วิธีรักษาริดสีดวงทั้งแบบแผนปัจจุบันและทางเลือก

วิธีรักษาริดสีดวงด้วยตัวเอง ทั้งแผนปัจจุบันและแผนทางเลือก

ริดสีดวงทวาร แม้จะดูน่ากลัว แต่จริง ๆ แล้วเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรง เพียงแค่สร้างความไม่สบายตัวเท่านั้น และรักษาให้หายขาดได้ ด้วยวิธีที่เหมาะสมกับลักษณะอาการของโรค ทั้งแบบรักษาด้วยตัวเอง และรักษาโดยแพทย์ 

ริดสีดวงทวาร คืออะไร

ริดสีดวงทวาร เกิดจากการขยายตัวของหลอดเลือดบริเวณทวารหนัก ทำให้เส้นเลือดฝอยบริเวณนั้นโป่งพอง จนเกิดก้อนเนื้อที่ปากทวารหนัก และเมื่อถ่ายอุจจาระจะมีเลือดปนออกมาด้วย

ส่วนใหญ่แล้ว สาเหตุของริดสีดวงทวารมักเกิดจากการเบ่งถ่าย เนื่องจากภาวะท้องผูก

นอกจากนี้ ริดสีดวงทวารยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่นได้ด้วย เช่น ภาวะตั้งครรภ์ (หรือริดสีดวงขณะตั้งครรภ์) จะก่อให้เกิดความดันในช่องท้องเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เส้นเลือดที่ปากทวารหนักขยายตัวเพิ่มมากขึ้น หรืออาจเกิดจากพันธุกรรมได้อีกด้วย 

วิธีรักษาริดสีดวงทวาร

วิธีรักษาริดสีดวงทวารตามแนวทางการแพทย์แผนปัจจุบันและแผนทางเลือกมีหลายวิธี ดังนี้

  • ใช้ยาเหน็บทวารหนัก ช่วยลดการอักเสบของริดสีดวง เช่น อาการบวมเต่ง แสบร้อน อาการปวด
  • รับประทานยาระบาย ยาสมุนไพร หรือยาที่ทำให้อุจจาระนุ่มขึ้น

วิธีรักษาริดสีดวงเองด้วยสมุนไพรทางเลือก

ว่านหางจระเข้

สรรพคุณ: ช่วยให้ขับถ่ายได้ง่ายขึ้น ลดการอักเสบ อาการปวด ลดอาการคันด้วยฤทธิ์เย็นจากเนื้อวุ้น ใช้ได้ทั้งรูปแบบยาภายในและยาภายนอก

วิธีรับประทาน: นำใบว่านหางจระเข้สดมาปอกเปลือกออก ล้างน้ำยางสีเหลืองออกให้หมด เหลือเฉพาะเมือกกับเนื้อวุ้นสีขาวใส จากนั้นหั่นเป็นลูกเต๋าเล็ก ๆ รับประทานก่อนอาหารตอนเช้า ครั้งละประมาณ 1–2 ช้อนโต๊ะ ติดต่อกันทุกวัน ประมาณ 15–30 วัน

วิธีใช้เป็นยาภายนอก: เริ่มด้วยการปอกเปลือกใบว่านหางจระเข้ และล้างเอายางสีเหลืองออกจนหมด จากนั้นเหลาว่านหางจระเข้ให้ปลายแหลมเล็กน้อย เพื่อใช้เหน็บในช่องทวารหนัก อาจนำว่านหางจระเข้ไปแช่ตู้เย็น หรือแช่ให้แข็ง จะทำให้สอดได้ง่ายขึ้น หมั่นเหน็บวันละ 1–2 ครั้ง จนกว่าจะหาย

เพชรสังฆาต

สรรพคุณ: อาจช่วยลดการอักเสบ ช่วยให้หลอดเลือดดำที่บวมเป่งบริเวณทวารหนักหดตัว แต่การศึกษาด้วยวิธี Systematic review และ Meta–analysis พบว่า ยังไม่มีข้อสนับสนุนที่ชัดเจน ว่าเพชรสังฆาตช่วยรักษาหรือป้องกันริดสีดวงทวารได้ 

วิธีรับประทาน: นำเพชรสังฆาตสด 1 ปล้อง หั่นเป็นข้อเล็ก ๆ หุ้มด้วยกล้วยสุกหรือมะขามเปียก กลืนวันละ 2 ครั้ง หลังอาหารเช้าและเย็น รับประทานติดต่อกันเป็นเวลา 10–15 วัน อาการจะทุเลาลง

หรือหากรับประทานแบบแคปซูล ตามบัญชียาหลักแห่งชาติของกระทรวงสาธารณสุข จะเป็นตำรับยาผสมเพชรสังฆาต ชนิดผง ครั้งละประมาณ 1 กรัม ละลายน้ำ วันละ 3 ครั้งหลังอาหารทันที

เม็ดแมงลัก

สรรพคุณ: เป็นยาระบาย

วิธีรับประทาน: ตักเม็ดแมงลัก 1–2 ช้อนชา แช่ไว้ในน้ำ ทิ้งไว้จนกว่าจะพองเต็มที่ แล้วนำมารับประทานก่อนนอน รับประทานได้ทุกวัน หรือ 3–4 วันต่อสัปดาห์

ตำรับยาริดสีดวงมหากาฬ 

จากบัญชียาหลักแห่งชาติ ช่วยบรรเทาอาการริดสีดวงทวารหนัก รับประทานครั้งละ 800 มิลลิกรัม–1 กรัม วันละ 3 ครั้งก่อนอาหาร

วิธีรักษาริดสีดวงทวารแบบแพทย์แผนปัจจุบัน ไม่ต้องผ่าตัด

นั่งแช่ในน้ำอุ่น 

เทน้ำอุ่นลงในกะละมังขนาดพอเหมาะ ผสมด่างทับทิมเล็กน้อยลงไปให้น้ำกลายเป็นสีชมพูอ่อน ๆ จากนั้นให้นั่งเอาก้นลงไปแช่น้ำอุ่นนานประมาณ 15–30 นาที ควรทำก่อนและหลังอุจจาระ น้ำอุ่นจะช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น และคลายเส้นโลหิตโป่งพองที่เกิดเป็นริดสีดวงทวารได้

การฉีดยาที่ริดสีดวงทวาร

เพื่อทำให้หัวริดสีดวงทวารหนักยุบลงและรั้งเนื้อเยื่อริดสีดวงไม่ให้เลื่อนตัวลงมา การรักษาในรูปแบบนี้เหมาะกับหัวริดสีดวงที่ย้อยออกมาไม่มาก และต้องฉีดซ้ำทุก ๆ 2–4 สัปดาห์ จนอาการทุเลา

การใช้ยางรัด 

เหมาะกับผู้มีหัวริดสีดวงที่ย้อยและมีขั้วขนาดพอรัดได้ การรัดจะช่วยให้หัวริดสีดวงหลุดออก และพังผืดที่เกิดจากแผลจะรั้งริดสีดวงที่เหลือให้หดกลับเข้าไปในทวารหนัก ทำได้ครั้งละไม่เกิน 3 ตำแหน่ง และการรัดเพิ่มทำได้ทุก 3–4 สัปดาห์ 

การจี้ริดสีดวงทวารด้วยอินฟราเรด 

เหมาะสำหรับริดสีดวงทวารในระยะที่ 1 (ริดสีดวงขนาดเล็ก มีเลือดออก และไม่มีก้อนยื่น) และระยะที่ 2 (ริดสีดวงที่ยื่นออกมาจากปากทวารขณะเบ่งถ่ายอุจจาระ สามารถหดกลับเข้าที่เองได้)

การจี้ริดสีดวงทวารด้วยอินฟราเรดอาจทำให้เกิดเลือดออกจากแผลได้หลังการจี้ 1–2 สัปดาห์แรก แต่ไม่มาก และมักหยุดเองได้

ริดสีดวงแบบไหน รักษาเองไม่ได้ 

ผู้ป่วยริดสีดวงทวารระยะที่ 3–4 การรักษาด้วยตัวเองมักไม่ค่อยได้ผลแล้ว และหากปล่อยทิ้งไว้นาน ๆ อาการก็จะยิ่หนักขึ้น ควรไปพบแพทย์จึงจะดีที่สุด 

โดยลักษณะอาการมีดังนี้ 

  • ผู้ป่วยริดสีดวงทวารในระยะที่ 3: ริดสีดวงยื่นออกจากปากทวาร กลับเข้าที่ได้ด้วยการใช้นิ้วดัน
  • ผู้ป่วยริดสีดวงทวารในระยะที่ 4: ริดสีดวงยื่นออกมาตลอดเวลา ดันกลับเข้าที่ไม่ได้

ริดสีดวงทวารรักษาได้หลายวิธี ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเท่านั้น แพทย์จะประเมินและเลือกวิธีอื่นที่เหมาะสมให้ ขึ้นอยู่กับอาการของผู้เข้ารับการรักษา หากจำเป็นอาจต้องผ่าตัดจริง ๆ ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบัน ทำให้การผ่าตัดไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอย่างที่คิด

การผ่าตัดริดสีดวงทวาร อาจมีการฉีดยา หรือรับประทานยาแก้ปวดก่อนการผ่าตัด ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวจากการผ่าตัดได้เร็วขึ้น ปวดแผลน้อยลง และส่วนใหญ่กลับบ้านได้ใน 1–2 ชั่วโมงหลังการผ่าตัด โดยไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล

ผ่าตัดริดสีดวงทวาร ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด รับรองความปลอดภัยจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ เจ็บน้อยกว่า ลองเข้ามาดูแพ็กเกจผ่าตัดริดสีดวงทวารที่ HDmall.co.th รวบรวมไว้ให้ได้เลย 

ริดสีดวงทวาร ป้องกันได้ 

  • รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผักสด ผลไม้สด กล้วยน้ำว้า มะละกอสุก ข้าวที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการขัดสี  เพราะจะช่วยให้ขับถ่ายอุจจาระสะดวกขึ้น อุจจาระนิ่ม ไม่เจ็บแสบทวารหนัก และยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้ได้อีกด้วย
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 2–3 วัน ครั้งละประมาณ 20–30 นาที เพื่อช่วยกระตุ้นให้ลำไส้เกิดการเคลื่อนไหวและบีบอุจจาระออกมา
  • งดดื่มเครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ เพราะมีฤทธิ์ทำให้ท้องผูกได้
  • ดื่มน้ำสะอาดให้ได้วันละ 7–8 แก้ว เพื่อให้อุจจาระมีน้ำอุ้ม ส่งผลให้อุจจาระนุ่ม ไม่ต้องเบ่งถ่าย และควรดื่มน้ำ 1 แก้วหลังตื่นนอนตอนเช้าด้วย เพราะจะช่วยกระตุ้นการขับถ่ายได้
  • หลีกเลี่ยงการเบ่งอุจจาระ ควรขับถ่ายให้เป็นเวลา ฝึกให้ลำไส้มีพฤติกรรมอัตโนมัติ
  • ไม่ควรกลั้นอุจจาระ ควรเข้าห้องน้ำทันทีเมื่อรู้สึกอยากถ่าย
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาระบาย เนื่องจากจะทำให้กลไกการเคลื่อนไหวของลำไส้อัตโนมัติเสียไป ถ้าไม่ได้รับยา ลำไส้จะไม่ทำงาน และทำให้เกิดอาการท้องผูกได้
  • ผ่อนคลายความเครียด ความเครียดนั้นทำให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายแปรปรวน รวมไปถึงระบบขับถ่ายด้วย เมื่อเกิดความเครียด จะทำให้เบื่ออาหาร ลําไส้ก็จะหยุดบีบตัวชั่วคราว พร้อมกับถ่ายไม่ออกด้วย 

เมื่อมีอาการขับถ่ายผิดปกติ หรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือดปริมาณมาก ให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุของโรคและหาวิธีการรักษาที่ถูกต้อง

ทุกคนป้องกันโรคริดสีดวงทวารได้ เพียงปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร เน้นผักและผลไม้สดมาก ๆ ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ ขับถ่ายให้เป็นเวลา พักผ่อนให้เพียงพอ และผ่อนคลายความเครียด


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. ธนู โกมลไสย


บทความแนะนำ


เพราะ Health ดี อะไรก็ดี อ่านบทความความรู้สุขภาพแบบรอบด้านจาก HD ได้ที่ HDmall Blog

Scroll to Top