gastiritis drugs scaled

ยาเคลือบกระเพาะ และยารักษาโรคกระเพาะอาหารอักเสบ

กระเพาะอาหารอักเสบ (Gastiritis) คือ การอักเสบของเยื่อบุกระเพาะอาหารจากกรดภายในกระเพาะอาหารซึ่งเกิดจากการหลั่งกรดที่มากขึ้น มีอาการคือ ปวดแสบปวดร้อน หรือจุกแน่นบริเวณลิ้นปี่ อาการปวดมักสัมพันธ์กับมื้ออาหาร โดยอาจจะเป็นก่อนหรือหลังการรับประทานอาหาร บางรายอาจมีคลื่นไส้หรืออาเจียนร่วมด้วยก็เป็นได้ การกินยาเคลือบกระเพาะ หรือยารักษาโรคกระเพาะอาหารจึงเป็นทางหนึ่งซึ่งช่วยบรรเทาอาการให้ดีขึ้นได้

สาเหตุหลักของโรคกระเพาะอาหารอักเสบ ได้แก่

  1. รับประทานกลุ่มยาแก้ปวดลดอักเสบ ทำให้ระคายเคืองกระเพาะอาหาร และเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ เช่น Aspirin, Ibuprofen, Diclofenac เป็นต้น
  2. ความเครียด เนื่องจากความเครียดกระตุ้นการหลั่งกรด โดยสาเหตุนี้จะเกิดอาการกระเพาะอาหารอักเสบแบบเฉียบพลัน
  3. การติดเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหาร คือเชื้อ Helicobacter pylori (H. pylori) สาเหตุนี้จะก่อให้เกิดโรคเรื้อรัง และต้องรักษาโดยใช้ยาปฏิชีวนะต่อไป

ยาเคลือบกระเพาะ และยารักษาโรคกระเพาะอาหารอักเสบ

เป้าหมายของการรักษากระเพาะอาหารอักเสบ คือ รักษาอาการปวดแน่นท้อง รักษาการอักเสบของเยื่อบุกระเพาะอาหาร ป้องกันการเกิดซ้ำและการเกิดภาวะแทรกซ้อน โดยแพทย์อาจให้ยาหลายกลุ่มร่วมกัน เพื่อให้การรักษาบรรลุเป้าหมายสูงสุด และการรักษาจะใช้เวลาอย่างน้อย 4-8 สัปดาห์

ยาเคลือบกระเพาะ หรือยารักษาโรคกระเพาะอาหารอักเสบ สามารถแบ่งเป็นกลุ่มหลักได้ 3 กลุ่มดังนี้

1. ยาลดกรด (Antacids)

ยารักษาโรคกระเพาะอาหารอักเสบกลุ่มนี้มีฤทธิ์เป็นด่าง ใช้หลักการของการนำด่างมาปรับให้ความเป็นกรดในกระเพาะอาหารลดลง โดยมีตัวยาหลัก 2 ชนิด คือ อะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ (Aluminium Hydroxide) และ แมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ (Magnesium Hydroxide) หรืออาจผสมกับยาตัวอื่นอย่างไซเมทิโคน (Simethicone) ที่ช่วยในการขับลม เป็นต้น ยารักษาโรคกระเพาะอาหารกลุ่มนี้มีทั้งรูปแบบยาน้ำแขวนตะกอน ยาเม็ดแบบเคี้ยว หรือยาเม็ดแบบกลืน หาได้ง่ายตามร้านยาทั่วไปและมีราคาถูก สามารถบรรเทาอาการปวดได้อย่างรวดเร็ว แต่มฤทธิ์คงอยู่ไม่นาน ผลข้างเคียงต่ำแต่อาจเกิดอาจเกิดอาการท้องเสีย ท้องผูก ท้องอืด ได้ในบางราย มีข้อควรระวังการใช้ในเด็ก ผู้ป่วยโรคตับและไต

2. ยาเพิ่มความต้านทานของเยื่อบุกระเพาะอาหาร

ยารักษาโรคกระเพาะอาหารอักเสบกลุ่มนี้ได้แก่

  1. ซูคราลเฟท (Sucralfate) ออกฤทธิ์เป็นเมือกปกคลุมแผลในกระเพาะอาหาร และออกฤทธิืได้ยาวนานมากกว่า 6 ชั่วโมง โดยอาศัยภาวะกรดในการออกฤทธิ์ จึงห้ามใช้ร่วมกับยาลดกรด
  2. บิสมัธซับซาลิไซเลท (Bismuth Subsalicylate) ออกฤทธิ์จับกับแผลในกระเพาะอาหาร และกระตุ้นการหลั่งเมือกเคลือบภายในกระเพาะอาหาร หากใช้เป็นเวลานานอาจทำให้อุจจาระเป็นสีดำได้

3. ยายับยั้งการหลั่งกรด (Antisecretory Drugs)

ยารักษาโรคกระเพาะอาหารอักเสบกลุ่มนี้แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ตามกลไกการออกฤทธิ์ ดังนี้

ยากลุ่มยับยั้งตัวรับฮิสทามีนชนิดที่ 2 (H2-receptor antagonist) ยาจะออกฤทธิ์โดยจับกับตัวรับ (H2 receptor) ของเซลล์บริเวณกระเพาะอาหาร ส่งผลให้มีการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารน้อยลง ยาที่นิยมใช้ ได้แก่ ไซเมททิดีน (Cimetidine) รานิทิดีน (Ranitidine) และฟาโมทิดีน (Famotidine) ยาทุกตัว มีประสิทธิภาพที่เท่าเทียมกัน และมีราคาถูก ผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว มึนงง สำหรับไซเมททิดีน อาจเกิดจากอาการอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ คือ มีผื่นขึ้น ในเพศชายอาจมีอาการเต้านมโตขึ้น (gynecomastia) จึงนิยมใช้ รานิทิดีน และฟาโมทิดีน มากกว่าไซเมททิดีน

ยากลุ่มยับยั้งโปรตอนปัมพ์ (Proton pump inhibitors) เป็นกลุ่มที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของ Proton pump หรือ เอนไซม์ Hydrogen/Potassium Adenosine Triphosphatase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ใช้ในขั้นตอนการผลิตกรดในกระเพาะอาหาร ส่งผลให้การผลิตกรดดำเนินต่อไปไม่ได้ ยากลุ่มนี้จะมีประสิทธิภาพการลดกรดดีกว่ายากลุ่มแรก และยับยั้งการหลั่งกรดได้อย่างยาวนานตลอดวัน ตัวอย่างยาที่มักใช้กัน ได้แก่ Omeprazole, Lanzoprazole, Pantoprazole, Rabeprazole และ Esomeprazole ยาในกลุ่มนี้ทุกตัว มีประสิทธิภาพในการลดกรดใกล้เคียงกัน แตกต่างที่ราคา ซึ่งที่นิยมใช้กันมากที่สุด Omeprazole เนื่องจากมีราคาต่ำที่สุด แต่อาจมีปฏิกิริยากับยาชนิดอื่นได้ เช่น Diazepam และ Warfarin เป็นต้น จึงค่อยเริ่มใช้ยาชนิดอื่นเมื่อใช้ยา Omeprazole ไม่ได้ ผลข้างเคียงของยากลุ่มนี้เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องผูก ท้องอืด คลื่นไส้ อาเจียน


เขียนบทความโดย ภกญ. กันยรัตน์ ภัยชำนาญ เภสัชกร

ตรวจสอบความถูกต้องโดย ทีมแพทย์ HD


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top