vascular access treatment faq scaled

วิธีดูแลเส้นฟอกไต ไม่เสี่ยงติดเชื้อ ตีบ บวม ตัน

สำหรับผู้ป่วยโรคไต ไตวายเรื้อรังระยะท้ายๆ หนึ่งในวิธีการรักษาและประคับประคองร่างกายที่มีประสิทธิภาพ และใช้อย่างแพร่หลาย คือการฟอกไตทางหลอดเลือด หรือ การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม โดยหนึ่งในกระบวนการสำคัญก่อนที่จะเริ่มฟอกเลือดได้นั้น คือการทำเส้นฟอกไต ซึ่งก็ต้องมีการดูแลรักษาที่เหมาะสม เพื่อยืดอายุการใช้งานให้ได้ยาวนานที่สุด

การดูแลรักษาเส้นฟอกไต หรือเส้นฟอกเลือดมีรายละเอียดอย่างไร ติดตามได้จากบทความนี้เลย

ทำความรู้จักเส้นฟอกเลือดแต่ละรูปแบบ

เส้นฟอกเลือด หรือ เส้นฟอกไต (Vascular Access) มีด้วยกัน 3 รูปแบบหลักๆ โดยแพทย์จะเป็นผู้ประเมินว่าร่างกายผู้ป่วยเหมาะกับการผ่าตัดทำเส้นฟอกไตรูปแบบใด โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. การผ่าตัดทำเส้นฟอกไตชนิดเส้นเลือดจริง (Arteriovenous Fistula: AVF) 

เป็นการผ่าตัดเปิดแผลบริเวณแขนของผู้ป่วย อาจเป็นบริเวณข้อมือหรือข้อศอก หาตำแหน่งหลอดเลือดแดงและดำ จากนั้นเชื่อมต่อเส้นเลือดทั้งสองเข้าด้วยกัน เพื่อให้เลือดจากหลอดเลือดแดง ไหลเข้าไปยังหลอดเลือดดำ ทำให้เส้นเลือดดำโป่งพอง มีขนาดใหญ่ขึ้น และแข็งแรงเพียงพอที่จะใช้เป็นเส้นทางในการนำเลือดเข้าสู่เครื่องไตเทียม

แพทย์มักแนะนำวิธีนี้ให้ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังเป็นวิธีแรก เนื่องจากเป็นการใช้หลอดเลือดตัวเอง ทำให้ภาวะแทรกซ้อนต่ำ โอกาสติดเชื้อน้อย เพราะไม่มีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในร่างกาย รวมทั้งอัตราการตีบตันของเส้นเลือดต่ำ อายุการใช้งานเฉลี่ยประมาณ 5-10 ปี

2. การผ่าตัดทำเส้นฟอกไตชนิดเส้นเลือดเทียม (Arteriovenous Graft : AVG) 

เทคนิคนี้แพทย์จะฝังหลอดเลือดเทียมเข้าไปที่แขนของผู้ป่วย ซึ่งหลอดเลือดเทียมนี้ จะทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างหลอดเลือดดำกับหลอดเลือดแดง และเป็นส่วนที่เชื่อมกับเครื่องฟอกไต ทำให้เวลาฟอกไต ไม่ต้องเจาะเส้นเลือดจริง

แพทย์มักแนะนำวิธีนี้ให้ผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดโดยใช้เส้นเลือดของผู้ป่วยเองได้ เช่น มีขนาดเล็กเกินไป หรือ เส้นเลือดอยู่ลึกมาก 

วิธีนี้มีโอกาสติดเชื้อ และเส้นเลือดอุดตันมากกว่าวิธีแรก และเส้นฟอกไตมีอายุการใช้งานเฉลี่ยน้อยกว่าคือ 1-3 ปี

3. การผ่าตัดใส่สายฟอกไตกึ่งถาวรที่คอ (Permanent Catheter)

บางครั้งอาจเรียกว่า Perm Cath แพทย์จะผ่าตัดเปิดแผลบริเวณคอ และที่หน้าอกประมาณ 1-2 เซนติเมตร และใส่สายขนาดใหญ่เข้าไปในหลอดเลือดดำใหญ่ของผู้ป่วย เพื่อให้สามารถนำเลือดเข้าเครื่องฟอกเลือดหรือเครื่องไตเทียมได้รวดเร็ว

เป็นเทคนิคสำหรับผู้ป่วยที่ผ่าตัดเส้นฟอกไตที่แขนไม่ได้หรือ ผู้ป่วยที่มีปัญหาความดันต่ำ วิธีนี้มีโอกาสติดเชื้อ และเส้นเลือดอุดตันได้บ่อยกว่าสองวิธีแรก มีอายุการใช้งานเฉลี่ยน้อยกว่าคือ 1-3 ปี

การดูแลรักษา ยืดอายุเส้นฟอกไต ไม่ให้ตีบ ติดเชื้อ บวม แตก ตัน

การดูแลรักษาเส้นฟอกไตทั้ง 3 รูปแบบ โดยมากมีรายละเอียดที่คล้ายคลึงกัน โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะหลังการผ่าตัด และระยะการใช้งาน ดังนี้

การดูแลเส้นฟอกไตระยะหลังผ่าตัด

  1. ช่วง 7 วันแรกหลังการผ่าตัด ห้ามแผลเปียกน้ำ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ หากเปียกน้ำ ต้องรีบมาโรงพยาบาลหรือคลินิกเพื่อเปลี่ยนผ้าปิดแผลโดยเร็ว
  2. ไม่ควรแกะ เกาบริเวณรอบๆ แผล เพราะอาจทำให้เกิดการอักเสบหรือติดเชื้อได้
  3. ระมัดระวังอย่าให้แผลผ่าตัดกระทบกระแทกของแข็งหรือของมีคม ระวังการทำกิจกรรมต่างๆ ที่อาจส่งผลกดทับเส้นเลือด
  4. ห้ามนอนทับแขน หรือนอนทับเส้นฟอกไต
  5. หมั่นสังเกตว่ามีเลือดออกมากผิดปกติ ผิวหนังบวม โป่ง หรือ มีเลือดซึมไม่หยุดหรือไม่ หากมีอาการดังกล่าวควรปรึกษาแพทย์ทันที
  6. ช่วง 7 วันแรกหลังจากการผ่าตัด ถ้าบริเวณที่ผ่าตัดมีอาการบวม แดง ร้อน กดเจ็บ พร้อมกับมีไข้ มักเป็นสัญญาณของการติดเชื้อ ควรรีบพบแพทย์
  7. กรณีผ่าตัดทำเส้นฟอกไตที่แขน ในช่วง 2-3 วันแรกหลังผ่าตัด ควรยกแขนให้สูง เพื่อป้องกันไม่ให้มีเลือดหรือน้ำเหลืองคั่งใต้ผิวหนังรอบๆ แผลผ่าตัด 
  8. กรณีผ่าตัดทำเส้นฟอกไตที่คอ ไม่ควรใส่เสื้อชนิดสวมศีรษะ ควรเป็นเสื้อติดกระดุมด้านหน้า เพื่อสะดวกเวลาถอด และป้องกันไม่ให้เกิดการดึงรั้งเส้นที่คอซึ่งอาจทำให้มีเลือดออกได้

การดูแลเส้นฟอกไตระยะใช้งาน

โดยทั่วไปการดูแลเส้นฟอกไตระยะใช้งานในทั้ง 3 รูปแบบมีรายละเอียดที่เหมือนกันได้แก่

  1. หมั่นดูแลรักษาความสะอาด สุขอนามัยบริเวณเส้นฟอกไต
  2. ระมัดระวังไม่ให้บริเวณที่ทำเส้นฟอกไตได้รับความกระทบกระเทือน
  3. หลีกเลี่ยงการยกของหนัก แต่สามารถออกกำลังกายได้ตามปกติ เช่น การเดิน การวิ่ง แต่หลีกเลี่ยงการเล่นกีฬาที่เสี่ยงเกิดความกระทบกระเทือนต่อเส้นฟอกไต เช่น บาสเกตบอล วอลเลย์บอล 

ขณะเดียวกันการดูแลเส้นฟอกไตที่แขน และเส้นฟอกไตที่คอ ก็มีรายละเอียดต่างกันบ้าง ดังนี้ 

กรณีผ่าตัดทำเส้นฟอกไตที่แขน

  1. ห้ามเจาะเลือด วัดความดัน หรือแทงเข็ม เพื่อให้น้ำเกลือหรือยาบริเวณแขนข้างที่ทำการผ่าตัด 
  2. ควรออกกำลังฝ่ามือ แขน โดยวิธีกำลูกเทนนิส หรือ ลูกบอลลูกเล็กๆ ประมาณ 400 ครั้งต่อวัน
  3. หลีกเลี่ยงการยกของหนัก​ โดยเฉพาะแขนข้างที่ทำเส้นฟอกไต
  4. ไม่นอนทับแขน ไม่งอแขน ไม่ใส่นาฬิกา กำไล แขนข้างที่ทำเส้น
  5. ห้ามแกะ เกา รอยสะเก็ดบริเวณที่แทงเข็มเพื่อฟอกไต เพื่อป้องกันการติดเชื้อ หรืออักเสบ
  6. หลังจากการแทงเข็มเพื่อฟอกไต อาจมีอาการเลือดซึม ให้ใช้ผ้าก๊อซกดไว้จนกว่าเลือดจะหยุด แต่หากซึมนานเกิน 10 นาที 
  7. หากบริเวณที่แทงเข็ม เกิดอาการบวมเขียวช้ำ ใน 24 ชั่วโมงแรก ให้ประคบด้วยความเย็น หลังจากนั้นประคบด้วยความร้อน
  8. พลาสเตอร์ที่ปิดแผลบริเวณแทงเข็ม ให้แกะออกได้หลังจากฟอกเลือด 6 ชั่วโมง หากเปียกน้ำให้เปลี่ยนใหม่
  9. หากมีการบวมแดงร้อน หรือมีหนองบริเวณแนวเส้น ให้รีบมาโรงพยาบาลโดยเร็ว
  10. คลำการสั่นของเส้นฟอกไต ถ้าพบว่าการสั่นเบาลงหรือคลำไม่พบเส้น ควรปรึกษาแพทย์  

กรณีผ่าตัดทำเส้นฟอกไตที่คอ

  1. หลีกเลี่ยงการนอนตะแคงด้านที่ทำเส้นฟอกไต
  2. ระมัดระวังอย่าให้สายฟอกไตขยับออกจากดำแหน่งเดิม
  3. ถ้าสายฟอกไตหลุด ให้กดผิวหนังบริเวณที่ใส่สายฟอกไตให้แน่นด้วยมือหรือผ้าขนหนูที่สะอาด และติดต่อแพทย์หรือห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล
  4. หากมีอาการเจ็บ ปวด บวม บริเวณรอบสายที่โผล่ออกจากผิวหนัง หรือตัวร้อนมีไข้ หรือพบว่าสายเลื่อนหลุดออกมา ให้รีบปรึกษาแพทย์ทันที

จะเห็นได้ว่าการดูแลเส้นฟอกไตนั้น ต้องอาศัยความใส่ใจมากเป็นพิเศษ แต่หัวใจสำคัญที่สุดคือความสะอาด และพยายามไม่ให้เส้นฟอกไตไ้ด้รับความกระทบกระเทือนหรือแรงกระแทก เพื่อป้องกันการติดเชื้อ อักเสบ ตีบตัน บวม หรือแตก รวมทั้งยืดอายุการใช้งานให้ใช้ได้ยาวนานมากที่สุด

อยากเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำเส้นฟอกไต การเตรียมร่างกาย และการดูแลกับคุณหมอเฉพาะทางปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคไต จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top