ฮอร์โมนเป็นสารเคมีที่ต่อมไร้ท่อต่าง ๆ ในร่างกายผลิตขึ้น ในช่วงวัยหนุ่มสาว เราจะมีฮอร์โมนเหล่านี้อยู่เต็มเปี่ยม พออายุมากขึ้น การผลิตฮอร์โมนจะน้อยลง รวมถึงยังก็มีปัจจัยต่าง ๆ มากระทบต่อระดับฮอร์โมน ทำให้ฮอร์โมนไม่สมดุล จนส่งผลต่อสุขภาพตามมา
5 โรคจากฮอร์โมนไม่สมดุล ฮอร์โมนผิดปกติ
เพศหญิงและชายจะมีฮอร์โมนแตกต่างชนิด ทำหน้าที่แตกต่างกันไป ฮอร์โมนที่ผิดปกติไป ไม่สมดุล จะทำให้การทำงานของร่างกายเสียสมดุลไปด้วย ในระยะยาวสามารถนำไปสู่โรคต่าง ๆ ได้
ตัวอย่างโรคหรือภาวะที่เกี่ยวเนื่องกับฮอร์โมนผิดปกติ เช่น
1. กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบ หรือ PCOS (Polycystic ovary syndrom)
พบบ่อยในผู้หญิงวัยรุ่นไปจนถึงผู้ใหญ่ตอนต้น หรือช่วงอายุประมาณ 20–30 ปี เป็นภาวะที่ต่อมไร้ท่อหรือระบบฮอร์โมนผิดปกติ ส่งผลกระทบต่อรังไข่และระบบสืบพันธุ์ ลักษณะเด่นจะมีอาการหลายอย่างรวมกัน เช่น
- ประจำเดือนผิดปกติ เช่น ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ประจำเดือนมานาน ประเดือนมาน้อยหรือมากผิดปกติ ไม่มีประจำเดือนเลย
- มีอาการที่บ่งบอกถึงฮอร์โมนเพศชายเกิน (ฮอร์โมนแอนโดรเจนสูง) เช่น ขนดกตามใบหน้าและร่างกาย สิวขึ้นมาก ผมบาง หน้ามัน
- ตรวจพบถุงน้ำในรังไข่จากการทำอัลตราซาวด์
- มีบุตรยากจากภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง
- มีน้ำหนักตัวมาก มีภาวะอ้วน หรือตรวจเจอเบาหวาน
2. ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism)
ต่อมไทรอยด์เป็นต่อมขนาดเล็ก ลักษณะคล้ายผีเสื้อ อยู่บริเวณด้านหน้าของลำคอ ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ที่เกี่ยวข้องกับระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย จึงมีผลต่อเนื่องกับอวัยวะอื่น ๆ ของร่างกายด้วย
ไทรอยด์เป็นพิษเกิดจากต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์มากกว่าร่างกายต้องการ หรือเรียกต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป ระบบการเผาผลาญพลังงานมากกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวม
อาการของภาวะไทรอยด์เป็นพิษอาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน เช่น
- น้ำหนักลดลงเร็วแบบผิดปกติ
- หัวใจเต้นเร็ว หรือหัวใจเต้นผิดปกติ
- อารมณ์แปรปรวน เช่น วิตกกังวล หงุดหงิด ฉุนเฉียว
- เหงื่อออกง่าย เหงื่อออกเยอะ ขี้ร้อน
- แขนขาไม่มีแรง กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- ต่อมไทรอยด์บริเวณลำคอโต
- มือสั่น
- ถ่ายอุจจาระบ่อย ลักษณะอุจจาระค่อนข้างเหลว หรือท้องเสีย
3. ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ (Hypothyroidism)
ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์เป็นความผิดปกติของต่อมไทรอยด์เช่นกัน เกิดจากต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ส่งผลให้ระบบการเผาผลาญพลังงานต่ำกว่าปกติ และนำไปสู่อาการต่าง ๆ
โดยอาการของภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์อาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน เช่น
- รู้สึกหนาวง่าย ร่างกายไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้ดี
- เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ขาดพลังงาน
- หัวใจเต้นช้า
- ผิวแห้ง
- ผมแห้ง ผมบางลง
- น้ำหนักเพิ่มขึ้นจากระบบเผาผลาญที่ช้าลง
- ท้องผูก ระบบทางเดินอาหารทำงานช้าลง
- สมาธิสั้น หลงลืม มีปัญหาในการจดจำ
- ประจำเดือนผิดปกติ
- ใบหน้าบวมโต ซีด
4. ภาวะฮอร์โมนเพศชายต่ำ (Hypogonadism)
ภาวะฮอร์โมนเพศชายต่ำหรือภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย เป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถผลิตฮอร์โมนเพศชาย หรือฮอร์โมนเทสโทสเตอโรส (Testosterone) ได้เพียงพอ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งด้านร่างกายและจิตใจ
เนื่องจากฮอร์โมนเพศชายมีบทบาทสำคัญหลายอย่าง เช่น การรักษามวลกล้ามเนื้อและมวลกระดูก ความรู้สึกรักไครืและความต้องการทางเพศ การผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง การลดระดับไขมันสะสมในร่างกาย และอื่น ๆ
ภาวะฮอร์โมนเพศชายต่ำมักมีอาการแสดงหลายระบบ โดยอาการที่มักพบได้ เช่น
- อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย ซึมเศร้า หรือเบื่อหน่าย
- นอนไม่ค่อยหลับ มีปัญหาในการนอน
- อ่อนเพลีย ไม่กระฉับกระเฉง
- น้ำหนักเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะบริเวณหน้าท้อง (อ้วนลงพุง)
- รู้สึกอ่อนแรง ไม่มีแรง มวลกล้ามเนื้อลดลง
- ความต้องการทางเพศลดลง เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ หรือนกเขาไม่ขัน
เปรียบเทียบราคาโปรตรวจฮอร์โมนเพศ
5. ภาวะต่อมหมวกไตล้า (Adrenal fatigue)
ต่อมหมวกไตมีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนหลายชนิด โดยเฉพาะฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) และฮอร์โมนดีเอชอีเอ (DHEA: Dehydroepiandrosterone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ผลิตขึ้นมาตอนร่างกายเผชิญกับความเครียด
เมื่อต้องหลั่งฮอร์โมนเหล่านี้บ่อย ๆ มาออกปรับสมดุลของร่างกาย หรือต้องเผชิญความเครียดเรื้อรัง ทำให้ต่อมหมวกไตทำงานหนักหรือต่อมหมวกไตล้านั่นเอง โดยอาการของภาวะต่อมหมวกไตล้าที่มักพบได้ เช่น
- ไม่อยากตื่นในตอนเช้า
- รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
- ง่วงแต่นอนไม่หลับ
- ท้องอืด อาหารไม่ย่อย
- อยากกินของหวานและของเค็ม
- ผิวแห้ง ผิวหมองคล้ำ
- อารมณ์แปรปรวน
- น้ำหนักขึ้นง่าย
- วิงเวียนศีรษเมื่อเปลี่ยนท่าทาง อย่างการลุกหรือการนั่ง
- ปัสสาวะบ่อยผิดปกติ
- ปวดประจำเดือนบ่อย
- เป็นภูมิแพ้กำเริบบ่อย ๆ หรือเป็นหวัดบ่อย
วิธีตรวจระดับฮอร์โมน เช็กความสมดุลของฮอร์โมน ทำอย่างไร
การตรวจฮอร์โมนจะช่วยเช็กความสมดุลและระดับฮอร์โมนชนิดต่าง ๆ ในร่างกาย หลัก ๆ แล้ว ทำได้หลายทาง เช่น การตรวจเลือด การตรวจปัสสาวะ และการตรวจน้ำลาย
ปัจจุบันนิยมการตรวจระดับฮอร์โมนด้วยการเจาะเลือดเป็นหลัก เพราะทำได้รวดเร็ว ไม่ต้องงดน้ำ ไม่งดอาหาร หากมีโรคประจำตัวหรือใช้ยาชนิดใดอยู่ ควรแจ้งให้แพทย์ก่อนตรวจ เพื่อผลผลการตรวจที่แม่นยำ ไม่กระทบต่อระดับฮอร์โมนที่แท้จริงของร่างกาย
รายการตรวจฮอร์โมนมีอยู่หลากหลายแบบ ขึ้นอยู่กับปัญหาสุขภาพของแต่ละคน โดยฮอร์โมนที่มักตรวจกันทั่วไป ได้แก่
- ฮอร์โมนเพศชายและเพศหญิง คือ เทสโทสเตอโรน (Testosterone) เอสโตรเจน (Estrogen) และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) มีบทบาทในการพัฒนาและควบคุมลักษณะทางเพศ เมื่ออายุมากขึ้น ฮอร์โมนเพศจะลดลง และเข้าสู่วัยทองในที่สุด
- ฮอร์โมนไทรอยด์ (FT3, FT4, TSH) มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับระบบเผาผลาญ ควบคุมอุณหภูมิ สร้างพลังงานของร่างกาย และอารมณ์
- ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง (FSH, LH) ทำหน้าที่ควบคุมรังไข่ หรืออัณฑะสร้างให้ฮอร์โมนเพศ
- ฮอร์โมนโปรแลคติน (Prolactin) เป็นฮอร์โมนที่หลั่งมากตอนตั้งครรภ์และให้นมบุตร หากไม่ได้อยู่ในภาวะเหล่านี้แล้วร่างกายหลั่งออกมามาก อาจบ่งบอกถึงเนื้องอก ส่งผลให้รอบเดือนผิดปกติในผู้หญิง หรือมีปัญหาสมรรถภาพทางเพศหรือมีบุตรยากในผู้ชาย
ปัญหาสุขภาพหลายอย่างอาจมีต้นตอมาจากฮอร์โมนไม่สมดุล ฮอร์โมนผิดปกติ การตรวจระดับฮอร์โมนจะช่วยให้รู้ว่าฮอร์โมนต่าง ๆ อยู่ในระดับปกติหรือไหม และช่วยให้เราสามารถดูสุขภาพได้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น
ตรวจฮอร์โมนครบจบในที่เดียว ตรวจฮอร์โมนไทรอยด์ ตรวจโกรทฮอร์โมน ตรวจฮอร์โมนเพศ ตรวจฮอร์โมนเกี่ยวกับอารมณ์ เปรียบเทียบราคา พร้อมจองคิวรับโปรได้เลยที่ HDmall.co.th