สมอง (Brain) เป็นอวัยวะที่มีความสำคัญอย่างมากต่อมนุษย์และเป็นอีกหนึ่งอวัยวะที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง สมองแบ่งเป็น 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ สมองส่วนหน้า (Fore brain) สมองส่วนกลาง (Mid brain) และสมองส่วนท้าย (Hind brain) แต่ละส่วนของสมองจะทำหน้าที่ควบคุมและสั่งการระบบต่างๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบประสาททั้งหมด
นักวิทยาศาสตร์ยังค้นพบด้วยว่า มีบางสิ่งในชีวิตของเราที่มีอิทธิพลต่อบางส่วนของสมอง หรือการทำงานของสมอง บทความนี้จะพาไปรู้จักสิ่งเหล่านี้
สารบัญ
หน้าที่สำคัญของสมอง
- ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อลาย ความคิด การวางแผน การแก้ปัญหา การตัดสินใจ ความจำ สติปัญญา และการใช้ภาษา
- ควบคุมการได้ยิน การดมกลิ่น ความเข้าใจด้านภาษา และการฟัง
- การรับรส และความรู้สึกจากการสัมผัส อุณหภูมิ ความเจ็บปวด
- ควบคุมการมองเห็น การรวมภาพที่เห็นเข้ากับประสบการณ์และความรู้สึก
- ความทรงจำ
- ควบคุมการทำงานของต่อมใต้สมอง
- เป็นศูนย์กลางของระบบประสาทอัตโนมัติ
- ควบคุมอุณหภูมิร่างกาย
- ควบคุมความรู้สึกหิว-อิ่ม
- ควบคุมความต้องการทางเพศ
- ควบคุมเรื่องการหายใจ
- ดูแลเรื่องการนอนหลับและการตื่น
- ควบคุมการทรงตัว และควบคุมกล้ามเนื้อในการเคลื่อนไหวให้ราบรื่น
ทั้งนี้เราใช้สมอง 100% ในการทำงานตลอดทั้งวัน ไม่เว้นแม้แต่ขณะที่เรานอนหลับ
7 สิ่งที่มีอิทธิพลต่อบางส่วนของสมอง
1. กีฬา
มีงานวิจัยพบว่า กีฬาและกิจกรรมทางกายหลายอย่างสามารถช่วยพัฒนาสมองได้ เนื่องจากการเคลื่อนไหวร่างกายจะทำให้หายใจถี่ขึ้น หัวใจได้สูบฉีดเลือดมากขึ้น ระบบไหลเวียนโลหิตจึงทำงานได้ดีขึ้น รวมทั้งมีเลือดไปเลี้ยงสมองมากขึ้นและเปลือกสมองหนาขึ้น
กีฬาที่แนะนำได้แก่ กีฬาประเภทแอโรบิก เช่น ว่ายน้ำ วิ่ง
ผลที่ตามมาคือ ทำให้การประมวลผลข้อมูลในสมองส่วนกลางดีขึ้น ความจำทั้งระยะสั้นและยาวดีขึ้น มีการตัดสินใจดีขึ้น มีสมาธิดีขึ้น รวมทั้งอารมณดีขึ้น สดชื่น
นอกจากนี้ยังมีการค้นพบด้วยว่า การเล่นกีฬาจะช่วยให้เด็กมีพฤติกรรมและผลการเรียนดีขึ้น ในทางกลับกันการไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกายก็สามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพสมองและกระบวนการรับรู้ หรือเข้าใจ ได้
2. อ่านหนังสือ
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford) สหรัฐอเมริกา ได้ลองหาความสัมพันธ์ระหว่างการอ่านหนังสือ ความตั้งใจ และความวอกแวก โดยให้ผู้เข้าร่วมทดลองอ่านหนังสือเรื่อง Jane Austin
ในตอนแรกคนกลุ่มนี้จะต้องอ่านหนังสือแบบแค่ให้พอผ่านสายตา และในภายหลังจะต้องอ่านแบบตั้งใจราวกับตอนอ่านหนังสือเพื่อเตรียมสอบ
นักวิจัยพบว่า การอ่านหนังสือแบบตั้งใจจะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปยังสมอง ทำให้กระบวนการรับรู้ หรือความเข้าใจ รวมถึงการมีสมาธิจดจ่อต่อสิ่งต่างๆ ดีขึ้น
นั่นอาจเป็นเพราะว่าการตั้งใจอ่านหนังสือจำเป็นต้องใช้ความร่วมมือจากสมองหลายส่วน เช่น การประมวลผลจากภาพ ตัวหนังสือ การเรียนรู้ การเชื่อมโยง ความคิด และจินตนาการ ดังจะเห็นได้ว่า สมองทำให้เรามองเห็นภาพที่อธิบายเป็นตัวหนังสือได้แจ่มชัดราวกับได้เคลื่อนไหวจริงๆ
นอกจากนี้การอ่านหนังสือยังมีประโยชน์ในการลดความเครียด กระตุ้นจิตใจ เพิ่มทักษะการเข้าสังคม ทำให้มีความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น พัฒนาความทรงจำและทักษะการคิด
3. รับประทานน้ำตาลมากเกินไป
การรับประทานของหวาน หรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง แม้จะทำให้รู้สึกสดชื่นกระปี้กระเปร่าทันทีที่ได้รับประทาน เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงปรี๊ด แต่หลังจากนั้นไม่นานเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดลดลง สมองก็จะเริ่มเซื่องซึม คิดช้า ทำให้เริ่มเสพติดรสหวาน
เหตุผลที่สมองเซื่อมซึม อธิบายได้จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่พบว่า การรับประทานน้ำตาลมากเกิน ไปอาจมีผลต่อการดูดซึมโปรตีนของร่างกาย ส่งผลกระทบด้านลบต่อความสามารถในการรับรู้ เรียนรู้ และอารมณ์ โดยเฉพาะการมีความจำและการเรียนรู้เชิงพื้นที่แย่ลง
การรับประทานน้ำตาลมากเกินไปยังไม่เพียงแต่ทำให้คุณมีโอกาสฟันผุและเสี่ยงเป็นโรคอ้วน โรคเบาหวานมากขึ้นเท่านั้น แต่อาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความผิดปกติทางจิตได้ เช่น โรคซึมเศร้า ความผิดปกติทางจิต การรับรู้ที่แย่ลง
4. ความรัก
เมื่อคุณมีความรัก สมองจะหลั่งสารออกซิโทซิน โดพามีน อะดรีนาลีน และนอร์อิพิเนฟริน ซึ่งล้วนแต่ทำให้คุณรู้สึกดี และทำให้หัวใจเต้นระรัว อีกทั้งยังทำให้กระวนกระวายใจ ลุ่มหลง และมีความสุขมากผิดปกติ
ยิ่งไปกว่านั้นยังมีงานวิจัยพบว่า คนที่อึดอัดกับการเข้าสังคมก่อนที่จะได้คบหากับคนรัก เมื่อมีความรักอาจมีการเรียนรู้ทางสังคมดีขึ้น ซึ่งอาจเป็นผลมาจากฮอร์โมนออกซิโทซิน ซึ่งทำให้เรามีความเห็นอกเห็นใจและเข้าใจคนอื่นมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม คนที่เข้าสังคมเก่งอยู่แล้วอาจไม่เห็นผลลัพธ์นี้ชัดเจนสักเท่าไรนัก
5. การตั้งครรภ์
นักวิจัยพบว่า การตั้งครรภ์จะทำให้สมองเนื้อสีเทาในผู้หญิงจะหดตัวลง พร้อมกับสูญเสียปฏิสัมพันธ์ทางสังคม การเข้าอกเข้าใจผู้อื่นไปด้วย แต่ไม่ได้สูญเสียความทรงจำไปแต่อย่างใด
สมองเนื้อสีเทาส่วนนี้มีหน้าที่ควบคุมความจำ อารมณ์ การควบคุมกล้ามเนื้อ การรับรู้ประสาทสัมผัส การพูด การตัดสินใจ และการควบคุมตัวเอง
เชื่อกันว่า สมองเนื้อสีเทามีการหดตัวเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการมีสัญชาตญาณของความเป็นแม่ ความรัก ความผูกพันระหว่างแม่และลูก การระวังภัย
นักวิจัยยังพบว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสมองดังกล่าวจะเกิดขึ้นเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี หลังการคลอดบุตร
6. ความเครียด
ความเครียดทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมามากมาย และหนึ่งในนั้นก็คือ ความเครียดสามารถส่งผลต่อการทำงานของสมอง มีงานวิจัยพบว่า ความเครียดจะเร่งให้กระบวนการรับรู้ หรือเข้าใจแย่ลง
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า การสะสมความเครียดเป็นเวลานานจะทำให้ระดับฮอร์โมนความเครียด “คอร์ติซอล” เพิ่มสูงขึ้น เซลล์ประสาทถูกทำลาย โดยเฉพาะเซลล์สมองในสมองส่วนฮิปโปแคมปัส ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการรวบรวมข้อมูลตั้งแต่ความจำระยะสั้นไปจนถึงความจำระยะยาว ความจำจึงแย่ลง
นอกจากนี้ความเครียดยังเป็นปัจจัยก่อให้เกิดสารโปรตีนที่เรียกว่า “เบตาแอมีลอยด์ (Beta-amyloid)” ซึ่งเป็นต้นเหตุของการสูญเสียความจำ และการภาวะสมองเสื่อม
7. ภาวะขาดน้ำ
น้ำเป็นสิ่งสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตเพราะน้ำเป็นส่วนประกอบหลักของเลือดซึ่งต้องไหลเวียนไปเลี้ยงทั่วร่างกาย น้ำยังเป็นส่วนประกอบของเซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆ ในร่างกายด้วย รวมทั้งน้ำยังทำให้เกิดความสมดุลของระดับเกลือแร่ในร่างกายด้วย
เราจึงมักได้ยินกันบ่อยๆ ว่า ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว หรือ 1.5-2 ลิตรต่อวัน ยิ่งหากมีการสูญเสียน้ำมาก เช่น ในช่วงฤดูร้อน ยิ่งต้องดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย หากมีกิจกรรมที่ต้องออกแรง เสียเหงื่อมาก การดื่มน้ำให้เพียงพอก็เป้นสิ่งจำเป็นเช่นกัน
ภาวะขาดน้ำสามารถทำให้มีอาการปากแห้ง คอแห้ง มึนงง เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย หัวใจเต้นแรง หากขาดน้ำเป็นเวลานานๆ อาจส่งผลให้สมองทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ทำให้กระบวนการรับรู้แย่ลง การเรียนรู้แย่ลง สมาธิต่ำลง การตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่ำลง และเกิดการสูญเสียความทรงจำตามมาได้
ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราควรดื่มน้ำให้เพียงพออยู่เสมอ เพราะน้ำดีต่อทุกระบบต่างๆ ในร่างกายรวมทั้งดีต่อสมอง อวัยวะสำคัญของเรา
เมื่อรู้แล้วว่า มีสิ่งใดที่ส่งผลเสียต่อสมองทั้งด้านความจำ กระบวนการรับรู้ หรือเรียนรู้ ก็ควรหลีกเลี่ยงเพื่อให้สมองไม่เสื่อมสภาพก่อนวัยอันควร หรือสิ่งไหนที่ส่งเสริมการทำงานของสมองก็ควรฝึกทำ เพื่อให้สมองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อยู่กับเราไปได้นานๆ
นอกจากนี้ยังควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ เล่นเกม เล่นดนตรี ลองเรียนรู้ ฝึกทำอะไรใหม่ๆที่ต่างไปจากเดิม พบปะเพื่อนฝูง ออกงานสังคมบ่อยๆ เพื่อให้สมองได้ฝึกลับคมอยู่เสมอ
ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. ธนู โกมลไสย