uterine fibroid cancer treatment comparison scaled

8 วิธีรักษาเนื้องอกมดลูก มะเร็งมดลูก ผ่าตัด ไม่ผ่าตัด มีทางเลือกอะไรบ้าง

เมื่อตรวจพบเนื้องอกมดลูกหรือโรคมะเร็งมดลูก หลายคนอาจเข้าใจว่า จำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีผ่าตัดเท่านั้น ซึ่งหลายคนมักกังวลว่าจะมีแผลขนาดใหญ่ ใช้เวลาฟื้นตัวนาน แต่จริงๆ แล้ว ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเสมอไป หรือหากจำเป็นต้องผ่าตัด ก็มีเทคนิคการผ่าตัดหลายรูปแบบ ที่แผลเล็ก หรือไร้แผลเป็น เจ็บน้อย พักฟื้นไม่นาน 

บทความนี้ เราได้รวบรวม 8 วิธีรักษาเนื้องอกมดลูกหรือโรคมะเร็งมดลูก พร้อมเปรียบเทียบข้อดี ข้อจำกัด เอาไว้แล้ว 

สารบัญ

1. การติดตามสังเกตอาการ

เป็นวิธีที่แพทย์ตรวจพบก้อนเนื้องอก แต่ยังไม่วางแผนกำจัดออกในทันที แต่จะนัดหมายให้กลับมาตรวจซ้ำเป็นระยะๆ เพื่อดูการเปลี่ยนแปลง เช่น ขนาด ตำแหน่ง หรือการลุกลาม รวมถึงอาจให้ผู้ป่วยคอยสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นระหว่างนั้นด้วย เช่น เลือดออกจากช่องคลอด ปวดท้องน้อย ประจำเดือนมาผิดปกติ มีตกขาวปนหนอง

การติดตามสังเกตก้อนเนื้องอกในมดลูก เหมาะกับใคร?

วิธีนี้เหมาะกับผู้ที่ตรวจพบเนื้องอกมดลูกที่มีขนาดเล็ก แพทย์ประเมินแล้วว่าไม่มีความเสี่ยง หรือมีความเสี่ยงต่ำที่จะเป็นมะเร็งมดลูก มีอาการผิดปกติเพียงเล็กน้อย หรือไม่มีอาการผิดปกติใดๆ เลย และยังสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

แต่ในกรณีที่พบว่า เนื้องอกมีขนาดใหญ่ หรือพบว่าเป็นมะเร็งมดลูก แพทย์มักแนะนำให้รีบกำจัดก้อนมะเร็งออกโดยเร็ว เพื่อป้องกันการแพร่กระจายไปยังอวัยวะข้างเคียง

ข้อดีของการรักษาด้วยการติดตามสังเกตอาการ

เป็นวิธีรักษาที่ง่ายที่สุด ไม่มีการทำหัตถการใดๆ ผู้ป่วยเพียงมาพบแพทย์ตามนัดหมายทุกครั้ง และดูแลสุขภาพตามคำแนะนำของแพทย์

ข้อจำกัดของการรักษาด้วยการติดตามสังเกตอาการ

ใช้ได้เฉพาะผู้ที่ระยะของโรคอยู่ในช่วงเริ่มต้น มีอาการผิดปกติเพียงเล็กน้อย หรือไม่มีเลย และเนื้องอกที่ตรวจพบต้องไม่ใช่ชนิดมะเร็งเท่านั้น 

ค่าใช้จ่ายในการรักษาด้วยการติดตามสังเกตอาการ

ค่าใช้จ่ายในการติดตามสังเกตอาการ จะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการตรวจติดตามอาการของแต่ละคน หากเป็นการตรวจร่างกายเบื้องต้น ค่าใช้จ่ายมักเริ่มต้นที่ 300 บาทขึ้นไป

แต่หากมีการตรวจอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ตรวจภายใน ตรวจอัลตราซาวด์ ค่าใช้จ่ายในการพบแพทย์แต่ละครั้งก็จะสูงขึ้น เริ่มต้นที่ประมาณ 1,000 บาทขึ้นไป

2. การใช้ยา

นิยมใช้เพื่อบรรเทาอาการผิดปกติที่เกิดจากการมีก้อนเนื้อในมดลูกชนิดไม่ใช่ก้อนมะเร็ง เช่น ประจำเดือนผิดปกติ เลือดออกทางช่องคลอด โดยตัวยาบางชนิดอาจช่วยลดขนาดก้อนเนื้องอกให้เล็กลงได้ แต่จะไม่สามารถกำจัดก้อนเนื้อได้ทั้งหมด 

ตัวอย่างยาที่นิยมใช้รักษา ได้แก่ ยาฮอร์โมนสังเคราะห์ GnRH ยาคุมกำเนิดทั้งแบบยากิน ยาฉีด ห่วงคุมกำนิด ยาต้านการสลายลิ่มเลือด 

การใช้ยารักษาก้อนเนื้องอกในมดลูก เหมาะกับใคร?

แพทย์มักแนะนำวิธีนี้ให้ผู้ที่มีเนื้องอกมดลูกขนาดเล็ก เริ่มมีอาการผิดปกติเพียงเล็กน้อย เช่น เลือดออกในช่องคลอด ประจำเดือนมามาก แต่ยังไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีผ่าตัด 

ข้อดีของการใช้ยารักษาก้อนเนื้องอกในมดลูก

เป็นวิธีรักษาที่ง่าย ไม่ซับซ้อน สามารถบรรเทาอาการข้างเคียงที่เกิดจากก้อนเนื้องอกได้

นอกจากนี้การใช้ยา ยังเป็นอีกหนึ่งขั้นตอนสำหรับการเตรียมตัวก่อนผ่าตัด ในผู้ป่วยที่มีเนื้องอกมดลูก โดยแพทย์มักให้ผู้ป่วยรับประทานยาเพื่อลดขนาดก้อนเนื้องอกก่อน ซึ่งจะทำให้การผ่าตัดง่าย สะดวก และปลอดภัยยิ่งขึ้น

ข้อจำกัดของการใช้ยารักษาก้อนเนื้องอกในมดลูก

แม้ว่าการใช้ยาจะช่วยบรรเทาอาการข้างเคียงจากก้อนเนื้องอก และช่วยลดขนาดก้อนเนื้อได้ แต่ก็ไม่สามารถกำจัดเนื้องอกได้ทั้งหมด และผู้ป่วยมะเร็งมดลูก ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีนี้ได้ ต้องรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ควบคู่กันไปด้วย 

ค่าใช้จ่ายในการใช้ยารักษาก้อนเนื้องอกในมดลูก

ค่าใช้จ่ายจะขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณยาที่ต้องใช้ หากเป็นการใช้ยาคุมกำเนิดเพียงอย่างเดียว ค่าใช้จ่ายขั้นต่ำจะเริ่มต้นที่ 100 บาทขึ้นไป แต่หากต้องใช้ยาอื่นๆ เพิ่มเติม ก็จะมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นตามชนิดของตัวยา

3. การใช้ยาเคมีบำบัด

การใช้ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) หรือ การทำคีโม คือ การใช้ยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตและทำลายเซลล์มะเร็ง สามารถให้ได้ทั้งทางหลอดเลือดหรือการกินยา โดยส่วนมากนิยมใช้รักษาควบคู่ไปกับวิธีรักษาอื่น เช่น การฉายแสง การผ่าตัด 

การใช้ยาเคมีบำบัด รักษาเนื้องอกมดลูก มะเร็งมดลูก เหมาะกับใคร?

ยาเคมีบำบัดจะใช้ผู้ป่วยโรคมะเร็งมดลูกเป็นหลัก โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคมะเร็งในระยะที่ 3 ขึ้นไป หรือการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียงแล้ว 

ข้อดีของการใช้ยาเคมีบำบัด รักษาเนื้องอกมดลูก มะเร็งมดลูก

ยาเคมีบำบัด จะเข้าไปช่วยทำลาย หยุดยั้ง และต่อต้านเซลล์มะเร็งในร่างกาย ควบคุมไม่ให้แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ข้างเคียง นอกจากนี้ยังส่งผลให้ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กลงอีกด้วย

ทั้งนี้แพทย์มักวางแผนรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งมดลูก ด้วยการให้ยาเคมีบำบัดควบคู่ไปกับการผ่าตัด ซึ่งอาจเป็นการให้ยาเคมีบำบัดก่อน เพื่อให้ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กลง หรือ ให้หลังจากการผ่าตัด เพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งที่อาจหลงเหลือให้หมดไปจากร่างกาย

ข้อจำกัดของการใช้ยาเคมีบำบัด รักษาเนื้องอกมดลูก มะเร็งมดลูก

  • ผลข้างเคียงค่อนข้างมาก 
  • ไม่สามารถใช้กับผู้ป่วยบางกรณีได้ เช่น ผู้ป่วยที่กำลังตั้งครรภ์ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ 
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคตับหรือโรคไตระยะรุนแรง จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์อย่างละเอียด 

ผลข้างเคียงของการใช้ยาเคมีบำบัด รักษาเนื้องอกมดลูก มะเร็งมดลูก

เนื่องจากคุณสมบัติของยาเคมีบำบัดคือ จะเข้าไปทำลายเซลล์ที่แบ่งตัวเร็ว ดังนั้นเซลล์ปกติที่แบ่งตัวเร็วในร่างกาย เช่น เซลล์เม็ดเลือด เซลล์ผิวหนัง เยื่อบุทางเดินอาหาร เส้นผม ฯลฯ ก็จะถูกทำลายไปด้วย ส่งผลให้มีอาการข้างเคียงตามมา เช่น

  • ผมร่วง
  • อ่อนเพลีย
  • เวียนศีรษะ
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • เบื่ออาหาร
  • ช่องคลอดแห้ง
  • ติดเชื้อง่ายขึ้น เนื่องจากภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำลง
  • ภาวะไตวาย
  • ภาวะเลือดออกบริเวณกระเพาะปัสสาวะ
  • อาการผิดปกติที่เส้นประสาท

ค่าใช้จ่ายในการใช้ยาเคมีบำบัด รักษาเนื้องอกมดลูก มะเร็งมดลูก

ค่าใช้จ่ายในการใช้ยาเคมีบำบัดรักษาโรคมะเร็งมดลูก จะขึ้นอยู่กับระยะเวลา รวมถึงการตอบสนองต่อยา โดยอาจอยู่ที่ 50,000 บาทขึ้นไป ต่อการรักษา 1 ชุด ระยะเวลาต่อชุดอยู่ที่ 1-5 วัน

4. การฉายแสง

การทำรังสีรักษา (Radiotherapy) หรือการฉายแสงคือ การใช้รังสีพลังงานสูงฉายลงไปบริเวณที่เป็นมะเร็งเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง สามารถแบ่งออกได้ 2 รูปแบบ ตามระยะการใช้รังสี ได้แก่

  • การฉายรังสีในระยะใกล้ (Brachytherapy) หรือที่เรียกว่า “การใส่แร่” วิธีนี้เป็นการฉายรังสีโดยการฝังแร่กัมมันตรังสีเข้าไปที่ก้อนมะเร็งหรือบริเวณใกล้เคียง
  • การฉายรังสีในระยะไกล (External Beam Radiation Therapy: EBRT) เป็นการฉายรังสีที่นิยมใช้ในปัจจุบัน โดยแพทย์จะใช้เครื่องฉายรังสีปล่อยพลังงานรังสีไปยังบริเวณที่เป็นมะเร็ง โดยสามารถปรับความเข้มข้นและขนาดของรังสีตามขนาดของก้อนมะเร็งได้

การฉายแสง รักษาเนื้องอกมดลูก มะเร็งมดลูก เหมาะกับใคร?

  • ผู้ที่รักษาโรคมะเร็งมดลูกด้วยวิธีผ่าตัด และแพทย์แนะนำให้รักษาด้วยการฉายแสงร่วมด้วย เพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งที่อาจยังหลงเหลืออยู่ในร่างกาย
  • ผู้ที่มีเงื่อนไขสุขภาพ ทำให้ไม่สามารถผ่าตัดรักษามะเร็งได้

ข้อดีของการฉายแสงรักษาเนื้องอกมดลูก มะเร็งมดลูก

  • ช่วยทำลายเซลล์มะเร็งที่อาจหลงเหลืออยู่หลังการผ่าตัด
  • หากฉายแสงก่อนผ่าตัด จะช่วยลดขนาดของก้อนมะเร็งได้ ทำให้การผ่าตัดง่ายมากขึ้น หรือใช้รักษาในผู้ที่มีเงื่อนไขสุขภาพที่ใช้วิธีผ่าตัดไม่ได้
  • ไม่ทำให้รู้สึกเจ็บ
  • มีโอกาสหายขาดจากโรคมะเร็งได้สูง โดยเฉพาะหากรักษาร่วมกับวิธีอื่นๆ เช่น การใช้ยาเคมีบำบัด การผ่าตัด

ข้อจำกัดของการฉายแสงรักษาเนื้องอกมดลูก มะเร็งมดลูก

ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ ผู้ป่วยอายุยังน้อย และผู้สูงวัย เป็น 3 กลุ่ม ที่ควรปรึกษาแพทย์อย่างละเอียดก่อนการฉายแสง เนื่องจากมีโอกาสที่รังสีอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ หรือทารกในครรภ์ได้

ผลข้างเคียงของการฉายแสงรักษาเนื้องอกมดลูก มะเร็งมดลูก

ผลข้างเคียงจากการฉายรังสี ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ปริมาณและความถี่ในการฉายรังสี เทคนิคการฉายรังสี ตำแหน่งที่ฉายรังสี ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้ ดังต่อไปนี้

  • อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
  • ผมร่วง
  • เจ็บคอ หรือเยื่อบุภายในช่องปากอักเสบ
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • เบื่ออาหาร
  • ท้องผูก ท้องเสีย
  • ผิวแห้ง ลอก และคัน
  • ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
  • ภาวะเลือดออกไม่หยุดบริเวณกระเพาะปัสสาวะ
  • ภาวะมดลูกตีบ
  • ภาวะหมดประจำเดือนก่อนวัยอันควร
  • ภาวะบวมน้ำเหลือง

ค่าใช้จ่ายในการฉายแสงรักษาเนื้องอกมดลูก มะเร็งมดลูก

ค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคมะเร็งด้วยการฉายแสง เริ่มต้นประมาณ 50,000 ขึ้นไป ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการให้บริการของแต่ละสถานพยาบาล

อาการแบบนี้ มีความเสี่ยงโรคมะเร็งมดลูกมากน้อยแค่ไหน? ถ้าเป็นแล้ว ควรใช้ยา ทำคีโม ฉายแสง หรือผ่าตัด? วิธีไหนเหมาะกับเราที่สุด ทักหาทีมงาน HDcare เพื่อนัดปรึกษาวิธีรักษากับคุณหมอเลย

5. การใช้ยาฮอร์โมนบำบัด

การใช้ยาฮอร์โมนบำบัด (Hormone Therapy) คือการใช้ยาเข้าไปยับยั้งการทำงานของฮอร์โมนในร่างกายส่วนที่กระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ทำให้ก้อนมะเร็งมีโอกาสลดขนาดลงได้ รวมถึงป้องกันโอกาสกลับมาเป็นโรคมะเร็งซ้ำ นิยมใช้รักษาควบคู่ไปกับการให้ยาเคมีบำบัด โดยตัวอย่างยาฮอร์โมนบำบัดที่นิยมใช้เพื่อรักษาโรคมะเร็งมดลูก ได้แก่ 

  • ยาฮอร์โมนสังเคราะห์โปรเจสติน (Progestins)
  • ยาฮอร์โมนสังเคราะห์ LHRH (Luteinizing Hormone-Releasing Hormone agonists)
  • ยาต้านฮอร์โมนทาม็อกซิเฟน (Tamoxifen)
  • ยาลดการทำงานของฮอร์โมนเอสโตรเจน หรืออะโรมาเทส อินฮิบิเตอร์ (Aromatase inhibitors) 

การใช้ยาฮอร์โมนบำบัด รักษาเนื้องอกมดลูก มะเร็งมดลูก เหมาะกับใคร?

  • ผู้ป่วยโรคมะเร็งมดลูกระยะที่ 3 ขึ้นไป หรือแพทย์ประเมินว่ามีอาการค่อนข้างรุนแรง
  • ผู้ที่เคยรักษาโรคมะเร็งมดลูก แล้วกลับมาเป็นซ้ำ

ข้อดีของการใช้ยาฮอร์โมนบำบัด รักษาเนื้องอกมดลูก โรคมะเร็งมดลูก

ยาฮอร์โมนบำบัด สามารถเลือกใช้รักษาได้หลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย ดังนี้

  • ใช้ก่อนฉายรังสีเพื่อลดขนาดก้อนมะเร็ง 
  • ใช้เมื่อมะเร็งเริ่มลุกลามหรือแพร่กระจาย จนไม่สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัดหรือการฉายรังสี 
  • ใช้ในผู้ป่วยที่มีข้อจำกัดด้านสุขภาพ จนไม่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีผ่าตัด หรือฉายรังสี
  • ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดหรือฉายรังสีแล้ว แต่แพทย์พบว่ายังมีเซลล์มะเร็งหลงเหลืออยู่

นอกจากนี้การใช้ยาฮอร์โมนบำบัด ยังช่วยลดโอกาสที่ผู้ป่วยจะกลับมาเป็นโรคมะเร็งซ้ำอีกด้วย 

ข้อจำกัดการใช้ยาฮอร์โมนบำบัด รักษาเนื้องอกมดลูก โรคมะเร็งมดลูก

การใช้ยาฮอร์โมนบำบัดเพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถรักษาโรคมะเร็งมดลูกให้หายขาดได้ แต่มักต้องทำร่วมกับวิธีรักษาอื่น ๆ ด้วย เช่น วิธีผ่าตัด วิธีใช้ยาเคมีบำบัด

ผลข้างเคียงของการใช้ยาฮอร์โมนบำบัด รักษาเนื้องอกมดลูก โรคมะเร็งมดลูก

ผู้ป่วยที่รับยาฮอร์โมนบำบัด จะมีอาการข้างเคียงแตกต่างกัน โดยอาการที่พบได้บ่อยหลังการรักษา ได้แก่

  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  • กระดูกพรุนง่ายขึ้น
  • อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • น้ำหนักขึ้น 
  • ความต้องการทางเพศลดลง
  • รู้สึกร้อนวูบวาบ
  • ภาวะช่องคลอดแห้ง

ค่าใช้จ่ายในการใช้ยาฮอร์โมนบำบัด รักษาเนื้องอกมดลูก โรคมะเร็งมดลูก

ค่าใช้จ่ายในการใช้ยาฮอร์โมนบำบัดเพื่อรักษาโรคมะเร็ง ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการให้บริการของแต่ละสถานพยาบาล รวมถึงแผนการรักษาของผู้ป่วยแต่ละราย

6. การใช้ยามุ่งเป้า

การรักษาโดยใช้ยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) คือ การใช้ยาที่มีความเฉพาะเจาะจงในการควบคุมการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง เป็นแนวทางการรักษาที่แพทย์ออกแบบให้ผู้ป่วยแบบเฉพาะบุคคล เพื่อให้ยากำจัดเซลล์มะเร็งได้มากที่สุด และส่งผลกระทบต่อเซลล์ปกติในร่างกายให้น้อยที่สุดด้วย

ยามุ่งเป้า เป็นยาที่เกิดจากการวิเคราะห์เซลล์มะเร็งในผู้ป่วยโรคมะเร็งหลายคน จนทำให้แพทย์สามารถผลิตตัวยาที่สามารถทำลายโปรตีนภายในเซลล์มะเร็งได้โดยตรงและมีความแม่นยำสูง โดยมีทั้งรูปแบบยากินและยาฉีด

การใช้ยามุ่งเป้ารักษาเนื้องอกมดลูก โรคมะเร็งมดลูก เหมาะกับใคร?

การรักษาโดยใช้ยามุ่งเป้ายังเป็นวิธีรักษาแบบใหม่และยังมีการศึกษาถึงประสิทธิภาพของตัวยาอยู่ ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับการพิจารณาจากแพทย์ในการรักษาคนไข้โรคมะเร็งมดลูกแต่ละราย 

แต่โดยทั่วไป การใช้ยามุ่งเป้ามักได้รับเลือกให้รักษาในคนไข้ที่ระยะของโรครุนแรงแล้ว หรือมีเซลล์มะเร็งมีการแพร่กระจายไปในวงกว้าง หรือเคยรักษาโรคมะเร็งมดลูก และกลับมาเป็นซ้ำอีก

ข้อดีของการใช้ยามุ่งเป้ารักษาเนื้องอกมดลูก โรคมะเร็งมดลูก

  • เป็นการใช้ตัวยาที่สามารถฆ่าเซลล์มะเร็งได้อย่างเฉพาะเจาะจงและตรงจุดมากขึ้น 
  • ส่งผลข้างเคียงต่อเซลล์ปกติของร่างกายได้น้อยกว่า เมื่อเทียบกับวิธีให้ยาเคมีบำบัดที่ส่งผลต่อเซลล์ปกติของร่างกายมากกว่า และทำให้ร่างกายคนไข้อ่อนแอลง
  • เป็นทางเลือกในการรักษาให้กับคนไข้ที่เงื่อนไขสุขภาพไม่แข็งแรงพอต่อการให้ยาเคมีบำบัด

ข้อจำกัดของการใช้ยามุ่งเป้ารักษาเนื้องอกมดลูก โรคมะเร็งมดลูก

ยามุ่งเป้ายังเป็นแนวทางการรักษาแบบใหม่ ตัวยาบางชนิดยังไม่สามารถผลิตออกมาได้ในปริมาณมากได้ และยังต้องมีการศึกษาวิจัยเพื่อให้สามารถรักษาคนไข้โรคมะเร็งได้หลากหลายรูปแบบขึ้น 

ผลข้างเคียงของการใช้ยามุ่งเป้ารักษาเนื้องอกมดลูก โรคมะเร็งมดลูก

ยามุ่งเป้ามักให้ผลข้างเคียงจากการรักษาค่อนข้างต่ำ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายอาจพบอาการข้างเคียงบางประการได้ เช่น

  • อ่อนเพลีย
  • ผิวแห้งหรือคันระคายเคืองผิว
  • เยื่อบุปากอักเสบ
  • เบื่ออาหาร
  • ความดันโลหิตสูง
  • ท้องเสีย

ค่าใช้จ่ายการใช้ยามุ่งเป้ารักษาเนื้องอกมดลูก โรคมะเร็งมดลูก

วิธีรักษาด้วยยามุ่งเป้ามีค่าใช้จ่ายสูง อยู่ที่ประมาณ 2,000,000 บาทขึ้นไป ขึ้นอยู่กับแผนการรักษาในผู้ป่วยแต่ละราย

7. การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด

การใช้ภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) คือ การใช้ยากระตุ้นประสิทธิภาพของภูมิคุ้มกันร่างกายผู้ป่วยให้สามารถต่อต้านและกำจัดเซลล์มะเร็งได้ดียิ่งขึ้น หรืออาจเรียกได้ว่า เป็นวิธีรักษามะเร็งด้วยการใช้ภูมิคุ้มกันร่างกายของผู้ป่วยเอง

การใช้ภูมิคุ้มกันบำบัด รักษาเนื้องอกมดลูก โรคมะเร็งมดลูก เหมาะกับใคร?

การใช้ภูมิคุ้มกันบำบัด นิยมใช้ในผู้ป่วยที่มีเงื่อนไขสุขภาพ ไม่สามารถรักษาด้วยการให้ยาเคมีบำบัดได้ เนื่องจากให้ผลข้างเคียงหลังการรักษาน้อยกว่า แต่ยังมีประสิทธิภาพในการรักษาเทียบเท่าหรือดีกว่าการให้ยาเคมีบำบัด

ข้อดีของการใช้ภูมิคุ้มกันบำบัด รักษาเนื้องอกมดลูก โรคมะเร็งมดลูก

  • เป็นการรักษาด้วยการใช้ภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยเอง โดยไม่ใช้ยาหรือสารเคมีเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็ง
  • ผลข้างเคียงจากการรักษาน้อยกว่า
  • ช่วยเพิ่มการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อโรคมะเร็ง 

ข้อจำกัดของการใช้ภูมิคุ้มกันบำบัด รักษาเนื้องอกมดลูก โรคมะเร็งมดลูก

สำหรับการรักษาโรคมะเร็งมดลูก ภูมิคุ้มกันบำบัดยังเป็นวิธีรักษาใหม่ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการศึกษาเกี่ยวกับข้อจำกัดในการรักษาอยู่

เพื่อความปลอดภัย ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอื่นๆ นอกจากโรคมะเร็งมดลูก ควรแจ้งประวัติสุขภาพให้แพทย์ทราบอย่างครบถ้วน เนื่องจากการกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันต่อต้านเซลล์มะเร็ง ในบางกรณีอาจไปกระทบต่อระบบการทำงานของอวัยวะอื่นๆ ของร่างกายได้

ผลข้างเคียงของการใช้ภูมิคุ้มกันบำบัด รักษาเนื้องอกมดลูก โรคมะเร็งมดลูก

โดยทั่วไปผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดนั้นค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับการให้ยาเคมีบำบัด แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจเกิดผลข้างเคียงจากการรักษาได้ เช่น 

  • เป็นไข้ 
  • อ่อนเพลีย
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • คันระคายเคืองผิว
  • เบื่ออาหาร
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  • ท้องผูกหรือท้องเสีย

ค่าใช้จ่ายในการใช้ภูมิคุ้มกันบำบัด รักษาเนื้องอกมดลูก โรคมะเร็งมดลูก

การใช้ภูมิคุ้มกันบำบัดในการรักษาโรคมะเร็ง มีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นที่ 3,000,000 บาทขึ้นไป ขึ้นอยู่กับแผนการรักษาและเงื่อนไขการให้บริการในแต่ละสถานพยาบาล

8. การผ่าตัด

การผ่าตัด (Surgery) เป็นวิธีรักษามาตรฐานเมื่อมีการตรวจพบเนื้องอกมดลูก ไม่ว่าจะเป็นชนิดมะเร็งหรือไม่เป็นมะเร็งก็ตาม แพทย์มักใช้การผ่าตัดรักษา ควบคู่ไปกับวิธีอื่นๆ เช่น การฉายแสง การให้ยาเคมีบำบัด เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีเซลล์มะเร็งหลงเหลืออยู่

การรักษาเนื้องอกมดลูกและโรคมะเร็งมดลูกสามารถทำได้หลายเทคนิค ขึ้นอยู่กับลักษณะ ชนิด ตำแหน่งของก้อนเนื้อ รวมถึงระยะความรุนแรงของโรค เช่น

  • การผ่าตัดเนื้องอกมดลูก เป็นเทคนิคการผ่าตัดมาตรฐาน โดยแพทย์จะกรีดเปิดแผลที่หน้าท้อง แล้วตัดหรือเลาะ เพื่อนำก้อนเนื้องอกออกมา ข้อจำกัดคือแผลผ่าตัดมีขนาดค่อนข้างใหญ่ แต่มีข้อดีคือสามารถกำจัดเนื้องอกได้ทุกกรณี ยกเว้นผู้ป่วยมีปัญหาสุขภาพอื่นๆ
  • การผ่าตัดเนื้องอกมดลูกแบบส่องกล้องทางหน้าท้อง แพทย์จะเจาะรูเล็กๆ ที่หน้าท้อง 3-4 รู จากนั้นจะใช้อุปกรณ์ผ่าตัดและกล้องผ่าตัดขนาดเล็ก สอดเข้าไปผ่าตัดและนำก้อนเนื้อออก ทำให้แผลหลังผ่าตัดมีขนาดเล็กกว่าเทคนิคผ่าตัดแบบเปิดแผลทางหน้าท้อง แต่ก็มีข้อจำกัดคือถ้าเนื้องอกมีขนาดใหญ่ หรือโรคมีความซับซ้อน จะไม่สามารถผ่าตัดด้วยวิธีนี้ได้
  • การผ่าตัดเนื้องอกมดลูกแบบส่องกล้องที่โพรงมดลูก แพทย์จะสอดอุปกรณ์ผ่าตัดเข้าทางโพรงมดลูก แล้วใช้ขดลวดไฟฟ้าตัดเลาะเนื้องอกออกมา เป็นการผ่าตัดที่ไม่มีแผลผ่าตัดที่ภายนอกเลย ฟื้นตัวไว แต่ข้อจำกัดคือ เหมาะกับเนื้องอกที่มีขนาดเล็กหรือเป็นติ่งเนื้อ ขนาดไม่เกิน 3 มิลลิเมตร และต้องเป็นในโพรงมดลูกหรือเยื่อบุโพรงมดลูกเท่านั้น
  • การผ่าตัดมดลูกและปากมดลูกออกทางหน้าท้อง เป็นการผ่าตัดแบบเปิด ที่มีแผลขนาดใหญ่บริเวณหน้าท้องเช่นกัน แต่เทคนิคนี้แพทย์จะผ่าตัดทั้งมดลูก และปากมดลูกออกมาทั้งหมด 
  • การผ่าตัดเนื้องอกมดลูกและปากมดลูกแบบส่องกล้องทางหน้าท้อง เป็นการผ่าตัดด้วยเทคนิคส่องกล้องผ่านหน้าท้อง ซึ่งให้แผลเล็กเช่นกัน แต่นอกจากเนื้องอกที่มดลูกแล้ว แพทย์จะตัดส่วนของปากมดลูกที่ได้รับผลกระทบจากรอยโรคออกด้วย 
  • การผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอด แพทย์จะกรีดเปิดแผลและสอดอุปกรณ์ผ่าตัดผ่านทางช่องคลอด จากนั้นจึงตัดมดลูกทั้งหมด แล้วนำออกทางช่องคลอด วิธีนี้ขนาดแผลจะเล็กมาก และไม่มีรอยแผลบริเวณผิวหนัง

การผ่าตัดการรักษาเนื้องอกมดลูก โรคมะเร็งมดลูก เหมาะกับใคร?

  • ผู้ป่วยที่เคยรักษาด้วยวิธีอื่นๆ แล้ว แต่อาการไม่ดีขึ้น หรือเนื้องอกมีการเจริญเติบโตมากขึ้นกว่าเดิม
  • ผู้ที่ตรวจพบโรคมะเร็งมดลูกในระยะที่โรคยังไม่แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ แพทย์มักแนะนำให้ผ่าตัดโดยเร็วที่สุด
  • ผู้ที่ตรวจพบก้อนเนื้องอกหรือก้อนมะเร็งในระยะลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียง แพทย์มักแนะนำให้รักษาด้วยการผ่าตัดร่วมกับวิธีรักษาอื่นๆ เช่น การฉายแสง การให้ยาเคมีบำบัด
  • ผู้ป่วยที่ต้องการมีบุตร แล้วตรวจพบเนื้องอกในมดลูก 

ข้อดีของการผ่าตัดรักษาเนื้องอกมดลูก โรคมะเร็งมดลูก

  • เป็นวิธีพื้นฐานกำจัดก้อนเนื้องอก หรือก้อนมะเร็งได้ทันที 
  • มีเทคนิคการผ่าตัดที่หลากหลาย ช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาโรคให้หายขาดได้มากขึ้น ฟื้นตัวไว ผลกระทบน้อยลง
  • ใช้รักษาร่วมกับวิธีอื่นๆ เพื่อผลลัพธ์ในการกำจัดเซลล์มะเร็งที่มีประสิทธิภาพขึ้น

ข้อจำกัดของการผ่าตัดรักษาเนื้องอกมดลูก โรคมะเร็งมดลูก

  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอด โรคหัวใจ ซึ่งอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์โดยละเอียด
  • บางกรณีที่เนื้องอกมีขนาดใหญ่ หรืออาการของโรคซับซ้อน แพทย์อาจต้องตัดมดลูกออกทั้งหมด ทำให้ไม่สามารถมีบุตรได้อีกในอนาคต
  • เทคนิคการผ่าตัดส่วนใหญ่ มักต้องกรีดเปิดแผลที่ผิวหนัง ซึ่งทำให้เกิดแผลเป็นหลังผ่าตัด

ผลข้างเคียงของการรักษาเนื้องอกมดลูก โรคมะเร็งมดลูกด้วยการผ่าตัด

ผลข้างเคียงจากการผ่าตัดจะแตกต่างกันไปในคนไข้แต่ละราย รวมถึงขึ้นอยู่กับเทคนิคการผ่าตัด ความซับซ้อนในการผ่าตัด เช่น

  • ผลข้างเคียงจากการดมยาสลบ เช่น เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน
  • ภาวะแผลติดเชื้อ ทำให้แผลบวมแดง มีของเหลวไหลออกจากแผล มีไข้สูง มีกลิ่นเหม็น
  • ภาวะเสียเลือดมากจากการผ่าตัด
  • ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
  • ภาวะเลือดออกในช่องท้องหรือในอุ้งเชิงกราน
  • มีเลือดออกจากช่องคลอด
  • มีปัญหาด้านการขับถ่าย ทั้งปัสสาวะหรืออุจจาระ 

ค่าใช้จ่ายในการรักษาเนื้องอกมดลูก โรคมะเร็งมดลูกด้วยการผ่าตัด

ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดเพื่อรักษาเนื้องอกมดลูกและโรคมะเร็งมดลูก จะขึ้นอยู่กับเทคนิคการผ่าตัดและเงื่อนไขการให้บริการในแต่ละสถานพยาบาล โดยส่วนมากจะเริ่มต้นที่ประมาณ 70,000 บาทขึ้นไป

จะเห็นได้ว่าการรักษาเนื้องอกมดลูก หรือโรคมะเร็งมดลูกนั้นมีทางเลือกมากมาย ดังนั้นหากตรวจพบเนื้องอกในมดลูก ไม่ว่าจะเป็นชนิดธรรมดา หรือชนิดมะเร็ง ก็ไม่ต้องกังวล เพราะด้วยนวัตกรรมทางการแพทย์ในปัจจุบันที่มีการพัฒนาอยู่เสมอ จึงมีโอกาสที่จะหายขาดจากโรคนี้ได้สูง 

ตรวจพบก้อนเนื้องอกมดลูก มะเร็งมดลูก จำเป็นต้องผ่าตัดไหม รักษายังไงดีที่สุด? ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจผ่าตัดมดลูก เนื้องอกมดลูก จาก รพ. ใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top