ibuprofen scaled

Ibuprofen (ไอบูโพรเฟน)

Ibuprofen (ไอบูโพรเฟน) เป็นยาในกลุ่มยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) มีฤทธิ์บรรเทาอาการปวดบวม ยา Ibuprofen ใช้รักษาอาการปวดจากโรคหลายชนิด เช่น ปวดหัว ปวดฟัน ปวดท้องประจำเดือน ปวดกล้ามเนื้อ หรือโรคข้ออักเสบ อาการปวดจากไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่

รูปแบบ และส่วนประกอบของยา Ibuprofen

ยา Ibuprofen มีจำหน่ายหลายรูปแบบ เช่น

  • ยารับประทานชนิดเม็ด ประกอบด้วย Ibuprofen ขนาด 200 หรือขนาด 400 มิลลิกรัม
  • ยาน้ำ ประกอบด้วย Ibuprofen ความเข้มข้น 100 มิลลิกรัม ในยา 5 มิลลิตร
  • ยาทาภายนอก ในรูปแบบครีม เจล และสเปรย์

กลไกการออกฤทธิ์ยา Ibuprofen

ยา Ibuprofen ออกฤทธิ์ยับยั้งการสังเคราะห์พรอสตาแกลนดินส์ (Prostaglandins) ในเนื้อเยื่อของร่างกาย และยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไซโคลออกซิจิเนส 1 และ 2 (Cyclooxygenase: COX-1 และ COX-2) จึงมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ บรรเทาอาการปวด และลดไข้

ข้อบ่งใช้การใช้ยา Ibuprofen

ยา Ibuprofen ชนิดยาเม็ดรับประทาน 

ควรรับประทานยาพร้อมกับมื้ออาหาร หรือหลังอาหาร เนื่องจากยาอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารได้

ข้อบ่งใช้สำหรับลดไข้ 

ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ 200-400 มิลลิกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง ขนาดยาสูงสุดต่อวันคือ 1200 มิลลิกรัม

ขนาดการใช้ยาในเด็กอายุ 6 เดือน – 12 ปี ขนาด 10 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 6-8 ชั่วโมง ขนาดยาสูงสุดต่อวัน คือ 40 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน

ข้อบ่งใช้สำหรับบรรเทาอาการปวดในระดับความรุนแรงน้อยถึงปานกลาง

ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ 200-400 มิลลิกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง ขนาดยาสูงสุดต่อวันคือ 1,200 มิลลิกรัม

ขนาดการใช้ยาในเด็ก 4-10 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน ทุก 6-8 ชั่วโมง

ข้อบ่งใช้สำหรับรักษาข้อเสื่อม ข้ออักเสบรูมาตอยด์

ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ 400-800 มิลลิกรัม วันละ 3-4 ครั้ง ขนาดยาสูงสุดต่อวันคือ 3,200 มิลลิกรัม

ข้อบ่งใช้สำหรับรักษาอาการปวดประจำเดือน

ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ 200-400 มิลลิกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง ขนาดยาสูงสุดต่อวันคือ 1,200 มิลลิกรัม

ยา Ibuprofen ชนิดยาทาภายนอก 

มีข้อบ่งใช้ คือ บรรเทาอาการปวด และอาการอักเสบที่เกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อ และข้อ

ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ใช้ยาทาภายนอกความเข้มข้น 5% หรือ 10% ชนิดเจล ทาบริเวณที่มีอาการ

ข้อปฏิบัติเมื่อลืมรับประทานยา Ibuprofen

หากลืมรับประทานยาตามเวลาปกติที่ต้องรับประทาน หากปกติรับประทาน 1 เม็ด ให้รับประทานยาทันทีที่นึกได้ จำนวน 1 เม็ด โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เม็ดแทนเม็ดที่ลืมรับประทาน

ในกรณีใกล้ถึงเวลารับประทานมื้อถัดไปแล้ว ให้รับประทานยามื้อถัดไป โดยข้ามมื้อที่ลืม ไม่ต้องเพิ่มขนาดยา

ข้อควรระวังของการใช้ยา Ibuprofen

  • ไม่ใช้ยาในผู้ป่วยที่แพ้ยานี้ แพ้ยาแอสไพริน (Aspirin) หรือยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs)
  • ไม่ใช้ยาในผู้ป่วยที่มีอาการปวดระหว่างผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Bypass Grafting: CABG)
  • ไม่ใช้ยาในผู้ป่วยโรคหอบหืด
  • ไม่ใช้ยาในผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหาร หรือมีเลือดออกในทางเดินอาหาร
  • ไม่ใช้ยาในผู้ป่วยทารกที่เป็นโรคหัวใจแต่กำเนิด
  • ไม่ใช้ยาในผู้ป่วยโรคไต
  • ระวังการใช้ยาในผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออก
  • ระวังการใช้ยาในผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • ระวังการใช้ยาในผู้ป่วยทารกที่มีสารบิลิรูบินสูง
  • ระวังการใช้ยาในผู้ป่วยโรคตับ
  • ระวังการใช้ยาในผู้ป่วยสูงอายุ และหลีกเลี่ยงการใช้ยาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน

ผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา Ibuprofen

ยา Ibuprofen อาจมีผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการเลือดออก มึนงง ปวดศีรษะ ตื่นตัวผิดปกติ ปวดท้อง แสบร้อนกลางอก คลื่นไส้ ลดความอยากอาหาร ท้องผูก ท้องเสีย กลืนลำบาก อาเจียน บวมน้ำ ผื่นแดง หากอาการไม่ดีขึ้น หรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ควรปรึกษาแพทย์

ส่วนผลข้างเคียงรุนแรง ได้แก่ ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารรุนแรง กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจวาย แผลในกระเพาะอาหาร ดีซ่าน ตับอักเสบ หากมีอาการดังกล่าว ควรไปพบแพทย์ทันที

ข้อมูลการใช้ยา Ibuprofen ในสตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตร

ยา Ibuprofen จัดอยู่ในกลุ่มยาประเภท C และ D คือควรระมัดระวังการใช้ยาในสตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตร (โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ หรือช่วงใกล้คลอด)

ประเภทของยาตามองค์การอาหารและยา ประเทศไทย

ยานี้จัดอยู่ในกลุ่มยาอันตราย จำหน่ายเฉพาะในร้านขายยาแผนปัจจุบันที่มีเภสัชกรชั้นหนึ่งเป็นผู้จ่ายยาเท่านั้น

ข้อมูลการเก็บรักษายา Ibuprofen

ควรเก็บรักษายาที่อุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส และเก็บยาให้พ้นจากแสงแดด

ยา Ibuprofen เป็นยาอันตรายที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์ หรือเภสัชกรเท่านั้น ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เพราะอาจเกิดการใช้ยาผิดโรคได้ อย่างไรก็ตาม หากหลังจากรับประทานยา อาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย และรับการรักษาที่เหมาะสม


คำถามที่พบบ่อย

norgesic กับ ibuprofen ทานร่วมกันได้ไหมครับ ?

กินด้วยกันได้ครับ

Ibuprofen เป็นยากลั่ม NSAId ออกฤทธิ์ลดการอักเสบ ทำให้ลดปวด

ส่วนNorgesic เป็นตัวยา Paracetamol ซึ่งเป็นยาลดปวด ผสมกับ Orphenadrine ซึ่งเป็นยาคลายกล้ามเนื้อครับ

ตอบโดย นพ. วชิรวิทย์ สุทธิศักดิ์

เจ็บคอตอนกลืนน้ำลาย มีเสมหะ และไอ กินยา Ibuprofen 400mg หลังอาหารเช้าเย็นมาสองวันแล้วแต่ยังไม่ดีขึ้น ควรทำยังไงคะ ?

อาการดังกล่าว อาจเกิดจากการ ติดเชื้อ ไวรัส หรือ แบคทีเรีย ในระบบทางเดินหายใจส่วนบนได้ค่ะ เช่น หลอดลมอักเสบ ทอลซิลอักเสบ คออักเสบ หรือ เป็นหวัด หรือ ไซนัสอักเสบ เป็นต้น

จากเชื้อดังกล่าว ทำให้มีอาการ ไอ เจ็บคอ รู้สึกอ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว มีน้ำมูก หรือบางคนอาจมีไข้ต่ำๆได้ครับ โดยอาการจะแย่มากๆในช่วง 2-3 วันแรก จะอ่อนเพลียมาก และวันต่อๆ มา ถ้าร่างกายแข็งแรง

ถ้าเป็นจากเชื้อไวรัสอย่างเดียว อาการมักจะดีขึ้น ส่วนถ้าเกิน 3-5 วันไปแล้ว อาการยังไม่ดี อาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งจำเป็นต้องตรวจร่างกายอีกครั้ง เพื่อให้ยาฆ่าเชื้อที่ตรงกับเชื้อครับ

การดูแลตัวเองเบื้องต้นเมื่อมีการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน หรือ เมื่อเป็นหวัด

  1. พักผ่อนให้เพียงพอ
  2. ดื่มน้ำอุ่นมากๆ
  3. ทานอาหารที่มีประโยชน์
  4. ไม่แนะนำให้สั่งน้ำมูกแรงๆ เนื่องจากอาจทำให้เส้นเลือดฝอยในจมูกแตกและมีเลือดออกมา นอกจากนี้ อาจทำให้โพรงไซนัสอักเสบได้ วิธีที่ดีที่สุด คือ การล้างจมูกจนสะอาด ด้วยน้ำเกลือค่ะ ทำได้บ่อยๆ เวลาคัดจมูก
  5. การทานยาลดน้ำมูก หรือยาแก้ไอ หรือยาลดไข้ ที่สามารถซื้อได้ตามร้านขายยา เช่น chlorpheniramine , bromhexine , guifenesin ตามสมควรครับ

หากอาการเป็นมาก เช่น ไข้สูงมาก มีจุดเลือดออกตามตัว ปวดตามหน้า น้ำมูกเขียวมีกลิ่น แนะนำให้ไปพบแพทย์ครับ

ตอบโดย นพ. นิธิวัฒน์ ตั้งชมพู

คุณแม่ตั้งครรภ์กินยายาแก้ปวดไอบูโพรเฟนได้ไหม ผลข้างเคียงคืออะไร ถ้ากินไม่ได้ควรกินยาอะไรแทน ?

Ibuprofen เป็นยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ โดยในคุณแม่ตั้งครรภ์ การกินยาไอบูโพรเฟนเพียงครั้งเดียว อาจะไม่ส่งผลต่อทารกในครรภ์ แต่โดยปกติ เภสัชกรจะไม่แนะนำให้คุณแม่กินยาชนิดนี้ โดยเฉพาะในช่วงสามเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์

จากการศึกษาเกี่ยวกับผลข้างเคียงของการใช้ยาไอบูโพรเฟนและยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ระหว่างตั้งครรภ์

  • การใช้ยาไอบูโพรเฟนในไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการแท้งบุตรได้
  • การใช้ยานี้ในช่วงสามเดือนสุดท้ายก่อนคลอดอาจเป็นอันตรายต่อทารก เนื่องจากทำให้หลอดเลือดหัวใจของทารกปิดเร็วกว่าปกติ ซึ่งเป็นอันตรายต่อหัวใจและปอดมาก ระดับที่อาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้

หากคุณแม่ต้องการบรรเทาอาการปวดที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ แนะนำให้ใช้ยาประเภทอะเซตามีโนเฟน (Acetaminophen) เช่น ไทลินอล (Tylenol) ซึ่งมีประวัติอันยาวนานและเชื่อถือได้ว่าปลอดภัยสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

ตอบโดย ทีมแพทย์ HD

ไอบูโปรเฟนชนิดแคปซูลนิ่ม เป็นอย่างไร ?

จุดเด่นของไอบูโปรเฟนชนิดแคปซูลนิ่ม ก็มาจากการที่ยาอยู่ในรูปของเหลวที่พร้อมดูดซึมเมื่อเปลือกแคปซูลฉีกขาด ไม่ต้องรอให้เม็ดยาแตกตัวและละลายก่อนจะดูดซึมเหมือนเม็ดยาปกติ จึงทำให้มีระดับยาสูงสุดในเลือดได้เร็วขึ้น เช่น แทนที่จะใช้เวลา 1 – 2 ชั่วโมงหากเป็นยาเม็ดเคลือบฟิล์ม ก็จะลดเวลาเป็น 36 – 42 นาทีแทนเมื่อใช้แคปซูลนิ่ม

จากผลดังกล่าว จึงเชื่อกันว่าน่าจะทำให้มีประสิทธิภาพในการรักษาอาการปวดเฉียบพลันได้ดีกว่า และนิยมนำมาใช้กับอาการปวดศีรษะไมเกรน รวมถึงอาการปวดอื่น ๆ ที่ต้องการผลการรักษาที่รวดเร็ว

แต่จากผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.2016 เมื่อนักวิจัยได้ทำการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบและวิเคราะห์แบบเมต้า (Systematic review and meta analysis) เปรียบเทียบการใช้ไอบูโปรเฟนแบบแคปซูลนิ่มเทียบกับแบบเม็ดเคลือบฟิล์ม กลับพบว่ายาแบบแคปซูลนิ่มอาจไม่ได้มีประสิทธิภาพในการแก้ปวดที่เร็วมากอย่างที่เคยเข้าใจ คือ หลังรับประทานยา 30 นาที พบว่าผลในการบรรเทาอาการปวดของผู้ใช้ยาทั้งสองรูปแบบ ไม่ได้แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม ยาไอบูโปรเฟนแบบแคปซูลนิ่มก็มีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการปวดได้เหนือกว่า เมื่อเปรียบเทียบที่เวลา 60 – 120 นาทีหลังรับประทานยา

ซึ่งเป็นไปได้ว่า หากการเจ็บป่วยที่เป็นสาเหตุของอาการปวดในขณะนั้น ส่งผลต่อการทำงานของกระเพาะและลำไส้ ก็อาจทำให้เม็ดยาแตกตัว, ละลาย และดูดซึมช้ากว่าปกติ และแม้จะเป็นรูปแบบแคปซูลนิ่ม ซึ่งมียาที่ละลายและพร้อมดูดซึมอยู่ในเม็ดแคปซูลอยู่แล้ว แต่ก็อาจถูกรบกวนจากปัญหาดังกล่าว และทำให้เปลือกแคปซูลละลายหรือฉีกขาดช้ากว่าที่ควรจะเป็นได้เช่นกันค่ะ เนื่องจากเมื่อทดลองให้ยาในรูปแบบยาน้ำ กลับพบความแตกต่างเพียงเล็กน้อยของเวลาที่ดูดซึมยา ระหว่างผู้ที่มีสุขภาพดีและผู้ที่กำลังเจ็บป่วย

อย่างไรก็ตาม ในบางกรณี ซึ่งการป่วยน่าจะไม่มีผลกระทบต่อการทำงานของกระเพาะและลำไส้ เช่น อาการปวดฟัน ก็พบว่ายาในรูปแบบแคปซูลนิ่ม ช่วยบรรเทาอาการปวดได้เร็วกว่าแบบเม็ดเคลือบฟิล์มอย่างชัดเจน

ดังนั้น เมื่อมองในภาพรวม ก็ถือว่ายาเม็ดไอบูโปรเฟนแบบแคปซูลนิ่มให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าแบบเม็ดเคลือบฟิล์มนะคะ แต่ระยะเวลาในการบรรเทาปวดอาจไม่เร็วเท่าที่ควร ถ้ามีการทำงานของกระเพาะและลำไส้ที่ผิดปกติร่วมด้วย

ตอบโดย ทีมแพทย์ HD


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top