นมวัว เป็นหนึ่งในอาหารที่เป็นสาเหตุหลักของอาการแพ้อาหารในเด็ก แต่ก็สามารถพบอาการแพ้นมวัวได้ในผู้ใหญ่เช่นกัน
ส่วนอาหารอื่นๆ ที่เป็นสาเหตุหลักทำให้เกิดอาการแพ้อาหารได้ ได้แก่ ไข่ ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ถั่วที่เติบโตบนดิน (Tree nut) เช่น อัลมอนด์ วอลนัท มะม่วงหิมพานต์ แมคคาดาเมีย เกาลัด หรือพิสตาชิโอ อาหารทะเล เช่น ปลา กุ้ง ปู หอย ข้าวสาลี หากคุณรู้ว่า แพ้อาหารที่กล่าวไปเบื้องต้น หรืออาหารชนิดอื่นๆ ก็ควรหลีกเลี่ยงเพื่อป้องกันอาการแพ้กำเริบ
สารบัญ
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับอาการแพ้นมวัว และภาวะแพ้แลคโตส
คนส่วนมากมักเข้าใจผิดว่า อาการแพ้นมวัว (Milk allergy) กับภาวะแพ้แลคโตส หรือที่เรียกว่า “ภาวะไม่ทนต่อแลคโตส (Lactose intolerance)” คือโรคชนิดเดียวกัน ทั้งที่จริงๆ แล้วสองโรคนี้แตกต่างกัน
อาการแพ้นมวัว มักพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ สาเหตุเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายไวต่อโปรตีนบางชนิดที่อยู่ในนมวัว ทำให้เกิดการหลั่งสารฮีสตามีน (Histamine) ออกมา ซึ่งสารดังกล่าวจะทำให้เกิดอาการแพ้ตามมานั่นเอง
โปรตีนในนมวัวที่เด็กส่วนมากแพ้คือ อัลฟาเอสวัน-เคซีน (Alpha S1-casein protein) เป็นโปรตีนที่พบมากในนมวัว อย่างไรก็ตาม เมื่อเด็กโตขึ้น ส่วนมากอาการแพ้นมวัวก็จะค่อยๆ ดีขึ้นเอง
ภาวะแพ้แลคโตส เกิดจากร่างกายไม่สามารถย่อยน้ำตาลแลคโตส หรือน้ำตาลในนมวัวได้อย่างสมบูรณ์
ภาวะแพ้แลคโตสจะทำให้เกิดอาการท้องเฟ้อจนต้องผายลมบ่อยๆ ท้องร่วง ท้องอืด หรือปวดเกร็งที่ท้องตามมา สามารถพบได้ในทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ เช่นเดียวกับการแพ้นมวัว
อาการแพ้นมวัวในเด็ก
Non-IgE-mediated การแพ้นมวัวโดยไม่ผ่านสารอิมมูโนโกลบูลินอี
ปกติแล้วเด็กที่แพ้นมวัวมักจะเกิดอาการแพ้หลังจากดื่มนมไปแล้วหลายชั่วโมง หรือหลายวันต่อมา ซึ่งเป็นอาการแพ้ที่ไม่รุนแรงมาก ลักษณะอาการที่ปรากฎได้แก่ ท้องร่วง ปวดท้อง อุจจาระเป็นเมือก หรือมีเลือดปะปนมาด้วย ผื่นแดง น้ำมูกไหล
IgE mediated การแพ้นมวัวโดยผ่านสารอิมมูโนโกลบูลินอี
มีเด็กจำนวนไม่น้อยที่มีอาการแพ้เฉียบพลัน คือเกิดอาการแพ้หลังจากดื่มนมไปแล้วไม่กี่นาที หรือไม่กี่ชั่วโมง ลักษณะอาการที่ปรากฎได้แก่ ลมพิษ หายใจมีเสียงวี้ด แน่นหน้าอก อาเจียน
การแพ้นมวัวผ่านสารอิมมูโนโกบูลินที่รุนแรง แต่พบได้ยากคือ เด็กอาจมีอาการช็อกจากการแพ้รุนแรง (Anaphylactic Chock) เป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน
โดยเด็ก หรือผู้ใหญ่ที่แพ้นมวัวรุนแรง จะมีอาการอื่นๆ ที่กล่าวมาร่วมกับอาการบวมที่ปาก หรือลำคอ หายใจลำบาก และความดันโลหิตลดลงจนนำไปสู่การหมดสติ และเสียชีวิตได้
นอกจากนี้ในบางรายพบว่า “กลไกการแพ้นมวัวอาจเป็นลักษณะผสมที่อาจผ่านและไม่ผ่านสารอิมมูโนโกบูลินอี”
หากมีอาการดังกล่าว ในเบื้องต้นจะต้องรักษาโดยการฉีดยาอีพิเนฟริน (Epinephrine) ทันที และรีบส่งตัวผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาล
การวินิจฉัยอาการแพ้นมวัว
หากคุณสงสัยว่า คุณ ลูก หรือบุคคลใกล้ชิดมีอาการแพ้นมวัว ให้ลองงดนมวัวดูอย่างน้อย 1-3 เดือน หากอาการแพ้ดีขึ้น หรือหายไปก็แสดงว่า “คุณมีอาการแพ้นมวัว”
คุณควรไปปรึกษาแพทย์โรคภูมิแพ้ เพื่อตรวจภูมิแพ้อาหาร หรือตรวจภูมิแพ้อาหารแฝง โดยแพทย์อาจพิจารณาทำ skin prick test หรือการสกิดบริเวณผิวหนังด้วยสารกระตุ้นภูมิแพ้ การทำ patch test หรือการแปะสารกระตุ้นภูมิแพ้ หรือการวัดระดับอิมมูโนโกบูลินชนิดจำเพาะต่อนม
วิธีตรวจเหล่านี้จะช่วยให้คุณสามารถรู้ระดับความรุนแรงของการแพ้นมวัว และเตรียมรับมือได้อย่างทันท่วงที
หากได้รับการวินิจฉัยว่า มีอาการแพ้นมวัวรุนแรง แพทย์จะจ่ายยาฉีดอีพิเนฟรินให้พกติดตัวเสมอ เมื่อเกิดอาการแพ้ให้ฉีดยานี้ทันทีก็จะช่วยบรรเทาอาการแพ้รุนแรงที่เกิดขึ้นได้
แพ้นมวัวดื่มอะไรแทนได้บ้าง?
- หากแพ้โปรตีนอัลฟาเอสวัน-เคซีนในนมวัว สามารถเลือกดื่นนมแพะแทนได้ เนื่องจากในนมแพะมีโปรตีนชนิดนี้น้อยมาก
- แพทย์มักแนะนำให้แม่เลี้ยงทารกด้วยนมแม่ในช่วงหกเดือนแรกเพื่อป้องกันการเกิดอาการแพ้ โดยในช่วงให้นม แม่จะต้องงดดื่มนมวัวด้วยเพราะอาจส่งสารก่อภูมิแพ้ไปยังลูกผ่านน้ำนมได้
- คุณอาจให้ลูกเริ่มรับประทานขนมอบที่มีส่วนผสมของนมวัวก่อนประมาณ 3 เดือน เพื่อให้ร่างกายของเด็กทนต่อนมวัวได้มากขึ้นก่อนที่จะเริ่มให้รับประทานนมวัว
- คุณสามารถให้เด็กดื่มนมสูตรสำหรับเด็กแพ้ง่ายก่อน (Hypoallergenic formula) ซึ่งจะช่วยให้เด็กทนต่อนมวัวมากขึ้นเช่นเดียวกับการรับประทานขนมอบ
- สามารถเปลี่ยนไปรับประทานนมถั่วเหลืองได้ อย่างไรก็ตามนมถั่วเหลืองก็สามารถทำให้เกิดอาการแพ้ได้เช่นกัน
นมวัวเป็นนมที่มีประโยชน์สำหรับทุกเพศทุกวัย แต่ก็ทำให้เกิดอาการแพ้นมวัวได้ ผู้ที่แพ้นมวัวควรหลีกเลี่ยงการดื่มนมชนิดนี้ และหันไปดื่มนมอื่นๆ แทน
ปัจจุบันมีนมหลายชนิดที่มีประโยชน์ไม่แพ้นมวัว เช่น นมแพะ นมถั่วเหลือง นมข้าว หรือนมเปรี้ยวต่างๆ
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นนมชนิดไหนก็สามารถก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ การสังเกตอาการแพ้ของตัวเองหลังรับประทานนม หรืออาหารชนิดต่างๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญ
ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. เชิดพงศ์ หังสสูต