อาการจาม คัดจมูก น้ำมูกไหล คันตา เป็นผื่นแดง คัน ฯลฯ อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า คุณกำลังแพ้อะไรสักอย่าง แน่นอนว่า วิธีรักษาและป้องกันโรคภูมิแพ้ที่ดีที่สุดคือ “การหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้” แต่ปัญหาสำคัญคือ หลายคนไม่รู้ว่า อาการแพ้ที่ตัวเองเป็นบ่อยๆ นั้นเกิดจากอะไรกันแน่ หากต้องการทราบสาเหตุการแพ้ที่แน่ชัดก็ควรเข้ารับ “การตรวจภูมิแพ้” หรือ “การทดสอบภูมิแพ้” เพื่อที่จะป้องกันอาการแพ้ได้อย่างตรงจุด
สารบัญ
สาเหตุของการเกิดโรคภูมิแพ้
“โรคภูมิแพ้” เป็นโรคที่สามารถพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น แพ้ยา แพ้อาหาร แพ้อากาศ แพ้ฝุ่น หรือแพ้การสัมผัสสารต่างๆ โดยอาการแพ้ไรฝุ่นเป็นสาเหตุหลักของการแพ้มากถึง 70-80% ของคนทั่วไป
แต่ไม่ว่าจะแพ้อะไรก็ล้วนเกิดจากกลไกเดียวกันทั้งสิ้นคือ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเข้าใจว่า สารก่อภูมิแพ้นั้นๆ เป็นอันตรายจึงปล่อยสารฮีสตามีนออกมาเพื่อต่อต้าน และทำให้เกิดอาการแพ้ตามมานั่นเอง
ชนิดของสารก่อภูมิแพ้
“สารก่อภูมิแพ้” แบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ดังต่อไปนี้
1. สารก่อภูมิแพ้ที่เข้าสู่ร่างกายโดยการสูดดม
ตัวอย่างสารก่อภูมิแพ้ เช่น เกสรดอกไม้ ไรฝุ่น รังแคสัตว์
เมื่อร่างกายสูดดมสารก่อภูมิแพ้เหล่านี้เข้าไป มักจะทำให้มีอาการคัดจมูก คันจมูก น้ำมูกไหล จามบ่อย คันตา และมีเสมหะไหลลงคอ ส่วนมากมักจะมีอาการแบบเป็นๆ หายๆ
2. สารก่อภูมิแพ้จากอาหารที่รับประทาน
ตัวอย่างสารก่อภูมิแพ้ในอาหารที่พบมาก เช่น อาหารทะเล ถั่ว นมวัว นมถั่วเหลือง หรือไข่
อาการแพ้อาหารจะสังเกตได้จากอาการชา หรือคันที่ปาก หู คอ หรือดวงตา มีผื่นคล้ายลมพิษ บวมตามใบหน้า ปาก ลิ้น คอ กลืนอาหารลำบาก หายใจติดขัด เวียนศีรษะ อาเจียน หากแพ้รุนแรงอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
แต่บางคนก็มี “อาการภูมิแพ้อาหารแฝง (Food Intolerance)” ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถย่อยอาหารบางอย่างได้ตามปกติทำให้มักเกิดอาการปวดท้อง ท้องอืด ท้องเสียตามมา ซึ่งอาจสับสนกับการแพ้สารก่อภูมิแพ้จากอาหาร (Food allergy) จริงๆ ได้
ล่าสุดบางโรงพยาบาล หรือบางสถานพยาบาล ก็มีบริการตรวจภูมิแพ้อาหารแฝงให้บริการแล้ว ผลการตรวจน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัยของแพทย์ได้ รวมทั้งเป็นประโยชน์ต่อผู้ตรวจโดยตรง เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดอาการแพ้นั่นเอง
3. สารก่อภูมิแพ้ที่สัมผัสผิวหนัง
ตัวอย่างสารก่อภูมิแพ้ เช่น น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผงซักฟอก ผลิตภัณฑ์สำหรับผิว ยางจากผักผลไม้ หรือต้นไม้
ผู้ป่วยจะมีอาการคัน เกิดตุ่มนูนลมพิษ หรือมีผื่นขึ้นตามผิวหนัง โดยเฉพาะบริเวณที่สัมผัสสารก่อภูมิแพ้
ความสำคัญของการตรวจภูมิแพ้
แม้ว่า ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้หลายคนจะสามารถปรับตัว และเรียนรู้การใช้ชีวิตร่วมกับอาการแพ้ที่เกิดขึ้นได้ หรือบางคนต้องรับประทานยาแก้แพ้เป็นประจำ แต่ “การตรวจภูมิแพ้” ก็ยังเป็นสิ่งสำคัญ
การตรวจภูมิแพ้จะทำให้ทราบว่า สารก่อภูมิแพ้สำหรับตัวคุณคืออะไรกันแน่ อีกทั้งยังสามารถวัดระดับความรุนแรงของการแพ้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการแพ้อย่างรุนแรง หรือการแพ้แฝง เพื่อที่จะได้สามารถหลีกเลี่ยงสารนั้น หรือระมัดระวังสารก่อภูมิแพ้นั้นๆ ได้
นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิแพ้ยังสามารถให้คำแนะนำแก่คุณได้ ซึ่งอาจช่วยให้คุณใช้ชีวิตได้ปกติเกือบเทียบเท่าคนที่ไม่เป็นโรคภูมิแพ้เลยทีเดียว
การเตรียมตัวก่อนตรวจภูมิแพ้
- แจ้งให้แพทย์ทราบถึงยา อาหารเสริม วิตามิน และสมุนไพรชนิดใดๆ ที่กำลังใช้อยู่ก่อนเข้ารับการตรวจ เพราะยาบางตัวอาจทำให้ผลการทดสอบคลาดเคลื่อนได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง ที่กำลังใช้ยารักษาโรคดังกล่าวอยู่
- งดรับประทานยาแก้แพ้ แก้คัน และยาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ ทั้งยาที่แพทย์สั่ง และยาที่หาซื้อมาใช้เอง เป็นเวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์ก่อนเข้ารับการทดสอบ แต่หากจำเป็นต้องใช้ยาควรปรึกษาแพทย์ก่อนว่า “จะสามารถใช้ได้หรือไม่”
- งดรับประทานยาแก้หวัด แก้ไอ
- ยาพ่นต่างๆ เช่น ยาพ่นจมูก ยาพ่นสูด สามารถใช้ได้ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องงด
- ไม่จำเป็นต้องงดน้ำและอาหารก่อนตรวจ
- ควรพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อเตรียมพร้อมร่างกายก่อนเข้ารับการตรวจ ไม่ควรป่วย หรือมีไข้
วิธีการตรวจภูมิแพ้
ในเบื้องต้นแพทย์จะสอบถามข้อมูลทั่วไปกับผู้ป่วย เช่น
- สอบถามถึงอาการที่เข้าข่ายภูมิแพ้
- ซักประวัติสุขภาพ โรคประจำตัว และพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคุณ เพื่อประเมินว่า อาการภูมิแพ้น่าจะเกิดขึ้นจากอะไร เพราะภูมิแพ้บางชนิดมีความสัมพันธ์กับโรคอื่นๆ เช่น หอบหืด
- ซักประวัติสุขภาพของคนในครอบครัว เพราะโรคภูมิแพ้นั้นสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้
หลังจากซักประวัติ ขั้นตอนต่อไปคือ การตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาสารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ มีวิธีดังต่อไปนี้
1. การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Allergy skin test)
เป็นการนำ “น้ำยา” ที่สกัดจากสารก่อภูมิแพ้ต่างๆ ในอากาศ เช่น ฝุ่นบ้าน ไรฝุ่น แมลงสาบ รังแค สัตว์เลี้ยง เกสร หญ้า พืช เรื้อรา และสารก่อภูมิแพ้จากอาหาร เช่น นม ไข่ ถั่ว อาหารทะเล มาทดสอบกับผิวหนังของผู้ป่วย
วิธีนี้ทำได้ง่าย ราคาไม่แพง และทราบผลได้ทันที โดยการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังทำได้ 2 วิธี ได้แก่
1.1 วิธีสะกิด (Skin prick test)
จะใช้น้ำยาสกัดสารก่อภูมิแพ้ เช่น เชื้อรา ฝุ่น ไรฝุ่น เกสรดอกไม้ แมลงสาบ มาหยดลงบนผิวหนังบริเวณแขน จากนั้นใช้เข็มสะกิดเบาๆ ที่ตรงกลางหยดน้ำยา เพื่อให้สารก่อภูมิแพ้เข้าไปสัมผัสในชั้นผิวหนัง
หากคุณมีภูมิแพ้ต่อสารนั้นๆ ก็จะเกิดปฏิกิริยาแพ้ เช่น รอยนูน บวม ผื่นแดง คล้ายตุ่มยุงกัด
วิธีนี้สามารถทราบผลได้ใน 15-20 นาทีหลังการทดสอบ ส่วนมากแล้วหากพบว่า ร่างกายแพ้สารก่อภูมิแพ้ แพทย์จะนำสารก่อภูมิแพ้นั้นๆ มาทดสอบด้วยวิธีฉีดเข้าไปในผิวหนังต่อ เพื่อตรวจวัดระดับความรุนแรงของการแพ้
วิธีนี้ต้องงดยาแก้แพ้ก่อนตรวจ เป็นวิธีการตรวจภูมิแพ้ที่คนส่วนมากนิยมกัน เพราะทำง่าย สะดวกรวดเร็ว และไม่เจ็บ แต่มีโอกาสเกิดการแพ้อย่างรุนแรงระหว่างการทดสอบ และสารทดสอบภูมิแพ้มีชนิดน้อยกว่าการเจาะเลือด
1.2 วิธีฉีดเข้าไปในผิวหนัง (Intradermal test)
คล้ายๆ กับวิธีสะกิด แต่จะใช้เข็มฉีดยาฉีดน้ำยาสกัดจากสารก่อภูมิแพ้เข้าไปในชั้นผิวหนังแทน
หากมีอาการแพ้ก็จะเกิดเป็นรอยนูนจุดเล็กๆ คล้ายวิธีสะกิด สามารถอ่านผลได้ภายใน 20 นาทีหลังฉีดเช่นกัน แต่เป็นวิธีที่ทำยาก เสียเวลา ใช้อุปกรณ์มาก เจ็บ และเสี่ยงเกิดอาการแพ้ทั่วร่างกายได้มากกว่าวิธีการสะกิด
2. การตรวจเลือดหาปริมาณสารก่อภูมิต้านทานต่อสารก่อภูมิแพ้ (Serum Specific IgE)
ทำได้ด้วยการเจาะเลือดหาค่าอิมมูโนโกลบูลินอี (IgE) ชนิดที่จำเพาะต่อสารก่อภูมิแพ้แต่ละชนิด (Specific IgE) ในห้องปฏิบัติการ
การเจาะเลือดเพียง 1 ครั้ง ก็สามารถระบุสารก่อภูมิแพ้ได้หลายชนิด และแพ้ในระดับมากน้อยแค่ไหน
วิธีนี้เหมาะกับผู้ที่เป็นโรคผิวหนัง หรือแพ้ทางผิวหนังง่าย
ข้อดีคือ ไม่ต้องเสียเวลาเข้ารับการทดสอบนาน ไม่ต้องงดยาแก้แพ้ก่อนตรวจ และไม่เสี่ยงต่อการเกิดอาการแพ้ทั่วร่างกาย
ข้อเสียคือ ราคาแพง และต้องใช้เวลานานกว่าจะทราบผลตรวจ
3. การลองเลี่ยงอาหารที่สงสัยว่าแพ้
หากเป็นอาการภูมิแพ้ที่คาดว่า จะเกิดจากการรับประทานอาหาร หรือดื่มเครื่องดื่มบางชนิด แพทย์จะให้คุณลองหยุดรับประทานอาหาร หรือดื่มเครื่องดื่มชนิดนั้นๆ สลับกับการกลับมารับประทานและดื่มเครื่องดื่มนั้นๆ อีกครั้ง
วิธีนี้เพื่อสังเกตว่า ระหว่างรับประทานอาหารชนิดนั้น ดื่มเครื่องดื่มชนิดนั้น และผลเมื่อหยุดรับประทานอาหารชนิดนั้นและหยุดดื่มเครื่องดื่มชนิดนั้น มีอาการแตกต่างกันอย่างไร
หากระหว่างรับประทานอาหารชนิดนั้น หรือดื่มเครื่องดื่มชนิดนั้น แล้วมีอาการแพ้แสดงว่า “คุณแพ้อาหารชนิดนั้น”
ตรวจภูมิแพ้มีผลข้างเคียงหรือไม่?
การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังมีความเสี่ยงทำให้เกิดอาการแพ้ในระหว่างทดสอบได้เพราะเป็นการหยดสารก่อภูมิแพ้เข้าไปในผิวหนังเพื่อดูปฏิกิริยาแพ้
ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยได้แก่ อาการคัน หรือบวมบริเวณผิวหนังที่ทำการทดสอบ
ส่วนอาการแพ้อย่างรุนแรงนั้นพบได้น้อย สามารถวางใจได้หากเป็นการตรวจกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้ เพราะแพทย์จะมีวิธีการรับมือกับอาการแพ้ที่เกิดขึ้นกับผู้เข้ารับการทดสอบอย่างปลอดภัย
สำหรับใครที่เลือกตรวจเลือดเพื่อระบุสารก่อภูมิแพ้นั้นก็มีผลข้างเคียงทั่วไปอย่างอาการเจ็บ หรือมีรอยฟกช้ำบริเวณที่เจาะเลือด และผู้ป่วยบางรายที่กลัวเข็ม หรือกลัวเลือดอาจเป็นลมได้
ตรวจภูมิแพ้ในเด็กได้หรือไม่?
เด็กๆ สามารถตรวจภูมิแพ้ได้เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะมีอายุเท่าไรก็ตาม แต่หากเป็นการตรวจด้วยวิธีสะกิด (Skin prick test) มักทำในเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป เนื่องจากเด็กที่มีอายุน้อยกว่านี้จะมีความไวของผิวหนังน้อยทำให้ผลตรวจผิดพลาดได้
แต่หากอายุไม่ถึง 6 เดือน และมีอาการภูมิแพ้อย่างชัดเจนก็สามารถปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการทดสอบภูมิแพ้ได้
ข้อปฏิบัติหลังตรวจภูมิแพ้
เมื่อทราบแน่ชัดแล้วว่า ตัวเองแพ้อะไร คราวนี้คุณก็สามารถหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ชนิดนั้น และป้องกันอาการแพ้ที่ตามมาได้แล้ว
แพทย์จะแนะนำว่า ควรทำและไม่ควรทำอะไรบ้าง เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารที่เป็นตัวการของภูมิแพ้ หรือแนะนำวิธีดูแลตนเอง เช่น การล้างจมูก หรือการฉีดวัคซีนภูมิแพ้
หากสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านี้อย่างเคร่งครัด และสม่ำเสมอ คุณก็จะสามารถใช้ชีวิตได้ปกติอย่างคนทั่วไปได้
ตรวจภูมิแพ้ที่ไหนดี ราคาเท่าไหร่?
ปัจจุบันหลายๆ โรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนต่างมีบริการตรวจภูมิแพ้ซึ่งมีราคา และรายการตรวจที่แตกต่างกันไป
ดังนั้นเพื่อความมั่นใจ และไม่เป็นการเสียเวลา แนะนำให้โทรสอบถามเกี่ยวกับรายละเอียดการตรวจ และค่าใช้จ่ายจากทางโรงพยาบาลโดยตรงก่อน
แม้ว่าโรคภูมิแพ้จะเป็นโรคยอดฮิตที่สร้างความรำคาญ และเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ไม่น้อย หลายคนต้องรับประทานยาแก้แพ้บ่อยๆ บางรายมีอาการแพ้รุนแรงจนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
มีบ่อยครั้งที่เมื่อก่อนไม่ได้แพ้อะไรง่ายๆ หรือถ้าแพ้ขึ้นมา รับประทานยาแก้แพ้ 1-2 เม็ดก็หาย แต่พออายุมากขึ้นกลับมีอาการแพ้รุนแรงขึ้น แพ้นานยิ่งขึ้น
ดังนั้นการตรวจภูมิแพ้เพื่อหาสาเหตุและหลีกเลี่ยงอาการแพ้ จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่จะช่วยให้คุณสามารถใช้ชีวิตอย่างปกติได้
ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. วรรณวนัช เสถียรธรรมมณี