างในขณะใช้ยา เช่น

  • ท้องเสีย
  • อ่อนเพลีย ง่วงนอนตลอดเวลา
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • มีอาการมวนท้อง
  • ไม่อยากอาหาร
  • คลื่นไส้ หรืออาเจียน
  • เลือดเป็นกรด ให้ระวังยาบางชนิดสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนเกี่ยวกับโรคไต โรคตับ โรคหัวใจ
  • บวมน้ำ

ถึงแม้จะมีกลุ่มยาชนิดใหม่ผลิตออกมา แต่การรับประทาน หรือฉีดยาตามความเหมาะสมของอาการและตามคำสั่งของแพทย์คือสิ่งสำคัญที่สุด อย่าทดลองใช้ยาตัวใหม่โดยไม่ปรึกษาแพทย์เสียก่อน เพราะจะทำให้เกิดอันตรายได้ และบางทียากลุ่มเก่าที่คุณใช้อยู่ ก็อาจเหมาะสมกับภาวะเบาหวานของคุณอยู่แล้วก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนเป็นยากลุ่มใหม่


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. พิสุทธิ์ พงษ์ชัยกุล


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top