ดัชนีมวลกาย BMI

ดัชนีมวลกาย (BMI) บอกอะไรได้บ้าง?

ดัชนีมวลกาย (Body Mass Index: BMI) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “ค่าบีเอ็มไอ” คือ การประเมินสมดุลระหว่างน้ำหนักตัวและส่วนสูงของตนเอง

การคำนวณค่าดัชนีมวลกายไม่ใช่การวัดระดับไขมันโดยตรง แต่เป็นตัวชี้วัดที่ค่อนข้างได้มาตรฐานสำหรับคนส่วนใหญ่ทั้งเพศหญิงและเพศชาย หากคุณอยากทราบว่าน้ำหนักร่างกายของตนเองอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่ หรือคุณกำลังเข้าสู่เกณฑ์ไขมันของคนอ้วน การวัดดัชนีมวลกายสามารถหาคำตอบให้กับคุณได้ นอกจากนี้ยังสามารถทราบถึงความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ ได้

วิธีวัดปริมาณไขมันในร่างกายวิธีอื่น

นอกจากเหนือจากการหาคำนวณค่าดัชนีมวลกายแล้ว มีอีกหลากหลายวิธีในการประเมินระดับของไขมันและกล้ามเนื้อในร่างกาย รวมทั้งเป็นการวิเคราะห์องค์ประกอบของร่างกาย (Body Composition Analysis) ด้วย ซึ่งวิธีอื่นๆ ที่นิยมใช้กัน ได้แก่

  • การวัดความหนาของชั้นผิวหนัง (Skinfold thickness)
  • การชั่งน้ำหนักใต้น้ำ (Underwater weighing)
  • การวัดองค์ประกอบของร่างกายด้วยกระแสไฟฟ้า (Bioelectrical impedance)

วิธีและสูตรคำนวณดัชนีมวลกาย

1. สูตรคำนวณดัชนีมวลกายแบบเมตริกซ์ 

สูตรคำนวณดัชนีมวลกายแบบเมทริกซ์ (Metric BMI Formula) คือ น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) / [ส่วนสูง (เมตร)]2

ตัวอย่าง: น้ำหนักตัว = 68 กิโลกรัม ส่วนสูง = 165 เซนติเมตร (เท่ากับ 1.65 เมตร)
วิธีคิด: 68 / (1.65)2 = มีค่าดัชนีมวลกาย 24.98 กิโลกรัมต่อตารางเมตร

2. สูตรคำนวณดัชนีมวลกายแบบอังกฤษ 

สูตรคำนวณดัชนีมวลกายแบบอังกฤษ (English BMI Formula) คือ น้ำหนักตัว (ปอนด์) / [ส่วนสูง (นิ้ว)]2 x 703

ตัวอย่าง: ถ้าคุณมีน้ำหนักตัว 150 ปอนด์ และสูง 5 ฟุต 5 นิ้ว (เท่ากับ 65 นิ้ว)
วิธีคิด: [150 / (65)2] x 703 = มีค่าดัชนีมวลกาย 24.96 กิโลกรัมต่อตารางเมตร

โปรแกรมหาคำนวณค่า BMI: คำนวณค่า BMI ดัชนีมวลกาย

ดัชนีมวลกายบอกอะไรได้บ้าง

คุณสามารถแปลผลของค่าดัชนีมวลกายสำหรับผู้ใหญ่ได้ด้วยตารางง่ายๆ ต่อไปนี้

ค่าดัชนีมวลกาย
เกณฑ์น้ำหนัก
ต่ำกว่า 18.5 น้ำหนักน้อย
18.5-22.9 น้ำหนักปกติ
23.0-24.9 น้ำหนักเกิน
25.0-29.9 โรคอ้วนระดับ 1
มากกว่า 30.0 โรคอ้วนระดับ 2

สำหรับการแปลค่าดัชนีมวลกายในเด็กนั้นจะแตกต่างออกไปจากของผู้ใหญ่ เพราะจะต้องใช้ตารางการเจริญเติบโต (Growth chart) และเปอร์เซนไทล์ (percentile) ในการวัดด้วยด้วย ถ้าเปิดดูตารางการเจริญเติบโต แล้วน้ำหนักเด็กอยู่ในเปอร์เซนไทล์ที่ 95 หรือมากกว่านั้น แปลว่าเด็กอยู่ในเกณฑ์อ้วน แต่หากน้ำหนักเด็กอยู่ต่ำกว่าเปอร์เซนไทล์ที่ 10 แปลว่ามีน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์

ในกรณีเด็กที่ได้รับอาหารปริมาณมากเกินตั้งแต่เด็ก จนทำให้ขนาดและปริมาณเซลล์ไขมันมากกว่าปกติ ประมาณ 3 เท่า จะส่งผลให้มีโอกาสอ้วนไปตลอดชีวิต

ข้อจำกัดของการใช้ดัชนีมวลกายเพื่อวัดปริมาณไขมันในร่างกาย

แม้ว่าดัชนีมวลกายจะสัมพันธ์กับการวัดไขมันในร่างกายค่อนข้างมาก แต่ก็มีข้อจำกัดอยู่บ้างโดยขึ้นอยู่กับเพศ อายุ และความสามารถทางกีฬา เช่น

  • ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะมีปริมาณไขมันในร่างกายมากกว่าผู้ชาย และผู้ชายมีกล้ามเนื้อมากกว่า ทำให้ผู้หญิงมีโอกาสอ้วนมากกว่า
  • ผู้ที่มีอายุมากกว่า มีแนวโน้มที่จะมีปริมาณไขมันในร่างกายมากกว่าผู้ที่อายุน้อยกว่า จากกล้ามเนื้อที่น้อยลง และเคลื่อนไหวน้อย ทำให้การใช้พลังงานในร่างกายน้อยลง
  • นักกีฬาที่ฝึกฝนมาอย่างดีและยาวนานจะมีดัชนีมวลกายสูง เนื่องจากมีมวลกล้ามเนื้อมาก ซึ่งทำให้น้ำหนักตัวที่มากนั้นมาจากมวลกล้ามเนื้อ ไม่ใช่ไขมัน หรือองค์ประกอบของร่างกาย และไขมันในร่างกาย

กลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคไตหรือมีภาวะบวมน้ำ ค่าดัชนีมวลกายอาจสูงโดยที่ไม่ได้น้ำหนักเกินหรืออ้วนได้

นักกีฬาซึ่งมีมวลกล้ามเนื้อมากจำเป็นจะต้องปรับวิธีการคำนวณดัชนีมวลกายใหม่ เพราะว่าค่าดัชนีมวลกายไม่สามารถแยกแยะสัดส่วนองค์ประกอบต่างๆ ของร่างกายที่รวมกันเป็นน้ำหนักตัวทั้งหมดได้ ดังนั้น นักกีฬาจึงต้องใช้วิธีการวัดองค์ประกอบของร่างกาย และปริมาณไขมันในร่างกายโดยตรง จะดีกว่าการคำนวณดัชนีมวลกาย

นอกจากนี้ นักกีฬาและครูผู้ฝึกยังควรทราบด้วยว่า การคำนวณดัชนีมวลกายนั้น ใช้เพื่อคัดกรองความเสี่ยงที่เกิดจากไขมันในร่างกายที่สูงเกินในกลุ่มประชากรทั่วไป ซึ่งไม่ใช่เครื่องมือที่ดีในการวัดผลกับนักกีฬาที่ฝึกฝนมาอย่างหนัก และมีมวลกล้ามเนื้อค่อนข้างมาก

ความเสี่ยงของสุขภาพจากการมีดัชนีมวลกายสูง

เหตุผลที่มักใช้ดัชนีมวลกายในการคัดกรองสุขภาพของประชากรทั่วไปนั้น เนื่องจากการมีน้ำหนักเกินเกณฑ์มีความสำคัญอย่างมากกับการมีปัญหาสุขภาพ รวมถึงการเกิดโรคเรื้อรัง และการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ผู้ที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์หรืออ้วน จะเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาสุขภาพหรือเกิดโรคแทรกซ้อนเพิ่มขึ้น เช่น

  • ความดันโลหิตสูง
  • โรคเบาหวานชนิดที่ 2
  • โรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือตัน
  • โรคหลอดเลือดสมอง
  • โรคข้อเสื่อม
  • โรคมะเร็งบางชนิด
  • เกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือมีปัญหาทางเดินหายใจ

การมีไขมันส่วนเกินในร่างกายมากเกินไป นอกจากจะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนหลายอย่างแล้ว ไขมันยังเป็นปัจจัยทำให้รูปร่างสัดส่วนของร่างกายเราดูไม่กระชับ หาเสื้อผ้าใส่ลำบากและส่งผลให้เกิดความไม่มั่นใจในตนเองเวลาต้องชั่งน้ำหนัก ซึ่งการปรับให้ค่าดัชนีมวลกายกลับมาอยู่ในเกณฑ์ปกตินั้นทำได้ไม่ยาก เพียงแต่ต้องมีวินัยและความสม่ำเสมอเท่านั้น นั่นก็คือ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดการรับประทานอาหารประเภทที่มีไขมัน น้ำตาลและแป้งให้น้อยลง หมั่นออกกำลังกายให้ร่างกายได้เคลื่อนไหวเพื่อเผาผลาญไขมันที่อยู่ข้างใน เพียงเท่านี้ การมีสุขภาพที่ดีกับค่าดัชนีมวลกายที่กลับมาอยู่ในเกณฑ์เหมาะสมก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม


ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. ธวัลรัตน์ ปานแดง

Scroll to Top