bone density test for osteoporosis screening faq

รวมเรื่องตรวจมวลกระดูก ค้นหาโรคกระดูกพรุนก่อนเสี่ยง

หลังอายุ 30 ปี ร่างกายจะเริ่มสูญเสียมวลกระดูกไปทีละน้อย ถ้าไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมก็อาจนำไปสู่โรคกระดูกพรุน ทำให้กระดูกเปราะหักง่าย จนส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตในระยะยาว 

การตรวจสุขภาพกระดูกหรือการตรวจมวลกระดูก เป็นวิธีเดียวที่ช่วยคัดกรองโรคกระดูกพรุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ตรวจอย่างไร ตรวจเมื่อไร ใครบ้างควรตรวจ และอีกหลายข้อสงสัย ไปหาคำตอบกันได้ในบทความนี้เลย

Q: ทำไมต้องตรวจมวลกระดูก

A: การตรวจมวลกระดูก หรือการตรวจดูความหนาแน่นของกระดูก (Bone Densitometry) คือการประเมินความแข็งแรงของกระดูก ค้นหาความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุน เพราะโรคนี้มักไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า ทำให้หลายคนไม่รู้ตัวจนกระทั่งเกิดปัญหากระดูกหักขึ้นแล้ว 

ยิ่งไปกว่านั้น หากเคยกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนครั้งแรก โอกาสที่จะเกิดกระดูกหักตามมาก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความพิการหรือเสียชีวิต แต่หากได้รับการตรวจวินิจฉัยตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็จะสามารถรับมือ หาวิธีป้องกัน และดูแลตัวเองได้อย่างเหมาะสม

Q: ใครบ้างเสี่ยงโรคกระดูกพรุน ควรตรวจมวลกระดูก

A: การตรวจมวลกระดูกจะได้ประโยชน์และคุ้มค่าในคนที่เสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน โดยเฉพาะคนกลุ่มต่อไปนี้

  • ผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือน หรืออายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป
  • ผู้ชายอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไป
  • คนอายุมากกว่า 50 ปี และเคยมีประวัติกระดูกหักมาก่อน
  • คนที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคกระดูกพรุน
  • คนที่มีความสูงลดลงมากกว่า 1.5 นิ้ว จากช่วงที่เคยสูงที่สุด 
  • คนที่สูบบุหรี่จัด หรือดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  • คนที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
  • คนที่รับประทานยาบางชนิดที่ทำให้เสียมวลกระดูก เช่น ยาสเตียรอยด์ ยากดภูมิคุ้มกัน ยารักษาโรคลมชัก ยาลดกรดกลุ่ม PPIs (Proton pump inhibitors) หรือยาละลายลิ่มเลือดเฮพาริน (Heparin)

Q: ใครบ้างไม่ควรตรวจมวลกระดูก 

A: คนที่มีข้อจำกัดในการจัดท่าท่างให้เหมาะสมสำหรับการตรวจ คุณแม่ตั้งครรภ์หรือสงสัยว่ากำลังตั้งครรภ์ จะไม่แนะนำให้เข้ารับการตรวจ และคนที่เคยกลืนแร่หรือสารทึบแสง เพื่อทำซีทีสแกน (CT scan) แพทย์อาจให้เลื่อนการตรวจออกไปก่อนประมาณ 2 สัปดาห์ 

Q: ก่อนตรวจมวลกระดูก ควรเตรียมตัวอย่างไร

A:  การตรวจมวลกระดูกไม่ต้องงดน้ำและอาหาร แต่ต้องงดอาหารเสริมแคลเซียม 24–48 ชั่วโมงก่อนเข้ารับการตรวจ ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบก่อนหากมีโลหะฝังอยู่ในร่างกาย เช่น ใส่ข้อสะโพกเทียม หรือเครื่องกระตุ้นหัวใจ 

วันที่เข้ารับการตรวจมวลกระดูกไม่ควรสวมใส่เครื่องประดับโลหะ เสื้อผ้าที่มีชิ้นส่วนโลหะ หรือเครื่องประดับใด ๆ 

Q: ตรวจมวลกระดูกทำอย่างไร

A: การตรวจมวลกระดูกมีขั้นตอนที่ง่าย ใช้เวลาไม่นาน และไม่ได้มีอะไรน่ากลัวอย่างที่หลายคนกังวล วิธีนิยมคือการตรวจด้วยเครื่อง “DXA SCAN” ซึ่งใช้รังสีเอกซ์ในระดับต่ำ ๆ 2 ชนิด เพื่อตรวจวัดความหนาแน่นและปริมาณแร่ธาตุในกระดูก โดยจะแบ่งการตรวจออกเป็น 2 รูปแบบ คือ

  • ตรวจกระดูกแกนกลาง (Central DEXA) เป็นการตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูกของสะโพก และกระดูกสันหลัง โดยผู้เข้ารับบริการจะต้องนอนราบนิ่ง ๆ จากนั้นเครื่องสแกนจะค่อย ๆ เคลื่อนผ่านบริเวณลำตัว ใช้เวลาประมาณ 10–30 นาที
  • ตรวจกระดูกแขน–ขา (Peripheral DEXA) เป็นการตรวจสุขภาพกระดูกนิ้วมือ ข้อมือ แขนท่อนล่าง หรือเท้า โดยใช้เครื่องที่มีขนาดเล็กกว่า ผู้เข้ารับบริการจะต้องวางอวัยวะที่ต้องการตรวจไว้บนเครื่อง ใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที ส่วนใหญ่จะใช้เพื่อการคัดกรองเท่านั้น เพราะมีความละเอียดน้อยกว่า

Q: การตรวจมวลกระดูกเจ็บไหม 

A: การตรวจมวลกระดูกจะใช้รังสีพลังงานต่ำ เพื่อสะท้อนภาพเนื้อเยื่อกระดูก ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดใด ๆ มีความปลอดภัย ไม่มีผลข้างเคียงจากรังสี

Q: ผลตรวจมวลกระดูกแบบไหนปกติ ผิดปกติ 

A: แพทย์จะอธิบายผลการตรวจมวลกระดูกให้ฟังหลังการตรวจเสร็จสิ้น ผลที่ได้จะแสดงค่าเป็น ค่า T score และ Z score ในลักษณะเป็นกราฟ และแบ่งโซนสี

ค่า T score จะเป็นค่าเปรียบเทียบมวลกระดูกของผู้เข้ารับการตรวจ กับมวลกระดูกโดยเฉลี่ยของคนอายุ 30 ปี ส่วนค่า Z score จะเป็นค่าเปรียบเทียบมวลกระดูกของผู้เข้ารับการตรวจ กับมวลกระดูกโดยเฉลี่ยของคนที่มีอายุเท่ากัน

  • ค่า T-Score มากกว่า –1 ขึ้นไป (โซนสีเขียว) หมายถึง กระดูกมีความหนาแน่นปกติ  
  • ค่า T-Score อยู่ระหว่าง –1 ถึง –2.5 (โซนสีเหลือง) หมายถึง มวลกระดูกน้อย หรือกระดูกบาง (Osteopenia)
  • ค่า T-Score ต่ำกว่า –2.5 (โซนสีแดง) หมายถึง เป็นโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis)

Q: การตรวจมวลกระดูกต้องตรวจซ้ำไหม ตรวจบ่อยแค่ไหน 

A: ขึ้นอยู่กับผลตรวจแต่ละคน บางคนอาจจะตรวจทุก 3 ปี บางคนอาจจะตรวจปี 1 ครั้ง ส่วนคนที่กำลังติดตามผลการรักษาจะขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ ส่วนใหญ่แล้วจะไม่ตรวจมวลกระดูกซ้ำเร็วกว่า 1 ปี เพราะความแตกต่างที่เกิดขึ้นอาจน้อยเกินไปที่จะแปลผลได้ 

กรณีที่ตรวจซ้ำ ควรตรวจด้วยเครื่องตรวจเดิม (สถานพยาบาลเดิม) เพราะแต่ละเครื่องอาจใช้เทคโนโลยีในการวัดที่แตกต่างกัน ค่าที่ได้อาจแตกต่างกัน ทำให้เปรียบเทียบผลตรวจได้ยาก หรือเปรียบเทียบกันไม่ได้

โรคกระดูกพรุน รู้เร็วป้องกันได้! มีความเสี่ยงโรค อย่ารอช้า เช็กโปรตรวจกระดูก ในราคาสุดคุ้มที่ HDmall.co.th จากโรงพยาบาลชั้นนำใกล้บ้าน

Scroll to Top