ขาโก่ง ขาฉิ่ง แก้ได้ด้วยกายภาพบำบัด scaled

ขาโก่ง ขาฉิ่ง แก้ได้ด้วยกายภาพบำบัด

เข่าโกง (Bow knee) และขาฉิ่ง (Knock knee) เป็นความผิดปกติของเข่าที่พบได้บ่อยในทุกเพศและทุกวัย ซึ่งนอกจากความผิดปกตินี้จะทำให้เสียบุคคลิกภาพแล้ว ยังอาจทำให้มีอาการปวด เดินลำบาก และสามารถนำไปสู่ปัญหาโครงสร้างอื่นๆ ของร่างกายได้ด้วย การทำความเข้าใจถึงสาเหตุ ปัจจัยจัย เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดขาโก่ง และขาฉิ่งจึงเป็นเรื่องสำคัญ

ขาโก่ง และขาฉิ่งคืออะไร?

ขาโก่ง (Bow knee) ในทางการแพทย์ใช้คำว่า Genu varum เป็นสภาวะผิดปกติที่มีลักษณะตรงกันข้ามกับ ขาฉิ่ง (Knock knee) ซึ่งทางการแพทย์ใช้คำว่า Genu valgum

ความผิดปกติของข้อเข่าทั้ง 2 ชนิดนี้พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ในคนรูปร่างปกติ เมื่อยืนเท้าชิดกันข้อเข่าก็จะชิดกันด้วย แต่ในผู้ที่มีขาโก่ง เมื่อยืนเท้าชิดกันจะมีช่องว่างตรงกลางระหว่างข้อเข่า ยิ่งช่องว่างมีความกว้างมาก ความรุนแรงของเข่าโกงก็มากตามไปด้วย ในขณะที่ผู้ที่มีขาฉิ่งจะไม่สามารถยืนเท้าชิดกันได้ เนื่องจากข้อเข่ามีองศาหักเข้ามาชนกันมากกว่าปกติ ข้อเข่าสามารถชิดกันได้ในขณะที่เท้าทั้งสองข้างต้องกางออกจากกันเท่านั้น

ขาโก่งและขาฉิ่งระดับรุนแรงมักจะพบในผู้ที่มีความผิดปกติอย่างรุนแรง เช่น ข้อเข่าเสื่อมในระยะรุนแรง ข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือเส้นเอ็นที่พยุงข้อเข่าหย่อนมากผิดปกติ เป็นต้น โดยมากมักจะมีอาการปวด และเนื่องจากทั้งขาโก่ง และขาฉิ่งทำให้การรับน้ำหนักของร่างกายผิดปกติอย่างมาก จึงอาจจะทำให้ข้อต่ออื่นๆ เช่น ข้อเท้า ข้อสะโพก หรือกระดูกสันหลังส่วนล่างทำงานอย่างผิดปกติ นำไปสู่อาการปวดเรื้อรัง และการสึกหรอของข้อต่อนั้นๆ ก่อนวัยอันควรด้วย

สาเหตุของขาโก่งและขาฉิ่งมีอะไรบ้าง?

ในผู้ป่วยบางราย ทั้งขาโก่งและขาฉิ่งอาจสามารถยืนยันสาเหตุได้ชัดเจน ในขณะที่ผู้ป่วยบางรายไม่สามารถหาสาเหตุที่แน่ชัดได้ อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาจำนวนมากรายงานความสัมพันธ์ระหว่าขาโก่ง ขาฉิ่ง และความผิดปกติของร่างกาย ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างเฉพาะสาเหตุที่พบได้บ่อยๆ เช่น

  1. ข้อเข่าเสื่อม (Osteoarthritis knee) และโรคที่สร้างความผิดปกติต่อข้อเข่า เช่น โรคเกาต์ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ และโรคกระดูกอ่อนในเด็ก (Rickets) โดยหากผิวข้อต่อด้านด้านนอก (Lateral aspect of knee) สึกหรอมากกว่าก็จะทำให้เกิดขาฉิ่ง และหากผิวข้อต่อด้านใน (Medial aspect of knee) สึกหรอมากกว่า ก็จะทำให้เกิดขาโก่ง หากข้อเข่าเสื่อมมากอาจจะพบเข่าแอ่น (Genu recurvatum) ร่วมด้วยก็ได้ ในระยะแรกอาจจะพบความผิดปกติเพียงเล็กน้อย ก่อนที่จะค่อยๆ รุนแรงขึ้น เมื่อเข่าผิดรูปก็จะส่งผลให้เส้นเอ็น เอ็นกล้ามเนื้อ และกล้ามเนื้อบางส่วนรอบๆ ข้อเข่ายืดยาวผิดปกติ ซึ่งสนับสนุนให้ขาโก่งและขาฉิ่งรุนแรงขึ้นกว่าเดิม
  2. เอ็นยึดข้อเข่า (Ligaments) และเอ็นกล้ามเนื้อ (Tendon) รวมทั้งกล้ามเนื้อที่พาดผ่านข้อเข่ายืดตัวกว่าปกติ อาจจะมีสาเหตุมาจากการอยู่ท่าทางที่ไม่ถูกต้องในชีวิตประจำซ้ำๆ เป็นเวลานาน การออกกำลังกายกล้ามเนื้อย่างไม่สมดุลทำให้กล้ามเนื้อบางมัดแข็งแรงไป และกล้ามเนื้อบางมัดถูกดึงรั้งจนยืดยาวและอ่อนแรงลงในที่สุด ซึ่งขาโก่งและขาฉิ่งในข้อนี้ หากไม่ได้รับการรักษาฟื้นฟูให้กลับมาสภาพเดิม ก็จะส่งผลให้ข้อเข่าเสียดสีกันมากขึ้น เร่งการสึกหรอและทำให้ข้อเข่าเสื่อมกว่าวัยอันควรในที่สุด
  3. ขาโก่งแต่กำเนิด มีเด็กจำนวนไม่น้อยที่มีอาการขาโก่งตั้งแต่แรกเกิด แต่มักจะค่อยๆ ดีขึ้นและหายได้เองภายใน 2 ปี หากอายุครบ 3 ปีแล้วยังไม่หายควรไปพบแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดเพื่อรับคำแนะนำ หรือการรักษาที่เหมาะสมต่อไป ในกรณีนี้มักไม่พบขาฉิ่งแต่กำเนิด

ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น จะเห็นว่าขาโก่งและขาฉิ่งเกิดจากหลายสาเหตุ การได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่เริ่มมีอาการเพื่อหาสาเหตุและแนวทางแก้ไขอย่างทันท่วงทีจึงเป็นเรื่องสำคัญ ทำให้ป้องกันการผิดรูปถาวรของข้อเข่าได้

อาการของขาโก่งและขาฉิ่งมีอะไรบ้าง?

นอกจากรูปร่างที่ผิดปกติไปของข้อเข่าแล้ว ทั้งผู้ป่วยที่มีอาการขาโก่งและขาฉิ่งยังอาจจะมีอาการต่อไปนี้ร่วมด้วย

  1. ปวด (Pain) รอบๆ ข้อเข่า และในผู้ป่วยบางรายอาจจะพบอาการบวม (Swelling) ร่วมด้วย
  2. มีเสียงดังกรอบแกรบ (Crepitus) ในข้อเข่า
  3. มีอาการข้อหนืด (Gelling) หรือข้อฝืด (Stiffness)
  4. องศาการเคลื่อนไหว (Range of motion) และความมั่นคงแข็งแรงของข้อต่อ (Joint stability) ลดลง

ทั้งนี้ความรุนแรงของอาการขึ้นกับระดับความรุนแรงของการผิดรูปของข้อเข่าในผู้ป่วยแต่ละคน ผู้ที่เพิ่งเริ่มมีอาการขาโก่งหรือขาฉิ่งบางรายอาจจะสังเกตเห็นเพียงแค่การผิดรูปเล็กน้อยของข้อเข่า ร่วมกับมีอาการปวดเข่าเป็นๆ หายๆ ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมีอาการครบทุกข้อ

การประเมินความรุนแรงของขาโก่งและขาฉิ่ง

การประเมินความรุนแรงของขาโก่งและขาฉิ่งในผู้ที่มีข้อเข่าผิดรูปมาก อาจจะต้องเดินทางไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ หรือแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูที่โรงพยาบาล เพื่อทำการถ่ายภาพรังสีเอกซเรย์ จะได้ทำการประเมินการผิดรูปของข้อเข่าอย่างแม่นยำ นอกจากนี้ภาพถ่ายรังสีเอกซเรย์อาจจะแสดงให้เห็นถึงความผิดปกติของผิวข้อเข่าด้วย

สำหรับผู้ที่มีอาการไม่รุนแรง อาจไปพบนักกายภาพบำบัดที่คลีนิกกายภาพบำบัด หรือทำการประเมินเบื้องต้นด้วยตนเองก็ได้ สำหรับกรณีที่ไปพบนักกายภาพบำบัด นักกายภาพบำบัดจะใช้วิธีวัดองศาของกระดูกต้นขา (Q angle) และช่วงการเคลื่อนไหวของข้อเข่าในทิศทางต่างๆ เช่น งอเข่า และเหยียดเข่า เป็นต้น เพื่อใช้ประเมินอาการ วางแผนการรักษา และติดตามผลของการรักษา

ผู้ป่วยที่มีอาการเพียงเล็กน้อยสามารถติดตามอาการเบื้องต้นด้วยตนเองได้ ด้วยวิธีดังนี้

  1. สำหรับผู้ที่มีอาการขาโก่ง ให้ใช้สายวัดวัดความกว้างของช่องหว่างระหว่างข้อเข่าผ่านแนวกึ่งกลางของข้อเข่าทั้งสองข้าง บันทึกผลและวัดซ้ำทุกๆ เดือน หากมีความกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ ควรไปพบแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
  2. สำหรับผู้ที่มีอาการขาโก่ง ให้ใช้สายวัดวัดความกว้างของช่องหว่างระหว่างตาตุ่มใน (Medial malleolus) ผ่านแนวกึ่งกลางของตาตุ่มในทั้ง 2 ข้าง บันทึกผลและวัดซ้ำทุกๆ เดือน หากมีความกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ ควรไปพบแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

ทางเลือกของการรักษาขาโก่งและขาฉิ่ง

ในปัจจุบัน ผู้ที่มีขาโก่งหรือขาฉิ่งมีวิธีการรักษา 2 ทางใหญ่ๆ ได้แก่ การรักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งแพทย์จะนำมาพิจารณาใช้รักษาผู้ที่มีขาโก่งหรือขาฉิ่งรุนแรง มีอาการปวดมาก หรือขาโก่งหรือขาฉิ่งนั้นรบกวนการดำเนินกิจวัตรประจำวันมาก สำหรับผู้ที่ไม่มีความจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด การรักษาจะมุ่งเน้นไปที่การทำกายภาพบำบัดและการออกกำลังกาย

หากมีอาการปวดร่วมด้วย นักกายภาพบำบัดก็สามารถใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัดเพื่อลดอาการปวด นอกจากนี้ในผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ การควบคุมน้ำหนักตัวให้เป็นไปตามเกณฑ์ก็จะช่วยชะลอความเสื่อมของข้อเข่า และลดความเสี่ยงต่อขาโก่งหรือขาฉิ่งมากขึ้นด้วย

การรักษาและฟื้นฟูขาโก่งและขาฉิ่งทางกายภาพบำบัด

เนื่องจากการออกแบบการรักษาสำหรับผู้ที่มีอาการขาโก่งและขาฉิ่งนั้นจำเป็นต้องอาศัยการตรวจร่างกาย เพื่อหาสาเหตุของอาการในผู้ป่วยแต่ละรายอย่างละเอียด และวิธีการรักษาและรูปแบบการออกำลังกายก็แตกต่างกันมาก ในที่นี้จึงขออธิบายให้เห็นภาพรวมของการรักษาคร่าวๆ ดังนี้

  1. การตรวจโครงสร้างของร่างกายอย่างละเอียด ในกรณีของขาโก่งและขาฉิ่งมีความจำเป็นอย่างมาก เพราะพบว่ามีผู้ป่วยจำนวนมากที่มีความผิดปกติของโครงสร้างอื่นๆ ของร่างกาย เช่น อุ้งเท้าแบน อุ้งเท้าสูง หรือกระดูกสันหลังคด แล้วส่งผลให้ข้อเข่าที่ทำหน้าที่รับน้ำหนักของร่างกายทำงานผิดปกติ จนเกิดเป็นขาฉิ่งหรือขาโก่งขึ้น นอกจากนี้ถึงแม้อการที่ตรวจพบอาจจะไม่ใช่สาเหตุหลักของขาฉิ่งหรือขาโก่ง แต่ก็อาจจะมีส่วนสนับสนุนให้ข้อเข่าผิดรูปมากขึ้นได้ ดังนั้นการตรวจหาให้พบ และออกแบบกายออกกำลังกายที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก
  2. การจัดการกับอาการปวด (Pain management) หรือบวมรอบๆ ข้อเข่า หากมีอาการปวดหรือบวมอยู่จะทำให้การออกกำลังกายเป็นไปได้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ หรือมีผลต่อการทำกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วย ดังนั้นนักกายภาพก็จะใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัดที่เหมาะสมกับอาการและความรุนแรงของผู้ป่วยแต่ละรายมาใช้ เช่น การประคบเย็น การรักษาด้วยเลเซอร์กำลังสูง (High level Laser therapy) หรือการรักษาด้วยเลเซอร์กำลังต่ำ(Low level Laser therapy) การรักษาด้วยคลื่นสั้น (Short wave) หรือคลื่นไมโครเวฟ (Microwave) เป็นต้น
  3. การออกกำลังกาย (Therapeutic exercise) นักกายภาพบำบัดจะทำการยืดกล้ามเนื้อที่หดรั้ง และออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงให้แก่กล้ามเนื้อที่อยู่ในท่ายืดยาวออกเป็นเวลานานจนอ่อนแรงไป ให้กลับมาทำงานได้อย่างปกติ นอกจากนี้ยังมีการออกกำลังอีกหลายชนิดที่มักจะนำมาใช้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ เช่น การออกกำลังการเพื่อเพิ่มความทนทานของกล้ามเนื้อ การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการทรงตัว เป็นต้น
  4. การเลือกอุปกรณ์พยุงข้อเข่าเพื่อป้องกันการผิดรูปที่มากขึ้น ป้องกันอาการปวด และการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อเข่า
  5. การให้ความรู้เรื่องการหลีกเลี่ยงท่าทางที่สนับสนุนให้ข้อเข่าผิดรูปหรือทำให้อาการรุนแรงขึ้น เช่น การยืนทำงานในท่าเดิมนานๆ นั่งคุกเข่า นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ เป็นต้น

เขียนบทความโดย กภ. ธีรวิทย์ วิโรจน์วิริยะกุล

Scroll to Top