สมอง (Brain) เป็นอวัยวะมหัศจรรย์ที่สร้างขึ้นมาเพื่อความอยู่รอด สมองของมนุษย์ถือว่ามีพัฒนาการสูงสุดในบรรดาสิ่งมีชีวิต มีการทำงานที่ซับซ้อนที่สุด อีกทั้งยังเรียนรู้ คิดวิเคราะห์ และจดจำได้ดีที่สุดด้วย แม้แต่นักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันก็ยังอธิบายการทำงานของสมองไม่ได้ 100% เพราะสมองนั้นมีหลายส่วน ซึ่งแต่ละส่วนก็มีบทบาทหน้าที่และความสำคัญแตกต่างกัน แต่ทำงานสอดประสานกันทั้งหมด
ดังนั้น บทความนี้จะพามาไขความลับของสมองให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ภายในเวลาแค่ 3 นาทีเท่านั้น พร้อมด้วยโรคต่าง ๆ ที่พบบ่อย และวิธีดูแลสมองให้แข็งแรง
สารบัญ
การทำงานของสมอง
สมองเป็นอวัยวะที่มีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับขนาดตัวของมนุษย์ โดยมีน้ำหนักประมาณ 1.4 กิโลกรัม ภายในสมองประกอบด้วยเซลล์ประสาทมากถึง 90% และได้รับการปกป้องอย่างดีด้วยกะโหลกศีรษะที่มีความหนา
โดยเฉลี่ยแล้ว สมองผู้ใหญ่จะมีเซลล์สมองนับ 1 แสนล้านเซลล์ แต่ละเซลล์จะมีแขนงที่เชื่อมต่อกันกลายเป็นร่างแหขนาดใหญ่สุดซับซ้อน
เมื่อได้รับข้อมูลหรือสิ่งกระตุ้นจากภายนอก เซลล์สมองจะส่งข้อมูลเป็นกระแสไฟฟ้าผ่านทางจุดส่งกระแสประสาทของเซลล์ เรียกว่า “ปลายประสาทแอกซอน (Axon)” ไปยังจุดรับกระแสประสาทของเซลล์ข้างเคียงที่มีชื่อว่า “ปลายประสาทเดนไดรท์ (Dendrite)”
จุดที่เชื่อมต่อระหว่างแอกซอนและเดนไดรท์ เรียกว่า “ซิแนปส์ (Synapse)” เป็นจุดที่เปลี่ยนสัญญาณกระแสไฟฟ้าให้เป็นสารเคมี หรือเรียกว่า “สารสื่อประสาท” ทำให้ร่างกายรับรู้ข้อมูล เช่น รับสัมผัส เห็นภาพ ได้กลิ่น จากนั้นก็จะตอบสนอง และสั่งการต่อไป
สมองของมนุษย์เป็นอวัยวะที่ยืดหยุ่น เครือข่ายการเชื่อมโยงของเซลล์สมองสามารถเพิ่มขึ้น ซับซ้อนขึ้น และเปลี่ยนแปลงรูปแบบได้ตามการเรียนรู้กับประสบการณ์ที่ได้รับ ทำให้มนุษย์รู้จักปรับตัวได้ตลอดเวลา
ยิ่งการเชื่อมโยงของเซลล์สมองซับซ้อนมากเท่าไร ทักษะการคิดวิเคราะห์ข้อมูล การแก้ปัญหายาก ๆ หรือที่เรียกว่า “ความฉลาด” ก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น
สมอง แบ่งออกเป็นกี่ส่วน
สมองมี 3 ส่วน ซึ่งแต่ละส่วนก็ทำหน้าที่รับรู้และตอบสนองแตกต่างกัน ดังนี้
- สมองส่วนหน้า (Fore brain)
- สมองส่วนกลาง (Midbrain)
- สมองส่วนท้าย (Hindbrain)
สมองส่วนหน้า คืออะไร ทำงานอย่างไร
สมองส่วนหน้า (Fore brain) เรียกอีกชื่อว่า สมองส่วนหน้าผาก เป็นส่วนที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีรอยหยักจำนวนมาก แบ่งแยกย่อยได้อีกหลายส่วน ยกตัวอย่างส่วนที่สำคัญ เช่น
- ซีรีบรัม (Cerebrum) หรือสมองใหญ่
แบ่งออกเป็นสมองซีกซ้ายและสมองซีกขวา โดยสมองซีกซ้ายควบคุมร่างกายซีกขวา ส่วนสมองซีกขวาควบคุมร่างกายซีกซ้าย
ซีรีบรัมแบ่งออกเป็น 5 ส่วน (หรือ 5 พู) ทำหน้าที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้
- กลีบหน้า (Frontal lobe) ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อลาย ความคิด การวางแผน การแก้ปัญหา การตัดสินใจ ความจำ สติปัญญา และการใช้ภาษา
- กลีบขมับ (Temporal lobe) ควบคุมการได้ยิน การดมกลิ่น ความเข้าใจด้านภาษา และการฟัง
- กลีบข้าง (Parietal lobe) การรับรส และความรู้สึกจากการสัมผัส อุณหภูมิ ความเจ็บปวด
- กลีบท้ายทอย (Occipital lobe) ควบคุมการมองเห็น การรวมภาพที่เห็นเข้ากับประสบการณ์และความรู้สึก
- กลีบด้านในของด้านขมับ (insular lobe) ทำงานเกี่ยวกับความทรงจำ
- ออลแฟกทอรีบัลบ์ (Olfactory bulb)
ออลแฟกทอรีบัลบ์อยู่หน้าสุดของสมองส่วนหน้า ทำหน้าที่เกี่ยวกับการดมกลิ่น ซึ่งในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สมองส่วนนี้จะมีขนาดเล็ก และไม่เจริญมากนัก
- ทาลามัส (Thalamus)
อยู่เหนือไฮโพทาลามัส ทาลามัสเป็นจุดศูนย์กลางในการถ่ายทอดกระแสประสาทไปยังสมองส่วนต่าง ๆ นอกจากนี้ยังเป็นจุดรับรู้ และจุดตอบสนองต่อความรู้สึกเจ็บปวดด้วย
- ไฮโพทาลามัส (Hypothalamus)
ไฮโพทาลามัสสร้างความสมดุลให้กับระบบการทำงานของร่างกาย มีหน้าที่สำคัญหลายอย่าง เช่น
- ควบคุมการทำงานของต่อมใต้สมอง
- ผลิตฮอร์โมนวาโซเพรซิน (Vasopressin) เกี่ยวข้องกับการปรับสมดุลน้ำและแร่ธาตุในเลือด รวมถึงออกซิโทซิน (Oxytocin) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการบีบตัวของมดลูก
- เป็นศูนย์กลางของระบบประสาทอัตโนมัติ
- ควบคุมอุณหภูมิร่างกาย
- ควบคุมความรู้สึกหิว–อิ่ม
- ควบคุมความต้องการทางเพศ
- ควบคุมเรื่องการหายใจ
- ดูแลเรื่องการนอนหลับและการตื่น
สมองส่วนกลาง (Midbrain)
สมองส่วนกลางเป็นส่วนที่คอยรับ–ส่งกระแสประสาทระหว่างสมองส่วนหน้าและสมองส่วนท้าย
นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่เกี่ยวกับการมองเห็น การเคลื่อนไหวของลูกตา ควบคุมการปิดเปิดของรูม่านตาให้เหมาะสมกับปริมาณแสงสว่าง
สมองส่วนท้าย (Hindbrain)
ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่
- ซีรีเบลลัม (Cerebellum) ทำหน้าที่ควบคุมการทรงตัว และควบคุมกล้ามเนื้อในการเคลื่อนไหวให้ราบรื่น
- พอนส์ (Pons) เป็นส่วนที่อยู่ติดกับสมองส่วนกลาง ทำหน้าที่หลายอย่าง เช่น ควบคุมการเคี้ยวอาหาร หลั่งน้ำลายและน้ำตา การเคลื่อนไหวใบหน้า การแสดงออกทางสีหน้า รวมถึงการรับความรู้สึกของใบหน้า อย่างการสัมผัส ความเจ็บปวด หรือควบคุมการหายใจ
- เมดัลลาออบลองกาตา (Medulla oblongata) เป็นส่วนที่อยู่ท้ายสุด ติดกับไขสันหลัง เป็นทางผ่านของกระแสประสาท ควบคุมการทำงานของระบบประสาทเหนืออำนาจจิตใจ เช่น การหายใจ การเต้นของหัวใจ การย่อยอาหาร หรือการยืดและหดตัวของเส้นเลือด
ความผิดปกติของสมองที่พบได้บ่อย
สมองเป็นอวัยวะสำคัญที่ควบคุมการตอบสนองด้านพฤติกรรม การเรียนรู้ และการทำงานของอวัยวะอื่น ๆ
เมื่อเกิดความผิดปกติใด ๆ ขึ้นในสมอง อาการนั้นจึงมักจะส่งผลรุนแรงต่อร่างกาย เช่น
- โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke or cerebrovascular accident)
มักเกิดจากการมีไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน หรือความดันโลหิตสูง ทำให้หลอดเลือดสมองอุดตันและแข็งตัว จนเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ส่งผลให้เส้นเลือดสมองตีบได้ และอาจรุนแรงถึงขั้นเส้นเลือดในสมองแตก
อาการที่เกิดขึ้น ได้แก่ กล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรง หรือชาครึ่งซีก ชาบริเวณใบหน้า หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว ลิ้นแข็ง กลืนไม่ได้ กลืนลำบาก พูดไม่ชัด ฟังคนพูดไม่เข้าใจ การมองเห็นพร่าเลือน หรือเห็นภาพซ้อน เวียนศีรษะ ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ไปจนถึงเป็นอัมพาต และอาจเสียชีวิตได้
- โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease)
เป็นโรคสมองเสื่อมประเภทหนึ่ง เกิดจากความเสื่อมของเซลล์สมองตามธรรมชาติ มักพบในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยจะสูญเสียความสามารถในการเรียนรู้ ความจำเลอะเลือน เนื่องจากสมองส่วนดังกล่าวไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ
- สมองเกิดการกระทบกระเทือน
สาเหตุส่วนใหญ่มักมาจากอุบัติเหตุ โดยมีอาการที่เกิดขึ้นแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าสมองส่วนไหนถูกกระทบกระเทือน เช่น สูญเสียการมองเห็น สูญเสียความทรงจำ ควบคุมการทรงตัวไม่ได้ จนถึงขั้นเป็นอัมพาต
- โรคสมองอักเสบ (Encephalitis)
มักเกิดจากการติดเชื้อ เช่น ไวรัส ทำให้เนื้อสมองบาดเจ็บ เสียหาย อาการที่พบได้ระยะแรก ๆ คือ มีไข้สูง ปวดศีรษะมาก ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และอ่อนเพลีย
หากรักษาไม่ทัน จะมีอาการรุนแรงขึ้น เช่น สับสน มึนงง กล้ามเนื้อบางส่วนหมดความรู้สึก มีปัญหาด้านการพูด การได้ยิน ไปจนถึงขั้นหมดสติ
- โรคเนื้องอกในสมอง
เป็นโรคที่พบได้ทุกวัย ก้อนเนื้อในสมองที่มีขนาดใหญ่ แม้จะไม่ใช่เนื้อร้าย ก็อาจไปกดทับเนื้อสมองส่วนข้างเคียง ทำให้เกิดอาการผิดปกติหลาย ๆ อย่างได้ เช่น
- ปวดศีรษะรุนแรง (โดยเฉพาะช่วงตื่นนอนและช่วงกลางคืน)
- อาเจียนอย่างควบคุมไม่ได้
- มองเห็นแย่ลง
- เกิดอาการชา
- แขนขาอ่อนแรง
- ทรงตัวไม่ได้
- เดินเซ
- การเรียนรู้ถดถอย อาจรุนแรงถึงขั้นพูด อ่าน หรือเขียนไม่ได้
- มีอาการชัก หมดสติกะทันหัน
สมองของเรา ดูแลป้องกันอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ
หมั่นเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ
เพราะการเรียนรู้ ทั้งการอ่าน การฟัง และการคิด จะช่วยเพิ่มเครือข่ายการเชื่อมโยงของเซลล์ประสาทให้ซับซ้อนขึ้น จึงจะคิด และวิเคราะห์สิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในวัยไหน ก็อย่าหยุดที่จะเรียนรู้
รับประทานอาหารที่ดีต่อสมอง ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี่
เช่น ปลาทะเล ไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เพราะล้วนอุดมด้วยโปรตีนและกรดไขมันโอเมกา 3 รวมถึงใบเขียว ใบแปะก๊วย และผลไม้ตระกูลเบอร์รี ที่มีทั้งวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด ช่วยบำรุงการทำงานของระบบประสาทและสมอง
นอกจากนี้ ควรรับประทานอาหารให้ตรงเวลา เลิกนิสัยไม่รับประทานอาหารเช้า เพราะอาหารทุกมื้อสำคัญต่อการส่งสารอาหารไปบำรุงสมอง
รวมถึงหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ และไม่ใช้สารเสพติด
เพราะสิ่งเหล่านี้จะส่งผลเสียต่อสมองได้ในระยะยาว
หมั่นออกกำลังสมองบ่อย ๆ
เช่น เล่นเกมฝึกความจำรูปแบบต่าง ๆ ฝึกการวางแผน การแก้ปัญหา การคำนวณเลข การเล่นดนตรี การทำงานศิลปะ
ออกกำลังกายบ่อย ๆ
โดยเฉพาะการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ อย่างการเดิน วิ่ง ว่ายน้ำ ครั้งละ 20–30 นาที อย่างน้อยอาทิตย์ละ 4 วัน
หลีกเลี่ยงความเครียด
ความเครียดส่งผลให้สมองขาดสมาธิ ตอบสนองต่อสิ่งที่รับรู้ช้าลง และทำให้เรียนรู้ได้อย่างไม่เต็มที่ และยังส่งผลให้สารเคมีในสมองผิดปกติ ทำให้รู้สึกกระวนกระวาย นอนไม่หลับ
เมื่อพักผ่อนไม่เพียงพอ สมองก็จะยิ่งไม่ปลอดโปร่ง สั่งการช้าลง และส่งผลเสียในระยะยาว เช่น ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า
พักผ่อนให้เพียงพอ
การพักผ่อนจะช่วยให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายได้หยุดพัก มีการฟื้นฟู และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ยิ่งกับวัยที่กำลังเจริญเติบโต การพักผ่อนที่เพียงพอและไม่เข้านอนดึกเกินไปนักเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก
เข้าสังคมบ่อย ๆ
เพราะการพบปะพูดคุยกับผู้คนจะทำให้สมองมีการคิดวิเคราะห์ และเรียบเรียงคำพูดเพื่อโต้ตอบบทสนทนา
ระมัดระวังไม่ให้สมองถูกกระทบกระเทือน
สมองที่บาดเจ็บเสียหายจะส่งผลร้ายแรงต่อการดำรงชีวิต ถ้าเกิดขึ้นแล้วมักแก้ไขไม่ได้ ดังนั้น ควรระมัดระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุที่ส่งผลให้สมองกระทบเทือน เพื่อป้องกันความผิดปกติที่จะเกิดตามมา
สมอง เป็นอวัยวะสำคัญของร่างกาย จึงควรดูแลและบำรุงสมองให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพอยู่เสมอ เช่น หมั่นเรียนรู้ และรับประทานอาหารที่ช่วยบำรุงสมอง
ที่สำคัญ ควรตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อจะได้รู้ว่าต้องระมัดระวังสิ่งใด หรือขาดสารอาหารอะไรไปบ้าง
ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. พิสุทธิ์ พงษ์ชัยกุล