ไวรัสตับอักเสบเอ

ไวรัสตับอักเสบเอ สาเหตุ อาการ

ตับ เป็นอวัยวะสำคัญของร่างกาย แม้จะมีความมหัศจรรย์กว่าอวัยวะอื่นๆ ตรงที่สามารถฟื้นตัวได้เอง หากตับได้พักจากสิ่งที่กระตุ้นให้ป่วย เช่น แอลกอฮอล์ แต่หากตับเกิดการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบขึ้นมา ต้องรีบรักษาโดยเร็วตามชนิดของไวรัสที่ติดเชื้อ

แม้ ไวรัสตับอักเสบเอ ไม่ได้มีอาการรุนแรง หรือน่ากลัวมากเท่ากับไวรัสตับอักเสบชนิดบี หรือซี แต่หากติดเชื้อก็ควรรีบทำการรักษา เพื่อรักษาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยไว้  

โรคไวรัสตับอักเสบ

โรคไวรัสตับอักเสบ (Hepatitis) มี 5 ชนิด ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบชนิดเอ บี ซี ดี และอี

สำหรับประเทศไทยมีไวรัสเพียง 2 ชนิดเท่านั้นที่เป็นปัญหาสำคัญของสาธารณสุข ไวรัสตับอักเสบชนิดบีและซี

เพราะหากตับอักเสบเรื้อรังจากการติดไวรัส 2 ชนิดนี้ จะทำให้เป็นตับแข็ง มีภาวะแทรกซ้อนต่างๆ และเป็นมะเร็งตับได้ในที่สุด

ส่วนไวรัสตับอักเสบเอ ถึงมีรายงานผู้ป่วยในทุกภาคของประเทศและมีการระบาดเป็นระยะๆ แม้สามารถป้องกันได้ ไม่ถึงชีวิต แต่ติดต่อกันง่าย

โรคไวรัสตับอักเสบเอ

เกิดจากกลุ่มเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดเอ (Hepatitis A Virus: HAV) แม้จะไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคตับอักเสบเรื้อรังแต่ผู้ป่วยบางรายก็อาจอ่อนเพลียอย่างหนัก ไตวาย ตับวายเฉียบพลัน และมีโอกาสเสียชีวิตได้

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เคยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอไปแล้วก็จะมีภูมิคุ้มกันตลอดชีวิตและจะไม่กลับมาเป็นอีก

การติดต่อของโรคไวรัสตับอักเสบเอ

เชื้อไวรัสตับอักเสบเอสามารถติดเชื้อได้ทางปากและทวารหนัก ดังนี้

  • การรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่มีเชื้อไวรัสชนิดนี้เข้าไป
  • การสัมผัสสิ่งปนเปื้อนเชื้อไวรัส เช่น อุจจาระ ปัสสาวะ (ไม่ล้างมือหลังเข้าห้องน้ำ)
  • การสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ
  • การมีเพศสัมพันธ์ สัมผัสกันทางทวารหนัก (มักระบาดในกลุ่มชายรักชาย)

เมื่อได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ เชื้อจะเข้าฝังตัวในลำไส้และกระจายไปยังตับจนตับเกิดการอักเสบขึ้นใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 1-2 สัปดาห์ และมักมีอาการนานถึง 50 วัน

ช่วงระยะเวลาในการติดต่อ

ระยะเวลาในการติดต่อจากคนสู่คนจนถึงช่วงก่อนเกิดอาการ จะใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 2 สัปดาห์และอาจอยู่ได้อีกหลายสัปดาห์หลังจากที่มีอาการตัวเหลืองตาเหลืองไปแล้ว โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีการอักเสบของตับ

ในช่วงระยะเวลา 3–10 วันก่อนที่จะเกิดอาการ สามารถพบเชื้อได้มากในอุจจาระ และถึงแม้ผลเลือดจะกลับคืนสู่ปกติแล้วก็ยังสามารถตรวจพบเชื้อในเลือดของผู้ป่วยได้ (เป็นพาหะ)

อาการของโรคไวรัสตับอักเสบเอ

  • มีไข้
  • รู้สึกไม่สบายตัว
  • อ่อนเพลีย
  • เบื่ออาหาร
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • แน่นบริเวณชายโครงขวา
  • มีอาการท้องร่วง
  • มีอาการดีซ่าน (ปัสสาวะสีเข้ม มีอุจจาระสีซีด ดวงตาขาว และมีอาการตัวเหลืองตาเหลือง)

อาการเหล่านี้มักจะหายภายใน 2 เดือน (ในบางรายก็ใช้เวลาถึง 6 เดือน) อาการในผู้ใหญ่จะแรงกว่าในเด็ก ยิ่งอายุมากอาการจะรุนแรงมากขึ้นตามลำดับและอาจเกิดแทรกซ้อนที่สำคัญและอันตรายคือตับวาย ซึ่งพบได้น้อยมาก (0.5%)

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบส่วนใหญ่ก็หายขาดจากโรคโดยไม่มีโรค หรือภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ และไม่เป็นพาหะเรื้อรัง รวมทั้งมีภูมิคุ้มหันต่อไวรัสตับอักเสบเอ

การวินิจฉัยโรค

ถ้าผู้ป่วยมีอาการตับอักเสบขึ้น และมีการตรวจพบว่าค่า SGOT, SGPT สูง แพทย์จะเจาะเลือดเพิ่มเพื่อหา anti-HAV ชนิด IgM ด้วยวิธี EIA แอนตบอดีชนิดนี้จะสามารถตรวจพบได้ตั้งแต่เริ่มมีอาการและพบได้นาน 3- 6 เดือน

การรักษา

ไม่มีการรักษาแบบจำเพาะ เป็นการรักษาเพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดูแลไม่ให้ร่างกายอ่อนเพลียจากการขาดสารน้ำและแร่ธาตุ หากผู้ป่วยมีอาการท้องเดิน และอาเจียนอย่างหนัก

ปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

  • อยู่อาศัยร่วมกับผู้ป่วย หรือมีเพศสัมพันธ์กัน
  • เป็นเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ทำให้เสี่ยงต่อการสัมผัสโรค
  • เดินทางไปในพื้นที่ที่มีการระบาด
  • อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาด
  • เด็กและเจ้าหน้าที่ศูนย์เลี้ยงเด็ก
  • คนที่พักอาศัยอยู่ในชุมชนแออัด
  • ผู้รักร่วมเพศ (ชายรักชาย)
  • ผู้ใช้ยาเสพติด
  • ผู้เป็นโรคเลือดต้องถ่ายเลือดบ่อย
  • ผู้ที่เป็นโรคตับ คนที่ทำงานใกล้ชิดลิง

การป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบเอ

  • ให้ Immune globulin ซึ่งเป็นภูมิต้านทานไวรัสตับอักเสบเอ ใช้ป้องกันได้ในระยะสั้นโดยให้เพื่อป้องกันก่อนไปสัมผัสกับโรค หรือให้หลังสัมผัสโรคไม่เกิน 2 อาทิตย์
  • การฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ  2 เข็ม โดยเข็มที่ 1 และ 2 ต้องฉีดห่างกัน 6-12 เดือน  การฉีดวัคซีนนี้ให้ผลในการป้องกันเกือบ 100% ฉีดครั้งเดียวป้องกันได้ตลอดชีวิต สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป
  • ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งด้วยสบู่ก่อนลงมือปรุงอาหาร รับประทานอาหาร และหลังจากเข้าห้องน้ำ
  • ใส่ถุงมือเมื่อต้องทำความสะอาดอุจจาระ ปัสสาวะ หรืออาเจียน
  • เมื่อไปต่างสถานที่แปลกๆ ให้ดื่มน้ำต้มสุกเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อไวรัส
  • รับประทานอาหารที่ปรุงสุกแล้วเท่านั้น
  • ไม่ใช้แก้วน้ำ ช้อน ส้อม จานชาม ร่วมกับคนแปลกหน้า
  • ทำความสะอาดเครื่องใช้ต่างๆ เป็นประจำ

บุคคลที่แนะนำให้เข้ารับการฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ

  • ผู้ต้องเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาด
  • ผู้มีโรคตับเรื้อรัง
  • ผู้ที่มีภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ
  • ผู้รักร่วมเพศ (ชายรักชาย)
  • บุคลากรทางการแพทย์

ไวรัสตับอักเสบเอแม้จะติดเชื้อได้ง่าย หากสุขอนามัยไม่ดี แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรค และปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตให้ถูกสุขลักษณะ


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. วรพันธ์ พุทธศักดา

Scroll to Top