ไข้ออกผื่น เป็นปัญหาที่พบได้ในทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่มักพบมากในเด็ก ไข้ออกผื่นเป็นอาการที่ต้องได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็ว เนื่องจากไข้ออกผื่นบางชนิดอาจมีอันตรายถึงชีวิต และบางชนิดสามารถติดต่อแพร่กระจายได้
สารบัญ
ไข้ออกผื่นที่พบในเด็ก มีอะไรบ้าง?
ไข้ออกผื่น (Viral Exanthem) มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ทำให้มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย อ่อนเพลีย ร่วมกับเกิดผดผื่น หรือเป็นตุ่มนูนแดง หรือตุ่มน้ำขึ้นตามผิวหนังส่วนต่างๆ ของร่างกาย และอาจมีอาการอื่นๆ เช่น มีน้ำมูก ไอ อาเจียน หรือถ่ายเหลวร่วมด้วยได้
อย่างไรก็ตาม อาการที่เกิดขึ้นอาจแตกต่างไปตามอายุของผู้ป่วย ชนิดของเชื้อไวรัส
ไข้ออกผื่นในเด็ก โดยเฉพาะช่วงอายุต่ำกว่า 2 ปี มักมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ ที่พบมากคือ เชื้อไวรัส สามารถแพร่กระจายและติดต่อไปสู่ผู้อื่นได้ ทั้งจากการไอ จาม หรือได้รับละอองเสมหะของผู้ป่วย
ตัวอย่างไข้ออกผื่นในเด็ก ได้แก่ โรคอีสุกอีใส โรคหัดและหัดเยอรมัน โรคหัดกุหลาบในทารก โรคมือเท้าปาก ไข้เลือดออก โรคอีดำอีแดง
โรคอีสุกอีใส (Chicken pox)
อาการ: เป็นไข้ออกผื่นที่เกิดจากไวรัสวาริเซลลาซอสเตอร์ (Varicella zoster) ซึ่งมักทำให้มีไข้ต่ำๆ ครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ เจ็บคอ เบื่ออาหาร และเกิดตุ่มนูนแดงขึ้นตามร่างกายโดยเฉพาะใบหน้าและลำตัว มีอาการคัน
จากนั้นตุ่มเหล่านี้จะกลายเป็นตุ่มน้ำใสๆ ตุ่มหนอง เมื่อตุ่มเหล่านี้แตกออกและแห้งจะตกสะเก็ด บางส่วนก็กลายเป็นแผลเป็น
นอกจากนี้เชื้อไวรัสวาริเซลลาซอสเตอร์ยังเป็นสาเหตุให้เกิดโรคงูสวัดในผู้ใหญ่อีกด้วย
การรักษา: หากมีไข้ให้ยาลดไข้ (ยกเส้นแอสไพริน) ยาบรรเทาอาการคัน ให้ยาต้านไวรัสกลุ่มอะซีโคลเวียร์ (Acyclovir) หรือยาในกลุ่มเดียวกัน จะช่วยให้ไข้ออกผื่นอีสุกอีใสหายเร็วขึ้น รวมถึงป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจตามมาได้
นอกจากนี้ควรรักษาสุขอนามัยร่วมด้วย หลีกเลี่ยงการแกะเกาตุ่มน้ำ
โรคหัด (Measles) และหัดเยอรมัน (Rubella)
อาการ: โรคหัดเป็นไข้ออกผื่นที่เกิดจากไวรัสกลุ่มพารามิกโซไวรัส (Paramyxovirus) ก่อให้เกิดอาการไข้สูง น้ำมูกไหล ไอ ตาแดง มีจุดสีขาวที่กระพุ้งแก้ม (Coplik spot)
หลังมีไข้ 2-4 วัน และจะเกิดผื่นผิวหนังเป็นจุดแดงๆ เริ่มจากส่วนศีรษะก่อน เช่น ไรผม หน้าผาก หลังหู ใบหน้า ไล่ลงมายังลำคอ ลำตัว และแขนขา จากนั้นเมื่อไข้เริ่มลดลง ผื่นแดงจะเริ่มมีสีคล้ำขึ้นและกลายเป้นรอยสีน้ำตาลในที่สุด
ส่วนหัดเยอรมันเกิดจากเชื้อรูเบลลาไวรัส (Rubella virus) ทำให้มีไข้ต่ำๆ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว จะเกิดผื่นหลังมีไข้ 2-3 วัน และอาจพบอาการปวดข้อ หรือต่อมน้ำเหลืองอักเสบร่วมด้วยได้
การรักษา: ปัจจุบันโรคหัดและโรคหัดเยอรมันไม่มียาต้านไวรัสเฉพาะ เป็นเพียงการรักษาไปตามอาการ รวมทั้งรักษาภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในบางราย อย่างไรก็ตาม โรคหัดและหัดเยอรมันสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนหัดและหัดเยอรมันให้ครบตามอายุที่กำหนด
โรคหัดกุหลาบในทารก (Roseola infantum)
อาการ: ไข้ออกผื่นชนิดนี้เกิดจากเชื้อ (Human Herpes Virus 6: HHV-6) ทำให้มีไข้สูงเฉียบพลัน เบื่ออาหาร และหลังจากมีไข้ 3-5 วันจะเกิดผื่นสีชมพูคล้ายสีกุหลาบบริเวณใบหน้า ลำคอ แขน และขา
การรักษา: โรคหัดกุหลาบเป็นโรคที่ไม่รุนแรง สามารถหายได้เอง แต่ในขณะที่มีไข้สูงควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด
โรคมือ เท้า ปาก (Hand foot mouth disease)
อาการ: ไข้ออกผื่นชนิดนี้เกิดจากการติดเชื้อกลุ่มเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) ซึ่งเป็นเชื้อที่ติดต่อได้ง่ายผ่านสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย อุจจาระ มักระบาดในช่วงฤดูฝน
ทำให้มีอาการไข้ต่ำๆ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว เบื่ออาหาร เจ็บคอ เจ็บปาก มีแผลร้อนในบริเวณเพดานปาก เยื่อบุกระพุ้งแก้ม มีผื่นเป็นตุ่มน้ำพอง ใสมีขอบแดง พบมากที่ฝ่ามือ และฝ่าเท้า
การรักษา: โรคมือเท้าปากเป็นโรคที่สามารถหายเองได้ ไม่มียารักษาที่เฉพาะเจาะจง จะใช้วิธีรักษาตามอาการ ได้แก่ การลดไข้ ป้องกันการชัก ลดอาการเจ็บแผล และควรสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน
ไข้เลือดออก (Dengue infection)
อาการ: ไข้ออกผื่นชนิดนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเด็งกี่ (Dengue virus) ที่มียุงลายเป็นพาหะ ทำให้มีไข้สูง หน้าแดง ปวดกระบอกตา ปวดท้อง อาเจียน รวมถึงพบผื่นแดง มีจุดขาวตรงกลาง ที่บริเวณแขนและขา
เมื่ออาการดำเนินมาระยะหนึ่งบอาจมีเลือดออกภายในร่างกายได้ เช่น กำเดาไหล อาเจียน หรือถ่ายเป็นเลือด
การรักษา: โรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่ไม่มียารักษาเฉพาะ จะใช้วิธีรักษาตามอาการและเฝ้าระวังเพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะช็อก ตับวาย หรืออาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
โรคอีดำอีแดง หรือไข้สการ์เลต (Scarlet fever)
อาการ: เป็นไข้ออกผื่นที่เกิดจากแบคทีเรียสเตรปโตค็อกคัสไพโอจีนัส (Streptococcus pyogenes) อาการเริ่มแรกคือ มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ เจ็บคอ อ่นเพลีย และจะเริ่มมีผื่นแดงเป็นตุ่มนูนเล็กๆ จามลำคอ หน้าอก รักแร้ ลำตัว แขนขา เมื่อคลำแล้วจะรู้สึกสาก มีอาการคันร่วมด้วย ส่วนที่ลิ้นจะมีตุ่มสีแดงกระจายคล้ายผลสตรอว์เบอร์รี
การรักษา: หากไม่ได้รับการรักษาจะทำให้ติดเชื้อลุกลามไปสู่อวัยวะต่างๆ เกิดเป็นทอนซิลอักเสบ ฝีหนอง ปอดอักเสบ โรคหัวใจรูห์มาติกเฉียบพลัน หรือไตอักเสบเฉียบพลันได้ ติดเชื้อในกระแสเลือด กระดูก และข้อ รวมทั้ังสมองได้
ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะติดต่อกัน 10 วัน เพื่อบรรเทาความรุนแรง และป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน
นอกจากนี้อาจพบไข้ออกผื่นจากสาเหตุที่ไม่ได้ติดเชื้อ เช่น ผื่นแพ้ยา โรค SLE โรคคาวาซากิ เป็นต้น
ไข้ออกผื่นที่พบในผู้ใหญ่
ไข้ออกผื่นที่พบในผู้ใหญ่มักเกิดมาจากการติดเชื้อไวรัส ที่พบได้บ่อย ได้แก่ งูสวัด
งูสวัด (Shingles)
อาการ: เป็นไข้ออกผื่นที่มีสาเหตุมาจากไวรัสวาริเซลลาซอสเตอร์ (Varicella zoster virus) เกิดในผู้ป่วยที่เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อน และไวรัสไปฝังตัวอยู่ในปมประสาท เมื่อร่างกายอ่อนแอ เชื้อไวรัสก็ทำให้แสดงอาการของโรคออกมาคือ มีผื่นแดง คัน เจ็บ เกิดตามแนวเส้นประสาท
การรักษา: สามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการใช้ยากลุ่มอะซีโคลเวีย (Acyclovia) พักผ่อนให้เพียงพอ ทำร่างกายให้แข็งแรง และหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่อากาศร้อน อับชื้น
นอกจากนี้ไข้ออกผื่นในผู้ใหญ่อาจมีสาเหตุมาจากเชื้ออื่นๆ ได้ เช่น ไวรัสเอชไอวี (HIV) ไวรัสตับอักเสบ (Viral hepatitis) ไวรัสเอบสไตน์บาร์ (Epstein barr virus) ไวรัสหัดกุหลาบ (Pityriasis rosea)
ส่วนไข้ออกผื่นที่พบในผู้ใหญ่ ซึ่งไม่ได้มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ ได้แก่ โรค SLE ผื่นภูมิแพ้ ผื่นแพ้ยา
ไข้ออกผื่นกับการตั้งครรภ์
อาการ: มีไข้ต่ำๆ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย หลังจากนั้นจะมีผื่นแดงขึ้นบริเวณใบหน้า ลำคอ ลำตัว แขน ขา แต่บางก็อาจไม่มีผื่นขึ้น สามารถคลำพบต่อมน้ำเหลืองโตเล็กน้อยบริเวณหลังหูข้างท้ายทอย
แม้หัดเยอรมันจะไม่มีอันตรายต่อตัวหญิงตั้งครรภ์ แต่สามารถทำให้ทารกในครรภ์เกิดความผิดปกติขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ (3 เดือนแรก)
ความผิดปกติที่พบบ่อยในทารกที่แม่ติดเชื้อหัดเยอรมันระหว่างตั้งครรภ์ได้แก่ ต้อกระจก ต้อหิน หูหนวก หัวใจพิการแต่กำเนิด ตับ ม้ามโต ตัวเล็กกว่าปกติ เกล็ดเลือดต่ำกว่าปกติ ไปจนถึงมีความพิการทางสมอง
ดังนั้นหากมีการติดเชื้อหัดเยอรมันในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ แพทย์มักแนะนำให้ทำแท้ง
การป้องกัน: แนวทางป้องกันที่ดีที่สุดคือ แนะนำให้หญิงสาวที่ยังไม่เคยเป็นหัดเยอรมันฉีดวัคซีนป้องกันหัดเยอรมันก่อนตั้งครรภ์อย่างน้อย 3 เดือนแรก และในช่วงการครรภ์ไตรมาสแรกควรระมัดระวังการใกล้ชิดกับผู้ป่วยหัดเยอรมัน
การดูแลตัวเองเมื่อเป็นไข้ออกผื่น
เมื่อเป็นไข้ออกผื่น หรือมีอาการที่ทำให้สงสัยว่าอาจเป็นไข้ออกผื่น ควรปฏิบัติดังต่อไปนี้
- ไปพบแพทย์ตั้งแต่เริ่มมีอาการผิดปกติ เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง สามารถรักษาได้รวดเร็ว และป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
- หากได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นไข้ออกผื่นที่เกิดจากแบคทีเรีย ควรรับประทานยาปฏิชีวนะให้ครบตามแพทย์สั่ง เพื่อป้องกันการติดเชื้อดื้อยา
- ดูแลรักษาไข้ออกผื่นตามอาการ เช่น รับประทานยาลดไข้ เช็ดตัว หากมีอาการคันควรทายาเพื่อบรรเทาอาการและไม่ควรเกา เพราะอาจเกิดการติดเชื้อบริเวณผิวหนังได้
- รักษาความสะอาดของร่างกาย และควรล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น อาหารจำพวกโปรตีนเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
- ดื่มน้ำมากๆ
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- เมื่อเป็นไข้ออกผื่นแล้ว ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ที่มีคนมาก เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่น
- เฝ้าสังเกตผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด หากมีอาการรุนแรง เช่น หอบเหนื่อย ชัก ไม่ได้สติ ท้องเสียมาก หรือมีเลือดออก ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว
- หญิงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในไตรมาสแรก ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรืออยู่ในบริเวณที่มีผู้ป่วยหัดเยอรมัน เพื่อป้องกันการติดเชื้อ แต่หากมีการติดเชื้อหรือมีอาการ ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน
ไข้ออกผื่นเป็นโรคที่สามารถเกิดได้กับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งระดับความรุนแรงจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อโรคที่ก่อให้เกิดไข้ออกผื่น อายุของผู้ป่วย ความแข็งแรงของร่างกาย
ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรัง จะมีโอกาสเกิดโรคที่รุนแรงสูง และมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน อื่นๆ ได้มาก
วิธีการป้องกันโรคไข้ออกผื่นที่ดีคือ การดูแลร่างกายให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์โดยเฉพาะ อาหารจำพวกโปรตีนเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามข้อแนะนำ และเมื่อมีอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์ทันที
เขียนบทความโดย พทป. บุญศิริ คณะภักดิ์