รักษาโรคไข้หวัดในเด็ก

รักษาโรคไข้หวัดในเด็ก ไม่ต้องกินยาก็หายได้

เด็ก คือ ช่วงวัยที่ภูมิต้านทานในร่างกายยังไม่แข็งแรงเท่ากับวัยผู้ใหญ่ จึงง่ายต่อการเป็นโรคไข้หวัด และมักมีอาการรุนแรงกว่าผู้ใหญ่ด้วย โดยเฉพาะในผู้ป่วยเด็กเล็กที่ยังมีพัฒนาการภูมิคุ้มกันไม่เต็มที่

นอกจากนี้ด้วยพฤติกรรมของเด็กที่ยังไม่รู้จักวิธีรักษาสุขอนามัยได้ดีพอ หรือวิธีป้องกันโรค จึงง่ายต่อการติดเชื้อโดยเฉพาะจากการเล่น การสัมผัสร่างกายกับเพื่อน การใช้ผ้าเช็ดหน้า หรือช้อน ส้อม แก้วน้ำร่วมกับผู้อื่น

ประเภทของโรคไข้หวัดในเด็ก

  • โรคไข้หวัดธรรมดา เด็กจะมีอาการไข้ต่ำ หรืออาจไม่มีไข้เลย แต่จะมีน้ำมูก ไอ เจ็บคอ และจาม ส่วนมากอาการของโรคไข้หวัดประเภทนี้มักจะหายได้ภายใน 1 สัปดาห์
  • โรคไข้หวัดใหญ่ เด็กจะมีไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย ไม่มีแรงมาก รวมกับมีอาการไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ และอาจมีอาการหนาวสั่นร่วมด้วย

นอกจากนี้ยังมีอีกโรคที่มักมีอการข้างเคียงกับโรคไข้หวัดทั้ง 2 ชนิด คือ โรคไข้เลือดออก ซึ่งผู้ปกครองต้องสังเกต และแยกอาการของโรคนี้ให้ออก โดยอาการไข้เลือดออกในเด็กมักจะมีอาการหน้าแดง ตาแดง มีไข้สูงอย่างเดียว แต่ไม่มีน้ำมูก

วิธีรักษาอาการไข้หวัดในเด็ก

การรักษาอาการไข้หวัดในเด็กไม่ได้แตกต่างไปจากการรักษาอาการไข้หวัดในผู้ป่วยวัยอื่น เพียงแต่อาจต้องระมัดระวังเรื่องการรับประทานยาบางชนิดเท่านั้น

ในช่วงแรกเมื่อเด็กเกิดอาการคล้ายกับเป็นไข้หวัด ผู้ปกครองสามารถปฐมพย้ครูาบาลให้เด็กด้วยตนเองก่อนได้ ไม่จำเป็นต้องรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลในทันที เด็กก็สามารถอาการดีขึ้นได้เอง เช่น

  • ให้ดื่มน้ำอุ่น หรือจิบน้ำอุ่นอย่างสม่ำเสมอ
  • หากมีอาการไอมากๆ อาจลองชงน้ำมะนาวผสมน้ำผึ้งให้ดื่ม
  • เช็ดตัว หรืออาบน้ำด้วยน้ำอุ่นหากมีไข้ และจ่ายยาลดไข้ไปตามอาการ และต้องคำนึงถึงน้ำหนักตัวเด็กด้วย เช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetamol)
  • เช็ดจมูกด้วยน้ำเกลือ โดยอาจใช้ก้านสำลีชุบน้ำเกลือแล้วล้างรูจมูกเพื่อให้หายใจได้สะดวกขึ้น
  • ให้สวมเสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี และเพื่อให้เด็กสบายตัวในระหว่างนอนพัก
  • อย่าปล่อยให้อยู่ในที่อุณหภูมิเย็นๆ เช่น ห้องแอร์ แต่ควรให้เด็กพักผ่อนในที่อากาศอบอุ่น และถ่ายเท เพื่อลดอาการคัดจมูกจนหายใจลำบาก
  • ลองใช้แผ่นเจลลดไข้ประคบหน้าผากให้เด็ก ซึ่งแผ่นเจลยังช่วยให้เด็กคลายอาการปวดหัวที่อาจเกิดขึ้นได้ด้วย
  • ให้รับประทานอาหารย่อยง่ายๆ เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด รสเผ็ด
  • หากมีอาการเบื่ออาหาร ให้ลองดื่มน้ำหวาน หรือน้ำผลไม้ที่เพิ่มมีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น น้ำส้ม น้ำฝรั่ง
  • ให้พักผ่อนให้เพียงพอ อย่าให้นอนดึก

แต่หากดูแลด้วยวิธีเหล่านี้แล้ว แต่ลูกของคุณยังอาการไม่ดีขึ้นร่วมกับมีอาการต่อไปนี้ ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์ทันที

  • มีอาการหอบ หายใจถี่เร็วขึ้น
  • เจ็บหน้าอก
  • ผื่นขึ้นตามตัว
  • ปวดหู หูอื้อ
  • มีน้ำมูกข้นเป็นสีเขียว หรือสีเหลืองตลอดทั้งวัน
  • มีไข้นานเกิน 1 สัปดาห์
  • มีน้ำหูหนวกไหลออกมา
  • หายใจมีกลิ่นแรงผิดปกติ
  • ปวดหัวอย่างรุนแรง

เพราะอาการที่กล่าวไปข้างต้นอาจไม่ได้เป็นอาการของไข้หวัด เป็นสัญญาณของโรคอื่นที่ร้ายแรงขึ้น เช่น ภาวะต่อมทอนซิลอักเสบ โรคปอดอักเสบ โรคหูอักเสบ หรือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอื่นๆ

ยารักษาโรคไข้หวัดในเด็ก

หากอาการเด็กไม่ดีขึ้นหลังจากปฐมพยาบาลเบื้องต้น แพทย์อาจมีการสั่งจ่ายยามาให้เด็กรับประทานประกอบกับการดูแลร่างกายให้ฟื้นฟูดีขึ้น เช่น

  • ยาพาราเซตามอล ซึ่งเป็นยาลดไข้สำหรับผู้ป่วยโรคไข้หวัดทุกวัย หรือยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen)
  • ยาลดน้ำมูก เช่น ยาฟีนิลเอฟรีน (Phenylephrine) ยาพีซูโดเอฟีดรีน (Pseudoephedrine)
  • ยาแก้ไอ เช่น ยาอะเซทิลซิสเทอีน (Acetylcysteine) ยาคาร์โบซิสเทอีน (Carbocysteine)

แต่ส่วนมาก แพทย์มักจะให้เด็กบรรเทาอาการไข้หวัดด้วยการจิบน้ำอุ่น ล้างจมูก หรือเช็ดตัว เพื่อลดไข้มากกว่า เพราะส่วนมากยารักษาโรคไข้หวัดมักไม่สามารถใช้ในเด็กเล็กได้ โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปีลงไป

ยาที่ควรระมัดระวังในเด็ก

  • ยาแก้แพ้ หรือยาต้านฮิสตามีนที่มักใช้รักษาโรคไข้หวัด มักไม่นิยมใช้รักษาอาการไข้หวัดในเด็ก เพราะอาจทำให้เด็กง่วงซึม เบื่ออาหาร เสมหะเหนียวข้นกว่าเดิม
  • ยาเช็ดจมูกสำหรับบุบอาการบวมในจมูกก็ไม่นิยมใช้ในเด็กเช่นเดียวกัน เพราะอาจทำให้เยื่อบุจมูกเด็กอักเสบ และบวมกว่าเดิมได้ หรือหากต้องการใช้ ก็ไม่ควรใช้เกิน 3 วัน
  • ยาทาบริเวณหน้าอก หรือโพรงจมูก เช่น ยายูคาลิปตัส ก็ไม่ควรใช้ในผู้ป่วยเด็กเช่นกัน เพราะเสี่ยงทำให้เกิดอาการระคายเคืองในเยื่อบุจมูกได้

หากคุณรู้จักวิธีดูแลเด็กอย่างเหมาะสมในขณะที่เขาป่วยเป็นโรคไข้หวัด เด็กก็สามารถหายจากโรคนี้ได้โดยไม่จำเป็นต้องรับประทานยามากมาย แต่หากไม่มั่นใจควรพาเด็กไปพบแพทย์ เพื่อให้วินิจฉัยอาการ และขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการรักษาอย่างถูกต้อง

นอกจากนี้คุณยังควรให้เด็กๆ ในความดูแลรับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคนี้ให้น้อยลง ซึ่งเด็กสามารถไปรับวัคซีนนี้ได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือน


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. พิสุทธิ์ พงษ์ชัยกุล

Scroll to Top