keloid and treatments disease definition

คีลอยด์คืออะไร รักษาได้ไหม ผ่าตัด-ไม่ผ่าตัด วิธีไหนได้ผล

แผลคีลอยด์อาจกวนใจ หรือสร้างความรู้สึกไม่มั่นใจอย่างมาก ยิ่งอยากรักษาให้หาย บางครั้งกลับขยายใหญ่กว่าเดิม แล้วเจ้าแผลเป็นชนิดนี้รักษาได้ไหม รักษาหายหรือเปล่า เลือกวิธีรักษาคีลอยด์อย่างไรดี มาหาคำตอบกันในบทความนี้เลย 

คีลอยด์ คืออะไร

คีลอยด์ (Keloids) ที่เราเรียกกันคือ แผลเป็นชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นช้า ๆ หลังรอยแผลหายไปแล้วนานหลายเดือนหรือหลายปี บางครั้งอาจโตได้รวดเร็วในเวลาไม่นานเช่นกัน ตำแหน่งคีลอยด์มักเกิดบ่อยตรงหัวไหล่ ติ่งหู แก้ม กลางหน้าอก ซึ่งแต่ละจุดอาจมีลักษณะต่างกันได้ 

ลักษณะแผลคีลอยด์ เป็นแบบไหน

คีลอยด์จะมีความต่างจากแผลเป็นชนิดอื่น ๆ ที่เราสังเกตได้เช่น

  • เป็นก้อนนูนหรือก้อนกลมขึ้นมาจากผิวหนัง มักขยายใหญ่เกินรอยแผลเดิม 
  • จับแล้วรู้สึกแข็งคล้ายยาง บางบริเวณอาจนุ่มหยุ่นคล้ายยางลบ 
  • มีความมันเงา ไม่มีขนขึ้นบนคีลอยด์ 
  • มีสีช้ำออกแดง น้ำตาล หรือม่วง มักคล้ำกว่าสีผิวจริงโดยเฉพาะบริเวณขอบแผล
  • อาจมีอาการคัน ไม่สบายตัว หรือเจ็บบริเวณคีลอยด์ 

ทำไมถึงเป็นคีลอยด์ 

ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าคีลอยด์เกิดจากสาเหตุใด แต่อาจเกิดจากกระบวนการฟื้นฟูแผลที่ผิดปกติไปคือ ร่างกายผลิตโปรตีนที่ช่วยคงความยืดหยุ่นของผิวหนังและสมานแผล อย่างคอลลาเจน (Collagen) มากจนเกินไป ทำให้มีลักษณะเป็นคีลอยด์ขึ้นมา 

คีลอยด์เกิดได้จากแผลหลายประเภท ทั้งเล็กและใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นแผลจากของมีคม แผลแมลงกัดต่อย แผลจากสิว แผลจากการฉีดยา แผลจากการเจาะหรือสักร่างกาย แผลไฟไหม้ แผลผ่าตัด แผลอีสุกอีใส แผลจากการโกนขน หรือแม้แต่รอยข่วนเล็ก ๆ

ใครบ้างเสี่ยงเป็นคีลอยด์ได้ง่าย

กลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดแผลคีลอยด์สูงมักจะมีปัจจัยต่อไปนี้ 

  • มีเชื้อชาติเอเชีย หรือแอฟริกา
  • มีผิวสีเข้ม
  • มีประวัติคนในครอบครัวเป็นคีลอยด์ หรือเป็นคีลอยด์ตั้งแต่เด็ก 
  • มีอายุระหว่าง 10–30 ปี 
  • มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง กลุ่มอาการรูบินสไตน์-เทย์บี (Rubinstein-Taybi syndrome) 

เป็นคีลอยด์ต้องรักษาไหม

คีลอยด์ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ไม่ใช่ก้อนเนื้อร้ายมะเร็ง เพียงแต่จะสร้างความรำคาญใจให้เท่านั้น จึงไม่จำเป็นต้องรักษา 

หากรู้สึกไม่มั่นใจ หรือกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น คีลอยด์เกิดขึ้นบริเวณข้อต่อ อาจทำให้ผิวหนังตึง ยากต่อการขยับข้อต่อหรือเคลื่อนไหว แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผิวหนัง เพื่อการรักษาที่เหมาะสมต่อตนเองที่สุด   

วิธีรักษาคีลอยด์มีอะไรบ้าง 

การรักษาคีลอยด์อาจใช้การรักษาหลายวิธีผสมผสานกัน ทำได้ทั้งแบบไม่ผ่าตัดและผ่าตัด ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่เป็นคีลอยด์ ตำแหน่งและขนาดของคีลอยด์ รวมถึงการตอบสนองต่อการรักษาด้วย

1. การรักษาคีลอยด์แบบไม่ผ่าตัด

ตัวอย่างของวิธีรักษาคีลอยด์แบบไม่ผ่าตัด เช่น

กดทับด้วยผ้าพันแผล เทปเหนียว หรือซิลิโคนเจล
แผลคีลอยด์ที่เพิ่งเกิดใหม่อาจเลือกรักษาโดยใช้ผ้ายืดพันแผล เทปเหนียวแปะแผล แผ่นแปะซิลิโคนเจล นำมาปิดทับผิวบริเวณที่เป็นคีลอยด์ให้แนบแน่น เพื่อไม่ให้แผลนูนซ้ำ บางกรณีจะใช้หลังจากเพิ่งผ่าตัดในช่วงแรก

ตัวเทปเหนียวและซิลโคนเจลยังมีส่วนช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง และลดอาการอักเสบด้วย  ทว่าอาจต้องพันผ้าหรือปิดแผ่นแปะนานถึง 12–24 ชั่วโมงต่อวัน ต่อเนื่องนานหลายเดือน ถึงจะเห็นผล 

ใช้ยาสเตียรอยด์
นอกจากใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดทาแล้ว ยังมียาฉีดกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ เช่น ยาไตรแอมซิโนโลน (Triamcinolone) หรือยาคอร์ติโซน (Cortisone) เพื่อต้านการอักเสบและการทำงานของเซลล์ผิวผนัง เหมาะกับแผลคีลอยด์ที่เป็นมาไม่เกิน 1 ปี

วิธีนี้ช่วยให้แผลนุ่มขึ้น ส่วนนูนยุบ เรียบเนียน รอยแดงคล้ำจางลง บรรเทาอาการคันและเจ็บปวด โดยแพทย์อาจฉีดยาสเตียรอยด์ผสมยาชา เพื่อลดความเจ็บขณะฉีดยา 

การฉีดยาสเตียรอยด์ต้องทำเป็นประจำ อาจฉีดเดือนละ 1 ครั้งหรือตามแพทย์แนะนำ จนกว่าแผลจะยุบ ข้อควรระวังคือ หากยาสเตียรอยด์มีความเข้มข้นสูงหรือใช้ติดต่อกันนาน อาจก่อผลข้างเคียงได้ เช่น ผิวบางลง ผิวแตกลาย เห็นเส้นเลือดฝอยใต้ผิว หรือสีผิวเปลี่ยนไป

บำบัดด้วยความเย็น (Cryotherapy)
การจี้ด้วยไนโตรเจนเหลวที่มีความเย็นติดลบ จะช่วยกำจัดหรือลดขนาดคีลอยด์ให้เล็กลง มักได้ผลดีกับแผลคีลอยด์ขนาดเล็ก และรักษาติดต่อกัน 3 ครั้งขึ้นไป ส่วนผลข้างเคียงที่อาจพบได้ เช่น ผิวพอง เจ็บปวดผิวหนัง หรือสีผิวเปลี่ยนไป

รักษาด้วยเลเซอร์
แพทย์จะยิงเลเซอร์ความยาวคลื่นเฉพาะลึกลงไปใต้ผิวหนัง เพื่อทำลายเส้นเลือดที่ผิดปกติ แล้วให้เส้นเลือดจัดเรียงตัวใหม่ กระตุ้นการสร้างคอลลาเจน ทำให้แผลยุบ จางลง และยังบรรเทาอาการคันได้  

การรักษาคีลอยด์ด้วยเลเซอร์มักใช้กับแผลคีลอยด์ขนาดใหญ่ อาจต้องยิงหลายครั้งเพื่อผลลัพธ์ที่ดี ทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นสีผิวเปลี่ยนไป ผิวพอง หรือผิวตกสะเก็ด

รักษาด้วยการฉายรังสี
รังสีเอกซเรย์พลังงานต่ำจะช่วยทำให้คีลอยด์ฝ่อตัวหรือลดขนาดแผลเป็นได้ และจำเป็นต้องฉายรังสีซ้ำตามคำแนะนำของแพทย์      

2. การรักษาคีลอยด์แบบผ่าตัด

กรณีการรักษาแบบไม่ผ่าตัดไม่ได้ผลดี แพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัดเอาคีลอยด์ออก โดยอาจตัดออกทั้งหมด หรือตัดออกเพียงบางส่วน เพื่อลดขนาดคีลอยด์ให้เล็กลง กรณีผิวคีลอยด์มีความขรุขระหรือบุ๋มลงไปอาจกรอผิวหนัง เพื่อปรับแผลให้เรียบขึ้น 

คีลอยด์กลับมาเป็นซ้ำได้ราว 45–100% แม้จะผ่าออกไปแล้ว จึงนิยมใช้การรักษาวิธีอื่น ๆ ควบคู่ไปกับการผ่าตัดคีลอยด์ด้วย เช่น การฉีดสเตียรอยด์ การฉายรังสี การจี้เย็น หรือการปิดทับแผล เพื่อประสิทธิภาพการรักษาที่ดีขึ้น และลดการกลับมาเป็นซ้ำ 

อย่างที่บอกว่า คีลอยด์ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เพียงแต่เรื่องความสวยงามก็เป็นสิ่งที่หลายคนให้ความสำคัญ หากต้องการกำจัดคีลอยด์แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ถึงวิธีรักษาที่เหมาะสมกับแผลคีลอยด์ที่เป็นอยู่ที่สุด จะได้สวย ปลอดภัย ลดผลข้างเคียงไปพร้อมกัน

หมดกังวลเรื่องแผลเป็นด้วย แพ็กเกจรักษาคีลอยด์ ฟื้นผิวสวยในราคาสบายกระเป๋าที่ HDmall.co.th เลือกคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ พร้อมรับส่วนลดจุก ๆ ไปเลย ห้ามพลาด

Scroll to Top