jaundice

ภาวะตัวเหลือง หรือดีซ่าน (Jaundice)

ภาวะเหลือง หรือดีซ่าน (Jaundice) คือ ภาวะที่ทำให้ผิวหนังและตาขาวกลายเป็นสีเหลือง ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในทารกแรกเกิด โดยเกิดจากร่างกายมีสารที่ชื่อ Bilirubin มากเกินไป (หรือไม่สามารถสลายได้)

Bilirubin เป็นสารที่มีสีเหลืองภายใน Hemoglobin และทำหน้าที่จับกับออกซิเจนภายในเม็ดเลือดแดง เมื่อเม็ดเลือดแดงแตกตัว จะถูกนำไปกำจัดที่ตับ และร่างกายก็จะทำการสร้างเซลล์ใหม่เพื่อทดแทน ซึ่งหากตับไม่สามารถทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดงเหล่านี้ได้ ก็จะทำให้เกิดสาร Bilirubin เพิ่มขึ้น

แม้ว่าตัวเหลืองสามารถรักษาให้หายได้ แต่อาการนี้อาจทำให้เกิดการทำลายสมองในทารกแรกเกิดหากไม่ได้รับการรักษา

อาการของภาวะดีซ่าน

ลักษณะเฉพาะของภาวะดีซ่าน คือ ผิวหนังมีสีเหลือง และตาขาวมีสีเหลืองชัดเจน ในกรณีที่รุนแรงมากขึ้น ตาขาวอาจเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลหรือสีส้ม หากมีความผิดปกติของโรคอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ก็อาจพบความเมื่อยล้าอย่างรุนแรง และอาเจียนหนัก

การมีผิวสีเหลือง อาจทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่าตัวเองมีภาวะดีซ่าน แต่ความจริงแล้วอาจเป็นแค่การมีสารเบต้าแคโรทีนมากเกินไป การเกิดภาวะนี้ได้ จะต้องมีตาขาวสีเหลืองด้วย

ทารกมักได้รับการตรวจภาวะนี้หลายครั้งก่อนอนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาล ดังนั้นจึงไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับอาการที่มองเห็นมากนัก โดยอาการแสดงที่มองเห็นได้ คือเห็นตาขาวเป็นสีเหลือง และผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีเหลือง และเมื่อระดับ Bilirubin สูงขึ้น จะเริ่มมีอาการแสดงที่บริเวณหน้าอก ท้อง แขน และขา

สาเหตุของภาวะดีซ่าน

ตามปกติแล้ว เซลล์เม็ดเลือดแดงที่หมดอายุขัยจะถูกทำลายที่ตับ และจะเกิดสารบิลิรูบินที่เป็นสารสีเหลืองขึ้น หากตับไม่สามารถทำลายสารนี้ได้ ก็จะทำให้เกิดภาวะดีซ่านขึ้น บางครั้งก็อาจเกิดจากสารบิลิรูบินไม่ถูกลำเลียงไปยังระบบย่อยอาหารได้ตามปกติ จึงถูกขับออกทางอุจจาระแทน ทำให้อุจจาระมีสีที่ผิดปกติไป และในบางกรณีอาจเกิดการการที่เซลล์เม็ดเลือดแดงหมดอายุขัยพร้อมกันมากเกินไป

1. เป็นโรคตับ

เช่น โรคตับอักเสบ โรคตับแข็งจากแอลกอฮอล์ หรือโรคมะเร็งตับ ทำให้ตับไม่สามารถทำหน้าที่กำจัดบิลิรูบินออกจากร่างกายได้

อาการที่พบนอกเหนือจากตัวเหลือง ตาเหลือง ได้แก่ ปวดท้องรุนแรงบริเวณชายโครงขวา ท้องโต คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย น้ำหนักลด มีไข้ ปัสสาวะสีเข้ม

2. ท่อน้ำดีอุดตัน

สาเหตุมักมาจากเนื้องอก และนิ่วในถุงน้ำดี ทำให้น้ำดีไหลย้อนกลับมาที่ตับ และกระจายเข้าสู่กระแสเลือด ผู้ป่วยจะมีอาการดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง ปวดท้องตรงกลางบริเวณสะดือร้าวไปถึงหลัง มีไข้ หนาวสั่น และคันตามเนื้อตัว

3. มีการติดเชื้อ

เช่น เชื้อไวรัสตับอักเสบ เอ บี และซี หรือติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ ซึ่งส่งผลให้การทำงานของตับ และระบบท่อน้ำดีผิดปกติ อาการที่พบจะแตกต่างกันไป ตั้งแต่ไม่แสดงอาการ มีตัวเหลืองตาเหลืองเล็กน้อย ไปจนถึงปวดท้องรุนแรง มีไข้ อ่อนเพลีย เช่นเดียวกับโรคตับอักเสบจากแอลกอฮอล์

4. เป็นโรคเลือด

ผู้ป่วยที่เป็นโรคเลือด หรือโรคโลหิตจางซึ่งมีการทำลายเม็ดเลือดแดงมากผิดปกติ อาจทำให้มีอาการตัวเหลือง ตาเหลืองได้เนื่องจากมีบิลิรูบินสะสมในร่างกายมาก

ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง มักพบภาวะซีด ตับม้ามโต อ่อนเพลีย หอบเหนื่อยด้วย ซึ่งโรคที่เป็นสาเหตุที่พบบ่อย ได้แก่ โรคธาลัสซีเมีย และ โรคขาดเอนไซม์ G6PD

5. มีเลือดออกในร่างกาย

เช่น ภาวะเลือดออกในสมอง หรือเลือดออกในทางเดินอาหาร ก็อาจพบอาการตัวเหลือง หรือตาเหลืองได้เช่นกัน ร่วมกับพบอวัยวะที่มีเลือดออกทำงานผิดปกติด้วย

6. สาเหตุอื่นๆ

เช่น ทารกที่คลอดก่อนกำหนด หรือทารกที่มีหมู่เลือดไม่ตรงกับแม่ ก็พบภาวะตัวเหลืองตั้งแต่แรกคลอดได้บ่อยเช่นกัน

นอกจากนี้ อาการตัวเหลืองอาจเกิดขึ้นโดยไม่เกี่ยวข้องกับสารบิลิรูบินก็ได้ ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้น้อยกว่า เช่น มีภาวะวิตามินเอเกิน ทำให้มีการสะสมของสารแคโรทีนอยด์ในร่างกาย จนผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมส้ม และบางคนอาจมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียนด้วย

โรคที่อาจทำให้ตัวเหลือง

สาเหตุหลักแบ่งได้ 6 ประเภทข้างต้น หากเจาะจงโรคที่เกี่ยวข้อง จะมีดังนี้

  • โรคตับจากแอลกอฮอล์ (Alcoholic Liver Disease) : โรคนี้ทำให้เกิดการอักเสบของตับ สาเหตุมาจากการดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากเป็นระยะเวลานาน อาการจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับปริมาณของความเสียหายของตับ
  • โรคมะเร็งตับอ่อน (Pancreatic Cancer) : เกิดขึ้นเมื่อเซลล์ของตับอ่อนซึ่งเป็นอวัยวะต่อมไร้ท่อที่สำคัญในบริเวณด้านหลังกระเพาะอาหาร แบ่งตัวเป็นเซลล์มะเร็งและเจริญเติบโตโดยไร้การควบคุม
  • โรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia) : เป็นโรคเลือดถ่ายทอดทางพันธุกรรมซึ่งทำให้ร่างกายสร้างฮีโมโกลบินในรูปแบบที่ผิดปกติ ความผิดปกติดังกล่าวส่งผลให้เกิดการทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดงมากเกินซึ่งนำไปสู่ภาวะโลหิตจางตามมา
  • นิ่วในถุงน้ำดี (Gallstones) : นิ่วก่อตัวขึ้นเมื่อมีน้ำดี สารบิลิรูบินหรือสารคอเลสเตอรอลภายในของเหลวในถุงน้ำดีนั้นมีระดับสูงมากเกินไป
  • โรคตับอักเสบชนิดเอ (Hepatitis A) : การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอทำให้เกิดการอักเสบในตับ
  • โรคตับอักเสบชนิดบี (Hepatitis B) : การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีทำให้เกิดการอักเสบในตับ
  • โรคตับอักเสบชนิดซี (Hepatitis C) : การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีทำให้เกิดการอักเสบในตับ
  • โรคตับอักเสบชนิดดี (Hepatitis D) : การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และไวรัสตับอักเสบดี ทำให้เกิดการอักเสบในตับ
  • โรคตับอักเสบชนิดอี (Hepatitis E) : การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบอีทำให้เกิดการอักเสบในตับ
  • โรคขาดเอนไซม์ G6PD : เป็นความผิดปกติทางพันธุกรรมส่งผลให้เอนไซม์ G6PD ดังกล่าวในเลือดมีไม่เพียงพอ ทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงแตกตัวและถูกทำลายก่อนเวลาอันควร นำไปสู่ภาวะโลหิตจางชนิดเม็ดเลือดแดงแตก (Hemolytic Anemia)
  • การอุดตันของท่อน้ำดี (Bile Duct Obstruction) : ส่วนใหญ่เกิดจากโรคนิ่วในถุงน้ำดี แต่อาจเกิดจากการบาดเจ็บที่ตับหรือถุงน้ำดี การอักเสบ เนื้องอก การติดเชื้อ ซีสต์หรือความเสียหายของตับก็ได้ ภาวะนี้จัดเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน
  • โรคโลหิตจางชนิดเซลล์เม็ดแดงรูปเคียว (Sickle Cell Anemia) : เป็นโรคทางพันธุกรรมที่ทำให้เม็ดเลือดแดงมีลักษณะคล้ายเคียว หรือพระจันทร์เสี้ยว มีแนวโน้มที่จะอุดตันตามเส้นเลือดเล็กๆ จึงขัดขวางการลำเลียงออกซิเจนไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย เซลล์เม็ดเลือดแดงชนิดนี้จะถูกทำลายเร็วกว่าเซลล์เม็ดเลือดแดงที่มีรูปร่างปกติ
  • โรคมะเร็งตับ (Liver Cancer) : เกิดขึ้นเมื่อเซลล์ของตับแบ่งตัวกลายเป็นมะเร็งและเริ่มควบคุมไม่ได้
  • ภาวะตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน (Acute Pancreatitis) : มักเกิดจากโรคนิ่วในถุงน้ำดี หรือการติดสุราเรื้อรัง ภาวะนี้ถือเป็นเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์ จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างเร่งด่วน
  • ปฏิกิริยาไม่เข้ากันของเลือดกรุ๊ป ABO : เกิดขึ้นได้ภายหลังจากการถ่ายเลือด แล้วปรากฎว่าเลือดเกิดปฏิกิริยาไม่เข้ากัน ภาวะนี้ถือเป็นเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์ จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างเร่งด่วน
  • โรคโลหิตจางชนิดเม็ดเลือดแดงแตกจากการแพ้ภูมิตัวเอง (Idiopathic Autoimmune Hemolytic Anemia) : เกิดขึ้นเมื่อร่างกายเริ่มทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดงในอัตราเร็วกว่าการผลิต ภาวะนี้จัดเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน
  • โรคไวล์ (Weil’s Disease) : เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียกลุ่มเลปโตสไปโรซีสและส่งผลกระทบต่อไต ตับ ปอด หรือสมอง
  • อาการไม่พึงประสงค์จากการได้รับยาเกินขนาด เช่น ยาพาราเซตามอล

ภาวะดีซ่านยังเกิดขึ้นบ่อยในทารกแรกเกิด (New born jaundice) โดยเฉพาะในทารกที่เกิดก่อนกำหนด เพราะตับยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ภาวะนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ ภาวะดีซ่านจากนมแม่ (Breast milk jaundice) โดยทั่วไปแล้วไม่มีอันตรายใดๆ และจะหายไปได้เองในเวลาไม่นาน

ภาวะตัวเหลืองในทารก

ทารกแรกเกิดที่สบายดีจำนวนมากมีภาวะเหลืองได้ โดยเฉพาะในกลุ่มที่คลอดครบกำหนด (38 สัปดาห์) ซึ่งศูนย์ป้องกันและควบคุมโรค (Centers for Disease Control and prevention – CDC) ได้รายงานว่ามีทารกแรกเกิดมากถึง 60% ที่มีภาวะดังกล่าว

ในระหว่างการตั้งครรภ์ ตับของแม่จะทำการกำจัด Bilirubin ของลูกให้ แต่เมื่อคลอดแล้วตับของทารกจะต้องเป็นผู้กำจัดสารนี้เอง ซึ่งถ้าหากตับของทารกไม่พัฒนามากพอขณะเกิด อาจทำให้ไม่สามารถกำจัด Bilirubin ออกจากกระแสเลือดได้

ภาวะนี้อาจหายไปได้เองภายหลังได้รับการรักษาเพียงเล็กน้อย แต่อย่างไรก็ตามหากมีภาวะเหลืองขั้นรุนแรง และไม่ได้รับการรักษานานเกินไป ทารกอาจเกิดภาวะ Kernicterus หรือการทำลายสมอง ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา เช่น โรคสมองพิการ (Cerebral Palsy) สูญเสียการได้ยิน มีปัญหาด้านการมองเห็น มีปัญหาเรื่องฟัน และมีปัญหาทางด้านสติปัญญา

ทั้งนี้ ภาวะเหลืองสามารถเกิดได้ในทุกช่วงอายุ และอาจเกิดจากหรือเกิดร่วมกับโรคหรือภาวะต่อไปนี้ ได้แก่

  • โรคเลือด
  • โรคทางพันธุกรรม
  • โรคตับ เช่นตับอักเสบหรือตับแข็ง
  • ท่อน้ำดีอุดตัน
  • การติดเชื้อ
  • การใช้ยาบางชนิด

การรักษาภาวะเหลือง หรือดีซ่าน

การรักษาอาการตัวเหลืองจะแตกต่างกันไปตามโรคที่เป็นสาเหตุ  เช่น

  • การใช้ยา เช่น ยาต้านไวรัส เพื่อรักษาโรคตับอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส หรือยาถ่ายพยาธิ เพื่อรักษาพยาธิใบไม้ในตับ
  • การผ่าตัด ใช้เพื่อรักษาภาวะเนื้องอก และนิ่วในถุงน้ำดี
  • การฉายรังสี และเคมีบำบัด สำหรับการรักษาโรคมะเร็งตับ และโรคมะเร็งท่อน้ำดี
  • การตัดม้าม อาจจำเป็นต้องทำในผู้ป่วยโรคโลหิตจางชนิดรุนแรง ที่มีการทำลายเม็ดเลือดแดงมาก
  • การส่องไฟรักษา จะทำในเด็กทารกที่มีอาการตัวเหลืองแต่แรกคลอด โดยแสงที่ใช้จะสามารถลดระดับบิลิรูบินในร่างกายได้
  • การเปลี่ยนถ่ายเลือด เป็นวิธีรักษาสำหรับเด็กที่มีบิลิรูบินในเลือดสูงมาก และไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น

การรักษาภาวะเหลืองในทารกแรกเกิด สามารถทำได้ทั้งที่บ้านและที่โรงพยาบาล ทำโดยการวางทารกแบบไม่ใส่เสื้อผ้าไว้ใต้แสงชนิดพิเศษ (การทำ phototherapy) โดยแพทย์อาจแนะนำให้ทารกดื่มนมมากขึ้นด้วย

ส่วนการรักษาอาการนี้ในเด็กทารก หากพบว่าเด็กเป็นดีซ่านระดับปานกลาง จะได้รับการรักษาด้วยการเข้าตู้ส่องไฟ (Phototherapy) ในโรงพยาบาลหรือที่บ้าน เพื่อช่วยกำจัดสารบิลิรูบินส่วนเกิน ซึ่งอาจจะพบว่าเด็กถ่ายบ่อยขึ้น และมีอุจจาระเป็นสีเขียว เพราะมีการกำจัดสารนี้ออกจากร่างกาย

การป้องกันอาการตัวเหลือง

  • กรณีอาการตัวเหลืองจากความผิดปกติของตับและท่อน้ำดี สามารถป้องกันได้โดยการเลิกดื่มแอลกอฮอล์ งดอาหารไขมันสูง ออกกำลังกายเป็นประจำ ใส่ใจสุขอนามัยในการรับทานอาหาร และมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ
    นอกจากนี้ คุณยังควรหมั่นไปตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อตรวจให้แน่ใจว่า การทำงานของตับ และระบบน้ำดียัวเป็นปกติ
  • กรณีอาการตัวเหลืองที่เกิดจากโรคเลือด หรือภาวะโลหิตจาง อาการตัวเหลืองจากสาเหตุนี้มักเป็นความผิดปกติแต่กำเนิดที่ไม่สามารถป้องกันได้ สิ่งที่ทำได้ คือ พยายามดูแลสุขภาพให้แข็งแรง และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดเพื่อควบคุมอาการของโรค

คุณจึงต้องรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเอาไว้ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ รับวิตามินเสริมแต่พอดี หมั่นออกกำลังกายเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อที่ร่างกายจะได้มีภูมิคุ้มกันแข็งแรง หรือหากมีโรคประจำตัวเสี่ยงมีอาการตัวเหลือง ก็ควรหมั่นไปพบแพทย์ตามนัดเพื่อควบคุมอาการของโรคไว้

คำถามเกี่ยวกับโรคตัวเหลือง

ผู้ใหญ่ตัวเหลืองเกิดจากอะไร ?

อาการตัวเหลืองในผู้ใหญ่มักเกิดจากการสะสมของบิลิรูบินในเลือด ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อร่างกายไม่สามารถกำจัดบิลิรูบินได้ตามปกติ สาเหตุหลักอาจมาจากโรคตับ เช่น ตับอักเสบ ตับแข็ง หรือไขมันพอกตับ ท่อน้ำดีอุดตันจากนิ่วหรือเนื้องอก รวมถึงโรคเลือดที่ทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงแตกตัวเร็วผิดปกติ เช่น โรคโลหิตจางชนิดต่าง ๆ

ผู้ใหญ่ตัวเหลือง แก้อย่างไร ?

หากผู้ใหญ่มีอาการตัวเหลือง ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ เพราะอาการตัวเหลืองอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพ เช่น โรคตับ ท่อน้ำดีอุดตัน หรือภาวะเลือดผิดปกติ การรักษาจะขึ้นอยู่กับต้นเหตุ เช่น หากเกิดจากโรคตับ อาจต้องรับประทานยารักษาตับ หรืองดแอลกอฮอล์ หากเกิดจากท่อน้ำดีอุดตัน อาจต้องทำหัตถการเพื่อเปิดทางเดินน้ำดี

โรคตัวเหลือง ผู้ใหญ่ เป็นอย่างไร ?

โรคที่เกี่ยวข้องกับอาการตัวเหลืองในผู้ใหญ่ ได้แก่ ตับอักเสบ ตับแข็ง ท่อน้ำดีอุดตันจากนิ่วหรือมะเร็ง การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ โรคโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก และภาวะตับอ่อนอักเสบ การวินิจฉัยที่ถูกต้องจำเป็นต้องตรวจเลือด อัลตราซาวด์ หรือตรวจภาพรังสีเพิ่มเติม

หน้าเหลืองเกิดจากอะไร ?

หน้าเหลืองอาจเกิดจากการสะสมของบิลิรูบินในร่างกายจากปัญหาเกี่ยวกับตับ หรือระบบน้ำดี เช่น ตับอักเสบ ท่อน้ำดีอุดตัน หรือโรคเลือดที่ทำให้เกิดภาวะเลือดจาง นอกจากนี้ การขาดวิตามิน เช่น วิตามิน B12 หรือปัญหาเกี่ยวกับการเผาผลาญในร่างกายก็อาจเป็นสาเหตุได้

ผิวเหลืองเกิดจากอะไร ?

ผิวเหลืองมักเกี่ยวข้องกับปัญหาในระบบตับ เช่น ตับอักเสบ ตับแข็ง หรือไขมันพอกตับ รวมถึงการอุดตันในท่อน้ำดี ซึ่งทำให้สารบิลิรูบินในร่างกายสะสมในเลือดสูงเกินปกติ อาจเกิดจากโรคเลือด เช่น โลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก หรือภาวะการดูดซึมสารอาหารผิดปกติ

วิธีรักษาหน้าเหลือง ต้องทำอย่างไร ?

การรักษาหน้าเหลืองขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ เช่น หากเกิดจากโรคตับ ควรหลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์และรับประทานยารักษาตับ หากเกิดจากท่อน้ำดีอุดตัน อาจต้องรับการผ่าตัดหรือใส่สายเพื่อระบาย หากเกิดจากการขาดสารอาหาร ควรเสริมวิตามินหรือปรับการรับประทานอาหาร

Scroll to Top