การผ่าตัดทำหมันชาย เป็นวิธีการคุมกำเนิดแบบถาวรที่มีประสิทธิภาพสูงถึง 99% และราคาไม่แพง จึงเป็นตัวเลือกลำดับต้นๆ ในการคุมกำเนิดของผู้ที่ไม่ต้องการมีลูกเพิ่ม
หากคุณกำลังวางแผนจะทำหมัน ลองมาดูกันว่า การผ่าตัดทำหมันชายมีวิธีไหนบ้าง แต่ละวิธีมีขั้นตอนอย่างไร ต้องเตรียมตัวและดูแลตัวเองอย่างไร รวมทั้งมีข้อดี ข้อจำกัด และผลข้างเคียงอะไรบ้าง
สารบัญ
เปรียบเทียบการผ่าตัดทำหมันชาย มีวิธีไหนบ้าง
การผ่าตัดทำหมันชายมีด้วยกัน 2 วิธี ได้แก่ การทำหมันแบบดั้งเดิม หรือการใช้มีดกรีดเปิดผิวหนัง และการทำหมันแบบเจาะหรือเรียกกันว่า หมันเจาะ
การผ่าตัดทำหมันชายทั้ง 2 วิธี มีหลักการเดียวกัน แตกต่างกันแค่เทคนิคการผ่าตัดเท่านั้น
1. การทำหมันแบบดั้งเดิม (Scalpel Vasectomy)
การทำหมันแบบดั้งเดิมเป็นการใช้มีดกรีดเปิดผิวถุงอัณฑะ ขนาดประมาณ 1-2 เซนติเมตร หาท่อนำอสุจิ จากนั้นตัดและผูกท่อนำอสุจิทั้ง 2 ข้าง แล้วเย็บปิดแผล
ขั้นตอนการทำหมันชายแบบดั้งเดิม
- แพทย์จะทำความสะอาดและเตรียมบริเวณหนังหุ้มอัณฑะ
- ฉีดยาชาเฉพาะที่บริเวณผิวหนังที่อยู่ใกล้ท่อนำอสุจิ ซึ่งอยู่เหนืออัณฑะเล็กน้อย และรอให้ยาชาออกฤทธิ์
- เมื่อยาชาออกฤทธิ์เต็มที่ แพทย์จะใช้มีดกรีดเปิดผิวบริเวณถุงอัณฑะตามตำแหน่งที่วางแผนไว้ จำนวน 1-2 แผล ขนาดประมาณ 1-2 เซนติเมตร จากนั้นจึงหาท่อนำอสุจิ
- ตัดท่อนำอสุจิ แล้วผูกปลายทั้ง 2 ข้าง จากวางท่อนำอสุจิกลับลงไปใต้ผิวหนังเหมือนเดิม
- เย็บปิดผิวหนังด้วยไหมละลาย
การทำหมันด้วยวิธีนี้มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนค่อนข้างน้อย แต่มีโอกาสเกิดได้มากกว่าแบบเจาะ เช่น อาจมีเลือดออก แผลติดเชื้อ เป็นต้น
2. การทำหมันแบบเจาะ (Non Scalpel Vasectomy)
การทำหมันด้วยวิธีนี้เป็นการทำหมันแผลเล็ก ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานที่นิยมใช้ในปัจจุบัน แพทย์จะใช้อุปกรณ์เจาะผิวถุงอัณฑะ หาท่อนำอสุจิ จากนั้นจึงตัดและผูกท่ออสุจิทั้ง 2 ข้าง การผ่าตัดแบบนี้แผลจะมีขนาดเล็ก ประมาณ 0.5-1 เซนติเมตรเท่านั้น จึงไม่จำเป็นต้องเย็บปิดแผลเหมือนการทำหมันแบบดั้งเดิม
ขั้นตอนการทำหมันชายแบบเจาะ
- แพทย์จะทำความสะอาดและเตรียมบริเวณหนังหุ้มอัณฑะ
- ฉีดยาชาเฉพาะที่บริเวณผิวหนังที่อยู่ใกล้ท่อนำอสุจิ ซึ่งอยู่เหนืออัณฑะเล็กน้อย และรอให้ยาชาออกฤทธิ์
- ใช้เครื่องมือปลายแหลมเจาะรูเล็กๆ บริเวณผิวหนังอัณฑะขนาด 0.5 – 1 เซนติเมตร เพื่อหาท่อนำอสุจิ แล้วใช้เครื่องมือพิเศษขนาดเล็ก สอดเข้าไปเกี่ยวท่อนำอสุจิออกมา
- ตัดท่อนำอสุจิ แล้วผูกปลายทั้ง 2 ข้าง จากนั้นวางท่อนำอสุจิกลับลงไปใต้ผิวหนังเหมือนเดิม
- ใช้พลาสเตอร์ยาปิดแผลไว้ โดยไม่ต้องเย็บแผล
ยังลังเลใช่ไหม ไม่รู้ว่าควรเลือกผ่าตัดทำหมันชายด้วยวิธีไหนดี? ปรึกษาแอดมิน หาแพ็กเกจราคาดีใกล้คุณได้ ที่นี่
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดทำหมันชาย
การผ่าตัดทำหมันชายไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวเป็นพิเศษ มีเพียงข้อปฏิบัติที่แพทย์แนะนำเล็กน้อย และไม่ว่าจะเลือกการทำหมันแบบดั้งเดิม หรือแบบเจาะ ก็มีการเตรียมตัวที่ไม่แตกต่างกัน ดังนี้
- แจ้งประวัติสุขภาพทั้งหมดให้แพทย์ทราบ ทั้งประวัติอาการเจ็บป่วย โรคประจำตัว และการรับประทานยา เนื่องจากยาบางชนิดอาจส่งผลกระทบหลังทำหมัน หรือโรคประจำตัวบางโรคอาจทำให้ไม่สามารถทำหมันได้
- ตัดขนบริเวณอัณฑะให้สั้น พร้อมทั้งทำความสะอาดอวัยวะเพศและบริเวณขาหนีบ
- เตรียมกางเกงชั้นในที่ช่วยประคองอัณฑะ ใช้ใส่หลังผ่าตัด
การดูแลตัวเองหลังผ่าตัดทำหมันชาย
หลังจากทำหมันเรียบร้อยแล้ว ผู้เข้ารับการผ่าตัดสามารถกลับบ้านได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล โดยแพทย์จะแนะนำให้ดูแลตัวเอง ดังนี้
- พักผ่อนให้เต็มที่ในช่วง 24 ชั่วโมงแรกหลังจากผ่าตัด อาจมีอาการปวดแผล หรือบวมช้ำได้ในช่วง 2-3 วันแรก และอาการจะค่อยๆ ดีขึ้นจนหายเป็นปกติ
- สวมกางเกงในที่ช่วยประคองถุงอัณฑะ อย่างน้อย 48 ชั่วโมงหลังผ่าตัด
- ควรหลีกเลี่ยงไม่ให้แผลโดนน้ำ ในช่วง 3-4 วัน หลังจากทำหมัน เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- งดหลั่งน้ำอสุจิประมาณ 1 สัปดาห์
- หากมีอาการปวด สามารถรับประทานยาแก้ปวด หรือประคบเย็น เพื่อบรรเทาอาการปวดแผลได้
- งดเว้นการมีเพศสัมพันธ์ ออกกำลังกาย หรือยกของหนัก ประมาณ 1 สัปดาห์แรกหลังผ่าตัด
- กลับไปพบแพทย์ตามนัดหมาย เพื่อติดตามอาการ ประมาณ 6-12 สัปดาห์ บางรายแพทย์อาจตรวจเพิ่มเติมว่า ไม่มีอสุจิหลุดรอดออกมา
ข้อดีของการทำหมันชาย
- เป็นวิธีการคุมกำเนิดมีประสิทธิภาพสูงถึง 99% และมีความปลอดภัยสูง
- มีขั้นตอนซับซ้อนน้อยกว่าการทำหมันในเพศหญิง ใช้เวลาผ่าตัดประมาณ 45 นาทีเท่านั้น
- แผลเล็ก ไม่ว่าจะเลือกผ่าตัดแบบใด ขนาดแผลจะไม่เกิน 2 เซนติเมตร
- ไม่จำเป็นต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล หลังจากทำเสร็จสามารถกลับบ้านได้เลย และพักฟื้นต่อเพียง 2-3 วันเท่านั้น
- หลังจากทำหมันชายแล้ว ประมาณ 1 สัปดาห์ สามารถกลับมามีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ
- มีความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนน้อยมาก
- เจ็บน้อยมาก โดยจะรู้สึกเจ็บในช่วงที่ฉีดยาชาเข็มแรก หลังจากนั้นความเจ็บจะลดลง
- ช่วยลดภาระและความเสี่ยงให้กับฝ่ายหญิง
- ค่าใช้จ่ายไม่สูง
- ไม่กระทบต่อสมรรถภาพทางเพศ มีความต้องการทางเพศได้เหมือนเดิม อวัยวะเพศแข็งตัว และหลั่งน้ำอสุจิได้ตามปกติ
ข้อจำกัดของการทำหมันชาย
- เป็นการทำหมันถาวร หากต้องการมีลูกอีกครั้ง จะต้องผ่าตัดแก้หมัน ซึ่งโอกาสกลับมามีลูกได้อีกครั้งอยู่ที่ 60-80% และอาจลดลง หากผ่านการทำหมันนานเกิน 10 ปีแล้ว
- ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติ หรือเลือดแข็งตัวช้า เป็นโรคผิวหนัง หรือติดเชื้อบริเวณถุงอัณฑะในขณะผ่าตัด และผู้ที่เคยผ่าตัดบริเวณอัณฑะมาก่อน
- หลังจากผ่าตัดทำหมันแล้ว จะยังไม่เป็นหมันทันที แพทย์มักจะแนะนำให้คุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นร่วมกันไปก่อนอย่างน้อย 6-12 สัปดาห์ เนื่องจากหลังการผ่าตัดอาจมีอสุจิหลงเหลืออยู่
ผลข้างเคียงจากการทำหมันชาย
การทำหมันชายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ดังนี้
- มีเลือดออก หรือเลือดคั่งบริเวณถุงอัณฑะ เกิดจากการบาดเจ็บของหลอดเลือดที่อยู่รอบท่อนำอสุจิ
- แผลติดเชื้อ บวมแดง
- พบก้อนในถุงอัณฑะ ซึ่งเป็นก้อนอสุจิจากการรั่วของแผลผ่าตัด
- รู้สึกปวดหน่วงขณะหลั่งอสุจิ อัณฑะบวม
อย่างไรก็ตาม โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวพบได้ค่อนข้างน้อย บางอาการสามารถหายได้เอง หรือสามารถรักษาด้วยการรับประทานยาต้านการอักเสบ หากพบอาการผิดปกติ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
จะเห็นได้ว่า การทำหมันชายเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ไม่ได้ส่งผลกระทบใดๆ ต่อร่างกาย หรือสมรรถภาพทางเพศ และไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด หากคุณยังไม่แน่ใจว่า ควรผ่าตัดทำหมันชายด้วยวิธีไหนดี แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เพื่อเลือกวิธีที่ดีที่สุดสำหรับคุณ
ไม่อยากมีลูกเพิ่มแล้ว อยากทำหมันชาย นัดคุยกับคุณหมอเฉพาะทาง ผ่านทีม HDcare ได้เลย สะดวกรวดเร็ว ทันใจ หรือค้นหาแพ็กเกจผ่าตัดทำหมันชาย จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย