การฉีดยาคุมกำเนิด เป็นอีกวิธีคุมกำเนิดที่ได้รับความนิยมพอสมควร แต่เมื่อเทียบกับการกินยาคุมกำเนิดหรือการใส่ถุงยางอนามัย วิธีนี้ก็อาจยังไม่เป็นที่รู้จักในคู่รักบางคู่โดยเฉพาะวัยรุ่นหรือวัยทำงาน ที่มีข้อสงสัยมากมายเกี่ยวกับฉีดยาคุมแบบ 3 เดือน ทั้งผลข้างเคียง ข้อดี ข้อเสีย มีผลป้องกันตอนไหน ยังกลับมาท้องได้ไหม
มาเจาะลึกการฉีดยาคุมให้ทุกคนเข้าใจมากขึ้น เพื่อที่อาจจะเป็นอีกทางเลือกในการป้องกันโอกาสตั้งครรภ์ได้อีกรูปแบบหนึ่งที่มีผลป้องกันยาวนานและมีความปลอดภัยสูงกว่าหลายวิธี
สารบัญ
- ฉีดยาคุมกำเนิดคืออะไร?
- ยาคุมกำเนิดสำหรับฉีดมีกี่แบบ?
- ยาฉีดสำหรับคุมกำเนิดทำงานอย่างไร?
- ข้อดีของการฉีดยาคุมกำเนิด
- ข้อเสียของการฉีดยาคุมกำเนิด
- ใครเหมาะต่อการฉีดยาคุมกำเนิด ฉีดตอนไหน
- ใครไม่เหมาะต่อการฉีดยาคุมกำเนิด
- การเตรียมตัวก่อนฉีดยาคุมกำเนิด
- ขั้นตอนการฉีดยาคุมกำเนิด
- ข้อควรปฏิบัติหลังฉีดยาคุมกำเนิด
- ผลข้างเคียงของการฉีดยาคุมแบบ 1-3 เดือน
- หากหยุดฉีดยาคุมกำเนิดจะตั้งครรภ์ได้ตอนไหน
- ฉีดยาคุมกำเนิดต่อเนื่องนานๆ ได้ไหม?
ฉีดยาคุมกำเนิดคืออะไร?
การฉีดยาคุมกำเนิด (Injectable Contraceptive) คือ การป้องกันการตั้งครรภ์โดยฉีดยายับยั้งการตกไข่ รวมถึงทำให้ระบบสืบพันธุ์ในร่างกายเพศหญิงเป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนไหวของเชื้ออสุจิฝ่ายชาย ทำให้ยากต่อการเข้าปฏิสนธิกับไข่ได้สำเร็จ
ยาคุมกำเนิดสำหรับฉีดมีกี่แบบ?
ชนิดของยาคุมกำเนิดสำหรับฉีดแบ่งออกได้ 2 ชนิด ได้แก่
1. ยาคุมกำเนิดชนิดประกอบไปด้วยฮอร์โมนโปรเจสตินเพียงอย่างเดียว (Progestin – Only Injectable Contraceptives)
- ส่วนมากนิยมฉีดที่ผิวชั้นกล้ามเนื้อบริเวณต้นแขน สะโพก หน้าท้อง ต้นขา
- มีทั้งแบบฉีดยาคุมแบบ 2 เดือน (ทุก 8 สัปดาห์) และฉีดยาคุมแบบ 3 เดือน (ทุก 12 สัปดาห์)
- จุดเด่นของยาคุมชนิดนี้ คือ มีระยะเวลาออกฤทธิ์นาน ไม่ต้องกลับมาฉีดบ่อย หลายคนนิยมฉีดยาคุมแบบ 3 เดือนเพราะผลป้องกันนาน 12 สัปดาห์
- จุดด้อย คือ มีผลข้างเคียงพอสมควร มักจะทำให้ประจำเดือนมาผิดปกติ มาน้อย หรืออาจขาดหายไปเลยเป็นระยะเวลาหนึ่ง อาจทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการตั้งครรภ์โดยไม่รู้ตัวได้
2. ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม (Combined Injectable Contraceptives)
- ในตัวยาจะประกอบไปด้วยสารฮอร์โมนกลุ่มเอสโตรเจน (Estrogen) กับสารฮอร์โมนกลุ่มโปรเจสติน
- ความถี่ในการฉีดจะอยู่ที่ทุกๆ 1 เดือน
- ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมมีจุดเด่นตรงที่ไม่กระทบต่อการมาของประจำเดือน จึงช่วยลดความกังวลเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ลงไปได้
- มีจุดด้อย ตรงที่ต้องมาฉีดที่สถานพยาบาลอยู่เรื่อยๆ ทุก 1 เดือนจนกว่าจะเลิกคุมกำเนิด
ปัจจุบันมีหน่วยงานหลายแห่งลองผลิตยารูปแบบฉีดด้วยตัวเองออกมาจำหน่าย แต่ก็ยังคงมีการแนะนำให้ผู้ที่ต้องการคุมกำเนิดเดินทางมาฉีดยาคุมกับเจ้าหน้าที่ที่สถานพยาบาลจึงจะปลอดภัยที่สุด
ยาฉีดสำหรับคุมกำเนิดทำงานอย่างไร?
หลังจากฉีดยาคุมกำเนิดเข้าสู่กระแสเลือดแล้ว ตัวยาซึ่งประกอบไปด้วยสารฮอร์โมนสำคัญจะเข้าไปปรับสภาพอวัยวะสืบพันธุ์ที่เอื้ออำนวยต่อการตั้งครรภ์ ทำให้ยากต่อการปฏิสนธิระหว่างเชื้ออสุจิกับไข่ โดยการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นโดยหลักๆ หลังจากฉีดยาคุม จะได้แก่
- เพิ่มระดับการบีบตัวของท่อนำไข่และตัวมดลูก
- ทำให้สภาพโพรงมดลูกไม่พร้อมต่อการฝังตัวของตัวอ่อน หากเกิดการปฏิสนธิสำเร็จ
- ขัดขวางการเคลื่อนตัวของเชื้ออสุจิที่จะวิ่งไปผสมกับไข่ ผ่านการปรับความเหนียวข้นในสารมูก ซึ่งเป็นของเหลวที่ปากมดลูกให้ข้นหนืดขึ้น และทำให้เชื้ออสุจิวิ่งผ่านไปไม่ได้
- ลดระดับการทำงานและจำนวนต่อมผลิตสารคัดหลั่งในเยื่อบุโพรงมดลูก
- ทำให้ถุงน้ำคอร์ปัส ลูเทียม (Corpus Luteum) ซึ่งทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนให้พร้อมต่อการตั้งครรภ์ทำงานลดลง ทำให้มดลูกไม่พร้อมต่อการฝังตัวและเกิดการตั้งครรภ์ได้สำเร็จ
ข้อดีของการฉีดยาคุมกำเนิด
หากคุณกำลังเปรียบเทียบการฉีดยาคุมกำเนิดกับวิธีคุมกำเนิดวิธีอื่น การฉีดยาคุมกำเนิดมีข้อดีที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
- มีโอกาสตั้งครรภ์ต่ำมาก โดยมีความเสี่ยงที่จะคุมกำเนิดพลาดเพียง 0.2-0.3% เท่านั้น
- ไม่ต้องมาฉีดบ่อย ฉีดยาคุมมีผลป้องกันตั้งแต่ 1 เดือน ไปถึง 3 เดือน หลายคนนิยมฉีดยาคุมแบบ 3 เดือนเพื่อไม่ต้องคุมกำเนิดบ่อยๆ ไม่เปลืองค่ายาคุมกำเนิดและถุงยางอนามัย
- ใช้ได้แพร่หลายกับผู้หญิงแทบทุกคน มีข้อจำกัดค่อนข้างน้อย หญิงที่กำลังให้นมบุตรก็สามารถฉีดยาคุมกำเนิดได้เช่นกัน โดยตัวยาจะไม่รบกวนส่วนประกอบในน้ำนมแต่อย่างใด
- สามารถเผื่อเวลาในการฉีดออกไปได้ กรณีที่ไม่สะดวกไปฉีดตามนัดในทันที เพราะยาจะมีระยะเวลาในการออกฤทธิ์เหลื่อมกับการฉีดครั้งถัดไปประมาณ 2 สัปดาห์ เช่น ยาคุมแบบฉีดทุกๆ 8 สัปดาห์ แต่จริงๆ แล้วตัวยาจะออกฤทธิ์นาน 10 สัปดาห์ ซึ่งจะยังพอยืดระยะเวลาในการฉีดครั้งถัดไปออกไปได้อีก
- ลดโอกาสเกิดโรคประจำตัวหรืออาการผิดปกติร้ายแรง ในบางงานวิจัยเชื่อว่าการคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ลดโอกาสเกิดโรคร้ายบางอย่าง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน โรคมะเร็งรังไข่ โรคมะเร็งในเยื่อบุมดลูก ภาวะอักเสบในอุ้งเชิงกราน
- บรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือนได้ เพราะยาคุมกำเนิดแบบฉีดบางชนิดจะทำให้ประจำเดือนอาจมาช้ากว่าปกติ เหมาะกับคนไม่กังวลเรื่องประจำเดือนมาช้า
ข้อเสียของการฉีดยาคุมกำเนิด
ถึงแม้ยาคุมกำเนิดแบบฉีดจะขึ้นชื่อเรื่องความสะดวกสบาย ฉีดยาคุมแบบ 3 เดือนที่มีผลข้างเคียงน้อย ตั้งท้องภายหลังได้ แต่ก็ยังมีข้อเสียหลายประการที่คุณจำเป็นต้องรู้ เพื่อเปรียบเทียบความคุ้มค่าและความเหมาะสมในการไปใช้บริการ
- ทำให้ฮอร์โมนแปรปรวนจนเกิดอาการแสดงที่ไม่พึงประสงค์ เช่น รอยฝ้าบนผิวหน้า เป็นสิว ปวดศีรษะ ตึงคัดเต้านม อารมณ์แปรปรวน อารมณ์ทางเพศลดลง มวลกระดูกหนาแน่นน้อยลง น้ำหนักตัวเพิ่ม แต่อาการเหล่านี้มักจะบรรเทาลงเอง เมื่อคุณหยุดฉีดยาคุมกำเนิด
- อาจเจ็บเพราะฉีดเข้าเส้น เป็นการคุมกำเนิดผ่านการฉีดยาเข้าหลอดเลือด หากไม่ชินกับการถูกฉีดยาจะไม่ค่อยชอบวิธีนี้
- หากประจำเดือนมาช้าจะสร้างความกังวล เพราะฤทธิ์ยาโดยเฉพาะแบบฉีดยาคุมแบบ 2-3 เดือน จะทำให้ประจำเดือนมาผิดปกติ จึงอาจเกิดความรู้สึกหวาดระแวงได้บ้าง หรือต้องตรวจการตั้งครรภ์เพื่อความมั่นใจ
- ยาออกฤทธิ์ค่อนข้างนาน ผู้ที่เปลี่ยนใจอยากมีลูกขึ้นหลังฉีดยาคุมไปแล้วอาจต้องรอนานถึง 1 ปีจนกว่าร่างกายจะกลับมาพร้อมต่อการตั้งครรภ์ได้อีกครั้ง รวมถึงต้องอดทนต่ออาการไม่พึงประสงค์เป็นระยะเวลานาน ซึ่งอาจทำให้รู้สึกอัดอัดใจในระหว่างที่รอให้ยาหมดฤทธิ์ได้
- ไม่ลดโอกาสเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ หากคุณมีพฤติกรรมเปลี่ยนคู่นอนบ่อย หรือใช้บริการกับผู้ให้บริการทางเพศ ก็จำเป็นต้องใช้ถุงยางอนามัยอยู่
ใครเหมาะต่อการฉีดยาคุมกำเนิด ฉีดตอนไหน
การฉีดยาคุมกำเนิดเหมาะกับผู้หญิงแทบทุกคนที่ต้องการคุมกำเนิด แต่จะมีความพิเศษที่เหมาะสมยิ่งกว่าในกลุ่มผู้หญิงดังต่อไปนี้
- ผู้หญิงที่มีบุตรแล้วและต้องการคุมกำเนิด เนื่องจากหากต้องการมีบุตรหลังฉีด อาจต้องรอนานเป็นหลักปีจึงจะกลับมาตั้งครรภ์ได้อีกครั้ง
- ผู้หญิงที่ไม่สะดวก หรือมีโอกาสลืมกินกินยาคุมแบบเม็ด หรือลืมการคุมกำเนิดแบบอื่นๆ ก่อนมีเพศสัมพันธ์
- ผู้หญิงที่ต้องการคุมกำเนิดแบบระยะยาว
- ผู้หญิงที่ไม่ต้องการให้ยาคุมกำเนิดมีกระทบต่อการมีเพศสัมพันธ์
- ในกรณีที่เพิ่งแท้งบุตร และต้องการฉีดยาคุมกำเนิด สามารถฉีดได้ภายใน 5 วันหลังแท้ง
ใครไม่เหมาะต่อการฉีดยาคุมกำเนิด
เงื่อนไขการฉีดยาคุมกำเนิดอาจไม่เหมาะต่อกลุ่มผู้เข้ารับบริการบางท่าน รวมถึงผู้ทีมีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น
- หญิงตั้งครรภ์ หรือที่มีความเสี่ยงจะเกิดการตั้งครรภ์ ต้องตรวจครรภ์ในแน่ใจก่อนฉีดยา
- ผู้ที่มีภาวะเลือดออกทางช่องคลอด หรือทางเดินปัสสาวะ
- ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านม
- ผู้ป่วยโรคตับ
- ผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับลิ่มเลือด โรคเกี่ยวกับระบบไหลเวียนเลือด
- ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
- ผู้ที่กลัวหรือไม่ชอบการใช้เข็มฉีดยา อาจรู้สึกไม่สบายใจในการไปใช้บริการได้
- ผู้ที่ต้องการตั้งท้องภายในปีนั้น เพราะผลของฉีดยาคุมแบบ 3 เดือน อาจทำให้ร่างกายไม่พร้อมตั้งครรภ์ 6-12 สัปดาห์
หากคุณ คือ กลุ่มผู้ที่เคยหรือกำลังเผชิญโรคเหล่านี้ ให้แจ้งประวัติด้านสุขภาพและปรึกษากับแพทย์โดยตรงก่อนตัดสินใจรับบริการ มิฉะนั้นฤทธิ์ของยาอาจมีผลข้างเคียงไปกระตุ้นอาการของโรคให้รุนแรงกว่าเดิมได้
การเตรียมตัวก่อนฉีดยาคุมกำเนิด
เพื่อให้ยาคุมกำเนิดออกฤทธิ์ได้สูงสุด ลดผลข้างเคียง และไม่กระทบต่อสุขภาพ คุณควรตรวจเช็กร่างกายให้พร้อมเสียก่อน
- ตรวจครรภ์ให้แน่ใจเสียก่อน เพื่อความมั่นใจว่า ไม่ได้ตั้งครรภ์ก่อนฉีดยาคุมกำเนิด
- ตรวจเช็กรอบประจำเดือน เพราะวันที่เหมาะสมที่สุดในการฉีดยาคุมกำเนิด คือ 5 วันแรกของการมีประจำเดือน
- หากต้องการฉีดยาคุมกำเนิดนอกเหนือจากวันที่ 1-5 ของการมีประจำเดือน ให้งดมีเพศสัมพันธ์ 7 วันแรกก่อนฉีดยาคุม หรือหากต้องการมีเพศสัมพันธ์จริงๆ ให้คุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมด้วย เช่น สวมถุงยางอนามัย
- ในกรณีที่กำลังจะคลอดบุตรในไม่ช้า สามารถฉีดยาคุมกำเนิดได้ทันทีหรือภายใน 21 วันหลังคลอดบุตร โดยอาจประสานงานกับแพทย์หรือโรงพยาบาลไว้ล่วงหน้าก่อน
- ตรวจสุขภาพเพื่อหาความเสี่ยงโรคประจำตัวอื่นๆ ที่คุณอาจไม่รู้เสียก่อน
- ปรึกษาแพทย์เพิ่มเติมเกี่ยวกับการงดยาประจำตัว วิตามินเสริม สมุนไพรเสริมสุขภาพ รวมถึงแจ้งประวัติด้านสุขภาพอย่างละเอียดก่อนฉีดยาด้วย
ขั้นตอนการฉีดยาคุมกำเนิด
ขั้นตอนการฉีดยาคุมกำเนิดไม่มีอะไรซับซ้อน แทบไม่ต่างจากการฉีดวัคซีนทั่วไป โดยแพทย์จะทำความสะอาดผิวบริเวณที่ฉีด จากนั้นก็จะใช้เข็มบรรจุยาคุมกำเนิดฉีดลงไปที่กล้ามเนื้อ ซึ่งอาจเป็นบริเวณต้นแขน หน้าท้อง ต้นขา หรือสะโพก ขึ้นอยู่กับการประเมินความเหมาะสมของแพทย์ผู้ฉีดอีกครั้ง
ข้อควรปฏิบัติหลังฉีดยาคุมกำเนิด
ถึงแม้ฉีดยาคุมกำเนิดไปแล้ว แต่ก็ยังต้องมีข้อปฏิบัติบางอย่างที่คุณควรทำตาม เพื่อลดโอกาสการตั้งครรภ์ที่ยังมีอยู่เล็กน้อย
- 7 วันแรกหลังฉีดยาคุมกำเนิด ควรงดมีเพศสัมพันธ์ไปก่อน (มีผลการป้องกันทันทีที่ฉีด แต่ยังไม่เต็มที่ ควรรอให้ครบสัปดาห์)
- หากมีเพศสัมพันธ์โดยยังมีการป้องกันวิธีอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น การสวมถุงยางอนามัย
- งดการนวด กด คลึงผิวบริเวณที่ฉีดยาคุมกำเนิด เพราะจะไปกระตุ้นทำให้ยาดูดซึมเร็วเกินไป และหมดฤทธิ์เร็วเกินกว่าที่วางแผนเอาไว้ได้
- บันทึกและเตรียมแจ้งเตือนนัดฉีดยาคุมกำเนิดครั้งต่อไปให้รอบคอบ โดยอาจบันทึกไว้ทั้งในโทรศัพท์มือถือและบนปฏิธิน
ผลข้างเคียงของการฉีดยาคุมแบบ 1-3 เดือน
ฉีดยาคุมแบบ 3 เดือนและแบบ 2 เดือน มีผลต่อฮอร์โมนในร่างกาย อาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น
- การเกิดฝ้าหนาบนผิว เป็นสิว
- อารมณ์แปรปรวน
- น้ำหนักตัวเพิ่ม
- ตึงคัดเต้านม
ผู้ที่ฉีดยาคุมกำเนิดยังอาจเผชิญอาการข้างเคียงอื่นๆ จากการใช้ยาได้อีก เช่น
- ปวดท้อง
- เวียนศีรษะ
- รู้สึกวิตกกัวล ซึมเศร้า
- ผมร่วง หรืออาจเกิดปัญหาขนขึ้นมากผิดปกติ
- อ่อนเพลียง่าย
- ไม่ค่อยมีแรง
- อยากอาหารมากขึ้น
หากรู้สึกไม่สบายใจ หรืออาการรุนแรงจนกระทบการใช้ชีวิตประจำวัน ให้กลับไปพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษา อาจลองใช้ ฉีดยาคุมแบบ 1 เดือน (ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม) เพื่อให้ผลข้างเคียงลดลง หรือเลือกใช้การคุมกำเนิดแบบอื่น
หากหยุดฉีดยาคุมกำเนิดจะตั้งครรภ์ได้ตอนไหน
- ฉีดยาคุมแบบ 2 เดือน ระยะเวลาในการกลับมาตั้งครรภ์ก็มักจะเทียบเท่ากับการหยุดยาคุมแบบกิน ซึ่งจะอยู่ที่ประมาณ 3-4 เดือนหลังหยุดยา
- ฉีดยาคุมแบบ 3 เดือน เมื่อคุณหยุดฉีดยา คุณจะสามารถกลับมาตั้งครรภ์ได้อีกครั้งในอีก 6-12 เดือนหลังหยุดยา หรืออาจนานกว่านั้น ขึ้นอยู่กับการตองสนองของร่างกายที่มีต่อสารยา
ฉีดยาคุมกำเนิดต่อเนื่องนานๆ ได้ไหม?
คุณสามารถใช้ยาคุมกำเนิดแบบฉีดในระยะยาวได้ แต่ก็ควรตรวจเช็กประสิทธิภาพของร่างกายที่ตอบสนองต่อฤทธิ์ยาทุกๆ 2 ปี เพื่อให้แน่ใจถึงคุณภาพของยาที่ยังเข้าไปป้องกันโอกาสเกิดการตั้งครรภ์ได้ดีอยู่ รวมถึงตรวจเช็กโอกาสเกิดอาการไม่พึงประสงค์อื่นๆ ที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในภายหลัง