ตาโปนเป็นภาวะที่ลูกตายื่นออกมาจากกระดูกเบ้าตามากกว่าปกติ เราจะสังเกตคนตาโปนได้ง่ายเพราะคนเหล่านี้จะมีเปลือกตายกสูง ทำให้เห็นลูกตาเบิกกว้างมองเห็นตาขาวมากกว่าปกติ ดูคล้ายคนตกใจหรือแปลกใจอยู่ตลอดเวลา
บางคนที่มีภาวะตาโปนแต่เป็นปกติ เกิดจากลักษณะทางกรรมพันธุ์ในบางครอบครัว หรือผู้ที่มีสายตาสั้นมากๆ เช่น สายตาสั้นเป็น 1000 เพราะคนที่สายตาสั้นมากลูกตามักจะมีขนาดใหญ่ หากเบ้าตาเล็กตาจะโปนออกมาจนเห็นได้ชัด
สารบัญ
ลักษณะ ตาโปน ที่ผิดปกติ
จะดูว่าอาการตาโปนนั้นผิดปกติหรือไม่ มีข้อสังเกตดังนี้
1. สังเกตในท่ามองตรง
สังเกตตรงขอบเปลือกตา เปลือกตาบนจะตกลงมาปิดกระจกตาประมาณ 2 มิลลิเมตร แต่เปลือกตาล่างจะแตะอยู่ตรงขอบกระจกตาด้านล่างพอดี ดูง่ายๆ ว่าดวงตาปกติจะเห็นตาขาวแค่ 2 ด้านหรือด้านหัวตาและหางตาเท่านั้น
หากดวงตาของใคร เปลือกตาบนเปิดสูงเกินขอบกระจกตาด้านบน จนมองเห็นตาขาวด้านบนเหนือขอบตาดำ โดยเป็นอย่างนั้นตลอดเวลา หรือขอบตาด้านล่างเปิดกว้างจนเห็นตาขาวด้านล่างร่วมด้วย ถือว่ามีภาวะตาโปน
แต่หากเห็นแต่ตาขาวด้านล่างอย่างเดียว อาจไม่ใช่ตาโปน แต่อาจเกิดจากเปลือกตาหย่อนมากก็ได้ กรณีนี้มักจะพบในผู้สูงอายุ แนะนำให้ลองส่องกระจกดูดวงตาของคุณเองจะช่วยให้เข้าใจมากขึ้น
2. สังเกตจากด้านข้าง
จะเห็นดวงตายื่นโผล่ออกมาจากกระบอกตา และหากมีตาข้างหนึ่งยื่นออกมามากกว่าอีกข้างตั้งแต่ 2-3 มิลลิเมตรขึ้นไป ถือว่ามีอาการตาโปนอย่างมีนัยสำคัญ
หากอาการตาโปนเป็นลักษณะปกติทางพันธุกรรมย่อมไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรักษา แต่คนไข้ควรได้รับการตรวจเพื่อหาสาเหตุของตาโปนที่แน่ชัดเสียก่อน
อาการตาโปนที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันภายในเวลาไม่กี่วัน มักจะมีอาการปวดหรือตามัวจนน่าตกใจ คนไข้ควรรีบไปพบแพทย์ แต่ในรายที่ตาโปนออกมาทีละทีละน้อยจะสังเกตได้ยาก อาจต้องนำรูปถ่ายของปีก่อนๆ มาเปรียบเทียบเพื่อสังเกตความแตกต่าง
ปัญหาตาโปนนอกจากมีผลกระทบที่เห็นได้ชัดเจนเรื่องความสวยงาม ยังทำให้เกิดภาวะตาแห้งเรื้อรัง ตามมาด้วย เช่น กระจกตาอักเสบเป็นแผล จนถึงติดเชื้อที่กระจกตาได้
สาเหตุของอาการตาโปน
ก่อนจะทราบถึงสาเหตุของอาการตาโปน ควรทำความเข้าใจเรื่องส่วนประกอบของดวงตาเสียก่อน
ดวงตาของคนเราอยู่ในเบ้าตา ซึ่งเป็นทรงกรวย ประกอบขึ้นจากกระดูกใบหน้า ทำหน้าที่ป้องกันดวงตาที่เป็นอวัยวะมิให้ถูกกระแทกจากด้านข้าง ภายในเบ้าตามิได้มีแค่เพียงดวงตาเท่านั้น แต่ยังมีไขมัน เส้นเลือด ท่อน้ำเหลือง เส้นประสาทตา กล้ามเนื้อตาที่ทำหน้าที่ให้ดวงตากลอกไปมาและเยื่อบุตา บรรจุอยู่ด้วย
ส่วนด้านหน้ามีเปลือกตาหรือหนังตาทำหน้าที่ปกป้องดวงตา เปลือกตาจะไม่เปิดกว้างตลอดเวลา แต่จะมีการกะพริบตาเป็นระยะเพื่อเกลี่ยน้ำตาให้ไปเคลือบดวงตาให้ทั่ว เวลาเรานอนหลับเปลือกตาก็จะปิดสนิท เพื่อปกป้องดวงตาและป้องกันมิให้น้ำตาระเหยไป
อาการตาโปนเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
1. เกิดจากการอักเสบหรือติดเชื้อ
สาเหตุพบบ่อยที่สุดได้แก่
- ไทรอยด์ขึ้นตา (Thyroid Orbitopathy) เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของอาการตาโปน เกิดขึ้นช้าๆ ในระยะเวลาเป็นเดือนๆ
- การอักเสบที่ไม่ทราบสาเหตุของเนื้อเยื่อภายในเบ้าตา (Idiopathic Orbital Inflammation: IOI) เป็นสาเหตุที่ตาโปน หนังตาตก และมีอาการปวดภายในเบ้าตาอย่างรุนแรงในเวลาเป็นวันหรือสัปดาห์ ส่วนใหญ่จะเป็นตาเดียว
- การติดเชื้อภายในเบ้าตา (Orbital Cellulitis) ส่วนใหญ่เชื้อจะกระจายมาจากการมีไซนัสอักเสบ อาการปวดตา ตาโปน มักเกิดอย่างรวดเร็วในเวลาเป็นวัน ต้องรีบไปพบแพทย์ด่วน
2. มะเร็ง
ที่พบบ่อยได้แก่ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
3. เนื้อเยื่อภายในเบ้าตาผิดปกติ
เนื้อเยื่อภายในเบ้าตาที่ผิดปกติ ได้แก่ เนื้องอกชนิด Dermoid ถุงน้ำ Mucocele มักเป็นมานานหลายเดือนหรือเป็นปีจึงออกอาการตาโปน
4. เนื้องอกของเส้นเลือด
เช่น เนื้องอกของหลอดเลือดบริเวณดวงตา (Hemangioma), เนื้องอกของท่อน้ำเหลืองภายในเบ้าตา (Lymphangioma)
การวินิจฉัยสาเหตุของอาการตาโปน
การส่งตรวจที่สำคัญนอกเหนือจากการเจาะเลือดตรวจระดับไทรอยด์ ได้แก่ การส่ง CT Scan และฉีดสี หรือ MRI ของเบ้าตา และไซนัส
โรคทางตา อาการตาโปน อันเกิดจากต่อมไทรอยด์ (Thyroid eye disease)
ภาวะตาโปนที่พบบ่อยที่สุด มักเกี่ยวข้องกับภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ไม่ว่าจะเป็นภาวะตาโปนข้างเดียวหรือตาโปนทั้งสองข้าง และยังมีอาการผิดปกติทางตาอย่างอื่นซึ่งเป็นอันตรายร่วมด้วย
ผู้ที่มีภาวะไทรอยด์เป็นพิษ เกิดจากการผลิตฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์มากผิดปกติ มีสาเหตุจากภาวะภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ผิดปกติไปจับต่อมไทรอยด์ และกระตุ้นการผลิตฮอร์โมนออกมามากเกินความต้องการ
โรคนี้ส่วนใหญ่เกิดในผู้หญิงอายุตั้งแต่ 30 ปีถึงอายุประมาณ 50 ปี มีอาการน้ำหนักลดถึงแม้จะรับประทานอาหารมาก ถ่ายบ่อย เหงื่อออกมาก ทนความร้อนไม่ได้ กระวนกระวายใจสั่น อ่อนเพลียเหนื่อยง่าย อาจจะมีภาวะคอพอกด้วยหรือไม่ก็ได้ ผลการเจาะเลือดฮอร์โมน TSH อาจจะต่ำหรือปกติก็ได้
การรักษาแพทย์จะเริ่มต้นด้วยการใช้ยา การใช้รังสีรักษาเพื่อการลดการทำงานของต่อมไทรอยด์หรือตัดต่อมไทรอยด์ออกบางส่วน
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ผู้มีภาวะไทรอยด์เป็นพิษเกิดความผิดปกติทางตาได้แก่ การสูบบุหรี่ ยิ่งสูบบุหรี่จำนวนมวนต่อวันมากความเสี่ยงยิ่งสูงขึ้น ภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติจะไปจับกับเนื้อเยื่อรอบดวงตาได้แก่ กล้ามเนื้อตาที่ทำหน้าที่กลอกตา เนื้อเยื่อรอบๆ ดวงตา เนื้อเยื่อไขมันที่อยู่ภายในเบ้าตา และต่อมน้ำตา
ทำให้เนื้อเยื่อเหล่านี้บวมโตขึ้นจนคับเบ้าตา ลูกตาซึ่งอยู่ในเบ้าตาถูกเนื้อเยื่อรอบๆ ที่บวมโตขึ้นดันจนปูดทำให้ตาโปนออกมาด้านหน้า
อาการทางตาอันเกิดจากภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ได้แก่
1. การเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อรอบดวงตา
ทำให้เกิดอาการตาแห้ง ตาแดง เพราะเส้นเลือดขยายตัวมาก น้ำตาไหล มีอาการแพ้แสง เปลือกตาบวม และปวดในบริเวณเบ้าตา
2. เปลือกตาเปิดกว้าง (Lid retraction)
อาการนี้พบในคนไข้กว่า 50% ขอบเปลือกตาบนจะเปิดยกขึ้นสูงจนเห็นตาขาวด้านบน หากเพ่งตาหรือตั้งใจมอง เปลือกตาจะยิ่งเบิกกว้างค้างจนดูเหมือนถลึงตาเวลาโกรธ หรือดูคล้ายตกใจมากอยู่ตลอดเวลา
ในเวลาที่เหลือบมองลงล่าง เปลือกตาบนจะเปิดค้างอยู่อย่างนั้นไม่เคลื่อนลงมาตามดวงตา (Lid Lag)
3. ตาโปน (Exophthalmos)
อาจตาโปนออกมาตรงๆ หรือเฉไปข้างใดข้างหนึ่ง ส่งผลให้ตาแห้งเพราะเปลือกตาไม่สามารถคลุมดวงตาได้สนิท หากโปนมาก กระจกตาอาจเป็นแผลหรือติดเชื้อได้
4. กล้ามเนื้อตายึด (Eye muscles restriction)
ทำให้ไม่สามารถกลอกตาไปมองทิศทางต่างๆ ได้ตามต้องการ อาการนี้เกิดในคนไข้ 30% – 50%
ในช่วงแรกสาเหตุที่กล้ามเนื้อตายึดเกิดจากกล้ามเนื้ออักเสบ แต่ในระยะยาวจะกลายเป็นพังผืดทำให้กลอกตาไม่ได้ ทำให้ตาเขหรือมองเห็นเป็นภาพซ้อน แม้อาการไทรอยด์เป็นพิษสงบแล้วก็อาจเป็นถาวร ต้องแก้ไขโดยการผ่าตัดกล้ามเนื้อตา
5. เส้นประสาทตาถูกเนื้อเยื่ออื่นในเบ้าตาบีบกด
อาการอักเสบของเนื้อเยื่อที่อยู่ในเบ้าตามีปริมาตรจำกัด ทำให้เนื้อเยื่อที่บวมขึ้นไปกดทับเส้นประสาทในเบ้าตา ส่งผลให้เส้นประสาทตาขาดเลือด ตามัวลง หากรักษาไม่ทันอาจสูญเสียการมองเห็น
ความรุนแรงของโรคทางตาที่เกี่ยวข้องกับไทรอยด์
โรคทางตาที่เกี่ยวข้องกับไทรอยด์แบ่งความรุนแรงได้เป็น 3 ระดับดังนี้
ระดับความรุนแรงน้อย
อาการตาโปนเล็กน้อย ตาแห้ง ส่งผลกระทบไม่มากต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
ระดับปานกลางถึงเริ่มรุนแรง
เนื้อเยื่อรอบดวงตาบวมอักเสบมาก หรือเปลือกตาบนเปิดกว้างกว่าปกติเกิน 2-3 มิลลิเมตร ส่งผลให้เห็นภาพซ้อน
ระดับรุนแรงที่สุด
เส้นประสาทตาถูกกดทับ หรือกระจกตาเสียหาย เป็นระดับที่คุกคามต่อการมองเห็น
การรักษาอาการตาโปนอันเกิดจากภาวะไทรอยด์เป็นพิษ
จะใช้วิธีใดบ้างขึ้นกับระดับความรุนแรงและปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนไข้แต่ละราย แพทย์จำเป็นต้องติดตามอาการเป็นระยะ แม้จะคุมระดับไทรอยด์ได้ดี แต่อาการตาโปนและอาการทางตาอื่นๆ อาจรุนแรงขึ้นก็ได้
คำแนะนำสำหรับคนไข้ทุกราย
สำหรับผู้ที่มีอาการตาโปนระดับความรุนแรงน้อย ถึงปานกลางควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้
- งดสูบบุหรี่
- ใช้น้ำตาเทียม เพื่อให้สบายตาขึ้น ลดอาการตามัว อาการแสบตาเคืองตาเพราะตาแห้ง ในเวลานอนหลับตาปิดไม่สนิท ควรใช้น้ำตาเทียมชนิดเหนียวเป็นเจลหรือขี้ผึ้งป้ายตาก่อนนอน หรืออาจใช้พลาสเตอร์ดึงหนังตาลงมาชนกัน ป้องกันมิให้น้ำตาระเหย
- ใช้ยาควบคุมระดับไทรอยด์ฮอร์โมนให้อยู่ในระดับปกติ แล้วอาการตาโปนจะค่อยๆ ลดลง โดยใช้เวลาเป็นปี
ในรายที่อาการไม่รุนแรง หากรูปลักษณ์ของดวงตาไม่เป็นไปตามต้องการ มีปัญหาต่อการดำเนินชีวิต หรือขาดความมั่นใจจากการถูกทักบ่อยๆ จึงจะมาพิจารณาเรื่องการทำผ่าตัดเมื่อโรคสงบแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน
การรักษาอาการตาโปนด้วยการผ่าตัด
สำหรับการรักษาอาการตาโปนด้วยการผ่านตัด แพทย์จะพิจารณาตามเหมาะสม
- การผ่าตัดขยายกระดูกเบ้าตา (Orbital decompression) เพื่อเพิ่มปริมาตรของเบ้าตาให้สามารถดันลูกตากลับไปอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมได้
- ผ่าตัดกล้ามเนื้อตาแก้ตาเข ลดอาการเห็นภาพซ้อนและเพื่อรูปลักษณ์ที่ดี
- ผ่าตัดหนังตาที่เปิดกว้างให้ลงมาอยู่ในระดับเหมาะสม
หากระหว่างการติดตามผลการรักษา โรคเริ่มมีความรุนแรงขึ้นมาเป็นระดับปานกลาง อาจจำเป็นต้องให้ยาสเตียรอยด์ทางเส้นเลือดหรือให้ยากินเป็นระยะเวลาหนึ่ง
ในกรณีที่คนไข้ไม่สามารถทนต่อผลข้างเคียงของการให้ยาประเภทสเตียรอยด์ ลดยาไม่ได้ หรืออาการไม่ดีขึ้นหลังให้ยา แพทย์อาจพิจารณาใช้รังสีรักษาบริเวณเบ้าตา (Orbital radiology)
อาการที่คุกคามและเสี่ยงต่อการสูญเสียการมองเห็นมากที่สุดคือ ตามัว เนื่องจากเส้นประสาทตาขาดเลือดไปเลี้ยง เพราะถูกเนื้อเยื่อรอบๆ กดทับ ถือเป็นภาวะเร่งด่วนต้องรีบให้ยาประเภทสเตียรอยด์ทางเส้นเลือด แต่หากให้ยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น ต้องรีบทำการผ่าตัดขยายกระดูกเบ้าตาภายใน 1-2 สัปดาห์
เขียนบทความโดย พญ. ศศิวิมล จันทรศรี