รู้หรือไม่ว่า ฝุ่นควันจากท่อไอเสียรถยนต์ หรือแม้แต่อาหารที่คุณรับประทานเป็นประจำนั้น อาจมีการปนเปื้อนของโลหะหนัก ซึ่งหากได้รับในปริมาณมากต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน อาจส่งผลรุนแรงต่อร่างกาย ทำให้เกิดโรคร้ายต่างๆ ตามมาได้ การตรวจโลหะหนักในร่างกาย เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้เราสามารถหยุดยั้งโรคร้ายที่กำลังจะเกิดขึ้น
สารบัญ
- โลหะหนักคืออะไร?
- โลหะหนักเข้าสู่ร่างกายได้อย่างไร?
- เมื่อโลหะหนักเข้าสู่ร่างกายจะแสดงอาการอย่างไร?
- วิธีป้องกันร่างกายให้ห่างไกลจากโลหะหนัก
- ตรวจโลหะหนักในร่างกายคืออะไร?
- ใครควรตรวจโลหะหนักบ้าง?
- เตรียมตัวก่อนการตรวจโลหะหนัก
- ค่าใช้จ่ายในการตรวจโลหะหนักในร่างกาย
- หากตรวจพบว่าโลหะหนักเกินเกณฑ์มาตรฐานต้องทำอย่างไร?
โลหะหนักคืออะไร?
โลหะหนักเป็นองค์ประกอบที่พบได้ตามธรรมชาติ มักนำมาใช้ในระบบอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยา รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรต่างๆ จึงนับเป็นหนึ่งในสิ่งที่มีคุณประโยชน์ต่อมนุษย์อย่างมาก
นอกจากนี้โลหะหนักจำพวกสังกะสี เหล็ก ทองแดง ยังเป็นองค์ประกอบสำคัญในร่างกายมนุษย์อีกด้วย เพราะเป็นสารที่จำเป็นต่อการทำงานของระบบต่างๆ แต่หากร่างกายได้รับโลหะหนักมากเกินไป ก็จะส่งผลเสียตามมา โดยโลหะที่มักพบว่ามีการปนเปื้อนในร่างกายจนเป็นอันตรายนั้นมีอยู่ 9 ชนิดด้วยกัน ได้แก่
- สารหนู (Arsenic)
- ปรอท (Mercury)
- แคตเมียม (Cadmium)
- โครเมียม (Chromium)
- โคบอลท์ (Cobalt)
- นิเกิล (Nickle)
- แมงกานีส (Manganese)
- อลูมิเนียม (Aluminum)
- ตะกั่ว (Lead)
โลหะหนักเข้าสู่ร่างกายได้อย่างไร?
โลหะหนักเข้าสู่ร่างกายได้หลากหลายช่องทาง หากเราทราบถึงปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ ก็จะสามารถวางแผนป้องกันได้อย่างเหมาะสม โดยช่องทางที่โลหะหนักเข้าสู่ร่างกายมี 3 ช่องทางหลักๆ ดังนี้
- การสูดดม ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ บุหรี่ หรือควันพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม รวมไปถึงฝุ่นที่ล่องลอยอยู่ในอากาศ มักมีการปนเปื้อนของโลหะหนักอยู่ค่อนข้างมาก ดังนั้นหากคุณสูดดมควันและฝุ่นเหล่านี้ โลหะหนักก็จะเข้าสู่ร่างกายไปด้วย
- การรับประทาน แหล่งน้ำจืด น้ำทะเล ผืนดินบางแห่งที่อยู่ใกล้กับโรงงานอุตสาหกรรม อาจมีการปนเปื้อนของโลหะหนัก ซึ่งหากมีการจับสัตว์น้ำหรือมีการเพาะปลูกบริเวณดังกล่าว ก็มีโอกาสที่สัตว์น้ำหรือพืชผักจะปนเปื้อนโลหะหนักค่อนข้างสูง ทั้งนี้ในบางประเทศมีการออกคำแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ หลีกเลี่ยงการรับประทานปลาทูน่า เนื่องจากพบว่ามีสารปรอทปนเปื้อนในปริมาณที่สูง จนอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้
- การสัมผัส เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ทำให้โลหะหนักเข้าสู่ร่างกาย โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งต้องสัมผัสกับสารเคมีต่างๆ บ่อยครั้ง ผิวหนังก็อาจมีการดูดซึมโลหะหนักที่ปนเปื้อนอยู่ได้ นอกจากนี้การใช้เครื่องสำอางที่ไม่ได้มาตรฐานมีการผสมสารโลหะหนัก ก็เป็นช่องทางที่ทำให้โลหะหนักสะสมในร่างกายได้เช่นกัน
เมื่อโลหะหนักเข้าสู่ร่างกายจะแสดงอาการอย่างไร?
โลหะหนักแม้จะเป็นองค์ประกอบสำคัญของร่างกาย แต่หากได้รับในปริมาณที่มากเกินไป จะส่งผลร้ายแรงได้ ซึ่งอันตรายจากโลหะหนักนั้นจะแตกต่างกันไปตามชนิดของโลหะนั้นๆ แต่โดยทั่วไปจะมีอาการเบื้องต้นดังนี้
- ท้องเสีย คลื่นไส้ ปวดท้อง อาเจียน
- หายใจติดขัด สูดหายใจได้ไม่สุด
- มือหรือเท้า สั่น อ่อนแรง
- รู้สึกเหมือนมีเข็มทิ่มตามมือและเท้า
ทั้งนี้ปัญหาพิษจากโลหะหนักที่พบในปัจจุบันมักไม่ได้เกิดจากการได้รับพิษอย่างเฉียบพลันและแสดงอาการทันที แต่เป็นการได้รับโลหะหนักปริมาณน้อยและสะสมไปเรื่อยๆ จนส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา เพราะเมื่อสารโลหะหนักเข้าสู่ร่างกายจะเข้าไปจับกับเอนไซม์ต่างๆ จนทำให้เอนไซม์เหล่านั้นไม่ทำงาน ระบบต่างๆ ในร่างกายจึงหยุดชะงัก นอกจากนี้โลหะหนักยังก่อให้เกิดการอักเสบของหลอดเลือด ทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตัน และยังเป็นพิษต่อเซลล์ในร่างกาย ทำให้เซลล์มีการแบ่งตัวผิดปกติ ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของโรคมะเร็งอีกด้วย
วิธีป้องกันร่างกายให้ห่างไกลจากโลหะหนัก
จากสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่าโลหะหนักมีโอกาสเข้าสู่ร่างกายได้ตลอดเวลา ผ่านการสูดดม สัมผัสและรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนโลหะหนัก แต่เราสามารถหลีกเลี่ยงได้เช่นกัน ด้วยการปฏิบัติตัวตามคำแนะนำนี้
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีฝุ่นควัน แต่หากจำเป็นต้องเดินทางไปยังสถานที่นั้น ควรสวมหน้ากากอนามัยที่ระบุว่าสามารถป้องกันฝุ่นละอองและโลหะหนักได้
- หากต้องทำงานหรืออยู่อาศัยในบริเวณที่ได้รับผลกระทบจากโลหะหนัก จำเป็นต้องสวมหน้ากากและเสื้อผ้าที่ป้องกันสารพิษ
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสแบตเตอรี่ ถ่านไฟฉาย และอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ ที่เสื่อมสภาพแล้ว
- อ่านฉลากของอุปกรณ์ต่างๆ ก่อนเลือกซื้อทุกครั้ง เพราะอุปกรณ์บางชนิดอาจมีส่วนประกอบของโลหะหนักที่ควรต้องระมัดระวังในระหว่างการใช้งาน
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารซ้ำๆ แม้แต่ผัก ผลไม้ก็ควรหมุนเวียนรับประทาน เพราะมีโอกาสได้รับโลหะหนักชนิดเดิมอย่างต่อเนื่อง จนก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ ดังนั้นควรรับประทานอาหารให้หลากหลายเพื่อกระจายความเสี่ยง
- หลีกเลี่ยงการซื้อยา อาหารเสริม หรือสมุนไพรที่ไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากอย. โดยเฉพาะยาลูกกลอน เพราะมีการพบโลหะหนักปนเปื้อนในประมาณที่สูงมาก
- หากอาศัยอยู่ในบ้านเก่าที่ก่อสร้างก่อนปี พ.ศ. 2521 ควรปรับปรุงใหม่ เพราะช่วงเวลาก่อนปี พ.ศ. 2521 มีการนำผลิตภัณฑ์สีทาบ้านที่ผสมสารตะกั่วมาใช้อย่างแพร่หลาย ซึ่งหากสัมผัสหรือสูดดมอย่างต่อเนื่องจะเป็นอันตรายรุนแรงได้
- หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางที่ไม่ได้มาตรฐาน จำพวกครีมหน้าขาว ที่อธิบายสรรพคุณว่าช่วยให้ผิวกระจ่างใสได้อย่างรวดเร็ว เพราะส่วนใหญ่จะมีส่วนผสมของโลหะหนักจำพวกปรอท ที่อาจเป็นอันตรายต่อผิวหนังได้
- ตรวจโลหะหนักในร่างกายเป็นประจำทุกปี เพราะหากพบว่ามีโลหะหนักในร่างกายเกินเกณฑ์ แพทย์จะได้วางแผนเพื่อขับออกอย่างเหมาะสม
ตรวจโลหะหนักในร่างกายคืออะไร?
การตรวจโลหะหนักในร่างกายเป็นหนึ่งในวิธีการที่ช่วยให้เราทราบว่าภายในร่างกายของเรามีระดับโลหะหนักเกินมาตรฐานจนเป็นอันตรายหรือไม่ โดยแพทย์จะตรวจด้วยการเก็บตัวอย่างเลือด ปัสสาวะหรือเหงื่อ แล้วส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการพิเศษซึ่งสามารถตรวจระดับโลหะหนักที่เป็นพิษต่อร่างกายได้ทั้ง 9 ชนิด หากพบว่ามีระดับโลหะหนักเกินเกณฑ์มาตรฐานจะได้วางแผนการขับโลหะหนักออกจากร่างกายต่อไป
ใครควรตรวจโลหะหนักบ้าง?
จริงๆ แล้วทุกคนสามารถเข้ารับการตรวจโลหะหนักได้ เพื่อป้องกันโรคร้ายที่อาจเกิดขึ้น แต่หากคุณมีความเสี่ยงดังต่อไปนี้ ควรเข้ารับการตรวจโลหะหนักเป็นประจำทุกปีเพื่อสุขภาพที่ดีของตัวคุณเอง
- ผู้ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป
- ผู้ที่ประกอบอาชีพที่มีความเสี่ยงต้องสูดดมหรือสัมผัสกับโลหะหนักเป็นประจำ เช่น พนักงานในโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
- ผู้ที่อยู่อาศัยใกล้โรงงานอุตสาหกรรม หรืออยู่ในสถานที่ที่พบว่ามีการปนเปื้อนหรือเคยมีการปนของโลหะหนัก
- ผู้ที่ต้องทำงานหรืออาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีมลพิษทางอากาศ
- ผู้ที่ประกอบอาชีพเกษตรกร ซึ่งต้องสัมผัสกับสารเคมีจำพวกปุ๋ย ยาฆ่าแมลง เป็นประจำ
เตรียมตัวก่อนการตรวจโลหะหนัก
ขั้นตอนการเตรียมตัวก่อนการตรวจโลหะหนักนั้นไม่ยุ่งยาก โดยมีการเตรียมตัวดังนี้
- งดน้ำและอาหาร (ดื่มน้ำเปล่าได้) ก่อนเข้ารับการตรวจอย่างน้อย 8-12 ชั่วโมง
- งดอาหารทะเลก่อนการตรวจอย่างน้อย 1 สัปดาห์
ค่าใช้จ่ายในการตรวจโลหะหนักในร่างกาย
การตรวจโลหะหนักในร่างกายเป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยลดโอกาสเสี่ยงของการเกิดโรคร้ายได้ ซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลรัฐและเอกชนชั้นนำหลายแห่งก็มีบริการตรวจโลหะหนักในร่างกาย โดยราคาเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 3,000 บาท ขึ้นอยู่กับค่าบริการทางการแพทย์และค่าบริการโรงพยาบาลนั้นๆ
หากตรวจพบว่าโลหะหนักเกินเกณฑ์มาตรฐานต้องทำอย่างไร?
หากตรวจโลหะหนักแล้วพบว่ามีระดับโลหะหนักในร่างกายเกินเกณฑ์มาตรฐาน จะต้องวางแผนเพื่อกำจัดโลหะหนักเหล่านั้นออกจากร่างกาย โดยวิธีที่แพทย์ใช้ในปัจจุบันคือการทำ คีเลชั่น (Chelation Therapy) นั่นคือการล้างสารพิษและโลหะหนักในหลอดเลือด โดยเป็นการให้ของเหลว ซึ่งสารประกอบจำพวกกรดอะมิโนที่เรียกว่า Ethylene diamine tetra-acetic acid หรือ EDTA ผสมกับวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ เมื่อ EDTA เข้าสู่ร่างกายจะเข้าไปทำหน้าที่จับกับสารโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว ปรอท สารหนู หรือแม้แต่แคลเซียมส่วนเกิน จากนั้นจะขับออกทางปัสสาวะ โดยใช้เวลาในการให้ของเหลวประมาณ 3-4 ชั่วโมง ทำประมาณ 8-10 ครั้ง นับเป็นวิธีที่ปลอดภัยและช่วยกำจัดโลหะหนักออกจากร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หลายคนอาจมองข้ามการตรวจโลหะหนักในร่างกาย เพราะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริงๆ แล้วโลหะหนักอยู่ใกล้ตัวกว่าที่คิด ยิ่งสภาพแวดล้อมในปัจจุบันนั้นมีมลพิษค่อนข้างมาก ทำให้มีโอกาสสัมผัสกับโลหะหนักมากขึ้นตามไปด้วย การตรวจโลหะหนักอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนควรใส่ใจ เพราะยิ่งตรวจพบเร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งลดความเสี่ยงของการเกิดโรคร้ายได้เร็วขึ้นเท่านั้น
ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. วรรณวนัช เสถียรธรรมมณี