เลิกยาเสพติดให้สำเร็จ ต้องทำอย่างไร

เลิกยาเสพติดให้สำเร็จ ต้องทำอย่างไร?

ถึงแม้ปัญหายาเสพติดจะเป็นหนึ่งในปัญหาที่ยังไม่สามารถขจัดออกไปได้จากประเทศไทย แต่ก็มีผู้เสพจำนวนมากที่ต้องการเลิกเสพยา และกลับไปอยู่ร่วมกับสังคมอย่างคนปกติอีกครั้ง

มาดูพร้อมกันว่า วิธีเลิก และบำบัดยาเสพติดเป็นอย่างไร แล้วหากคุณเป็นสมาชิกครอบครัวที่สังเกตว่า อาจมีคนใกล้ชิดเป็นผู้เสพยาเสพติด จะมีวิธีตรวจสอบได้อย่างไรบ้าง

สาเหตุของการติดยาเสพติด

การเลิกยาเสพติดให้สำเร็จจำเป็นจะต้องได้รับกำลังใจ และแรงจูงใจที่ดีจากคนใกล้ชิด ดังนั้นทุกคนจึงควรรู้สาเหตุที่หลายคนมักจะเลือกเสพยาเสพติดเพื่อเป็นทางออกให้กับชีวิตเสียก่อน โดยสาเหตุที่มักทำให้เกิดพฤติกรรมเสพยาเสพติด ได้แก่

  • สภาพจิตใจที่ย่ำแย่ เช่น มีความเครียด เศร้า วิตกกังวล หาทางออกให้กับปัญหาไม่ได้ และอยากมีความสุขกับชีวิตแม้จะเป็นระยะชั่วคราวจากฤทธิ์ยาเสพติดก็ตาม
  • ต้องการความกล้า ความมั่นใจ และมีตัวตนในสังคม เพราะฤทธิ์ยาเสพติดบางชนิดสามารถเปลี่ยนจากคนขี้อาย ไม่กล้าพูด เก็บเนื้อเก็บตัว ให้กลายเป็นคนกล้าพูด กล้าทำ กล้าแสดงออกอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนได้
  • สภาพครอบครัวที่ไม่อบอุ่น เช่น มีการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ผู้ใหญ่ในบ้านมีปากเสียงใช้ถ้อยคำหยาบคาย เด็กๆ ในครอบครัวเหล่านี้เกือบทั้งหมดไม่มีที่ระบายในสิ่งที่เขารู้สึกเกี่ยวกับครอบครัวของตนเอง จึงลงท้ายด้วยการหันไปพึ่งยาเสพติดเพื่อลืมปัญหา และทำให้รู้สึกได้รับความอบอุ่น
  • การรักษาโรค บางครั้งยารักษาโรคที่ใช้รักษาอย่างต่อเนื่องก็ทำให้ผู้ใช้เกิดอาการเสพติดได้ ถึงแม้จะไม่ต้องใช้ยานั้นในการรักษาโรคแล้วก็ตาม
  • สภาพแวดล้อมรอบตัว ผู้เสพยาบางรายยอมติดยาเสพติดเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากกลุ่มเพื่อน หรือเขาอาจอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีผู้เสพยาอยู่ใกล้ชิดด้วย และมักจะชักชวนให้เสพยาด้วยกันบ่อยๆ

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีปัญหาด้านจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นความเครียด ความวิตกกังวล ความไม่มั่นใจในบางอย่าง หรือมีปัญหาที่แก้ไม่ตก การได้พูดคุย ปรึกษากับคนใกล้ชิด คนในครอบครัว หรือเพื่อนสนิท น่าจะเป็นทางออกที่ดี

แต่หากรู้สึกว่า ไม่อยากให้ใครมารับรู้เรื่องดังกล่าวด้วย การปรึกษาจิตแพทย์เรื่องปัญหาความเครียด ภาวะทางอารมณ์ต่างๆ แม้กระทั่งสายด่วนสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต โทร. 1323 ก็เป็นทางออกที่ดี หรือหากอยากปรึกษาแพทย์ผ่านทางโทรศัพท์ หรือผ่านทางวีดีโอคอล ปัจจุบันก็มีหลายแห่งให้บริการเช่นกัน

ผลกระทบจากการติดยาเสพติด

ผลกระทบจากการติดยาเสพติดสามารถส่งผลกระทบได้หลักๆ 5 ด้าน ได้แก่

  1. ด้านร่างกาย ผู้เสพยาเสพติดจะมีสภาพร่างกายอ่อนแอและเสี่ยงเป็นโรคร้ายมากกว่าปกติ เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคปอดอักเสบ โรคซึมเศร้า การติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  2. ด้านพฤติกรรม และภาพลักษณ์ ผู้เสพยาจะมีภาพลักษณ์ ท่าทางที่เปลี่ยนไปในทางแย่ลง เช่น พูดจาไม่รู้เรื่อง อารมณ์ฉุนเฉียวง่าย ขอบตาดำคล้ำ มีกลิ่นตัว ผิวหนังหยาบกร้าน รูปร่างซูบผอมลง
  3. ด้านครอบครัว ความรุนแรงในครอบครัวสามารถเกิดขึ้นได้หากมีผู้เสพยาเป็นหนึ่งในสมาชิกที่อาศัยอยู่ร่วมกัน เพราะผู้เสพมักต้องการเงินไปซื้อยามาเสพเพิ่ม และมักจะขู่บังคับเอาเงินจากคนในครอบครัวก่อนเป็นอันดับแรก นอกจากนี้ครอบครัวยังต้องเป็นฝ่ายรับภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้เสพยาที่ป่วยเป็นโรคร้ายจากยาเสพติดในภายหลังด้วย
  4. ด้านหน้าที่การงาน หากนายจ้างรู้ว่า มีพนักงานในองค์กรกำลังติดยาเสพติด ความเชื่อถือในตัวพนักงานคนนั้นย่อมหมดไป อีกทั้งการเสพยาในระหว่างทำงานยังเสี่ยงที่จะสร้างความเดือดร้อนต่อบริษัท ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงได้อีกด้วย สุดท้ายผู้เสพอาจต้องสูญเสียโอกาสทางการทำงานด้วยการถูกให้ออกจากงาน
  5. ด้านชุมชน ปัญหายาเสพติดสามารถส่งผลให้เกิดเหตุก่ออาชญากรรมในชุมชนได้ ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าชิงทรัพย์ การจี้ ปล้น เพื่อที่ผู้เสพจะได้นำทรัพย์สินไปซื้อยาเสพติดมาเพิ่มต่อไป

จะเห็นได้ว่า การติดยาเสพติดนั้นส่งผลเสียมากมายต่อสังคมมากมายทุกด้าน ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเหล่านี้ในสิ่งแวดล้อมใกล้บ้านและครอบครัวของคุณ คุณจึงควรสังเกตพฤติกรรมคนรอบข้างและคนในชุมชน

หากพบว่า ใครเสี่ยงเป็นผู้เสพยาก็ควรแจ้งผู้ใหญ่ หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจให้มาดำเนินการตรวจสอบต่อไปโดยในการตรวจสอบว่า มีการเสพยาเสพติดหรือไม่ จะมีการใช้ชุดทดสอบเฉพาะสำหรับตรวจหาสารเสพติดในร่างกาย

รูปแบบของชุดตรวจหาสารเสพติด

รูปแบบของชุดตรวจหาสารเสพติดที่นิยมใช้กันทั่วไปแบ่งออกได้ 2 รูปแบบ ได้แก่

  1. แบบแถบ (Strip) เป็นชุดตรวจที่ราคาถูก มีลักษณะเป็นแถบทดสอบขนาดยาวและแคบ ใช้ทดสอบผ่านการจุ่มลงไปในปัสสาวะของผู้ถูกตรวจ จากนั้นรอประมาณ 5 นาที เพื่ออ่านผลที่เป็นแถบทดสอบ
  2. แบบตลับ (Cassette) เป็นชุดตรวจที่มีราคาแพงกว่าแบบแถบ แต่จะคงทนแข็งแรงกว่า ใช้ทดสอบโดยการหยดน้ำปัสสาวะของผู้ถูกตรวจลงไปในตลับทดสอบ 3 หยด จากนั้นวางตลับไว้ในแนวราบ แล้วรอ 5 นาทีเพื่ออ่านผล บางคนมักเรียกชุดตรวจแบบนี้ว่า “ชุดตรวจแบบหยอด”

การตรวจหาสารเสพติดแต่ละประเภทด้วยชุดตรวจ เป็นการตรวจแบบเบื้องต้นเท่านั้น การตรวจหาสารเสพติดยังมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น น้ำหนักตัว ปริมาณ และความถี่ในการเสพยา

นอกจากนี้ระยะเวลาหลังจากเสพยังมีผลในการตรวจหาสารเสพติดด้วย เช่น ผู้เสพยาอี หากเสพเป็นประจำ จะสามารถตรวจพบสารได้ภายใน 2-6 วัน หลังเสพ ผู้เสพโคเคน สามารถตรวจพบสารได้ภายใน 1-4 วัน หลังเสพ

นอกจากการตรวจจากชุดตรวจแล้ว คุณยังสามารถสังเกตพฤติกรรมของผู้ที่น่าสงสัยว่า จะเป็นผู้เสพได้ว่า มีความใกล้เคียงกับพฤติกรรมผู้เสพยาหรือไม่ เช่น

  • ง่วงซึม
  • เก็บเนื้อเก็บตัว
  • ตัวสั่น
  • มีอาการคล้ายคนมึนเมาอยู่บ่อยๆ
  • ก้าวร้าว อารมณ์ฉุนเฉียวมากกว่าปกติ
  • พูดจาไม่รู้เรื่อง
  • ที่แขนมีรอยแผลคล้ายถูกเข็มฉีดยา
  • มีพฤติกรรมลักขโมย
  • ใบหน้าหมองคล้ำ คล้ายคนพักผ่อนไม่เพียงพอ
  • ริมฝีปากดำคล้ำ

การบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด

หากตรวจสอบแล้วว่า บุคคลน่าสงสัยดังกล่าวเสพยาเสพติด และเป็นคนในครอบครัวของคุณเอง หรือเป็นคนใกล้ชิด ให้เข้าไปพูดคุยกับเขาด้วยเหตุผล อย่าใช้อารมณ์ อย่าตะคอก หรือขึ้นเสียงให้ผู้เสพรู้สึกว่า เขาเป็นคนผิด หรือกำลังทำผิดอย่างร้ายแรง

เพราะการตัดสินใจเลิกยาเสพติดให้สำเร็จได้ จะต้องมีแรงจูงใจมาจากตัวผู้เสพเองด้วย หากผู้เสพตัดสินใจว่า จะเลิกเสพยาอย่างแน่นอน แนะนำให้ญาติ หรือผู้ใกล้ชิดนำตัวผู้เสพไปที่สถานพยาบาล หรือสถานบำบัดยาเสพติด เพื่อเข้าสู่กระบวนการบำบัดต่อไป

ขั้นตอนการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด

  1. ขั้นตอนเตรียมการ (Pre-admission) เป็นขั้นตอนยื่นเอกสารขอรับการบำบัด คัดกรองประวัติผู้เสพ รวมถึงประเมินปัญหาทางจิตเวช และบุคลิกภาพของผู้เสพ ตรวจถึงตรวจร่างกาย เช่น ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ชั่งน้ำหนัก
  2. ขั้นตอนถอนพิษยา (Detoxification) เป็นขั้นตอนที่เริ่มทำการบำบัดร่างกายผู้เสพที่ยังคงอยู่ภายใต้อาการติดยาอยู่ให้บรรเทาอาการอยากยาน้อยลง และแพทย์อาจจ่ายยาบางตัวเพื่อทดแทนยาเสพติดที่ใช้เสพประจำ เพื่อไม่ให้การถอนพิษยาหักดิบหนักจนเกินไปการบำบัดในขั้นตอนนี้จะแบ่งเป็นการบำบัดผู้ป่วยในคือ มีการพักค้างคืนที่สถานพยาบาลเพื่อติดตามอาการถอนพิษยา และอีกแบบคือ การบำบัดผู้ป่วยนอกคือ ให้ผู้บำบัดสามารถกลับไปรักษาตัวต่อที่บ้านได้ และมาบำบัดต่อตามนัดกับแพทย์เป็นครั้งๆ ไป
  3. ขั้นตอนการฟื้นฟูสมรรถภาพ (Rehabillitation) เป็นการบำบัดหลังจากผู้เสพมีอาการอยากเสพยาน้อยลง ทางสถานบำบัดจึงจะเริ่มกระบวนการบำบัดเพื่อปรับบุคลิกภาพผู้เสพให้สามารถอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้ตามปกติ มีการทำกิจกรรมเพื่อบำบัดจิตใจ และฝึกให้ควบคุมอารมณ์ รับมือกับสถานการณ์กับปัญหาต่างๆ ได้
  4. ขั้นตอนการติดตามดูแล (After-Care) เป็นขั้นตอนที่ผู้เสพยาจะได้รับอิสระมากขึ้น โดยอาจกลับไปพักที่บ้านได้หากไม่มีแนวโน้มจะกลับไปติดยาอีกครั้ง และทางสถานบำบัดจะโทรมาให้คำแนะนำ และสอบถามอาการเป็นระยะๆ บางรายอาจมีการขอตรวจปัสสาวะเพื่อตรวจหาสารเสพติดอีกครั้งด้วยหรือหากยังไม่สามารถกลับบ้านได้ ทางสถานบำบัดก็จะเปิดโอกาสให้ทางญาติเข้ามาเยี่ยมเยียนเพื่อพูดคุยสอบถามอาการได้

อาการลงแดง หรืออาการถอนยาเป็นอย่างไร

ระหว่างกระบวนการบำบัด ผู้เสพอาจต้องเผชิญกับอาการลงแดง หรืออาการถอนยา ซึ่งเป็นอาการแสดงของร่างกายเมื่อไม่ได้เสพยาเสพติดอย่างที่เคยเสพเป็นประจำ ซึ่งเป็นอาการที่ทุกข์ทรมานมาก เช่น

  • มีไข้
  • คลื่นไส้
  • ปวดท้อง
  • อุจจาระเป็นเลือด
  • ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว
  • นอนไม่หลับ
  • หงุดหงิดง่าย
  • อารมณ์แปรปรวน

หากผู้เสพรู้สึกทรมานกับอาการลงแดงจนทนไม่ไหว ก็ให้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาล หรือสถานบำบัดโดยทันที

ผู้เสพยาที่ตัดสินใจบำบัดรักษาด้วยวิธีหักดิบอย่างผิดวิธี หรือเคยเสพยาในปริมาณมากมาก่อนมีโอกาสเสียชีวิตจากอาการลงแดงได้ ดังนั้นการบำบัดเพื่อรักษาผู้ติดยาเสพติดจึงควรอยู่ในการดูแลของแพทย์ และสถานบำบัดอย่างใกล้ชิด

เคล็ดลับสำหรับเลิกยาเสพติด

หากตัดสินใจแล้วว่า ต้องการจะเข้ารับการบำบัดเพื่อเลิกเสพยาเสพติด คุณควรจัดการกับอุปสรรครอบตัวที่อาจเป็นปัจจัยทำให้กลับไปเสพยาอีกครั้งได้ เช่น

  • บอกเพื่อนๆ ว่า คุณกำลังเลิกเสพยา เพื่อให้พวกเขารับรู้และสนับสนุนการเลิกยาเสพติดของคุณ แต่หากกลุ่มเพื่อนเหล่านั้น คือ ตัวการที่ทำให้คุณกลายเป็นผู้เสพยา คุณก็อาจต้องเลิกคบหากับพวกเขาแล้วมองหาเพื่อนใหม่แทน
  • บอกคนใกล้ชิด และคนในครอบครัว เพื่อให้พวกเขาเตรียมพร้อมกับอาการขาดยา และพฤติกรรมของคุณที่จะเปลี่ยนไประหว่างเข้ารับการบำบัด หรือหากคุณต้องการความช่วยเหลือในสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการเสพยา พวกเขาจะได้เตรียมตัวเข้าช่วยเหลือได้ทันเวลา
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการเสพยา เช่น การดื่มสังสรรค์ การจัดงานปาร์ตี้ซึ่งเป็นแหล่งซ่องสุมของมึนเมา และการเสพยาของวัยรุ่น หรือหากถูกชักชวนให้เสพยาจริงๆ ให้คุณติดต่อผู้ที่สามารถช่วยเหลือคุณได้ เพื่อให้เขาพาคุณออกจากสถานการณ์นั้นๆ

นอกจากตัวผู้เสพเองที่จะต้องมีจิตใจเข้มแข็ง ความอดทน มุ่งมั่น ในการปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อรับการบำบัดยาเสพติดแล้ว ครอบครัว และคนใกล้ชิดผู้เสพเองก็ต้องมีการปรับตัวครั้งยิ่งใหญ่ด้วยเช่นกัน ไม่มีใครรู้สึกเสียใจ ผิดหวัง หรือรู้สึกโกรธในระหว่างอยู่ในกระบวนการต่อไปนี้

เนื่องจากคนใกล้ชิดจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยบำบัดยาเสพติดด้วย เริ่มตั้งแต่การเข้าใจในสาเหตุและพฤติกรรมของผู้เสพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้อง เข้าใจว่า “การเลิกยาไม่ใช่เรื่องง่าย”

คนใกล้ชิดควรให้กำลังใจผู้บำบัดอย่างสม่ำเสมอ เป็นผู้รับฟัง เป็นที่ปรึกษาที่ดี ให้ความใส่ใจ และไม่ตำหนิ ไม่ต่อว่าต่อขานใดๆ หากผู้เข้ารับการบำบัดมีอาการอยากยา ท้อแท้ อยากล้มเลิก และควรชื่นชมที่ผู้บำบัดที่มีความพยายามในการเลิกยาเสพติด

 

การเลิกยาเสพติดไม่ใช่เรื่องง่ายก็จริง แต่หากผู้เสพมีความมุ่งมั่น อดทน มีจิตใจเข้มแข็ง และได้รับความเข้าอกเข้าใจ กำลังใจจากคนใกล้ชิด การบำบัดเพื่อเลิกยาเสพติดก็สามารถประสบความสำเร็จได้ เพื่อให้คุณได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ดีกว่า


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ.พิสุทธิ์ พงษ์ชัยกุล

Scroll to Top