สุขภาพกระดูกและข้อเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรใส่ใจอยู่เสมอ ตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นไปจนสูงอายุ เพราะหากดูแลไม่ดีก็อาจเสี่ยงปัญหากระดูกและข้อ จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตตามมา โดยเฉพาะโรคกระดูกและข้อยอดฮิตที่เราคัดมาฝากกันในบทความนี้
สารบัญ
โรคกระดูกและข้อที่ควรระวัง
โรคกระดูกและข้อส่วนใหญ่มาพร้อมกับความเสื่อมของร่างกายตามช่วงวัยที่มากขึ้น หรืออาจเป็นผลมาจากการปัญหาสุขภาพที่เราควบคุมไม่ได้ โดยโรคที่มักพบได้บ่อยมีดังนี้
1. กระดูกหัก (Bone fracture)
กระดูกหักมักเป็นผลมาจากอุบัติเหตุที่มีแรงกระทำกับกระดูกมากเกินไป จนกระดูกเกิดรอยร้าวหรือหักออกจากกัน ยิ่งคนที่มีความหนาแน่นของกระดูกน้อย จะยิ่งเกิดกระดูกหักได้ง่ายขึ้น
แม้จะเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่กลุ่มผู้สูงอายุที่มีกระดูกอ่อนแอหรือเสื่อมไปตามเวลา จะพบปัญหานี้ได้บ่อยกว่า รุนแรงกว่า ฟื้นฟูได้ยากกว่า และเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนได้สูงกว่า
คนที่กระดูกหักมักเผชิญกับอาการปวด บวมช้ำ แขนขาผิดรูป เคลื่อนไหวอวัยวะที่บาดเจ็บไม่ได้ บางกรณีอาจมีกระดูกทิ่มออกมาจากผิวหนัง โดยทั่วไปสามารถรักษาด้วยการเข้าเฝือก หรือการผ่าตัด ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการและดุลยพินิจของแพทย์
2. โรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis)
ข้อเสื่อมเป็นความเสื่อมสลายหรือการถูกทำลายของกระดูกผิวข้อที่พบได้ในคนทุกเพศทุกวัย คาดว่ามาจากปัจจัยบางประการ เช่น น้ำหนักตัวมาก การใช้ข้อต่อรับน้ำหนักมากจนเกินไป อย่างยกของหนัก นั่งคุกเข่า หรือพับเพียบ อายุที่มากขึ้น หรือพันธุกรรม
ข้อเสื่อมจะส่งผลให้เนื้อกระดูกชนหรือเสียดสีกันขณะรับน้ำหนัก เกิดน้ำสะสมในข้อมากขึ้น กระดูกงอผิดปกติ รวมถึงกล้ามเนื้อและเอ็นรอบข้อหย่อน โดยมักเกิดบ่อยตรงบริเวณข้อเข่า ข้อสะโพก และข้อต่อกระดูกสันหลัง
ผู้ป่วยมักมีอาการปวด บวม ตึงตามข้อต่อ มีปัญหาการทรงตัวหรือเคลื่อนไหวร่างกายลำบาก ข้อต่อผิดรูป และอาจเสี่ยงเดินไม่ได้ ซึ่งการใช้ยารักษา การทำกายภาพบำบัด การผ่าตัด ร่วมกับการดูแลตัวเองอย่างถูกวิธี จะบรรเทาอาการของโรคได้
3. โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis)
ความหนาแน่นของมวลกระดูกที่ลดลงอย่างรวดเร็วตามอายุ เป็นผลให้เกิดภาวะกระดูกพรุน มักพบได้มากในกลุ่มผู้หญิงอายุ 50 ปีขึ้นไป หรือคนที่มีปัจจัยเสี่ยงของโรค เช่น
- อยู่ในวัยหมดประจำเดือน หรือผ่าตัดรังไข่ออกทั้ง 2 ข้าง ทำให้ไม่มีประจำเดือน
- เคยกระดูกหักมาก่อน
- มีประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นกระดูกพรุน
- มีโรคประจำตัวบางโรค เช่น ปัญหาฮอร์โมน โรคต่อมไทรอยด์ โรคข้อ หรือภาวะการกินผิดปกติ
- คนที่ใช้ยาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะยาสเตียรอยด์ ยารักษามะเร็ง หรือยากันชัก
- คนที่ขาดสารอาหารอย่างแคลเซียมและวิตามินดี ไม่ออกกำลังกาย สูบบุหรี่ และดื่มสุรา
ผู้ป่วยกระดูกพรุนมักไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ จนกว่าจะเกิดอุบัติเหตุ กระแทก หรือหกล้ม ทำให้กระดูกแตกหักง่าย นำไปสู่อาการปวดบริเวณกระดูกหัก เคลื่อนไหวลำบาก เสี่ยงอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือรุนแรงถึงพิการได้เลย
4. โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)
ข้ออักเสบรูมาตอยด์เป็นหนึ่งในโรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเองชนิดเรื้อรัง ซึ่งภูมิคุ้มกันจะไปทำลายเนื้อเยื่อรอบข้อต่อจนเกิดการอักเสบตามมา และยังอาจทำลายข้อต่อ กระดูกอ่อนและกระดูกส่วนอื่น ๆ ได้ด้วย
นานวันเข้าก็อาจเสี่ยงข้อต่อผิดรูปหรือพิการได้ ข้ออักเสบรูมาตอยด์อาจเป็นผลจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น การติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียในร่างกาย กรรมพันธุ์ อายุที่มากขึ้น เพศหญิง หรือการสูบบุหรี่
ผู้ป่วยจะมีอาการต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความรุนแรง แต่มักพบอาการฝืด ปวด บวม และอักเสบบริเวณข้อต่อ อย่างนิ้วมือ ข้อมือ เข่า ข้อเท้า และนิ้วเท้า ร่วมกับอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า และมีไข้ เบื้องต้นบรรเทาได้ด้วยการดูแลตัวเอง การใช้ยา และการผ่าตัด
โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ยังส่งผลให้ความหนาแน่นของมวลกระดูกลดลง ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุนและปัญหากระดูกหักด้วย
การตรวจสุขภาพกระดูก ช่วยลดความเสี่ยงโรคกระดูกและข้อ
การตรวจสุขภาพของกระดูกจะบอกถึงความแข็งแรงของกระดูกในปัจจุบันของเราว่าปกติดีไหม ทำให้เราวางแผนดูแลสุขภาพตัวเอง และสุขภาพของกระดูกได้อย่างเหมาะสม สามารถทำได้หลายวิธี เช่น
- การตรวจร่างกายภายนอก เพื่อดูลักษณะร่างกายหรือกระดูกที่อาจเปลี่ยนแปลงไปจนเห็นได้ชัด เช่น หลังค่อม หลังโก่ง หรือตัวเตี้ยลง ส่วนใหญ่จะใช้ได้กับผู้ป่วยที่รุนแรงแล้ว
- การเอกซเรย์กระดูก (Bone x-ray) เป็นการเอกซเรย์ เพื่อดูสภาพหรือความผิดปกติของกระดูกส่วนต่าง ๆ โพรงกระดูก ลายกระดูก รวมถึงรอยร้าวของกระดูก แต่อาจไม่มีเพียงพอที่จะบอกถึงความรุนแรงโรคได้
- การตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูก (DEXA Scan) เป็นเครื่องมือที่ใช้รังสีเอกซ์พลังงานต่ำตรวจวัดความหนาแน่นของมวลกระดูก มีประสิทธิภาพสูง ปลอดภัย และแม่นยำ ส่วนมากจะเน้นตรวจกระดูกสะโพก กระดูกสันหลัง กระดูกข้อมือ ซึ่งเป็นส่วนที่แตกหักบ่อย และเกิดกระดูกพรุนได้มาก
แพทย์มักแนะนำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคกระดูกและข้อเข้ารับการตรวจสุขภาพกระดูก และตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูก โดยเฉพาะหญิงอายุ 65 ปีขึ้นไป และชายอายุ 70 ปีขึ้นไป
รวมถึงกลุ่มคนที่มีปัจจัยเสี่ยงทำให้มวลกระดูกลดลง เช่น ไม่มีประจำเดือนและอายุต่ำกว่า 65 ปี มีประวัติกระดูกหัก เปราะบาง และหักง่าย มีคนในครอบครัวเป็นโรคกระดูกและข้อ มีโรคประจำตัวที่ส่งผลต่อการสูญเสียมวลกระดูก ใช้ยารักษากระดูกพรุน หรือสูบบุหรี่จัด
ดูแลสุขภาพกระดูกให้แข็งแรง ทำได้อย่างไร
โรคกระดูกและข้อส่วนใหญ่ยากต่อการป้องกัน เนื่องจากปัจจัยทางด้านอายุ และสภาพร่างกายที่เสื่อมถอยตามธรรมชาติ แต่ถ้าเราดูแลสุขภาพกระดูกและข้อให้แข็งแรงอยู่เสมอ ก็จะช่วยชะลอหรือลดความเสี่ยงในอนาคตได้ เช่น
- หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ โดยให้เลือกกิจกรรมหรือการออกกำลังที่ช่วยเสริมความแข็งแรงของกระดูก ข้อต่อ และกล้ามเนื้อ การทรงตัว และความยืดหยุ่น อย่างว่ายน้ำ เดิน หรือเต้นแอโรบิค แต่ควรหลีกเลี่ยงกีฬาที่มีกระแทก หรือเล่นด้วยความระมัดระวัง เพราะเสี่ยงต่อกระดูกหักได้ง่าย
- ทานอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียมและวิตามินดี เช่น นม ชีส โยเกิร์ต ไข่ และผักใบเขียว โดยหญิงวัยหมดประจำเดือนและชายอายุ 70 ปีขึ้นไปควรได้รับแคลเซียมวันละ 1,200 มิลลิกรัม และชายหญิงอายุ 70 ปีขึ้น ควรได้รับวิตามินดีวันละ 800 IU
- เลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มคาเฟอีน น้ำอัดลม
- เลิกบุหรี่ถาวร
โรคกระดูกและข้อยังมีอีกมาก แต่หากเราหมั่นดูแลตัวเองอย่างถูกวิธีตั้งแต่อายุยังน้อย และตรวจมวลกระดูกตั้งแต่เนิ่น ๆ เมื่อใกล้ถึงอายุเกณฑ์เสี่ยง จะช่วยลดความเสี่ยงจากปัญหาสุขภาพเหล่านี้ และช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ โดยเฉพาะในบั้นปลาย
โรคกระดูกและข้ออาจจะป้องกันไม่ได้ แต่ชะลอได้ แถมตรวจคัดกรองได้ด้วยนะ HDmall.co.th มีครบทุกแพ็กเกจ โปรตรวจคัดกรองกระดูกและข้อ ราคาดี ๆ หาที่อื่นไม่ได้นะ!