depression

ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ ป่วยใจอันตรายกว่าที่คิด!

ผู้สูงอายุเป็นวัยที่เข้าสู่ช่วงบั้นปลายของชีวิต สภาพร่างกายเริ่มเสื่อมถอย มีโรคประจำตัวรุมเร้า และยังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจ จึงเป็นอีกกลุ่มที่เกิดโรคซึมเศร้าได้ง่าย ไม่แพ้วัยหนุ่มสาว   

ดังนั้น การเตรียมความพร้อมและพยายามความเข้าใจถึงสุขภาพจิตของผู้สูงอายุ เป็นสิ่งสำคัญที่ลูกหลาน ครอบครัว รวมถึงตัวผู้สูงอายุเองควรให้ความสนใจ เพราะสูงวัยก็ใจบางได้เหมือนกัน

รู้จักกับภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ  

ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ (Late-life depression) เป็นโรคซึมเศร้าที่เกิดกับผู้สูงอายุ หรือคนอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ อาการซึมเศร้าที่เกิดก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ และอาการซึมเศร้าที่เกิดขึ้นในช่วงที่เข้าสู่วัยสูงอายุแล้ว 

ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุพบได้ราว 10-20% ของประชากร โดยจะเกิดกับผู้สูงอายุที่เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ต้องอยู่ตัวคนเดียว สูญเสียคนที่รัก 

ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ สังเกตได้อย่างไร 

ผู้สูงอายุที่เป็นซึมเศร้าจะมีทั้งอาการที่เหมือนและต่างจากคนวัยอื่น โดยสิ่งที่เหมือนกันคือ การเปลี่ยนแปลงทั้งด้านความคิดและอารมณ์ จะมีความรู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า ไม่อยากมีชีวิตอยู่ 

แต่สิ่งที่ต่างออกไปคือ การแสดงออก ในคนวัยหนุ่มสาวจะเห็นอาการหรือยอมรับว่าตัวเองมีภาวะซึมเศร้า และต้องการการรักษามากกว่าผู้สูงอายุ 

นอกจากนี้ ผู้สูงอายุมักมีอาการเจ็บป่วยตามช่วงวัยอยู่แล้ว เลยอาจทำให้สังเกตถึงความผิดปกติของโรคในช่วงแรกได้ยากกว่า จึงต้องอาศัยการสังเกตอาการหลาย ๆ อย่างรวมกัน

ผู้สูงอายุที่มีภาวะซึมเศร้าจะแสดงอาการทั้งทางจิตใจและร่างกาย ดังนี้ 

  • ชอบอยู่คนเดียว เก็บตัวเงียบ ปลีกตัวออกจากสังคม 
  • รู้สึกเบื่อหน่าย ไม่อยากทำกิจกรรมอะไรเลยแม้จะเป็นสิ่งที่เคยชอบ 
  • รู้สึกตนเองไม่มีคุณค่า และมองโลกในแง่ร้าย 
  • หงุดหงิด โมโหง่าย ดื้อ เอาแต่ใจตนเอง น้อยใจลูกหลาน และทะเลาะกันบ่อยครั้ง 
  • เบื่ออาหาร กินอาหารได้น้อยลง
  • รู้สึกอ่อนเพลีย เหม่อลอย ไม่มีเรี่ยวแรงจะทำอะไร
  • มีปัญหาการนอน นอนไม่หลับ หลับ ๆ ตื่น ๆ หรือนอนมากเกินไป 
  • ร้องไห้หรือน้ำตาไหลง่าย 
  • มีความคิดในการทำร้ายตัวเอง หรือไม่อยากมีชีวิตอยู่ อาจพูดเปรย ๆ เช่น “ไม่อยากอยู่” “ตาย ๆ ไปก็ดี”

หากลูกหลานสังเกตพบอาการข้างต้นเป็นต่อเนื่องนานกว่า 2 สัปดาห์ ควรพาผู้สูงอายุไปพบแพทย์ ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือนักจิตวิทยา โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ทำร้ายตัวเอง ควรพบจิตแพทย์โดยด่วน

ไม่แน่ใจอาการซึมเศร้าของผู้สูงอายุที่บ้าน รีบปรึกษาคุณหมอ! HDmall.co.th รวมแพ็กเกจปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาไว้แล้ว คลิกดูโปร หรือดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพทางจิตและอารมณ์อื่น ๆ ที่นี่ 

สาเหตุและปัจจัยทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าในสูงอายุ

สาเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุเกิดภาวะซึมเศร้ามีหลายปัจจัยทั้งทางร่างกาย จิตใจ สังคม และสภาพแวดล้อมร่วมกัน

ปัจจัยด้านร่างกาย

ความเสื่อมถอยของร่างกายตามช่วงวัย
เมื่ออายุเข้าสู่ 60 ปี อวัยวะในร่างกายที่เคยแข็งแรงจะค่อย ๆ เสื่อมถอยลง เช่น สายตาไม่ดี ได้ยินไม่ชัด ความจำแย่ลง ปวดเข่า ปวดขา เดินได้ไม่นานก็เมื่อย หอบ เหนื่อย เริ่มมีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวร่างกาย ทำให้ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งพาคนอื่นมากขึ้น

โรคประจำตัว หรือโรคที่รักษาไม่หาย
โรคประจำตัวหรือโรคเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไต ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกเบื่อหน่ายในการรักษาที่ยืดเยื้อ เจ็บตัว มีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง จนเกิดปัญหาทางด้านจิตใจตามมา 

หรือบางโรคก็ร้ายแรงรักษาไม่หายขาด อย่างโรคมะเร็ง ผู้สูงอายุจึงไม่ยอมร่วมมือในการรักษา ทำให้อาการทรุดหนักอย่างรวดเร็ว ทนทุกข์ทรมาน และมีคุณภาพชีวิตแย่ลง

ปัจจัยด้านอารมณ์และจิตใจ

การเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์และจิตใจของผู้สูงอายุนำมาซึ่งความเหงา ความเศร้า และการขาดที่พึ่งทางใจ เกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

  • ความเสื่อมของสมองและระดับฮอร์โมนในร่างกายที่ไม่สมดุลเหมือนเดิม 
  • เหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ เช่น การจากไปของบุคคลอันเป็นที่รัก คู่ชีวิต ญาติมิตรหรือครอบครัว 
  • การปรับตัวให้รับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชีวิต 
  • ไม่มีรายได้ รายได้น้อย มีหนี้สิน 
  • ความเครียด ความความขัดแย้งกับคนในครอบครัว   
  • บุคลิกภาพส่วนตัวบางอย่าง เช่น ลักษณะย้ำคิดย้ำทำ วิตกกังวล

ปัจจัยด้านสังคม

การถูกลดบทบาททางสังคมอาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุบางกลุ่มพอเกษียณอายุแล้ว อาจจะรู้สึกดีที่ได้มีเวลาว่างทำกิจกรรมที่ชอบและสนใจ

แต่กับผู้สูงอายุบางกลุ่มอาจทำให้รู้สึกว่าหมดความสำคัญในสังคม สูญเสียความมั่นคงในชีวิต หมดความภาคภูมิใจในตนเอง เริ่มรู้สึกว่าตนเองกำลังเป็นภาระของครอบครัว ตัวเองไร้ค่า

ดูแลสภาพจิตใจของผู้สูงอายุอย่างไร ไม่เสี่ยงโรคซึมเศร้า

สิ่งสำคัญในการดูแลสภาพจิตใจของผู้สูงอายุคือ ครอบครัวและคนใกล้ชิดต้องมีความเข้าใจและใส่ใจในตัวผู้สูงอายุ โดยคำแนะนำเบื้องต้นในการดูแลผู้สูงอายุมีดังนี้

  • ชวนผู้สูงอายุทำกิจกรรมที่ชอบ ที่สนใจ หรือพาไปพบปะเพื่อนฝูง สมาชิกในครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดความเพลิดเพลินใจ มีความสุข และยังเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว 
  • พูดคุย ดูแล เอาใจใส่ ให้ความสนใจ และพยายามเข้าใจความรู้สึกของผู้สูงอายุอยู่เสมอ ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตนเองยังมีความสำคัญ และเป็นที่ปรึกษาของคนในครอบครัว
  • กระตุ้นให้ผู้สูงอายุออกกำลังกายเบา ๆ อาจจะเป็นการเดินเร็ว วิ่งเหยาะ ๆ ช้า ๆ กายบริหารท่าต่าง ๆ เพื่อบริหารกล้ามเนื้อ หรือออกกำลังกาย เพื่อฝึกการทรงตัว เช่น ไทเก๊ก เต้นลีลาศ โยคะ  
  • จัดสรรโภชนาการให้เหมาะสม ผู้สูงอายุมักมีอาการเบื่ออาหาร ครอบครัวหรือคนดูแลควรปรับเปลี่ยนเมนูอาหารให้หลากหลาย ไม่จำเจ มีน่ากินมากขึ้น โดยเลือกเมนูอาหารอ่อน ๆ ย่อยง่าย และไม่กระทบต่อโรคประจำตัวของผู้สูงอายุ 
  • คอยเตือนและดูแลเรื่องการกินยาให้ถูกต้องและตรงเวลา รวมถึงมาพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ

ปู่ ย่า ตา ยาย ผู้สูงอายุที่บ้านมีอาการเข้าข่ายซึมเศร้าอยู่หรือเปล่า?! ปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา เลือกปรึกษาตามเวลาที่สะดวก เป็นส่วนตัว ได้ที่ HDmall.co.th คลิกเลย หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจสุขภาพทางจิตใจและอารมณ์อื่น ๆ ที่นี่ 

Scroll to Top