g6pd disease definition scaled

โรค G6PD คืออะไร สาเหตุ อาการ วิธีการรักษา ข้อควรระวัง ครบจบที่เดียว!

โรค G6PD หรือโรคพร่องเอนไซม์ G6PD หรือโรคแพ้ถั่วปากอ้า เชื่อว่าอาจเป็นชื่อที่ไม่คุ้นหูของใครหลายคน แล้วโรค G6PD คืออะไร สาเหตุเกิดจากอะไร อาการเหมือนกับอาการแพ้ถั่วหรือเปล่า และอันตรายต่อร่างกายมากน้อยแค่ไหน ทุกคำถามที่ว่ามานี้ หาคำตอบได้ในบทความนี้เลย

โรค G6PD คืออะไร เกิดขึ้นได้ยังไง?

โรค G6PD หรือ โรคพร่องเอนไซม์ G6PD หรือ โรคแพ้ถั่วปากอ้า เป็นโรคทางพันธุกรรมที่มีการกลายพันธุ์ของยีนที่สร้างเอนไซม์ G6PD (Glucose-6-Phosphate Dehydrogenase) ทำให้ร่างกายมีระดับของเอนไซม์ G6PD ต่ำกว่าปกติ เอนไซม์ชนิดนี้พบได้ในเม็ดเลือดแดง ทำให้เม็ดเลือดแดงคงตัว และป้องกันไม่ให้เม็ดเลือดแดงแตกง่ายจากการทำลายของสารอนุมูลอิสระ (Oxidants) 

การเกิดโรค G6PD มาจากความผิดปกติของพันธุกรรมที่เกิดจากยีนด้อยของโครโมโซมชนิด X (X-linked recessive Inheritance) ส่วนใหญ่จะพบการถ่ายทอดจากแม่ไปสู่ลูกชาย ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้ชายมากผู้หญิง ส่วนผู้หญิงมักจะเป็นพาหะของโรค ซึ่งบางคนก็ไม่รู้ตัวมาก่อนว่าตัวเองเป็นโรคนี้ เพราะไม่ได้มีการตรวจคัดกรองตั้งแต่แรกเกิด ผู้ที่มีภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD ส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการและสามารถดำรงชีวิตได้ตามปกติตลอดชีพ เว้นแต่จะได้รับสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการ เช่น การที่ร่างกายได้รับสารหรือยาบางกลุ่มที่มีสารอนุมูลอิสระมาก

จากผลการสำรวจพบผู้มีภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD ราว ๆ 200-400 ล้านคนทั่วโลก พบมากในแถบแอฟริกา ลาตินอเมริกา ตะวันออกกลาง และเอเชีย โดยในประเทศไทยพบผู้ชายเป็นโรคนี้ประมาณ 12% ส่วนผู้หญิงพบประมาณ 2% 

อาการของโรค G6PD  เป็นอย่างไร?

อาการของโรค G6PD จะแตกต่างกันในเด็กและผู้ใหญ่ เพราะเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม จึงจะแสดงอาการตั้งแต่แรกเกิด

อาการในเด็ก 

ทารกแรกเกิดอายุ 1-4 วัน จะมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง นานกว่าเด็กทั่วไป เพราะมีภาวะเม็ดเลือดแดงแตกง่ายอย่างเฉียบพลัน ร่วมกับตรวจเลือดพบค่าสารเหลืองมากเกินปกติ โดยพบว่า 1 ใน 3 ของเด็กที่ต้องรับการส่องไฟจะเป็นโรคพร่องเอนไซม์ G6PD หากพบว่าเด็กมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง แพทย์ก็จะเจาะเลือดเพื่อดูเอนไซม์ G6PD ซึ่งจะทำให้ทราบตั้งแต่ตอนนั้นว่าเด็กเป็นโรคนี้หรือไม่

อาการในผู้ใหญ่ 

ผู้ป่วยจะมีอาการเมื่อได้รับยาหรือสารต้องห้าม เพราะไม่รู้มาก่อนว่าเป็นโรคพร่องเอนไซม์ G6PD เมื่อเม็ดเลือดแดงแตกจะเกิดภาวะซีดจากการที่เม็ดเลือดแดงแตกอย่างเฉียบพลัน (Acute Hemolytic Anemia) ทำให้รู้สึกเหนื่อย เพลีย โดยจะมีอาการ 1-2 วันหลังจากได้รับสารต้องห้าม นอกจากนี้ปัสสาวะจะเปลี่ยนเป็นสีโค้กหรือสีน้ำปลาจากการที่มีเม็ดเลือดแดงแตก ส่งผลให้เกิดการตกตะกอนที่ไต และทำให้ปัสสาวะเปลี่ยนสี รวมถึงปริมาณปัสสาวะน้อยจนอาจนำไปสู่ภาวะไตวายเฉียบพลัน ซึ่งหากมีอาการเหล่านี้ควรรีบมาพบแพทย์

สิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดโรค G6PD

ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับประทานอาหารต้องห้าม ยา หรือสารกระตุ้นก็จะไม่มีอาการใด ๆ เกิดขึ้น จึงจำเป็นต้องรู้ว่าจะต้องหลีกเลี่ยงอะไรบ้าง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการ เช่น 

อาหาร เช่น ถั่วปากอ้า โดยเฉพาะถั่วปากอ้าสดซึ่งมีสารอนุมูลอิสระหลายชนิด จะทำให้เม็ดเลือดแดงแตกได้ง่ายกว่าการรับประทานถั่วปากอ้าที่ผ่านการปรุงสุกมาแล้ว ส่วนอาหารประเภทอื่นที่ต้องระวัง เช่น เชอร์รี่ บลูเบอร์รี่ โยเกิร์ตบางชนิดที่มีถั่ว ไวน์แดง นอกจากอาหารแล้วสิ่งที่เติมลงในอาหาร ไม่ว่าจะเป็นสารถนอมอาหาร เช่น สารประเภทซัลไฟต์ (ที่ใส่ในขนมขบเคี้ยว อาหารหรือน้ำผลไม้บรรจุกระป๋อง ไส้กรอก เป็นต้น) 

การติดเชื้อโรค ไม่ว่าจะเกิดจากแบคทีเรีย ไวรัส หรือรา ล้วนทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาวหลั่งสารอนุมูลอิสระมากขึ้น โรคติดเชื้อที่เป็นสาเหตุและพบบ่อย เช่น โรคไวรัสตับอักเสบเอ โรคไวรัสตับอักเสบบี โรคปอดอักเสบ

ยาบางกลุ่มและสารเคมี

  • กลุ่มยาต้านการอักเสบ (NSAIDs) บางชนิด 
  • ยาแอสไพริน 
  • ยาปฏิชีวนะบางชนิด เช่น ยากลุ่มซัลฟา (Sulfonamides) หรือยาไนโตรฟูแรนโทอิน (Nitrofurantoin
  • ยารักษาโรคมาลาเรียบางชนิด เช่น ควินิน (Quinine) หรือควินิดีน (Quinidine)
  • สารเคมีอื่น ๆ เช่น ลูกเหม็น 

การรักษาโรค G6PD 

โรคภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD เป็นโรคที่ไม่ได้มีอันตรายถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับสาร ยาบางกลุ่มหรืออาหารต้องห้าม การรักษาจึงเป็นการรักษาแบบประคับประคอง

การรักษาในเด็ก 

ทาแรกเกิดรักษาด้วยการส่องไฟ (Phototherapy) เพื่อให้แสงไฟทำปฏิกิริยากับสารเหลืองที่อยู่บริเวณผิวหนังกลายเป็นสารเหลืองที่สามารถขับออกจากร่างกายได้ หลังกลับบ้านทารกที่มีภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD ส่วนใหญ่จะมีสุขภาพแข็งแรงดี ดูแลเหมือนทารกปกติทั่วไป แม้เป็นโรคทางพันธุกรรมที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ไม่มีอันตรายร้ายแรงถ้ารู้จักหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น หรือเมื่อมีอาการเจ็บป่วย มีไข้ให้รีบมาพบแพทย์

การรักษาในผู้ใหญ่ 

ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยเพลีย หน้ามืด เป็นลม ปัสสาวะเป็นสีโค้ก เมื่อไปถึงโรงพยาบาล แพทย์จะให้น้ำเกลือ เพื่อขับสารให้ออกจากร่างกายโดยเร็ว หลังจากนั้นเม็ดเลือดแดงก็จะหยุดการแตกตัวได้ภายใน 7-10 วัน

ข้อควรระวัง และคำแนะนำสำหรับผู้ป่วยโรค G6PD 

  • หลีกเลี่ยงจากสิ่งกระตุ้นที่จะทำให้เม็ดเลือดแดงเกิดการแตกตัว ไม่ว่าจะเป็นยา อาหาร หรือสารเคมีต้องห้าม
  • หากต้องเข้ารับการรักษาหรือต้องได้รับยา จะต้องแจ้งแพทย์ เภสัชกร และพยาบาลให้ทราบทุกครั้ง 
  • ดูแลสุขภาพร่างกาย ป้องกันการติดเชื้อ หากมีไข้หรือไม่สบายให้รีบเข้ารับการรักษา พร้อมทั้งแจ้งแพทย์และเภสัชกรให้ทราบว่าตนเองมีภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD เพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับยาที่อาจเป็นอันตราย
  • หากมีอาการผิดปกติที่สงสัยว่าอาจเกิดจากเม็ดเลือดแดงแตก โดยเฉพาะหลังการรับประทานยา เช่น ปัสสาวะมีสีคล้ำ เกิดภาวะซีด หายใจหอบ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อประเมินอาการและปรับเปลี่ยนยา หากเกิดจากยา อาการจะดีขึ้นเมื่อหยุดใช้ยานั้น
  • ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และครบถ้วน ไม่เลือกเฉพาะอาหารที่ชอบ เพราะจะขาดความสมดุลของสารอาหาร 
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป และการสูบบุหรี่
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่หนักจนเกินไป เพราะการออกกำลังกายอย่างหักโหม อาจกระตุ้นให้อาการของโรคกำเริบได้

หากคู่ของคุณกำลังเตรียมตัวเป็นคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ ยังไม่แน่ใจว่าป่วยเป็นโรค G6PD หรือเปล่า ตรวจก่อน ลูกน้อยจะได้ไม่เสี่ยง ค้นหาแพ็กเกจตรวจสุขภาพก่อนแต่งและมีบุตรในราคาโปรโมชั่น ได้ที่ HDmall.co.th คลิกเลย หรือสอบถามแพ็กเกจตรวจสุขภาพอื่น ๆ แชทถามแอดมินได้ ที่นี่ 

Scroll to Top