เมื่อถึงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาหรือวันพระ เหล่าพุทธศาสนิกชนจะนิยมทำบุญตักบาตร นับว่าเป็นประเพณีการทำบุญที่สืบทอดต่อกันมาเป็นเวลายาวนาน อาหารที่ใช้ตักบาตรหรือถวายพระนั้นจะประกอบไปด้วยอาหารคาวและหวาน แต่ปัจจุบันกลับพบว่า อาหารตักบาตรถวายพระส่วนใหญ่เป็นอาหารรสเค็มจัด หวานจัด และมีไขมันสูง ส่งผลต่อสุขภาพพระสงฆ์ และก่อให้เกิดโรคเรื้อรังตามมา ได้แก่ โรคอ้วน โรคไขมันในเส้นเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคไต โรคความดันโลหิตสูง อัมพฤกษ์ โรคหัวใจ อีกทั้งพระสงฆ์ยังไม่สามารถออกกำลังกายได้ เนื่องจากความจำกัดในสมณเพศ ท่านทำได้เพียงการทำกิจวัตรเล็กๆ น้อยๆ เช่น กวาดหรือทำความสะอาดกุฏิลานวัด เดินบิณฑบาต เดินจงกรม เป็นต้น
สารบัญ
โภชนาการที่เหมาะสม สำหรับพระสงฆ์
จากการศึกษาปัญหาโภชนาการของพระสงฆ์ของสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2554-2555 พบว่า พระสงฆ์จำนวนถึง 45% อยู่ในเกณฑ์อ้วน พระสงฆ์ 40% มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะพระที่สูงวัย มักเป็นโรคไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน เนื่องจากอาหารที่ได้รับไม่ถูกหลักโภชนาการที่ควรจะเป็น
ดังนั้น สาธุชนควรคำนึงถึงหลักการเลือกภัตตาหารสำหรับถวายพระสงฆ์เพื่อสุขภาพที่ดีของท่าน โดยเลือกอาหารที่มีประโยชน์ ไม่เค็มจัด หวานจัด หรือมันจัด เน้นอาหารที่มีผักมากๆ เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีแก่พระสงฆ์ และมีสิ่งที่ควรคำนึงถึงดังนี้
- พลังงานและสารอาหารในแต่ละวัน โดยสำนักโภชนาการ กรมอนามัย ได้แนะนำพลังงานที่ควรได้รับ 1,200-1,800 กิโลแคลอรีต่อวัน ขึ้นอยู่กับระดับกิจกรรมต่างๆ ที่ดำเนินในชีวิตประจำวัน โดยได้รับจากข้าว แป้ง น้ำตาล ผัก ผลไม้ และไขมัน
- นมและผลิตภัณฑ์จากนม สารอาหารที่ได้คือ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน ได้จากน้ำนมจากสัตว์ เช่น นมวัน นมแพะ หรือน้ำนมจากพืช เช่น นมถั่วเหลือง ควรเลือกเป็นนมพร่องมันเนย มีไขมันต่ำ ส่วนโยเกิร์ต ควรเลือกโยเกิร์ตรสธรรมธรรมชาติ และไม่ควรถวายนมเปรี้ยว เนื่องจากมีปริมาณน้ำตาลสูงกว่านมธรรมดา
- ข้าว แป้ง สารอาหารที่ได้คือ คาร์โบไฮเดรต มีอยู่ในอาหารจำพวกข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ข้าวกล้อง ขนมปัง ข้าวโพด เผือก มัน ควรเลือกถวายอาหารประเภทข้าว แป้ง ที่ผ่านการขัดสีแต่น้อย เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท เพราะจะให้ประโยชน์เรื่องใยอาหาร และวิตามินบีรวม
- เนื้อสัตว์ ไข่ เต้าหู้ ผลิตภัณฑ์จากถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ สารอาหารที่ได้คือ โปรตีน ควรถวายเนื้อสัตว์ประเภทปลา เนื่องจากเนื้อปลาย่อยงานและมีไขมันต่ำ ไม่ควรถวายเนื้อสัตว์ที่มีไขมันสูง เช่น หมูสามชั้น เป็นต้น
- ผักและผลไม้ สารอาหารที่ได้คือวิตามินและเกลือแร่ต่างๆ รวมทั้งใยอาหาร ช่วยระบบขับถ่าย ดูดซับสารพิษ รวมถึงปริมาณน้ำตาลและไขมันในเลือด ควรจะถวายภัตตาหารที่มีผักเป็นส่วนประกอบมากขึ้น และเป็นผักหลากสี เนื่องจากผักสีต่างๆ มีคุณประโยชน์และมีวิตามินที่แตกต่างกัน ในส่วนของผลไม้ควรเลือกถวายผลไม้ตามฤดูกาล เลือกถวายผลไม้ที่มีรสไม่หวานจัด เช่น ส้ม มะละกอ แตงโม แคนตาลูป ฝรั่ง แก้วมังกร เป็นต้น และหลีกเลี่ยงผลไม้ที่มีน้ำตาลสูง เพราะอาจจะทำให้พระสงฆ์เป็นเบาหวานได้ เช่น ทุเรียน ลำไย เป็นต้น
- ไขมันและน้ำมัน จะช่วยในการดูดซึมวิตามินต่างๆ ควรเลือกไขมันไม่อิ่มตัวเป็นส่วนประกอบในการปรุงอาหารสำหรับพระสงฆ์ และหลีกเลี่ยงการถวายอาหารที่ใช้น้ำมันจำนวนมากในการปรุง เช่น อาหารที่มีกะทิ อาหารที่ปรุงโดยการผัดน้ำมันมากๆ และอาหารทอด เพราะอาจส่งผลให้น้ำหนักตัวพระสงฆ์เพิ่มขึ้นได้ง่าย
- ขนมและเบ็ดเตล็ด หลีกเลี่ยงขนมที่มีน้ำตาลและไขมันสูง เช่น ข้าวเหนียวทุเรียนน้ำกะทิ ข้าวเหนียวมูลมะม่วง เค้ก และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น โจ๊กซอง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารกระป๋องต่างๆ
- น้ำปานะ ควรมีโปรตีนและไขมันอยู่ด้วยเล็กน้อย เพราะจะช่วยชะลอให้อาหารอยู่ในกระเพาะได้นานขึ้น ทำให้อิ่มนาม ซึ่งจะช่วยบรรเทาควรหิวในขณะที่ร่างกายไม่ได้รับอาหารหลายชั่วโมงได้ดี เช่น นมถั่วเหลืองหวานน้อย น้ำข้าว นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มชูกำลัง น้ำอัดลม และเลี่ยงการเติมน้ำตาล ครีมเทียม ลงในเครื่องดื่มด้วย
ตารางที่ 1 สัดส่วนภัตตาหารในระดับพลังงานต่างๆ ต่อวัน ที่พระสงฆ์ควรได้รับ
อาหาร | 1,200 kcal | 1,500 kcal | 1,800 kcal | 2,000 kcal | ||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|
ดื่มนม | ไม่ดื่มนม | ดื่มนม | ไม่ดื่มนม | ดื่มนม | ไม่ดื่มนม | ดื่มนม | ไม่ดื่มนม | |
ข้าว แป้ง (ทัพพี) | 6 | 7 | 8 | 9 | 9 | 11 | 10 | 12 |
ผัก (ทัพพี) | 5 | 5 | 6 | 6 | 6 | 6 | 6 | 6 |
ผลไม้ (ส่วน) | 3 | 3 | 4 | 4 | 5 | 5 | 5 | 5 |
เนื้อสัตว์ (ช้อนโต๊ะ) | 8 | 9 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 |
ไขมัน (ช้อนชา) | 3 | 3 | 4 | 4 | 5 | 5 | 6 | 6 |
นม (แก้ว) | 1 | – | 1 | – | 2 | – | 2 | – |
ตารางที่ 2 ตัวอย่างรายการอาหาร ใน 1 วันสำหรับพระสงฆ์
มื้อ | รายการอาหาร | |
---|---|---|
1200 kcal/วัน | 1500 kcal/วัน | |
มื้อเช้า | 1. ข้าวสวย 3 ทัพพี 2. แกงจืดฟัก-หมูบด (เนื้อสัตว์ 1 ช้อนโต๊ะ) 3. ผักผักกะหล่ำปลีไก่บด (เนื้อสัตว์ 1 ช้อนโต๊ะ) 4. ไข่เจียว 1 ฟอง (เนื้อสัตว์ 2 ช้อนโต๊ะ) 5. มะละกอสุก 6 ชิ้น พอดีคำ (ผลไม้ 1 ส่วน) |
1. ข้าวสวย 4 ทัพพี 2. แกงจืดฟัก-หมูบด (เนื้อสัตว์ 2 ช้อนโต๊ะ) 3. ผักผักกะหล่ำปลีไก่บด (เนื้อสัตว์ 2 ช้อนโต๊ะ) 4. ไข่เจียว 1 ฟอง (เนื้อสัตว์ 2 ช้อนโต๊ะ) 5. มะละกอสุก 10 ชิ้น พอดีคำ (ผลไม้ 1.5 ส่วน) |
มื้อเพล | 1. ข้าวสวย 3 ทัพพี 2. แกงจืดมะระยัดไส้ (เนื้อสัตว์ 2 ช้อนโต๊ะ) 3. ผัดแตงกวาใส่ไข่ (เนื้อสัตว์ 1 ช้อนโต๊ะ) 4. แกงป่าหมู (เนื้อสัตว์ 2 ช้อนโต๊ะ) 5. แก้วมังกรครึ่งผลขนาดเล็ก (ผลไม้ 1 ส่วน) |
1. ข้าวสวย 4 ทัพพี 2. ผัดขิงหมู (เนื้อสัตว์ 2 ช้อนโต๊ะ) 3. ปลานึ่งซีอิ้ว (เนื้อสัตว์ 2 ช้อนโต๊ะ) 4. แกงป่าหมู (เนื้อสัตว์ 2 ช้อนโต๊ะ) 5. แก้วมังกรครึ่งผลขนาดกลาง (ผลไม้ 1.5 ส่วน) |
มื้อหลังเพล | น้ำฝรั่ง 1 แก้ว (ผลไม้ 1 ส่วน) นมจืดพร่องมันเนย 1 กล่อง |
น้ำฝรั่ง 1 แก้ว (ผลไม้ 1 ส่วน) นมจืดพร่องมันเนย 1 กล่อง |
เขียนบทความและตรวจสอบความถูกต้องโดย ทีมนักกำหนดอาหารวิชาชีพ HD