diazepam

Diazepam (ไดอะซีแพม)

ไดอะซีแพม (diazepam) เป็นยากลุ่มที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทใช้เป็นยาคลายกังวล (anxiolytic) ยาต้านชัก (anticonvulsant)  และยาสลบ ยานอนหลับ (sedative / hypnotics)

สรรพคุณยา Diazepam

  • รักษาอาการวิตกกังวล: ใช้ในการบรรเทาอาการวิตกกังวลที่เกิดจากภาวะทางจิตเวช เช่น โรควิตกกังวลทั่วไป หรือโรคแพนิค
  • คลายกล้ามเนื้อ: ใช้เพื่อบรรเทาอาการกล้ามเนื้อตึงหรือกล้ามเนื้อเกร็ง ซึ่งมักเกิดจากการบาดเจ็บหรือภาวะทางการแพทย์อื่นๆ
  • รักษาอาการนอนไม่หลับ: ใช้ในการรักษาอาการนอนไม่หลับ โดยเฉพาะในผู้ที่มีอาการวิตกกังวลร่วมด้วย
  • รักษาอาการชัก: ใช้ในการบรรเทาอาการชักจากโรคลมชักหรืออาการชักที่เกิดจากสาเหตุอื่น เช่น การถอนยาหรือแอลกอฮอล์
  • ใช้ในการรักษาอาการถอนสุรา: ช่วยลดอาการถอนสุรา เช่น ความวิตกกังวล ความกระวนกระวาย และอาการชัก

กลไกการออกฤทธิ์

กลไกการออกฤทธิ์ของยา คือ ไดอะซีแพมเป็นยากลุ่มเบนโซไดอะซีพีน (benzodiazepine) ที่ออกฤทธิ์นาน มีคุณสมบัติต้านการชัก คลายกังวล ทำให้ง่วง คลายกล้ามเนื้อ และทำให้หลับ ไดอะซีแพมมีกลไกเพิ่มความสามารถของเยื่อหุ้มเซลล์ในการเลือกผ่านของคลอไรด์ไอออน โดยตัวยาจะเข้าจับกับตัวรับเบนโซไดอะเซพีน ของเซลล์ประสาท postsynaptic GABA ในระบบประสาทส่วนกลาง และเพิ่มการยับยั้งฤทธิ์ของ GABA ที่เป็นผลให้เกิด hyperpolarization

รูปแบบและส่วนประกอบของยา

  • ยาเม็ดมี 3 ขนาด ประกอบด้วยไดอะซีแพม ขนาด 2, 5 และขนาด 10 มิลลิกรัม
  • ยาแคปซูลมี 2 ขนาด ประกอบด้วยไดอะซีแพม ขนาด 2 มิลลิกรัมและขนาด 5 มิลลิกรัม
  • ยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ประกอบด้วยไดอะซีแพม ความเข้มข้น 10 มิลลิกรัมต่อตัวยา 2 มิลลิลิตร

ข้อบ่งใช้

ยาไดอะซีแพม ชนิดยาเม็ด สำหรับรับประทาน มีข้อบ่งใช้ คือ ภาวะวิตกกังวลระดับรุนแรง

  • ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ 2 มิลลิกรัม วันละ 3 ขนาดยาสูงสุดต่อวัน 30 มิลลิกรัม ขนาดยาในผู้สูงอายุไม่ควรเกินครึ่งหนึ่งของขนาดยาที่ใช้ในผู้ใหญ่

ข้อบ่งใช้สำหรับรักษาอาการกล้ามเนื้อหดเกร็ง

  • ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ 2-15 มิลลิกรัมต่อวัน แบ่งรับประทาน อาจเพิ่มขนาดยาสูงสุด 60 มิลลิกรัมต่อวันในผู้ป่วยที่มีภาวะหดเกร็งระดับรุนแรง ได้แก่ ในผู้ป่วยสมองพิการ ขนาดยาในผู้สูงอายุไม่ควรเกินครึ่งหนึ่งของขนาดยาที่ใช้ในผู้ใหญ่

ข้อบ่งใช้สำหรับรักษาอาการชัก

  • ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ 2-60 มิลลิกรัมต่อวัน แบ่งรับประทาน ขนาดยาในผู้สูงอายุไม่ควรเกินครึ่งหนึ่งของขนาดยาที่ใช้ในผู้ใหญ่

ข้อบ่งใช้สำหรับรักษากลุ่มอาการถอนแอลกอฮอล์

  • ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ 5-20 มิลลิกรัมต่อวัน ใช้ยาซ้ำในอีก 2-4 ชั่วโมงหากจำเป็น หรือใช้ยา 10 มิลลิกรัม 3-4 ครั้งต่อวันในวันแรก จากนั้นลดขนาดเป็น 5 มิลลิกรัม 3-4 ครั้งต่อวัน ขนาดยาในผู้สูงอายุไม่ควรเกินครึ่งหนึ่งของขนาดยาที่ใช้ในผู้ใหญ่

ข้อบ่งใช้สำหรับรักษาอาการนอนไม่หลับเนื่องจากวิตกกังวล

  • ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ 5-15 มิลลิกรัมก่อนนอน ขนาดยาในผู้สูงอายุไม่ควรเกินครึ่งหนึ่งของขนาดยาที่ใช้ในผู้ใหญ่

ข้อบ่งใช้สำหรับสลบในการผ่าตัดขนาดเล็ก

ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ 5-20 มิลลิกรัมต่อวัน ขนาดยาในผู้สูงอายุไม่ควรเกินครึ่งหนึ่งของขนาดยาที่ใช้ในผู้ใหญ่

ข้อปฏิบัติเมื่อลืมรับประทานยา

  • หากลืมรับประทานยาตามเวลาปกติที่รับประทาน ถ้าปกติรับประทาน 1 เม็ด ให้รับประทานยาทันทีที่นึกได้จำนวน 1 เม็ดโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เม็ดแทนเม็ดที่ลืมรับประทาน
  • ในกรณีลืมรับประทานยาใกล้กับเวลารับประทานถัดไป ให้รับประทานยาในมื้อถัดไปในขนาด 1 เม็ด โดยข้ามยาในมื้อที่ลืมไปและไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เม็ด

ข้อควรระวังของการใช้ยา

  • ไม่ใช้ยาในผู้ป่วยต้อหินมุมปิด ผู้ป่วยที่มีการกดของระบบประสาทส่วนกลาง ผู้ป่วยโคมา ผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรงชนิด myasthenia gravis
  • ไม่ใช้ยาในผู้ป่วยโรคตับระดับรุนแรง
  • ระวังการใช้ยาในผู้ป่วยต้อหินมุมเปิด ผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ป่วยบุคลิกภาพบกพร่อง ผู้ป่วยจิตเภท ผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้า หรือมีความวิตกกังวล โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีความคิดฆ่าตัวตายหรือมีพฤติกรรมก้าวร้าว
  • ระวังการใช้ยาในผู้ป่วยที่มีประวัติใช่สารเสพติด หรือมีอาการเสพติดแอลกอฮอล์
  • ระวังการใช้ยาในผู้ป่วยโรคตับ หรือโรคไต
  • ระวังการใช้ยาในผู้สูงอายุ
  • ระวังการใช้ยาในสตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร

ผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา

  • อาจก่อให้เกิดการสลบ ง่วงซึม กล้ามเนื้ออ่อนแรง อาการล้า สับสน ซึมเศร้า ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ รบกวนการมองเห็น อาการสั่น กดการหายใจ ความดันโลหิตต่ำ ปัสสาวะคั่ง คลื่นไส้ อาเจียน
  • การใช้ยาเกินขนาด อาจส่งผลให้เกิดการง่วงซึมในเวลากลางวัน สับสน ความดันโลหิตต่ำ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึมเศร้ารุนแรง

ข้อมูลการใช้ยาในสตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตร

สำหรับการใช้ยาในสตรีมีครรภ์ ตัวยาจัดอยู่ในกลุ่ม category D คือไม่แนะในการใช้ยาในสตรีมีครรภ์ เว้นแต่ในกรณีช่วยชีวิตหรือรักษาอาการรุนแรงที่ยาที่ปลอดภัยกว่ารักษาไม่ได้ผล

ประเภทของยาตามองค์การอาหารและยา ประเทศไทย

ยาจัดอยู่ในกลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ประเภทที่ 4 ห้ามมิให้มีการขายเว้นแต่ได้รับอนุญาต ยกเว้นกับผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันชั้นหนึ่ง สาขาทันตกรรมขายให้แก่เฉพาะคนไข้ของตน

ข้อมูลการเก็บรักษา

ควรเก็บรักษายาที่อุณหภูมิ 15 ถึง 30 องศาเซลเซียสเก็บให้พ้นจากแสงแดด

Scroll to Top