ไฟช็อต อันตรายแค่ไหน ปฐมพยาบาลอย่างไร

ไฟช็อต อันตรายแค่ไหน ปฐมพยาบาลอย่างไร

ไฟฟ้า นอกจากจะมีอันตรายต่อทรัพย์สินแล้ว หากเกิดกับร่างกายจะมีอันตรายต่อร่างกายในหลายระบบอวัยวะ การปฐมพยาบาลที่เหมาะสมจะช่วยลดอัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากไฟฟ้าลงได้มากมาย การได้รับบาดเจ็บอันตรายจากไฟฟ้า เช่น ไฟฟ้าช็อต พบได้เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นในครัวเรือนหรือในกลุ่มผู้ทำงานกับไฟฟ้าแรงสูง

ในภาษาไทยจะมีคำเรียกเกี่ยวกับการบาดเจ็บจากไฟฟ้าอยู่มากมายเช่น ไฟฟ้าดูด ไฟฟ้ารั่ว ไฟฟ้าช็อต ทั้งหมดนี้จัดกลุ่มอยู่ในการดูแลรักษาเหมือนกันคือ การบาดเจ็บจากไฟฟ้า (Electrical injuries)

ปัจจัยที่มีผลต่อระดับความรุนแรงและการบาดเจ็บจากไฟฟ้า ไฟฟ้าช็อต

การบาดเจ็บจากไฟฟ้าจะรุนแรงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ตามหลักการทางฟิสิกส์ของไฟฟ้า

ดังนั้นข้อมูลที่ควรจดจำไปแจ้งแก่แพทย์ เพื่อประโยชน์ในการวินิจฉัยและรักษา ได้แก่ แหล่งกำเนิดไฟฟ้าที่ทำให้เกิดอันตรายนั้นๆ

ความรุนแรงที่ไฟฟ้ากระทำต่อร่างกายคนกับกระแสไฟฟ้าที่เข้าร่างกาย (Electric current) ใช้หน่วยวัดเป็นแอมแปร์ และพลังงานที่เกิดจากกระแสไฟฟ้านั้น (Electrical energy) ใช้หน่วยวัดเป็นจูลส์

หากกระแสไฟฟ้ามากหรือพลังงานมาก จะทำให้มีการบาดเจ็บโดยตรงต่อเซลล์ และสร้างพลังงานความร้อนส่งผลให้เนื้อเยื่อเกิดความเสียหาย

ปัจจัยของตัวคนก็มีผลต่อความรุนแรงของการบาดเจ็บ ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือ ความต้านทานไฟฟ้าของคนที่อยู่ที่ผิวหนังเป็นสำคัญ

หากผิวหนังเปียกชื้น ความต้านทานของผิวหนังจะน้อยลง กระแสไฟฟ้าจะไปสร้างความเสียหายต่ออวัยวะภายในได้มากกว่า

หากผิวหนังแห้งจะมีความต้านทานสูง อันตรายและความเสียหายจะเกิดที่ผิวหนังและกล้ามเนื้อใต้ผิวหนังเป็นหลัก จะเห็นรอยแผลไฟฟ้าเข้าและรอยแผลไฟฟ้าออกที่ชัดเจน รอยไหม้จะแผ่ออกเป็นวงกว้างได้มากกว่า

อาการบาดเจ็บจากไฟฟ้า นอกจากไฟฟ้าช็อตแล้ว มีอะไรอีก?

อาการบาดเจ็บจากไฟฟ้า แบ่งออกได้เป็น 4 แบบ ได้แก่

1. บาดเจ็บจากไฟฟ้าแรงสูง (High Voltage injuries)

ใช้เกณฑ์ความต่างศักย์ไฟฟ้าที่ 1,000 โวลต์ มักจะเกิดกับผู้ประกอบอาชีพที่ต้องเกี่ยวเนื่องกับไฟฟ้าโดยตรง เช่น ช่างไฟฟ้า ช่างเดินสายไฟ

อันตรายของไฟฟ้าแรงสูงจะอันตรายมากและเกิดความเสียหายได้ในหลายๆ อวัยวะ

2. บาดเจ็บจากไฟฟ้าแรงต่ำ (Low Voltage injuries)

ไฟฟ้าแรงต่ำ คือระดับความต่างศักย์ไฟฟ้าที่ต่ำกว่า 1,000 โวลต์ มักเกิดในคนที่อายุน้อย โดยเฉพาะเด็กและมักจะเกิดกับไฟบ้าน เกิดในครัวเรือน เป็นการบาดเจ็บที่พบบ่อย แต่ความรุนแรงและอัตราการเสียชีวิตไม่สูง

3. บาดเจ็บจากฟ้าผ่า (Lightning injuries)

ฟ้าผ่า ถือเป็นอันตรายสูงสุดของการบาดเจ็บจากไฟฟ้า เพราะความต่างศักย์สูง กระแสไฟฟ้าสูงและพลังงานที่ส่งมาถึงตัวคนสูงมาก

แม้โอกาสเกิดจะน้อยแต่อันตรายจะรุนแรง ส่วนมากจะเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ สาเหตุการเสียชีวิตส่วนมากคือหัวใจหยุดเต้นถาวรทันที (Cardiac standstill)

4. การระเบิดขนาดเล็กจากกระแสไฟฟ้าเดินทางจากแหล่งกำเนิดผ่าอากาศมาสู่ตัวคน (Electric arc injuries)

เป็นการบาดเจ็บที่ไม่ได้เกิดจากสัมผัสกระแสไฟฟ้าโดยตรงเกิดจาก มักจะเกิดกับอาชีพช่างไฟฟ้า

การบาดเจ็บที่เกิดจะเป็นแผลไหม้ที่ผิวหนังและเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังแบบไม่รุนแรงนัก

เมื่อกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ร่างกายจะเกิดการบาดเจ็บต่อร่างกายสองแบบ คือ การบาดเจ็บโดยตรงต่อเซลล์จากกระแสไฟฟ้า เพราะการทำงานของร่างกายหลายส่วนใช้กระแสและความต่างศักย์ไฟฟ้าในการควบคุม

เมื่อกระแสไฟฟ้ามีความแปรปรวน เซลล์จะได้รับการบาดเจ็บ

ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือ เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจที่ทำงานด้วยกระแสไฟฟ้า ทำให้มีการบาดเจ็บและตาย รวมทั้งทำงานผิดปกติเป็นบริเวณกว้าง

การบาดเจ็บอย่างที่สองคือ การบาดเจ็บจากการเปลี่ยนกระแสไฟฟ้าเป็นความร้อน เนื้อเยื่อไหม้และถูกทำลาย

การบาดเจ็บจากไฟฟ้าจะส่งผลต่อระบบอวัยวะต่างๆ อย่างไร?

เมื่อถูกไฟฟ้าช็อต หรือบาดเจ็บจากไฟฟ้า สามารถก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บต่ออวัยวะและระบบต่างๆ ของร่างกาย ดังนี้

1. ระบบหัวใจ

ระบบหัวใจถือเป็นระบบหลักที่ได้รับบาดเจ็บจากไฟฟ้า ทำให้เกิดการเสียชีวิตได้มาก โดยเฉพาะหากทิศทางของกระแสไฟฟ้าที่เข้าออกร่างกายนั้นเดินทางผ่านหัวใจ

ผลกระทบต่อหัวใจจากการบาดเจ็บจากไฟฟ้า ได้แก่

    • หัวใจเต้นผิดจังหวะ ไฟฟ้าไปทำให้ระบบนำไฟฟ้าของหัวใจผิดปกติ สำหรับไฟฟ้าแรงสูงจะเกิดการหยุดเต้นของหัวใจทันที (Cardiac standstill)
      ส่วนไฟฟ้าแรงต่ำจะทำให้เกิดการเต้นผิดจังหวะแบบเวรทริคิวลาร์ไฟบริเลชัน (Ventricular fibrillation) ซึ่งหากเกิดแล้วหัวใจจะบีบตัวส่งเลือดไม่ได้
      หัวใจเต้นผิดจังหวะทั้งสองแบบ หากได้รับการกู้ชีพด้วยการกดหน้าอกและช็อกหัวใจด้วยไฟฟ้าเร็วและทันเวลา จะช่วยชีวิตได้ ลดอัตราการเสียชีวิตได้มาก
      บางรายจะไม่เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะในทันที สามารถเกิดต่อเนื่องได้ คำแนะนำการสังเกตตัวเองในช่วง 24-48 ชั่วโมงหลังจากเกิดเหตุ จึงมีความสำคัญ
    • หัวใจเต้นช้า อันเนื่องมาจากเซลล์ต้นกำเนิดไฟฟ้าหัวใจ (Sino-atrial node) ไวต่อกระแสไฟฟ้ามาก
      เมื่อมีการบาดเจ็บจากไฟฟ้าเซลล์กลุ่มนี้จะตายและเกิดพังผืด แต่จะมีผลให้หัวใจเต้นช้าในอีกหลายปีหลังจากเกิดเหตุได้
    • กล้ามเนื้อหัวใจบาดเจ็บ ทำให้การบีบตัวส่งเลือดบกพร่องเป็นปัญหาในอนาคตได้ จะต้องตรวจติดตามและแก้ไขหากเกิดกล้ามเนื้อหัวใจบาดเจ็บ หรืออาจบาดเจ็บจากการขาดเลือดเนื่องจากหลอดเลือดหัวใจตีบ เป็นก้อนแข็ง จากพลังงานไฟฟ้า

2. ระบบประสาทและสมอง

ไฟฟ้าช็อตหรือการบาดเจ็บจากไฟฟ้าอื่นๆ อาจทำให้มีอาการหมดสติ แขนขาอ่อนแรง สูญเสียความรู้สึกได้

แต่หากไม่มีอันตรายจากการกระแทกแล้ว อาการเหล่านี้มักหายไปได้เอง

3. ระบบหายใจ

เมื่อถูกไฟฟ้าช็อตหรือบาดเจ็บจากไฟฟ้า กระแสไฟฟ้าจะทำให้กล้ามเนื้อกระบังลมทำงานผิดปกติ

กระบังลมเป็นกล้ามเนื้อสำคัญในการหายใจจึงอาจผิดปกติได้ หากการบาดเจ็บไม่รุนแรงจะหายเองได้

4. ระบบกล้ามเนื้อและกระดูก

พลังงานความร้อนจากไฟฟ้าทำให้กล้ามเนื้อบาดเจ็บรุนแรง และความรุนแรงของไฟฟ้าแรงสูงจะทำให้เกิดกระดูกหักหรือข้อเคลื่อนได้

5. ระบบไต

เมื่อถูกไฟฟ้าช็อตหรือมีการบาดเจ็บจากไฟฟ้า การบาดเจ็บรุนแรงของกล้ามเนื้อจะทำให้มีสารไมโอโกลบิน (Myoglobin) ออกมามากในกระแสเลือด สารไมโอโกลบินนี้นี้มีผลเสียกับไต

หากจำเป็นต้องบรรเทาผลเสียด้วยการดื่มน้ำมากๆ หรือหากรุนแรงจะต้องให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ

6. ผิวหนัง

ผลข้างเคียงจากไฟฟ้าหรือถูกไฟฟ้าช็อตที่รุนแรงและอันตรายมากคือ ผิวหนังและเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังไหม้ ที่เกิดได้ทั้งระดับไม่รุนแรงจนถึงระดับรุนแรงจนต้องผ่าตัด ตามแต่ความรุนแรงของกระแสไฟฟ้า

อันตรายจากกระแสไฟฟ้าที่อันตรายที่สุดคือทำให้หัวใจหยุดเต้น อันเป็นสาเหตุการเสียชีวิตในที่เกิดเหตุที่สำคัญ แต่หากสามารถปฐมพยาบาลได้ทันท่วงที จะลดโอกาสเสียชีวิตและลดความพิการลงได้มาก

แนวทางการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับการบาดเจ็บจากกระแสไฟฟ้า หรือถูกไฟฟ้าช็อต เบื้องต้น

หากพบเห็นคนถูกไฟฟ้าช็อตหรือได้รับบาดเจ็บจากกระแสไฟฟ้า ให้ปฏิบัติตามขั้นตอนต่อไปนี้

  1. ผู้ที่จะเข้าช่วยเหลือต้องสำรวจตัวเองจนแน่ใจว่าปลอดภัย เช่น สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันกระแสไฟฟ้าเรียบร้อยแล้ว
  2. ตัดกระแสไฟฟ้าจากแหล่งกำเนิดเพื่อลดความรุนแรงกระแสไฟฟ้า และไม่ให้สัมผัสกระแสไฟฟ้านานเกินไป
  3. หากเรียกผู้ถูกไฟฟ้าช็อตหรือบาดเจ็บจากไฟฟ้าไม่ตื่น หรือคลำชีพจรไม่ได้ ทำการกู้ชีพ ขั้นตอนนี้สำคัญที่สุดและช่วยชีวิตได้มากที่สุด
  4. ปฐมพยาบาลจุดที่ไหม้ โดยใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำแล้วพันไว้ และหากมีกระดูกหักข้อเคลื่อนให้ยึดตรึงข้อไว้ชั่วคราวด้วยเฝือกอ่อน
  5. รีบนำผู้ถูกไฟฟ้าช็อตหรือบาดเจ็บจากไฟฟ้าส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด
  6. ในกรณีบาดเจ็บเล็กน้อยและคลื่นไฟฟ้าหัวใจปรกติ สามารถติดตามอาการที่บ้านได้อย่างปลอดภัย

เขียนบทความโดย นพ. ชาคริต หริมพานิช

Scroll to Top