ginseng scaled

โสม ประโยชน์ ข้อควรระวัง วิธีกินเพื่อสุขภาพ

โสม เป็นหนึ่งในพืชสมุนไพรชื่อดังที่ขึ้นชื่อด้านสรรพคุณทางยา ช่วยบำรุงร่างกาย บำรุงเลือด และบำรุงสมอง นอกจากนี้ โสมยังนำมาใช้รักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้อีกด้วย   

โสมมีหลากหลายสายพันธุ์ และทุก ๆ สายพันธุ์เป็นพืชตระกูลเดียวกัน อยู่ในวงศ์ ARALIACEAE สกุล Panax โดยสายพันธุ์ของโสม มีดังนี้

  1. โสมเกาหลี (Panax ginseng C.A. Mey.) ชื่อท้องถิ่น โสมคน หรือ หยิ่งเซียม
  2. โสมจีน (Panax pseudoginseng Wall) ชื่อท้องถิ่น ชั่งชิก
  3. โสมอเมริกัน (Panax quinquefolium L.) ชื่อท้องถิ่น เอี่ยเซียม

โสมแต่ละสายพันธุ์ต่างก็มีสารสำคัญหลัก ๆ คือ  จินเซนโนไซด์ (Ginsenosides) และพาแน็กโซไซด์ (Panaxosides) ที่เป็นตัวเสริมสรรพคุณดี ๆ ให้ร่างกายนั่นเอง 

โสมชนิดต่าง ๆ กับสรรพคุณทางยา 

ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน โสมมีสรรพคุณทางยาต่าง ๆ ดังนี้

โสมจีน หรือ ชั่งชิก 

แพทย์แผนจีนชี้ว่า โสมจีนใช้บำบัดอาการอาเจียนมีเลือดปน บรรเทาอาการเมื่อประจำเดือนไหลไม่หยุด อาการเลือดออกหลังคลอดบุตร อีกทั้งยังช่วยขยายหลอดเลือด และลดความดันโลหิตด้วย 

  • วิธีรับประทาน นำเครื่องยาสมุนไพรแบบแห้ง บดเป็นผง รับประทานครั้งละ 1–1.5 กรัม ละลายน้ำต้มสุกดื่ม 
  • กรณีใช้ห้ามเลือด ให้บดเป็นผง โรยบริเวณที่มีเลือดออก หรือที่มีบาดแผล

โสมเกาหลี หรือ โสมคน หรือ หยิ่งเซียม 

มีต้นกำเนิดที่เกาหลี แต่นำมาใช้อย่างแพร่หลายในประเทศจีน แพทย์แผนจีนกล่าวว่า โสมเกาหลีมีรสหวานอมขมเล็กน้อย ออกฤทธิ์ตามเส้นลมปราณของปอดและม้าม จัดอยู่ในกลุ่มสมุนไพรบำรุงกำลัง 

  • ช่วยแก้ไขเรื่องระบบย่อยอาหาร แก้เบื่ออาหาร บำรุงปอด ช่วยแก้อาการหอบ บำรุงหัวใจ บำรุงไต และบรรเทาอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
  • วิธีรับประทาน นำเครื่องยาสมุนไพรแบบแห้งมาบดเป็นผง รับประทานครั้งละ 1–1.5 กรัม ละลายน้ำต้มสุกดื่ม หากรับประทานแบบสด ให้นำไปต้มให้สุกก่อน รับประทานครั้งละ 1–9 กรัม

โสมอเมริกัน หรือ เอี่ยเซียม 

แม้จะมีต้นกำเนิดอยู่ที่สหรัฐอเมริกา แต่ก็ยังนำเข้าไปยังประเทศจีนด้วย 

  • แพทย์แผนจีนนิยมใช้ในผู้ป่วยที่ร่างกายมีความร้อนมากเกินไป เช่น ปาก คอ และลิ้นแห้งแดง กระหายน้ำ เสียงแหบ เหงือกอักเสบ นอกจากนี้ ยังใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการไอแห้งมีเลือดปน ไอเรื้อรัง หรือผู้ป่วยที่เพิ่งฟื้นไข้ได้อีกด้วย
  • วิธีรับประทาน อมครั้งละ 1–2 แผ่น หรือชงด้วยน้ำร้อน ครั้งละ 2–3 แผ่น และดื่ม

ประโยชน์ของโสมชนิดต่าง ๆ 

  • การศึกษาฤทธิ์ต้านภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันของสารสกัดจากดอกตูมของโสมจีนในระดับหลอดทดลอง พบว่า สารสกัดนี้มีความเกี่ยวข้องกับการสร้างหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดที่ผิดปกติบางส่วนได้รับการซ่อมแซม
  • อีกผลการศึกษาหนึ่ง เป็นการทดลองกับหนูที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน และให้หนูลองรับสารสกัดจากดอกตูมของโสมจีนในขนาด 50 มก./กก. ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 2 สัปดาห์ พบว่า สารสกัดนี้ทำให้ความหนาแน่นของหลอดเลือดบริเวณที่เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายบางส่วนเพิ่มขึ้น
  • การศึกษาผลของสารสกัดจากโสมอเมริกันกับการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในหนูทดลอง โดยให้หนูกินสารสกัดนี้ติดต่อกัน 4 สัปดาห์ แล้วให้กินอาหารปกติต่ออีก 8 สัปดาห์ จากนั้นทำการุณยฆาตหนู และแยกเซลล์ภูมิคุ้มกันทั้ง 5 ชนิด ได้แก่ Lymphocytes, Nucleated Erythroid Cells, Granulocytes, Immature Granuloid Precursors และ Monocytes จากไขกระดูก ม้าม และเลือดออกมาวิเคราะห์ พบว่าสารสกัดจากโสมอเมริกันช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้เป็นอย่างดี
  • การศึกษาฤทธิ์ป้องกันตับเสียหายด้วยโสมอเมริกัน โดยป้อนสารสกัดโสมอเมริกาให้หนูทดลองติดต่อกัน 7 วัน แล้วป้อนยาอะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) ขนาด 250 มก./กกเพื่อเหนี่ยวนำให้ตับเกิดความเสียหาย จากผลการศึกษาพบว่า การป้อนสารสกัดโสมอเมริกาช่วยป้องกันความเสียหายของตับจากยาอะเซตามิโนเฟนได้ โดยมีกลไกในการต้านออกซิเดชันยับยั้งการตายของเซลล์ และยังต้านการอักเสบด้วย

ข้อควรระวังในการรับประทานโสม

การรับประทานโสมอาจก่อผลข้างเคียงในหลาย ๆ คนได้ จึงควรหลีกเลี่ยง หรือรับประทานโสมอย่างระมัดระวัง เช่น 

  • ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ เพราะโสมอาจทำให้นอนไม่หลับได้ 
  • ผู้มีตั้งครรภ์หรือผู้ที่กำลังให้นมบุตรควรหลีกเลี่ยงการรับประทานโสม เพราะยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าการรับประทานโสมในช่วงนี้จะส่งผลให้เกิดอันตรายต่อมารดาหรือทารกหรือไม่
  • ผู้ที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติ หรือรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด ไม่ควรรับประทานโสม เพราะโสมมีฤทธิ์ต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด จึงทำให้เลือดหยุดไหลช้า เกิดแผลฟกช้ำ หรือเลือดออกได้ง่าย
  • ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจไม่ควรรับประทานโสม เนื่องจากโสมอาจส่งผลต่อการเต้นของหัวใจและความดันโลหิตได้เล็กน้อย
  • การรับประทานโสมร่วมกับยารักษาเบาหวานหรืออินซูลินอาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลงมากเกินไป ดังนั้น ผู้ที่รับประทานยารักษาเบาหวานจึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานโสมพร้อมกับยา
  • การรับประทานโสมร่วมกับยากดภูมิคุ้มกัน อาจไปกระตุ้นการทำงานของภูมิคุ้มกัน และลดประสิทธิภาพและการทำงานของยาได้ ดังนั้น ผู้ที่รับประทานยากดภูมิคุ้มกัน จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานโสมพร้อมกับยา

Scroll to Top