ไตรกลีเซอไรด์ คือ ไขมันขนิดหนึ่ง ซึ่งสร้างมาจากอาหารที่รับประทานเข้าไป ไม่จะว่ารับประทานแป้งหรือไขมัน หากได้รับมากเกินความจำเป็นของปริมาณพลังงานที่ร่างกายต้องใช้ในแต่ละวันแล้ว
สารอาหารเหล่านี้จะถูกแปรเปลี่ยนเป็นไตรกลีเซอไรด์ และกลายเป็นพลังงานสำรองของร่างกายต่อไปนั่นเอง อย่างไรก็ตาม ไตรกลีเซอไรด์ที่ร่างกายสามารถเก็บสะสมสามารถเปลี่ยนไปอยู่ในรูปเซลล์ไขมันส่วนเกินได้ อีกทั้งยังสะสมที่ตับได้อีกด้วย
สารบัญ
ความสำคัญของไตรกลีเซอไรด์
- เป็นสารตั้งต้นที่นำไปสร้างเป็นส่วนของเยื่อหุ้มเซลล์ ทำให้เซลล์มีความแข็งแรงและคงรูปได้อย่างดี
- เป็นสารที่สำคัญของเซลล์ไขมันในร่างกาย เช่น ทำให้ร่างกายมีความอบอุ่น และช่วยลดแรงกระแทกกรณีร่างกายได้รับอุบัติเหตุ เพื่อปกป้องอันตรายต่ออวัยวะภายใน
ตัวเลขระดับไตรกลีเซอไรด์
- ระดับไตรกลีเซอไรด์ปกติควรมีค่าอยู่ต่ำกว่า 150 mg/dL.
- ระดับไตรกลีเซอไรด์ที่ต้องเฝ้าระวังมีค่าอยู่ที่ 151-199 mg/dL.
- ระดับไตรกลีเซอไรด์สูงมีค่าอยู่ที่ 200-499 mg/dL.
- ระดับไตรกลีเซอไรด์สูงมากมีค่าอยู่ที่ 500 mg/dL. ขึ้นไป
อันตรายของไตรกลีเซอไรด์
หากมีไตรกลีเซอไรด์ในปริมาณสูง จะหมายความว่าร่างกายมีโอกาสสร้างคอเลสเตอรอลตัวเลวที่มากขึ้น คือคอเลสเตอรอลชนิด VLDL และ LDL ซึ่งทำให้เกิดผลเสียแก่ร่างกาย โดยเฉพาะการสะสมที่บริเวณผนังของเส้นเลือด ทำให้เส้นเลือดแข็งตัว มีผลทำให้ความดันเลือดสูงขึ้น
นอกจากนี้ การสะสมของอนุภาคไขมันดังกล่าวยังมักจะไปเกาะเป็นตะกรันตามเส้นเลือด ทำให้ขนาดของเส้นเลือดตีบลง สิ่งที่น่ากลัวคือเมื่อเลือดไปเลี้ยงอวัยวะปลายทางไม่เพียงพออาจทำให้เกิดภาวะขาดเลือดของอวัยวะนั้นๆ
โดยส่วนมากมักเกิดกับหัวใจ ทำให้เป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน หัวใจขาดเลือด และเข้าสู่ภาวะหัวใจวาย และหากผนังเส้นเลือดเกิดการแตกกลายเป็นก้อนเล็กๆ ไหลตามเส้นเลือด แล้วไปอุดกั้นเส้นเลือดเล็กๆ เช่นเส้นเลือดฝอยในสมอง ก็จะทำให้เกิดภาวะสมองขาดเลือดอีกด้วย
ดังนั้น เราจึงควรป้องกันตนเองให้ห่างจากภาวะเหล่านี้ด้วยการควบคุมการรับไตรกลีเซอไรด์ หรือไขมันให้อยู่ในระดับที่พอเหมาะ คือควบคุมให้ระดับไตรกลีเซอไรด์ต่ำกว่า 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร เพราะอย่างไรก็ดี ไตรกลีเซอไรด์ยังเป็นสารตั้งต้นของฮอร์โมนและวิตามิน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย
อาการที่บอกว่า มีไตรกลีเซอไรด์สูง
โดยส่วนใหญ่แล้ว เมื่อมีไตรกลีเซอไรด์สูงมักไม่มีอาการใดๆเลย แต่พบว่า ภาวะไตรกลีเซอไรด์สูงอาจทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้
- ทำให้เส้นเลือดแดงตีบ ทำให้โรคหัวใจและหลอดเลือดแย่ลง
- ไขมันจะไปสะสมที่ตับเป็นจำนวนมาก จนเกิดภาวะที่เรียกว่า “ไขมันพอกตับ (Non-alcoholic fatty liver)” ซึ่งนำไปสู่ตับวายได้ ไขมันที่สะสมมากนี้ยังสามารถก่อให้เกิดโรคตับอ่อนอักเสบ ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องร้าวไปถึงหลังอย่างมาก และปวดตลอดเวลา
- เกิดไขมันสะสมใต้ผิวหนัง หรือที่เรียกว่า “eruptive xanthoma”
- นอกจากนี้ในกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งมีไตรกลีเซอไรด์สูงจะมีความเสี่ยงเป็นโรคเมตาบอลิกมากขึ้น ซึ่งทำให้มีอาการปวดศีรษะ หรือวิงเวียนศีรษะได้บ้าง
เราสามารถรู้เท่าทันระดับไตรีกลีเซอไรด์ในเลือดได้ด้วยการไปตรวจสุขภาพประจำปี ซึ่งในโปรแกรมทั่วไปมักประกอบไปด้วย การวัดระดับความดันโลหิต การตรวจเช็คระดับน้ำตาล ระดับไขมันต่างๆ ในเลือด
นอกจากนี้หากจะเสริมโปรแกรมตรวจตับลงไปด้วยก็ดีไม่น้อย เพื่อจะได้ดูแลสุขภาพให้ครบด้าน
ข้อปฏิบัติเบื้องต้นที่ควรทำเมื่อตรวจพบว่า มีไตรกลีเซอไรด์สูง?
หากไตรกลีเซอไรด์อยู่ในระดับสูง ร่วมกับมีโรคประจำตัว หรือตรวจพบความเสี่ยงของโรคเมตาบอลิกอื่นๆ แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อเริ่มทำการรักษา โดยแพทย์อาจพิจารณาให้ยาเพื่อลดไตรกลีเซอไรด์ลงทันที
นอกจากนี้ยังคงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลสุขภาพให้เคร่งครัดยิ่งขึ้น ดังนี้
- เลือกรับประทานอาหารเฉพาะที่ให้พลังงานเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ไม่รับประทานอาหารจนมากเกินไป เพราะจะทำให้พลังงานที่ได้รับเกินมาจากอาหารเปลี่ยนเป็นไตรกลีเซอไรด์เพิ่มชึ้นอีก
- ลดการรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เปลี่ยนเป็นอาหารไขมันต่ำ หรือปราศจากไขมันก็ได้ เช่น เปลี่ยนจากการรับประทานเนื้อแดงเป็นเนื้อที่มีไขมันต่ำกว่า เช่น ปลา หรืออกไก่ หากเลือกดื่มนมควรเลือกนมที่พร่องไขมัน
- ลดการรับประทานอาหารจำพวกไขมันลงให้เหลือพลังงานจากอาหารจำพวกไขมันเพียง 30 % ของพลังงานทั้งหมดที่ควรได้รับใน 1 วัน
- เลือกรับประทานคาร์โบไฮเดรตที่ยังไม่ผ่านการขัดสี (Complex carbohydrate) เช่น โฮลวีต ข้าวกล้องลดการบริโภคแป้งขาวและน้ำตาลลง
- เลือกรับประทานอาหารไขมันดีที่มีโอเมก้า 3 อยู่มาก เช่น แซลมอน ทูน่า ซาร์ดีน ซึ่งสามารถลดไขมันไม่ดี ลงได้
- รับประทานผักและผลไม้สดมากๆ เพื่อเพิ่มปริมาณใยอาหารต่อวัน
- ลดการดื่มแอลกอฮอล์
- เลิกสูบบุหรี่เพื่อลดความเสี่ยงของโรคอื่นๆ
- หากมีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ตาม BMI แนะนำให้ลดน้ำหนักด้วย (คำนวณค่า BMI ได้ที่นี่)
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที
- หากไม่สะดวกออกกำลังกาย แนะนำให้เพิ่มกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ร่างกายได้ขยับตัวตลอดเวลา เช่น เดินขึ้น-ลงบันได แทนการใช้ลิฟต์ เดินไปเปิด-ปิดประตูรั้วเอง แทนการใช้รีโมท
- รับประทานอาหารเสริม เช่น น้ำมันปลา ไนอาซิน สามารถช่วยลดไตรกลีเซอไรด์ลงได้ อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาก่อนเริ่มรับประทาน
การควบคุมระดับไตรกลีเซอไรด์สามารถเริ่มต้นได้ด้วยตนเองตั้งแต่วันนี้ตามวิธีที่เราแนะนำ หากไม่อยากตกอยู่ในภาวะป่วยจากการมีปริมาณไตรกลีเซอไรด์สูงในเลือดสูง
เพราะถึงตอนนั้นคุณอาจมีโรคร่วมอื่นๆ ด้วยแล้วก็ได้ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ โรคไขมันในเลือดสูง โรคไขมันพอกตับ โรคตับ
ข้อปฏิบัติเพื่อป้องกันภาวะไขมันเกาะตามเส้นเลือด
- รับประทานอาหารที่มีไขมันชนิดดี เช่น ปลา ไข่ อะโวคาโด ถั่วต่างๆ โฮลเกรน เนื่องจากสิ่งเหล่านี้มีปริมาณไตรกลีเซอไรด์เป็นส่วนประกอบในปริมาณน้อย ทำให้มีสารตั้งต้นที่จะทำไปสร้างคอเรสเตอรอลตัวเลวได้น้อยลง
- ไม่สูบบุหรี่ เนื่องจากมีผลการวิจัยที่ชัดเจนแล้วว่า การสูบบุหรี่เพิ่มโอกาสเสี่ยงให้เกิดเกิดเส้นเลือดแข็งตัวและตีบตันมากขึ้น
- ออกกำลังกายประเภทคาร์ดิโอวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน เพราะเป็นการออกกำลังกายที่เพิ่มอัตราการสลายอนุภาคของคอเลสเตอรอลตัวเลวได้เป็นอย่างดี
ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. ธนู โกมลไสย