Default fallback image

อัมพฤกษ์ อัมพาต กับ 7 เรื่องที่คนมักเข้าใจ และข้อเท็จจริงที่คนไม่รู้

คนมักเข้าใจว่า “อัมพฤกษ์ อัมพาต” เป็นการสูญเสียการเคลื่อนไหวร่างกายเหมือนกัน เป็นโรคเดียวกัน อาการเหมือนกัน ไม่มีความแตกต่าง แท้จริงแล้ว อาจถูกเพียงบางส่วน และมีอีกหลายเรื่องที่คนเข้าใจคาดเคลื่อนเกี่ยวกับอัมพฤกษ์ อัมพาต 

1. อัมพฤกษ์ อัมพาต เหมือนกัน? 

อัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นกลุ่มโรคเดียวกัน แต่แตกต่างกันตรงความรุนแรง โดยอัมพฤกษ์ (Hemiparesis) เป็นภาวะที่ร่างกายมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง มีอาการชา มักเป็นซีกใดซีกหนึ่ง ยังเคลื่อนไหวร่างกายได้ แต่เคลื่อนไหวได้ไม่สะดวก มีอาการอ่อนแรง 

ส่วนอัมพาต (Hemiplegia) เป็นภาวะรุนแรงกว่า ร่างกายสูญเสียความสามารถในการเคลื่อน ไหวไปทั้งหมด สามารถเกิดกับส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย หรือเกิดพร้อมกันหลายส่วน เช่น อัมพาตครึ่งซีก (ซีกซ้ายหรือซีกขวา) อัมพาตครึ่งท่อน (ท่อนบนหรือล่าง) หรืออัมพาตทั้งตัว

2. คนเป็นโรคหลอดเลือดสมองต้องเป็นอัมพาตทุกคน? 

โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคร้ายแรง อาการมักเกิดทันทีทันใด กว่าจะรู้ตัว อาการก็หนักแล้ว เมื่อได้รับการรักษาล่าช้าเลยนำไปสู่การเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือเสียชีวิต คนเลยอาจเข้าใจว่า คนเป็นโรคหลอดเลือดสมองแล้ว ต้องกลายเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตแน่ ๆ  

คนที่ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง ไม่จำเป็นต้องเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต เสมอไป หากดูแลตัวเองได้ดี และหมั่นสังเกตอาการผิดปกติ เพื่อไปรับการรักษาได้ทันจะมีโอกาสฟื้นตัวได้ดี ลดโอกาสเกิดความพิการ และเสียชีวิตได้

หากมีอาการใดอาการหนึ่ง คือ หน้าเบี้ยว แขนขาชาหรืออ่อนแรง พูดไม่ชัด พูดไม่ออก ตามัว มองเห็นภาพซ้อน เวียนศีรษะ ปวดศีรษะรุนแรงแบบที่ไม่เคยเป็น เดินเซ ซึมลง ควรพบแพทย์ทันที 

3. โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคคนแก่?

คนส่วนใหญ่อาจมีภาพจำว่าโรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคคนแก่ อัมพฤกษ์ อัมพาต จะเกิดขึ้นเฉพาะกับคนสูงวัยเท่านั้น แต่โรคหลอดเลือดสมองเกิดได้กับคนทุกวัย โดยเฉพาะเมื่อมีปัจจัยเสี่ยงต่อไปนี้

  • อายุ 45 ปีขึ้นไป
  • มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ และโรคอ้วน 
  • สูบบุหรี่จัด หรือดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  • มีพันธุกรรมของครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดสมอง
  • เป็นเพศชาย โอกาสจะสูงกว่าเพศหญิง
  • ขาดการออกกำลังกาย เคลื่อนไหวร่างกายน้อย

4. อัมพฤกษ์ อัมพาต เกิดจากโรคหลอดเลือดสมองเท่านั้น?

อัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นอาการผิดปกติของระบบประสาทในทันทีทันใดจากเนื้อสมองขาดเลือด หรือเลือดไปเลี้ยงได้น้อย จนเกิดความเสียหายของระบบประสาทที่ควบคุมการเคลื่อนไหว 

สาเหตุหลักมักมาจากโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) หรือโรคเกี่ยวกับสมองอื่น เช่น มะเร็งในสมอง เลือดออกในสมอง หลอดเลือดในสมองแตกจากโรคความดันโลหิตสูง หรือเส้นเลือดโป่งพองในสมอง

อีกสาเหตุพบได้บ่อยเกิดจากโรคบริเวณไขสันหลัง เช่น กระดูกสันหลังหัก กระดูกสันหลังเคลื่อน การติดเชื้อหรือเนื้องอกบริเวณกระดูกสันหลัง 

5. อัมพฤกษ์ อัมพาต ไม่มีสัญญาณเตือน?

เบื้องต้นสามารถสังเกตอาการอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ตามหลัก FAST หากพบสัญญาณเหล่านี้ ควรรีบพาไปพบแพทย์อย่างเร่งด่วน ยิ่งไปพบแพทย์เร็ว ยิ่งลดความรุนแรงของโรคได้

  • Face: ปากเบี้ยว หน้าเบี้ยว หรือหนังตาตกแบบเฉียบพลัน
  • Arms: แขนขาอ่อนแรงลง มีอาการชา เดินเซ ทรงตัวไม่อยู่
  • Speech: พูดช้า พูดไม่ชัด พูดติดขัด หรือนึกคำพูดไม่ออก
  • Time: จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาภายใน 4 ชั่วโมงครึ่ง เพื่อลดการเกิดความเสียหายของสมอง จนนำไปสู่อัมพฤกษ์ อัมพาต

6. อัมพฤกษ์ อัมพาต รักษาไม่ได้?

อัมพฤกษ์ อัมพาตมีโอกาสฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติได้ในบางคน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค สาเหตุ และระยะเวลาที่มารับการรักษา อีกทั้งการฟื้นตัวก็แตกต่างกันไปในแต่ละคน 

การรักษาอัมพฤกษ์ อัมพาตทำได้หลายวิธี หลัก ๆ จะเน้นการรักษาที่ต้นเหตุ เพื่อแก้ไขภาวะอุดตันหรือการแตกของหลอดเลือดแดง มีทั้งการใช้ยาสลายลิ่มเลือด (rtPA) การผ่าตัด การทำกายภาพบำบัด และการใช้เทคโนโลยี TMS ช่วยฟื้นฟูอาการทางสมอง

การรักษาจะช่วยฟื้นฟูอาการและการเคลื่อนไหว แต่ไม่อาจฟื้นฟูกลับมาได้ทั้งหมด หรือคนที่มีอาการรุนแรงอาจรักษาไม่หาย การดูแลสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ หากมีปัจจัยเสี่ยง ควรตรวจสุขภาพค้นหาความเสี่ยงโรคเพิ่มเติม จะช่วยลดความเสี่ยงโรคลง

7. อัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นโรคเวรโรคกรรม ป้องกันไม่ได้?

อัมพฤกษ์ อัมพาตเกิดได้จากหลายสาเหตุและหลายปัจจัย มีทั้งปัจจัยเลี่ยงไม่ได้ และปัจจัยเลี่ยงได้ สิ่งที่ทำได้ดี คือ ปรับเปลี่ยนปัจจัยที่เราควบคุมได้ หรือเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงโรคให้มากที่สุด ดังนี้ 

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดอาหารที่มีรสเค็มหรือหวานจัด เลี่ยงอาหารไขมันสูง
  • ควบคุมโรคประจำตัว ใช้ยาตาม และดูแลตัวเองตามที่แพทย์แนะนำ 
  • ออกกำลังกายอย่างเสมอ เพื่อรักษาสุขภาพโดยรวม และลดไขมันสะสมในหลอดเลือด 
  • ไม่สูบบุหรี่ เลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ 
  • เข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี หรือตรวจคัดกรองโรคหลอดเลือดสมอง เพื่อค้นหาความเสี่ยงของโรค หรือหาทางป้องกันก่อนเกิดโรค 

การดูแลสุขภาพอย่างดีตั้งแต่วันที่ยังไม่เป็นโรคย่อมดีที่สุด เมื่อมีความเสี่ยงควรรีบปรับเปลี่ยนก่อนเสี่ยงอัมพฤกษ์ อัมพาต ซึ่งช่วยป้องกันผลกระทบที่จะตามมา ทั้งการใช้ชีวิต สุขภาพ และค่าใช้จ่าย

อัมพฤกษ์ อัมพาต เกิดได้ปุบปับ คัดกรองโรคหลอดเลือดสมองก่อนเสี่ยง ลองดู โปรตรวจสุขภาพสมอง กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จองผ่าน HDmall.co.th รับราคาพิเศษ   

Scroll to Top