Default fallback image

ภาวะครรภ์เสี่ยง เรื่องที่แม่ท้องต้องรู้

เมื่อรู้ว่าตัวเองตั้งครรภ์ ทำให้คุณแม่และคนรอบ ๆ ตัวดีใจอยู่ไม่น้อย ในอีกด้านหนึ่ง การตั้งครรภ์ก็เป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจเป็นอย่างมาก และต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้คุณแม่และตัวน้อยในท้องต้องเจอกับภาวะครรภ์เสี่ยง ซึ่งเป็นภาวะอันตรายต่อทั้งคู่

ภาวะครรภ์เสี่ยง คืออะไร

หลายคนอาจสงสัยภาวะครรภ์เสี่ยง คืออะไร?! 

ภาวะครรภ์เสี่ยงหรือภาวะครรภ์เสี่ยงสูง คือภาวะใด ๆ ก็ตามที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของแม่และทารกในครรภ์ ทั้งระหว่างตั้งครรภ์ ขณะคลอด หรือหลังคลอด อาจทำให้เกิดอันตรายหรือเสียชีวิตต่อทั้งคู่มากกว่าการตั้งครรภ์ทั่วไป 

คุณแม่ที่มีภาวะครรภ์เสี่ยงจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากสูตินารีแพทย์ เพื่อลดโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะคนที่มีปัจจัยเสี่ยง ควรได้รับการดูแลและปรึกษาคุณหมอก่อนการตั้งครรภ์

ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ 

ปัจจัยที่ทำให้ครรภ์คุณแม่เสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนมีอยู่หลายปัจจัย ดังนี้

ปัจจัยเกี่ยวกับคุณแม่

  • ตั้งครรภ์ตอนอายุน้อยกว่า 15 ปี หรือตั้งครรภ์ตอนอายุมากกว่า 35 ปี
  • มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไทรอยด์เป็นพิษ โควิด-19 โลหิตจาง โรคลมชัก รวมถึงโรคติดเชื้อต่าง ๆ เช่น วัณโรค โรคเอดส์ โรคซิฟิลิส โรคไวรัสตับอักเสบ หัดเยอรมัน
  • ลักษณะรูปร่างของคุณแม่ เช่น เชิงกรานแคบ ตัวเล็ก ตัวเตี้ยส่วนสูงไม่เกิน 140 เซนติเมตร ทำให้ส่งผลต่อการคลอด
  • พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น ดื่มเหล้าและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ ติดยาเสพติดหรือใช้สารเสพติด

ประวัติการตั้งครรภ์ครั้งก่อนมีปัญหาหรือผิดปกติ

คุณแม่มีประวัติการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติในครั้งก่อน ๆ เช่น 

  • เคยตั้งครรภ์แล้วมีภาวะครรภ์เป็นพิษ ภาวะรกเกาะต่ำ ภาวะรกเสื่อม หรือภาวะน้ำคร่ำน้อย
  • เคยคลอดก่อนกำหนด 
  • มีประวัติแท้งเองติดต่อกันมากกว่า 3 ครั้ง
  • ทารกเสียชีวิตระหว่างตั้งครรภ์ ระหว่างคลอดและหลังคลอด
  • เคยคลอดทารกที่มีน้ำหนักตัวแรกคลอดน้อยกว่า 2,500 กรัม หรือมากกว่า 4,000 กรัม

การตั้งครรภ์แฝด

แม้จะดูเป็นเรื่องปกติ และคุณแม่สามารถคลอดได้ปกติ แต่ทางการแพทย์ถือว่าเป็นการตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูง เพราะมดลูกของผู้หญิงถูกออกแบบมาให้รองรับการตั้งครรภ์ได้ครั้งละ 1 คน 

หากคุณแม่ตั้งครรภ์แฝด หรือทารกมากกว่า 1 คน อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย โดยความเสี่ยงจะมากน้อยต่างกันไปตามประเภทของครรภ์แฝด ซึ่งการตั้งครรภ์แฝดที่เสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนได้สูง คือ ครรภ์แฝดที่มีรกอันเดียวกัน และใช้ถุงน้ำคร่ำร่วมกัน

ภาวะครรภ์เสี่ยง เลี่ยงได้ด้วยการฝากครรภ์

การเข้ารับการฝากครรภ์ตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะต่าง ๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีปัจจัยในข้างต้น หรือหากเกิดขึ้นแล้ว ก็ยังมีคุณหมอช่วยดูแลอย่างใกล้ชิด 

เมื่อคุณแม่รู้ว่าเริ่มตั้งครรภ์ควรเข้ารับการฝากครรภ์ทันที หรือไม่ควรเกินอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ โดยอายุครรภ์จะนับจากวันแรกของประจำเดือนรอบสุดท้าย และจะดีที่สุดถ้าคุณพ่อคุณแม่ไปพบคุณหมอก่อนวางแผนจะมีตัวเล็กหรือก่อนการตั้งครรภ์ เพราะจะได้ตรวจเช็กสุขภาพและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ก่อน

หลังจากฝากครรภ์แล้ว คุณหมอจะมีการนัดมาพบเป็นระยะตลอดการตั้งครรภ์ โดยจำนวนนัดในช่วงฝากครรภ์ จะขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่คุณแม่เริ่มไปฝากครรภ์ครั้งแรก และสุขภาพของคุณแม่ในช่วงที่ตั้งครรภ์ ยิ่งคุณแม่ที่มีภาวะครรภ์เสี่ยงอาจจะต้องมาเจอคุณหมอบ่อยขึ้น 

นอกจากนี้ คุณแม่ที่มีภาวะครรภ์เสี่ยงสูงบางรายอาจต้องได้รับการดูแลจากแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ หรือคุณหมอ MFM (Maternal-Fetal medicine specialist) 

โดยคุณหมอ MFM จะเป็นแพทย์ที่เน้นการดูแลคุณแม่และทารกในครรภ์แบบเชิงลึก ตรวจหาความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงป้องกันหรือให้การรักษาด้วย เพื่อสุขภาพที่ดีและปลอดภัย ของทั้งแม่และเด็กในครรภ์

ประเมินภาวะครรภ์เสี่ยง คุณแม่ต้องตรวจอะไรบ้าง

เมื่อคุณแม่ไปฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลแล้ว คุณหมอจะต้องมีการประเมินความเสี่ยงในการตั้งครรภ์อยู่ด้วย ขั้นต้นจะเป็นการสอบถามประวัติ ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ตรวจร่างกายทั่วไป ร่วมกับการตรวจอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของคุณหมอ เพื่อหาปัจจัยเสี่ยงแล้วแต่บุคคล เช่น

  • การตรวจปัสสาวะ กรณีที่เจอโปรตีนในปัสสาวะร่วมกับมีความดันเลือดสูงอาจบ่งบอกถึงภาวะครรภ์เป็นพิษ หรือตรวจเจอน้ำตาลในปัสสาวะ อาจต้องตรวจเลือดอีกครั้ง เพราะอาจมีความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวาน
  • การตรวจดูยอดมดลูก เพื่อประมาณขนาดทารก และยังช่วยประเมินอายุครรภ์ได้ด้วย
  • การตรวจอัลตราซาวด์เฉพาะจุด เพื่อประเมินการเติบโตของทารกในครรภ์ และตรวจความพิการของทารกในครรภ์
  • การเจาะน้ำคร่ำและการตัดชิ้นรกไปตรวจ เพื่อหาความผิดปกติของโครโมโซมและโรคทางพันธุกรรม โดยการเจาะน้ำคร่ำมักทำในช่วงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ และการตัดชิ้นเนื้อรกมักทำในช่วงอายุครรภ์ 1012 สัปดาห์ 

คุณแม่ตั้งครรภ์ดูแลสุขภาพอย่างไร

นอกจากฝากครรภ์แล้ว การดูแลตัวเองในระหว่างตั้งครรภ์ตามคำแนะนำคุณหมอยังมีความสำคัญต่อความปลอดภัยของลูกน้อยและตัวคุณแม่เองอย่างมาก โดยทั่วไปคุณแม่สามารถดูแลสุขภาพครรภ์พื้นฐานได้ดังนี้ 

  • กินอาหารที่มีประโยชน์ สารอาหารครบถ้วน มีทั้งคาร์โบไฮเดรต โปรตีนที่มีไขมันต่ำ ไขมันชนิดดี ธัญพืชเต็มเมล็ด ผัก และผลไม้ โดยคุณแม่อาจจะแบ่งกินเป็นมื้อหลักและมื้อย่อยระหว่างวัน 
  • ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ ช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานเป็นปกติ
  • หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่สุ่มเสี่ยงกับการติดเชื้อ หรืออัยตรายต่อร่างกาย เช่น อาการสุก ๆ ดิบ ๆ นมที่ไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรส์ อาหารหมักดอง
  • กินวิตามินบำรุงครรภ์ที่จำเป็น โดยเฉพาะโฟเลต กรดไขมันโอเมก้า 3 ธาตุเหล็ก แคลเซียม  
  • ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม ไม่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป โดยน้ำหนักคุณแม่ไม่ควรเพิ่มขึ้นเกิน 12–15 กิโลกรัมตลอดการตั้งครรภ์
  • ออกกำลังกายเบา ๆ เช่น การเดิน การว่ายน้ำ หรือเล่นโยคะ นอกจากช่วยให้สุขภาพดีแล้ว ยังช่วบควบคุมน้ำหนัก และลดความเสี่ยงจากโรคเบาหวานด้วย
  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่จำเป็น 
  • งดการดื่มแอลกอฮอล์ และ การสูบบุหรี่
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ โดยให้นอนตะแคงเพื่อให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงทารกในครรภ์ได้ดี
  • พบคุณหมอตามนัดฝากครรภ์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อติดตามการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารก รวมถึงตรวจเช็กความเสี่ยงที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพครรภ์
  • หลีกเลี่ยงการเดินทางหรือกิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อครรภ์
  • ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย พยายามไม่เครียด

อาการผิดปกติที่คุณแม่ควรรีบไปตรวจ

เมื่อมีอาการต่อไปนี้ การตั้งครรภ์จะถือว่ามีโอกาสเสี่ยงสูง คุณแม่ควรไปพบคุณหมอโดยเร็ว 

  • มีตกขาวหรือเลือดออกทางช่องคลอด
  • ลูกไม่ดิ้น หรือลูกดิ้นน้อยลง 
  • ขนาดท้องเล็กหรือใหญ่กว่าปกติ 
  • หายใจลำบาก 
  • จุกเสียดแน่นท้อง ปวดท้องน้อยส่วนล่าง หรือมดลูกแข็งเกร็งไม่หาย
  • ปวดหัวบ่อย ปวดหัวรุนแรง ตาพร่ามัว
  • มีไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส
  • มือ เท้า ใบหน้าบวมเฉียบพลัน
  • คลื่นไส้ อาเจียนรุนแรง

อย่างไรก็ตาม อาจมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นได้อีก คุณแม่ที่มีภาวะครรภ์เสี่ยงควรปรึกษาและสอบถามคุณหมอผู้ดูแลถึงอาการที่ควรระวังเป็นพิเศษ เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์

ไม่อยากให้ท้องนี้…ต้องเสี่ยง คุณแม่อย่าลืมฝากครรภ์ทันทีที่รู้นะ HDmall.co.th รวมราคา แพ็กเกจฝากครรภ์ คลอดบุตร ตรวจความสมบูรณ์ของทารกในครรภ์ จากคลินิกและรพ. ใกล้บ้านไว้ให้แล้ว

Scroll to Top