เปรียบเทียบวิธีคุมกำเนิด

เปรียบเทียบวิธีคุมกำเนิด และประสิทธิภาพ

การมีเพศสัมพันธ์ในขณะที่ยังไม่พร้อม หรือไม่ต้องการมีบุตร สิ่งต้องให้ความสำคัญ ก็คือ การคุมกำเนิดเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

ในปัจจุบัน มีวิธีคุมกำเนิดหลากหลายวิธี แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ การคุมกำเนิดแบบชั่วคราว และการคุมกำเนิดแบบถาวร ซึ่งในบทความนี้จะเปรียบเทียบวิธีคุมกำเนิดในรูปแบบต่างๆ ว่ามีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันอย่างไร

สารบัญ

ตารางเปรียบเทียบวิธีคุมกำเนิดในรูปแบบต่างๆ 

การคุมกำเนิดจะแบ่งกลุ่มใหญ่ๆ ได้เป็น 2 กลุ่ม คือ การคุมกำเนิดแบบชั่วคราวและการคุมกำเนิดแบบถาวร ซึ่งสามารถแบ่งย่อยลงไปได้อีกหลายวิธี ดังนี้

1. การคุมกำเนิดแบบชั่วคราว

การคุมกำเนิดชั่วคราว มีหลายประเภทให้เลือกใช้ตามความเหมาะสม โดยระยะเวลาที่มีผลคุมกำเนิดและโอกาสในการตั้งครรภ์จะแตกต่างกันออกไป ดังนี้

  • ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวม หากใช้อย่างสมบูรณ์ ถูกวิธี จะมีโอกาสตั้งครรภ์เพียง 0.30%-8% เท่านั้น สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป โดยมีอายุการใช้งาน 1 เดือน ต่อ 1 หน่วย ราคาประมาณ 50-500 บาท แต่ข้อจำกัดคือห้ามลืมกินแม้แต่วันเดียว
  • ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนเดี่ยว หากใช้อย่างสมบูรณ์ ถูกวิธี จะมีโอกาสตั้งครรภ์เพียง 0.30%-10% เท่านั้น สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป โดยมีอายุการใช้งาน 1 เดือน ต่อ 1 หน่วย ราคาประมาณ 50-500 บาท แต่ข้อจำกัดคือห้ามลืมกินแม้แต่วันเดียว และต้องกินให้ตรงเวลาด้วย
  • ยาฉีดคุมกำเนิดแบบ 3 เดือน หากใช้อย่างสมบูรณ์ ถูกวิธี จะมีโอกาสตั้งครรภ์เพียง 0.30%-3% เท่านั้น สามารถขอใช้บริการได้ที่โรงพยาบาล โดยมีอายุการใช้งาน 3 เดือน ต่อ 1 หน่วย ราคาประมาณ 100-200 บาท แต่ข้อจำกัดคือต้องไปฉีดให้ตรงเวลา
  • ยาฝังคุมกำเนิด หากใช้อย่างสมบูรณ์ ถูกวิธี จะมีโอกาสตั้งครรภ์เพียง 0.01%-0.05% เท่านั้น สามารถขอใช้บริการได้ที่โรงพยาบาล โดยมีอายุการใช้งาน 3-5 ปี ต่อ 1 หน่วย ราคาประมาณ 2,500 บาท แต่ข้อจำกัดคือโรงพยาบาลทุก 3 ปี
  • แผ่นแปะคุมกำเนิด หากใช้อย่างสมบูรณ์ ถูกวิธี จะมีโอกาสตั้งครรภ์เพียง 0.30%-8% เท่านั้น สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาใหญ่ๆ โดยมีอายุการใช้งาน 1 เดือน ต่อ 1 หน่วย ราคาประมาณ 400-600 บาท แต่ข้อจำกัดคือต้องเปลี่ยนแผ่นแปะทุกสัปดาห์
  • ห่วงคุมกำเนิด หากใช้อย่างสมบูรณ์ ถูกวิธี จะมีโอกาสตั้งครรภ์เพียง 0.06%-0.08% เท่านั้น สามารถใช้บริการได้ที่โรงพยาบาล โดยมีอายุการใช้งาน 3-5 ปี ต่อ 1 หน่วย ราคาประมาณ 1,000-5,000 บาท แต่ข้อจำกัดคือต้องให้แพทย์ตรวจภายในทุกปี
  • ถุงยางอนามัย หากใช้อย่างสมบูรณ์ ถูกวิธี จะมีโอกาสตั้งครรภ์ประมาณ 15% สามารถซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป โดยมีอายุการใช้งาน 1 ครั้ง ต่อ 1 หน่วย ราคาไม่เกิน 100 บาท แต่ข้อจำกัดอาจขัดจังหวะในการมีเพศสัมพันธ์
  • หลั่งภายนอก เป็นวิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพต่ำ โดยมีโอกาสตั้งครรภ์มากถึง 27% เนื่องจากหากมีการสอดใส่ จะทำให้น้ำหล่อลื่นบริเวณปลายอวัยวะเพศชาย มีอสุจิปนเปื้อนเข้าไปในช่องคลอดได้
  • นับวันปลอดภัย เป็นวิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพต่ำ โดยมีโอกาสตั้งครรภ์มากถึง 25% เนื่องจากอสุจิสามารถอยู่ภายในช่องคลอดได้หลายวัน ส่วนข้อจำกัดคือ ไม่เหมาะกับคนที่รอบเดือนมาไม่สม่ำเสมอ

2. การคุมกำเนิดแบบถาวร

การคุมกำเนิดแบบถาวร จะแบ่งได้เป็น 3 ประเภทสำหรับทั้งชายและหญิง ดังนี้

  • ทำหมันเปียก (ผู้หญิง) เป็นวิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูง โดยมีโอกาสตั้งครรภ์เพียง 0.5% เท่านั้น สามารถรับบริการได้ที่โรงพยาบาล โดยมีระยะเวลาคุมกำเนิดตลอดชีวิต ราคาอยู่ระหว่าง 3,000-5,000 บาท ข้อจำกัดคือการทำหมันรูปแบบนี้จะทำหลังจากคลอด
  • ทำหมันแห้ง (ผู้หญิง) เป็นวิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูง โดยมีโอกาสตั้งครรภ์เพียง 0.5% เท่านั้น สามารถรับบริการได้ที่โรงพยาบาล โดยมีระยะเวลาคุมกำเนิดตลอดชีวิต ราคาอยู่ระหว่าง 3,000-5,000 บาท ข้อจำกัดคือทำยากกว่าทำหมันเปียก และแผลมีขนาดใหญ่กว่า
  • ทำหมันชาย เป็นวิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูง โดยมีโอกาสตั้งครรภ์เพียง 0.1-0.15% เท่านั้น สามารถรับบริการได้ที่โรงพยาบาล โดยมีระยะเวลาคุมกำเนิดตลอดชีวิต ราคาขึ้นอยู่กับโรงพยาบาล แต่สามารถรับบริการได้ฟรีที่คลินิกมีชัย ไม่ต้องวางยาสลบ ทำเสร็จแล้วสามารถกลับบ้านได้ทันที
content %E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%9A 01

การคุมกำเนิดแบบชั่วคราว

การคุมกำเนิดแบบชั่วคราว มี 7 วิธี ได้แก่ ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาคุมฉุกเฉิน การฉีดยาคุม ยาฝังคุมกำเนิด แผ่นแปะคุมกำเนิด ห่วงอนามัย และถุงยางอนามัย โดยมีรายละเอียดดังนี้

content content %E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B8%9B%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99 05

วิธีที่ 1 ยาเม็ดคุมกำเนิด 

ยาเม็ดคุมกำเนิดแบ่งได้เป็น  2 ประเภท คือ ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวม และฮอร์โมนเดี่ยว

1.1 ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวม 

ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวมในเม็ดยาจะมีส่วนประกอบของฮอร์โมน 2 ชนิดคือ เอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ซึ่งมีผลในการยับยั้งการตกไข่

รูปแบบยา

มี 2 รูปแบบคือ 28 เม็ด และ 21 เม็ด ซึ่งมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดเท่ากัน โดยปริมาณฮอร์โมนในแต่ละเม็ดจะมีทั้งแบบที่เท่ากันทุกเม็ด และไม่เท่ากัน (ปรับให้ใกล้เคียงกับธรรมชาติของผู้หญิง) ซึ่งจะมีราคาแพงกว่า อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะรูปแบบไหนก็มีประสิทธิภาพ และผลข้างเคียงไม่แตกต่างกัน

วิธีการใช้ยา

รับประทานยาเรียงตามลำดับลูกศรจนกว่าจะหมดแผง

  • แบบ 28 เม็ด ประจำเดือนจะมาใน 7 เม็ดสุดท้ายของแผง เมื่อยาหมดแผงแล้วให้เริ่มแผงใหม่ในวันถัดไปทันที
  • แบบ 21 เม็ด เมื่อยาหมดแผงแล้ว ให้นับต่อไปอีก 7 วัน (ประจำเดือนจะมาในช่วง 7 วันนี้) และเริ่มรับประทานแผงใหม่ในวันที่ 8

ข้อแนะนำการใช้ยา

  • สำหรับผู้เริ่มใช้ยา ควรเริ่มภายใน 5 วันแรกของการมีประจำเดือน (เพื่อประสิทธิภาพในคุมกำเนิดที่ดีที่สุด ให้เริ่มรับประทานยาในวันแรกของการมีประจำเดือน)
  • ในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังเริ่มรับประทานยา ยาจะยังออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่ จึงต้องคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นร่วมด้วย เช่น ใช้ถุงยางอนามัย
  • ควรรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอในเวลาเดียวกันของทุกวัน จะช่วยลดการเกิดเลือดประจำเดือนออกกะปริดกะปรอยได้
  • แนะนำให้รับประทานยาในช่วงก่อนนอน เพราะจะช่วยหลีกเลี่ยงอาการคลื่นไส้อาเจียนหลังรับประทานยาได้

หากลืมรับประทานยาต้องทำอย่างไร

กรณีที่ลืม 1 เม็ด

  • ถ้านึกได้ก่อนถึงเวลารับประทานยาเม็ดถัดไป ให้รับประทานยาเม็ดนั้นทันทีที่นึกได้ และรับประทานยาเม็ดถัดไปตามเวลาปกติ
  • ถ้านึกได้ตอนใกล้ถึงเวลารับประทานยาเม็ดถัดไป ให้รับประทานยาเม็ดที่ลืมและเม็ดถัดไปพร้อมกัน 2 เม็ด ตามเวลาปกติ

กรณีที่ลืม 2 เม็ด

  • ถ้าเป็นในช่วง สัปดาห์ที่ 1-2 ของรอบเดือน ให้กิน 2 เม็ดทันที วันต่อไปกินอีก 2 เม็ด แล้วจึงกินตามปกติ
  • ถ้าเป็นช่วง สัปดาห์ที่ 3 เป็นต้นไป ให้หยุดยา แล้วคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นจนกว่าประจำเดือนรอบใหม่จะมา แล้วจึงเริ่มกินแผงใหม่ในวันแรกของการมีประจำเดือน

กรณีลืม 3 เม็ดขึ้นไป

ให้หยุดใช้ยาแผงนั้น และคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นไปก่อน รอประจำเดือนมาแล้วค่อยเริ่มแผงใหม่ในวันแรกของการมีประจำเดือน

ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด

สำหรับการใช้ยาที่สมบูรณ์แบบ มีโอกาสตั้งครรภ์เพียง 0.3% แต่สำหรับการใช้ยาแบบคนทั่วไป คือ ลืมรับประทานยา หรือรับประทานยาไม่ตรงเวลา จะมีโอกาสตั้งครรภ์ 8%

ข้อดี
  • หลังหยุดยาแล้ว สามารถตั้งครรภ์ได้เลยในเดือนถัดไป
  • ประจำเดือนมาสม่ำเสมอตามปกติ ลดอาการปวดประจำเดือนได้
  • ช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งมดลูกและรังไข่
ข้อเสีย
  • ต้องมีวินัยในการรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ
  • หากมีการใช้ยาต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 5 ปีขึ้นไป จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ ผู้ใช้ยาควรไปตรวจมะเร็งปากมดลูกปีละ 1 ครั้ง
  • ความเสี่ยงในการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน การเกิดโรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจขาดเลือด

ข้อห้ามใช้

  • ห้ามใช้ในหญิงให้นมบุตร เพราะจะทำให้น้ำนมหยุดไหลได้
  • ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวดังต่อไปนี้ โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจขาดเลือด โรคมะเร็งเต้านม มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก และผู้สูบบุหรี่จัดที่อายุมากกว่า 35 ปี
  • ผู้ป่วยที่มีเลือดออกทางช่องคลอดโดยไม่ทราบสาเหตุ

ผลข้างเคียงของการใช้ยา

  • ในช่วงเดือนแรกๆ ที่ใช้ อาจทำให้ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ แต่หลังจากใช้ไปเรื่อยๆ รอบเดือนจะเริ่มมาสม่ำเสมอมากขึ้น
  • ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้
  • คัดตึงเต้านม
  • น้ำหนักขึ้น
  • หน้าเป็นฝ้า

1.2 ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนเดี่ยว

ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนเดี่ยว ตัวยาจะประกอบด้วยฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพียงอย่างเดียว กลไกหลักในการคุมกำเนิด คือ เพิ่มความเหนียวข้นของมูกบริเวณปากมดลูก ทำให้อสุจิวิ่งผ่านเข้าไปไม่ได้ ยาบางชนิดสามารถใช้ในการคุมกำเนิดสำหรับแม่หลังคลอดที่ให้นมบุตร

รูปแบบยา

มีรูปแบบเดียวคือ 28 เม็ด

วิธีการใช้ยา

รับประทานยาเรียงตามลำดับลูกศรจนกว่าจะหมดแผง โดยต้องรับประทานตรงเวลาเดิมทุกวัน ห้ามคลาดเคลื่อนเกิน 3 ชั่วโมง มิเช่นนั้นจะส่งผลต่อประสิทธิภาพการคุมกำเนิด และเมื่อยาหมดแผง ให้รับประทานแผงใหม่ต่อในวันถัดไปโดยไม่ต้องเว้นระยะ

ในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังเริ่มรับประทานยา ตัวยาจะยังออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่ จึงต้องคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นร่วมด้วย เช่น ใช้ถุงยางอนามัย

หากลืมรับประทานยาต้องทำอย่างไร

  • ลืม 1 เม็ด ให้รับประทานเม็ดนั้นทันทีที่นึกได้ และรับประทานเม็ดต่อไปตามเวลาเดิม หลังจากนั้นให้ใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นร่วมด้วยเป็นเวลา 1 สัปดาห์
  • ลืม 2 เม็ด ให้รับประทานยาต่อไป วันละ 1 เม็ด และใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นร่วมด้วยเป็นเวลา 1 สัปดาห์

ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด

  • สำหรับการใช้ที่สมบูรณ์แบบจะมีโอกาสการตั้งครรภ์ 0.3%
  • สำหรับการใช้ยาแบบคนทั่วไปจะมีโอกาสตั้งครรภ์ 1% โดยประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดจะสูงที่สุดเมื่อใช้ในหญิงให้นมบุตร
ข้อดี
  • ใช้ได้ดีในแม่หลังคลอดที่ให้นมบุตร เพราะไม่ส่งผลต่อการหลั่งน้ำนม
  • ใช้ในผู้ที่มีข้อห้ามใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม หรือผู้ที่ไม่สามารถทนผลข้างเคียงของยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมได้
  • หลังหยุดรับประทานยาแล้ว สามารถตั้งครรภ์ได้เลยในเดือนถัดมา
ข้อเสีย

ผู้ใช้ยาจะไม่มีประจำเดือนเป็นรอบๆ หรืออาจไม่มีประจำเดือนเลย หรือมีเลือดออกกะปริดกะปรอย

ข้อห้ามใช้

ไม่มีข้อห้ามใช้ แต่สำหรับการใช้ในผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา เนื่องจากการรับประทานยาต้านไวรัสร่วมด้วยอาจลดประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิด

ผลข้างเคียงของการใช้ยา

  • มีเลือดออกกระปริดกระปรอย
  • คลื่นไส้
  • เวียนศีรษะ
  • คัดตึง เจ็บเต้านม
content content %E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B8%9B%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99 04

วิธีที่ 2 ยาคุมฉุกเฉิน

ใช้สำหรับคุมกำเนิดในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น เช่น มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน ถุงยางแตก หรือลืมรับประทานยาคุมกำเนิด

กลไกการออกฤทธิ์

ป้องกันและชะลอการตกไข่ แต่ไม่สามารถใช้ทำแท้งได้

รูปแบบยา

มี 2 แบบ คือ

  • ยาเม็ดฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน โดยตัวยาจะประกอบด้วยฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเข้มข้น วิธีใช้ยา คือ รับประทาน 2 เม็ดพร้อมกันให้เร็วที่สุดหลังจากมีเพศสัมพันธ์ ยิ่งรับประทานช้าเท่าไหร่ ยิ่งมีโอกาสตั้งครรภ์มากขึ้นเท่านั้น (ห้ามเกิน 5 วัน หลังมีเพศสัมพันธ์)
  • ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวม สามารถนำมาใช้เป็นยาคุมกำเนิดฉุกเฉินได้ โดยต้องคำนวณขนาดฮอร์โมนเอสโตรเจนในการรับประทานยาแต่ละครั้งให้ได้ 100 ไมโครกรัม รับประทานทั้งหมด 2 ครั้ง ห่างกัน 12 ชั่วโมง

ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด

โดยทั่วไป การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันมีโอกาสตั้งครรภ์ประมาณ 8%

  • ยาเม็ดฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ลดโอกาสตั้งครรภ์เหลือ 1 %
  • ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวม ลดโอกาสการตั้งครรภ์เหลือ 2%

ผลข้างเคียง

  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ (มาช้าหรือเร็วกว่าปกติ) อาจมีเลือดออก 1-2 วันหลังจากรับประทานยา
  • คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ เจ็บเต้านม เวียนศีรษะ ซึ่งอาการเหล่านี้จะค่อยๆ หายไปภายใน 1 สัปดาห์หลังรับประทานยา

ข้อควรระวัง

ไม่ควรใช้ยาคุมฉุกเฉินเกินเดือนละ 2 ครั้ง และหลังรับประทานยาคุมฉุกเฉินควรพิจารณาหาวิธีคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นๆ จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันมากกว่า

content content %E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B8%9B%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99 12

วิธีที่ 3 ยาฉีดคุมกำเนิด

ตัวยาจะประกอบด้วยฮอร์โมนกลุ่มโปรเจสเตอโรน โดยยา 1 เข็ม มีฤทธิ์ในการคุมกำเนิด 3 เดือน

วิธีการใช้ยา

ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (นิยมฉีดบริเวณสะโพก) ครั้งละ 1 เข็ม ทุกๆ 3 เดือน โดยเริ่มฉีดในวันแรกของการมีประจำเดือน หรือภายใน 5 วันแรกของการมีประจำเดือน หลังฉีดจะไม่มีประจำเดือนตามปกติเช่นเดียวกับยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนเดี่ยว แต่อาจมีเลือดออกกะปริดกะปรอยเรื้อรังได้

ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด

สำหรับการใช้ในคนทั่วไปมีโอกาสตั้งครรภ์ 3% และในคนที่ฉีดยาสม่ำเสมออย่างสมบูรณ์แบบมีโอกาสตั้งครรภ์เพียง 0.3%

ข้อเสีย

ต้องหยุดยานานประมาณ 9-12 เดือนขึ้นไป จึงจะสามารถมีบุตรได้

ผลข้างเคียงของการใช้ยา

  • เลือดออกกระปริดกะปรอย ไม่สม่ำเสมอ แต่ไม่เป็นอันตราย หากกังวลสามารถไปพบแพทย์ได้
  • น้ำหนักขึ้น (ประมาณ 1-2 กิโลกรัมต่อปี)
  • ปวดศีรษะ
  • อารมณ์แปรปรวน

อ่านเติมเติม: ฉีดยาคุมกำเนิด ป้องกันได้นานกี่เดือน ไม่ฉีดแล้วจะกลับมาท้องทันทีหรือไม่

content content %E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B8%9B%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99 13

วิธีที่ 4 ยาฝังคุมกำเนิด

รูปแบบยา

ประกอบด้วยฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพียงอย่างเดียว มีลักษณะเป็นหลอดยาทรงกระบอกเล็กๆ ขนาดความหนาประมาณครึ่งหนึ่งของหลอดยาคูลท์ ความยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร

กลไกการออกฤทธิ์

ยาที่ถูกฝังจะค่อยๆ ปล่อยฮอร์โมนคุมกำเนิดออกมาในระยะเวลา 3-5 ปี แล้วแต่ชนิดของหลอดยา

วิธีใช้

หลอดยาจะถูกฝังเข้าไปใต้ชั้นผิวหนัง โดยใช้เครื่องมือสอดยาแทงทะลุชั้นผิวหนังเข้าไป เป็นแผลเล็กๆ ประมาณ 0.5 เซนติเมตร (อาจฟังดูน่ากลัว แต่ในกระบวนการทำจริงง่ายและเจ็บน้อยมาก เนื่องจากจะมีการฉีดยาชาก่อนฝังยา)

ในเดือนแรกที่ฝังยาจะต้องคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นร่วมด้วย เช่น ใช้ถุงยางอนามัย เพราะยาฝังคุมกำเนิดจะยังออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่ จนเมื่อครบกำหนด 3 ปี หรือ 5 ปีแล้ว จะต้องกลับมาโรงพยาบาลเพื่อเอายาหลอดเก่าออก และใส่หลอดใหม่เข้าไป

ประสิทธิภาพ

มีโอกาสตั้งครรภ์ 0.01-0.5%

ผลข้างเคียง

อาจมีประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ หรือมีเลือดออกกะปริดกะปรอยได้

อ่านเพิ่มเติม: ฝังยาคุม ผลข้างเคียงเป็นยังไง เตรียมตัวยังไง?

content content %E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B8%9B%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99 08

วิธีที่ 5 แผ่นแปะคุมกำเนิด

รูปแบบยา

เป็นแผ่นแปะขนาดเล็ก แผ่นแปะคุมกำเนิด 1 ชุด สามารถใช้ได้ 1 เดือน

กลไกการออกฤทธิ์

ประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ออกฤทธิ์เหมือนกับยาเม็ดคุมกำเนิดฮอร์โมนรวมคือ ป้องกันไม่ให้ไข่ตก เมื่อนำไปแปะตามส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ตัวแผ่นแปะคุมกำเนิดจะค่อยๆ ปล่อยฮอร์โมนคุมกำเนิดออกมา

ประสิทธิภาพ

เทียบเท่ากับการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม แต่ประสิทธิภาพจะลดลงหากใช้ในคนที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 90 กิโลกรัม

วิธีใช้

ใน 1 ชุดจะประกอบด้วยแผ่นแปะคุมกำเนิด 3 แผ่น สำหรับแปะสัปดาห์ละ 1 แผ่น และเว้นไม่แปะในสัปดาห์ที่ 4 ของรอบเดือน (เหมือนกับยาเม็ดคุมกำเนิดชนิด 21 เม็ด) ซึ่งจะเป็นช่วงที่ประจำเดือนมา

นอกจากนี้ คุณยังต้องระวังแปะแผ่นคุมกำเนิดอย่างต่อเนื่องติดกันทุกสัปดาห์ หากลืมแปะจะเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์สูงมาก อีกทั้งต้องแปะตลอดเวลา ห้ามแกะแผ่นแปะออกเด็ดขาด โดยตัวแผ่นแปะคุมกำเนิดจะเหนียวหนึบทนทาน สามารถอาบน้ำ หรือว่ายน้ำได้ตามปกติ

ผลข้างเคียง

  • ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ
  • ระคายเคืองบริเวณผิวที่ติดแผ่นแปะคุมกำเนิด
  • ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน เจ็บเต้านม
content content %E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B8%9B%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99 15

วิธีที่ 6 ห่วงคุมกำเนิด

รูปแบบยา

เป็นแท่งพลาสติกอันเล็กจิ๋ว ขนาดเล็กกว่าปลายนิ้วก้อย ส่วนปลายกางออกเป็นลักษณะร่มหรือห่วง

วิธีใช้

ใส่เข้าไปทางปากมดลูก ตัวห่วงจะกางอยู่ในโพรงมดลูก และกระตุ้นการสร้างเมือกเพื่อป้องกันไม่ให้อสุจิว่ายเข้าไปผสมกับไข่ได้

ห่วงคุมกำเนิดบางรุ่นจะสามารถปล่อยฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนออกมาช่วยคุมกำเนิดได้ เช่น ไมรีน่า (Mirena) มีอายุการใช้งาน 3–5 ปี อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้ควรเข้ารับการตรวจภายในทุกปี เพื่อเช็กสภาพและตำแหน่งของห่วงคุมกำเนิด

ประสิทธิภาพ

มีโอกาสตั้งครรภ์ 0.06–0.08%

ผลข้างเคียง

เลือดออกกระปริดกะปรอย ประจำเดือนมามากผิดปกติ ปวดท้องประจำเดือน หรือตกขาว

หมายเหตุ

การใส่ห่วงคุมกำเนิดไม่เพิ่มความเสี่ยงการเป็นอุ้งเชิงกรานอักเสบ และไม่เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์

อ่านเพิ่มเติม: ใส่ห่วงคุมกำเนิด คืออะไร อ้วนไหม

content content %E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B8%9B%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99 06

วิธีที่ 7 การใช้ถุงยางอนามัย (ชาย)

ข้อดี

เป็นการคุมกำเนิดวิธีเดียวที่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ เช่น โรคหนองใน โรคซิฟิลิส โรคเอดส์

ประสิทธิภาพ

มีโอกาสตั้งครรภ์ 15%

วิธีอื่นๆ ในการคุมกำเนิดแบบชั่วคราว 

เป็นวิธีที่ไม่แนะนำ เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงในการตั้งครรภ์ ได้แก่ การหลั่งภายนอก และการนับวันปลอดภัย

การหลั่งภายนอก  

มีโอกาสตั้งครรภ์ 27%

การนับวันปลอดภัย

  • มีโอกาสตั้งครรภ์ 25%
  • วิธีการคือ นับหน้า 7 หลัง 7  (นับ 7 วันก่อนประจำเดือนมา และนับอีก 7 ตั้งแต่วันแรกที่มีประจำเดือนมา ซึ่งไม่ใช่เริ่มนับจากวันที่ประจำเดือนหมด)
  • วิธีนี้ไม่ควรใช้กับผู้ที่มีรอบเดือนไม่สม่ำเสมอ

การคุมกำเนิดแบบถาวร

การคุมกำเนิดแบบถาวร มี 2 วิธี ได้แก่ การทำหมันหญิง (ทำหมันเปียก และทำหมันแห้ง) และการทำหมันชาย

content content %E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B8%9B%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99 17

วิธีที่ 1 การทำหมันหญิง

การทำหมันหญิงแบ่งออกเป็น การทำหมันเปียก และการทำหมันแห้ง

การทำหมันเปียก (การทำหมันหลังคลอด)

วิธีทำ

ตัดท่อนำไข่ให้แยกออกจากกัน ทำให้อสุจิไม่สามารถเดินทางไปผสมกับไข่ได้

ประสิทธิภาพ

มีโอกาสตั้งครรภ์ 0.05%

ข้อดี

  • ทำง่ายกว่าหมันแห้ง เนื่องจากระดับของมดลูกอยู่สูงกว่า
  • แผลเล็กมาก โดยรอยแผลจะกรีดบริเวณใต้สะดือ ยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร
  • ไม่มีผลต่อฮอร์โมนเพศ ไม่ทำให้ความรู้สึกทางเพศ หรืออารมณ์เปลี่ยนแปลง
  • ไม่มีผลต่อน้ำหนักตัว

ข้อเสีย

  • เป็นการทำหมันถาวร ก่อนทำควรตัดสินใจให้รอบคอบ
  • แก้หมันยาก โอกาสแก้สำเร็จน้อยมาก

การทำหมันแห้ง

ประสิทธิภาพเหมือนกับการทำหมันเปียก แต่ทำยากกว่า

content content %E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B8%9B%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99 16

วิธีที่ 2 การทำหมันชาย

เป็นวิธีที่ง่าย ปลอดภัย และได้ผลดี

วิธีทำ

ไม่ต้องวางยาสลบ เพียงแค่ฉีดยาชา แล้วกรีดแผลผ่าตัดเล็กๆ ที่บริเวณถุงอัณฑะ จากนั้นตัดท่อนำอสุจิให้แยกออกจากกัน หลังผ่าตัดสามารถกลับบ้านได้ทันที

เมื่อท่อนำอสุจิถูกตัดแยกจากกัน จะทำให้อสุจิไม่สามารถหลั่งออกไปสู่ภายนอกได้ โดยหลังทำต้องคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นร่วมด้วยเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อรอให้เชื้ออสุจิหมดไป

ประสิทธิภาพ

มีโอกาสตั้งครรภ์ 0.03%

ข้อดี

  • ทำง่ายกว่าหมันหญิงมาก ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดน้อยกว่า
  • ฮอร์โมนเพศชายยังอยู่ครบถ้วน ไม่มีผลต่อความรู้สึกทางเพศ สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ

ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. พิสุทธิ์ พงษ์ชัยกุล

Scroll to Top