drugs for treatment of bloating

ยาแก้ท้องอืด มีอะไรบ้าง

ท้องอืด คืออาการอึดอัด แน่นท้อง รู้สึกไม่สบายท้อง มักเกิดจากการมีแก๊สในกระเพาะอาหารและลำไส้มากกว่าปกติ ทำให้ปวดท้อง เรอ หรือผายลม และอาจมีอาการท้องบวมในบางรายด้วย 

นอกจากการงดอาหารหรือเครื่องดื่มบางอย่างแล้ว อีกวิธีที่จะช่วยบรรเทาอาการท้องอืดคือการรับประทานยา ซึ่งบทความนี้จะพามาทำความรู้จักกับกลุ่มยาแก้ท้องอืด 4 กลุ่มหลัก ๆ กัน 

1. Simethicone (ไซเมธิโคน)

การรักษา

Simethicone ช่วยสลายแก๊สในระบบทางเดินอาหาร ช่วยบรรเทาอาการท้องอืดจากแก๊สส่วนเกินในระบบทางเดินอาหารได้

กลไกการออกฤทธิ์

Simethicone มีฤทธิ์เป็นสารลดแรงตึงผิว เมื่อรับประทาน คาดว่าจะช่วยให้แรงตึงผิวของแก๊สในระบบทางเดินอาหารต่ำลง เมื่อแรงตึงผิวต่ำ แก๊สขนาดใหญ่จะถูกทำลายให้มีขนาดเล็กลงได้ จึงขับออกผ่านการเรอ หรือผายลมได้ง่าย

กลไกการทำงานของ Simethicone ในการบรรเทาอาการท้องอืดยังเป็นเพียงการคาดการณ์จากสมมติฐาน และยังไม่มีผลการศึกษาทางคลินิกที่แน่ชัดรองรับในปัจจุบัน

รูปแบบ ขนาด และวิธีใช้ยา

  • รูปแบบ: ยาเม็ด สำหรับเคี้ยวและกลืน 
  • ขนาดยา: 80–160 มิลลิกรัม (หรือ 1–2 เม็ดต่อวัน) ขนาดยาสูงสุดไม่เกิน 500 มิลลิกรัมต่อวัน  
  • วิธีใช้ยา: รับประทานแบบเคี้ยวและกลืน หลังอาหารหรือก่อนนอน

ข้อควรระวังในการใช้

ไม่ควรใช้ Simethicone ในผู้ป่วยที่มีการอุดกั้นของระบบทางเดินอาหาร

นอกจากนี้ สำหรับการใช้ยาในผู้มีครรภ์และผู้ที่ให้นมบุตร ตัวยายังจัดอยู่ในกลุ่ม Category C หมายความว่า ควรระมัดระวังการใช้ยาในผู้มีครรภ์และผู้ที่ให้นมบุตร

2. Activated charcoal (ผงถ่าน)  

การรักษา

คาดว่า Activated charcoal จะช่วยเพิ่มการจับกับแก๊สในระบบทางเดินอาหาร จึงช่วยบรรเทาอาการท้องอืดจากแก๊สส่วนเกินในระบบทางเดินอาหารได้ 

กลไกการออกฤทธิ์

จากโครงสร้างสามมิติ พบว่า Activated charcoal มีรูพรุนจำนวนมาก จึงสามารถดักจับกับสารเคมีต่าง ๆ ได้ดี อีกทั้งยังอาจดักจับแก๊สในระบบทางเดินอาหารได้ด้วย 

แม้ว่าปัจจุบันจะเริ่มมีงานวิจัยที่สนับสนุนฤทธิ์ของ Activated charcoal ในด้านการบรรเทาอาการท้องอืด แต่ก็ยังไม่มีผลการศึกษาทางคลินิกที่แน่ชัดมาสรุปได้ 

รูปแบบ ขนาด และวิธีใช้ยา 

  • รูปแบบ: ยาเม็ดหรือแคปซูลสำหรับรับประทาน
  • ขนาดยา: 750–1,000 มิลลิกรัม (หรือ 3–4 เม็ดหรือแคปซูลต่อวัน) 
  • วิธีใช้ยา: รับประทานวันละ 3–4 ครั้ง

หมายเหตุ

  • ควรรับประทานยานี้ก่อนหรือหลังยาอื่น 2 ชั่วโมง เนื่องจาก Activated charcoal อาจจับกับยาอื่นได้ ทำให้ยาอื่นที่รับประทานร่วมกันไม่ออกฤทธิ์ 
  • หลังรับประทานยานี้ อุจจาระอาจเป็นสีดำ ถือเป็นเรื่องปกติของการใช้ยา

ข้อควรระวังในการใช้

ไม่ควรใช้ Activated charcoal ในผู้ป่วยที่มีการอุดกั้นของระบบทางเดินอาหาร เพราะยาอาจทำให้การอุดกั้นแย่ลง และควรระวังการใช้ยาในผู้มีครรภ์หรือผู้ที่ให้นมบุตรด้วย 

3. Digestive Enzyme (กลุ่มเอนไซม์ช่วยย่อย) 

การรักษา

กลุ่มเอนไซม์ช่วยย่อย คือเอนไซม์ที่ช่วยเพิ่มการย่อยอาหาร สามารถบรรเทาอาการท้องอืดจากอาหารไม่ย่อยได้

ส่วนประกอบ

ยาในกลุ่มนี้ ประกอบด้วยกลุ่มเอนไซม์ 3 กลุ่ม ได้แก่ 

  1. เอนไซม์ในกลุ่มแพนคริเอติน (Pancreatin) เป็นเอนไซม์ที่สกัดจากตับอ่อนของสัตว์
  2. เอนไซม์ในกลุ่มย่อยโปรตีน (Protease)
  3. เอนไซม์ในกลุ่มย่อยคาร์โบไฮเดรต 

กลไกการออกฤทธิ์

  • เอนไซม์ในกลุ่มแพนคริเอติน (Pancreatin) ช่วยเพิ่มการย่อยไขมันในระบบทางเดินอาหาร
  • เอนไซม์ในกลุ่มย่อยโปรตีน (Protease) เพิ่มการย่อยโปรตีน
  • เอนไซม์อะไมเลส (Amylase) และไดแอสเตส (Diastase) ช่วยเพิ่มการย่อยคาร์โบไฮเดรตในระบบทางเดินอาหารให้กลายเป็นน้ำตาล

ข้อควรระวังในการใช้

ควรระมัดระวังการใช้ยาในผู้ป่วยโรคถุงน้ำดีและผู้ป่วยแผลในกระเพาะอาหาร และกลุ่มยานี้ยังไม่ได้รับการจัดประเภทสำหรับการใช้ในผู้มีครรภ์และผู้ที่ให้นมบุตร 

4. Carminative Herbs (กลุ่มสมุนไพรขับลม) 

การรักษา

สมุนไพรขับลมจะกระตุ้นการทำงานของระบบทางเดินอาหาร จึงช่วยบรรเทาอาการท้องอืด จากทั้งอาหารไม่ย่อย และจากแก๊สส่วนเกินในระบบทางเดินอาหารได้

ส่วนประกอบ

เป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ในการขับลม เช่น กระชาย กระวาน กระเทียม กะเพรา ข่า ขิง ขมิ้นชัน ตะไคร้ พริกไทย 

กลไกการออกฤทธิ์

สมุนไพรที่มีฤทธิ์ในการขับลม ส่วนมากจะประกอบไปด้วยน้ำมันหอมระเหย ซึ่งคุณสมบัติของน้ำมันหอมระเหยจากสมุนไพรแต่ละชนิดต่างก็มีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน

สำหรับกลไกที่แน่ชัดนั้นยังไม่มีข้อมูล แต่หลัก ๆ แล้วพบว่าสมุนไพรเหล่านี้มีฤทธิ์ลดการหดเกร็งโดยจะก่อให้เกิดการระคายเคืองบริเวณลำไส้ ทำให้เลือดไปเลี้ยงบริเวณลำไส้เพิ่มมากขึ้น

ช่วยให้การหดตัวของลำไส้กลับมาเป็นปกติ จึงสามารถขับแก๊สและอาหารที่ค้างอยู่ในลำไส้ได้ง่ายขึ้น ผ่านการเรอ หรือการผายลม

รูปแบบ ขนาด และวิธีใช้ยา 

  • รูปแบบ: สมุนไพรสด และสมุนไพรแคปซูล (สำเร็จรูป) มีทั้งชนิดเดี่ยว และชนิดผสมกับสมุนไพรตัวอื่น ๆ 
  • ขนาดและวิธีใช้: แตกต่างกันออกไปตามรูปแบบของสมุนไพร รับประทานหรือดื่มเอง เช่น ขิง อาจใช้เหง้าสดประมาณ 5 กรัม ต้มดื่มกับน้ำ ส่วนสมุนไพรแคปซูล (สำเร็จรูป) รับประทานตามฉลากบนผลิตภัณฑ์ เช่น รับประทาน 3–4 แคปซูลต่อวัน หลังอาหาร

ข้อควรระวังในการใช้

สมุนไพรแต่ละชนิดมีข้อควรระวังที่แตกต่างกัน เช่น ควรระวังการใช้ขมิ้นชันในผู้ป่วยที่ใช้ยาลดการแข็งตัวของเลือด เนื่องจากขมิ้นชันจะช่วยเสริมฤทธิ์ของยา และอาจทำให้ผู้ป่วยมีเลือดออกภายในร่างกายได้

นอกจากนี้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาสมุนไพรเสมอ โดยเฉพาะในผู้ที่มีโรคประจำตัว


ตรวจสอบความถูกต้องโดย ทีมแพทย์ HD

Scroll to Top