ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านม หลายคน ที่จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเต้านม ออก อาจรู้สึกกังวลใจ ว่าจะไม่สามารถกลับมามีเต้านมได้เหมือนเดิมอีก แต่จริงๆ แล้ว เราสามารถผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมขึ้นมาใหม่ได้ ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยกลับมามีความมั่นใจได้อีกครั้ง แต่ขั้นตอนจะเป็นอย่างไร สามารถทำหน้าอกใหม่ได้ทันทีเลยไหม หรือจะต้องรอให้รักษามะเร็งจนหายดีก่อน บทความนี้มีคำตอบ
สารบัญ
การผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมดและเสริมสร้างเต้านมใหม่ คืออะไร?
การผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด (Total Mastectomy) และเสริมสร้างเต้านมใหม่ (Breast Reconstruction) คือ วิธีรักษามะเร็งเต้านมสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ยังต้องการมีหน้าอกอยู่ โดยขั้นแรกแพทย์จะต้องรักษาโรคมะเร็งเต้านม ด้วยการผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด
ไม่ว่าจะเป็น เนื้อเยื่อเต้านม ก้อนมะเร็ง ผิวหนังส่วนที่อยู่เหนือก้อนมะเร็ง หัวนม และอาจรวมไปถึงต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใต้รักแร้ด้วย ซึ่งหลังจากที่รักษาเสร็จแล้ว ผู้เข้ารับการรักษาจะไม่มีเต้านมเหลืออยู่เลย
ส่วนการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมใหม่ จะเป็นการผ่าตัดเพื่อสร้างรูปทรงเต้านมขึ้นมาใหม่ให้ใกล้เคียงกับเต้านมเดิมมากที่สุด เพื่อช่วยให้ผู้เข้ารับการรักษามีความมั่นใจมากขึ้น ลดความรู้สึกสูญเสียอวัยวะที่บ่งบอกความเป็นเพศหญิง และฟื้นฟูสภาพจิตใจให้รู้สึกดีขึ้นได้
ผ่าตัดเสริมสร้างเต้านม สามารถทำได้ตอนไหน?
การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมใหม่ สามารถทำได้ 2 ช่วงเวลา ดังนี้
- ผ่าตัดมะเร็งเต้านมออกแล้วเสริมทันที (Immediate Breast Reconstruction) เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านมในระยะแรกเริ่ม มีความเสี่ยงต่ำที่เซลล์มะเร็งจะแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ และเนื้อเยื่อบริเวณเต้านมยังไม่ได้รับความเสียหายจากการฉายแสง หรือมีบาดแผล ซึ่งแพทย์ประเมินแล้วว่าสามารถทำพร้อมกับผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านมได้
- เสริมสร้างเต้านมหลังการรักษามะเร็งจนเสร็จสิ้นก่อน (Delayed Breast Reconstruction) เหมาะสำหรับผู้รักษามะเร็งเต้านมที่จำเป็นต้องรักษาด้วยการฉายแสง หรือให้ยาเคมีบำบัดให้เสร็จก่อน ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ระยะเวลาประมาณ 1-2 ปีกว่าที่จะรักษาเสร็จ จากนั้นจึงสามารถเข้ารับการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมใหม่ได้
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับฟังคำแนะนำจากแพทย์ว่าควรเสริมสร้างเต้านมในช่วงเวลาใดจึงจะเหมาะสมกับอาการ ระยะ และความรุนแรงของโรค เพื่อให้การรักษาเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
รวมเรื่องต้องรู้เกี่ยวกับการผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านม คลิกอ่านต่อ
การเสริมสร้างเต้านมใหม่ มีกี่วิธี?
การเสริมสร้างเต้านมใหม่ จะแบ่งเป็น 3 วิธีหลักๆ ตามวัสดุที่นำมาใช้ ดังนี้
1. ผ่าตัดโดยการใช้กล้ามเนื้อและชั้นไขมันบริเวณที่หลัง (Latissimus Dorsi Flap)
เป็นการนำกล้ามเนื้อและชั้นไขมันที่หลังมาใช้สร้างเต้านมใหม่ มีข้อดีตรงที่อยู่ใกล้หน้าอกมาก จึงง่ายต่อการโยกย้าย และมีเลือดมาหล่อเลี้ยงได้ดี ทำให้สมานตัวได้เร็ว โดยจะใช้ระยะเวลาพักฟื้นประมาณ 5-7 วันเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม การนำกล้ามเนื้อและชั้นไขมันบริเวณหลังมาสร้างเต้านมใหม่ จะส่งผลกระทบต่อความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเหยียดหัวไหล่ ทำให้ไม่สามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพเท่าเดิม และกล้ามเนื้อไหลมีความหนาแน่นน้อย จึงสร้างเต้านมได้แค่ขนาดเล็กเท่านั้น
2. ผ่าตัดโดยการใช้กล้ามเนื้อและชั้นไขมันหน้าท้อง (Trasverse Rectus Abdominis Musculocutaneous Flap)
เป็นการนำผิวหนัง ไขมัน กล้ามเนื้อหน้าท้อง และขั้วหลอดเลือดที่อยู่ใต้สะดือไปจนถึงบริเวณหัวเหน่า โยกย้ายผ่านช่องใต้ผิวหนังขึ้นมาไว้ที่หน้าอกเพื่อผ่าตัดตกแต่ง และสร้างเป็นรูปทรงเต้านมขึ้นมาใหม่
การผ่าตัดด้วยวิธีนี้ จะมีข้อดีตรงที่สามารถสร้างรูปทรงเต้านมให้สวยงามและสมบูรณ์ได้มากกว่าวิธีแรก แต่อาจทำให้เกิดผลกระทบในระยะยาวอย่างการเกิดภาวะไส้เลื่อนได้ง่าย หรือมีโอกาสที่เนื้อเยื่อที่ปลูกถ่ายจะตายได้
3. ผ่าตัดเต้านมเทียม (Silicone)
เหมาะสำหรับผู้ที่กังวลเกี่ยวกับการสูญเสียความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ โดยแพทย์จะใช้ถุงเต้านมเทียมแบบสำเร็จรูปมาใช้ในการสร้างเต้านมใหม่แทน ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับที่ใช้ในการผ่าตัดเสริมหน้าอก สามารถเลือกรูปทรงกลม รูปทรงหยดน้ำ หรือขนาดได้เช่นกัน
การผ่าตัดเต้านมเทียมนั้น จะมีให้เลือกอยู่ 3 แบบหลักๆ ได้แก่
- การผ่าตัดในขั้นตอนเดียว เป็นการใช้เต้านมเทียมสำเร็จรูป ใส่เข้าไปแทนที่เนื้อเยื่อเต้านมที่ถูกตัดออกไป เหมาะกับผู้ป่วยที่มีเต้านมขนาดเล็ก หรือปานกลาง ที่ยังไม่หย่อนคล้อย และมีช่องกล้ามเนื้อที่กว้างเพียงพอในการบรรจุเต้านมเทียมได้
- การผ่าตัดแบบสองขั้นตอน เป็นวิธีที่เหมาะสำหรับผู้ที่มีผิวหนังหรือเนื้อบริเวณเต้านมน้อย โดยจะแบ่งการผ่าตัดเป็น 2 ครั้ง
- ครั้งที่ 1 เป็นการผ่าตัดที่ทำขณะผ่ามะเร็งเต้านม คือ หลังจากนำเต้านมออกไปแล้ว แพทย์จะใส่ตัวขยายผิวหนัง (Tissue Expander) ไว้ในช่องใต้กล้ามเนื้อก่อน มีลักษณะคล้ายกับถุงเต้านมเทียม แต่จะมีช่องให้แพทย์ค่อยๆ ใส่น้ำเกลือเพื่อยืดขยายผิวหนัง และเนื้อเยื่อบริเวณเต้านมได้
- ครั้งที่ 2 หลังจากที่ขยายผิวหนังจนได้ขนาดที่ต้องการแล้ว แพทย์จะผ่าตัดอีกครั้ง เพื่อใส่ซิลิโคนจริง
- การผ่าตัดแบบผสม คล้ายกับวิธีผ่าตัดแบบสองขั้นตอน แต่จะใช้ถุงเต้านมเทียมที่ใส่น้ำเกลือได้เข้าไปแทน ซึ่งจะมีคุณสมบัติเหมือนกับตัวถ่างขยายผิวหนัง โดยแพทย์จะค่อยๆ ใส่น้ำเกลือไปเรื่อยๆ ผ่านท่อ เมื่อได้ขนาดตามที่ต้องการแล้ว แพทย์ก็เพียงนำท่อสำหรับฉีดน้ำเกลือออก โดยไม่ต้องผ่าตัดซ้ำ ผู้ป่วยก็ไม่ต้องเจ็บตัวอีกครั้ง
เทคนิคการผ่าตัดเต้านม และเสริมสร้างเต้านมใหม่ มีอะไรบ้าง?
เทคนิคการผ่าตัดเต้านมเพื่อรักษามะเร็งเต้านมนั้น แบ่งได้ 2 รูปแบบหลักๆ คือ เทคนิคการผ่าตัดแบบเปิด และการผ่าตัดแบบส่องกล้อง รายละเอียด ดังนี้
1. เทคนิคการผ่าตัดเต้านม และเสริมสร้างเต้านมใหม่แบบเปิด (Wide Excision)
เทคนิคนี้แพทย์จะกรีดเปิดผิวหนัง บริเวณใต้ลานนม หรือบริเวณขอบล่างของเต้านม จากนั้นจึงตัดนำเนื้องอก เนื้อเยื่อเต้านม ผิวหนังส่วนที่อยู่เหนือก้อนมะเร็ง หัวนม รวมไปต่อมน้ำเหลืองด้วย จากนั้นจึงผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมใหม่ โดยจะแบ่งการผ่าตัดได้อีก 2 รูปแบบคือ
กรณีที่ผู้ป่วยเป็นมะเร็งเต้านมระยะ 0 หรือระยะที่ 1 แพทย์อาจแนะนำให้ ผ่าตัดเต้านมทั้งหมด ควบคู่กับ ผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองเซนติเนล และ การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านม โดยส่วนใหญ่สามารถเสริมหน้าอกไปในการผ่าตัดคราวเดียวกัน หากเซลล์มะเร็งยังไม่มีการแพร่กระจาย หรือโอกาสแพร่กระจายต่ำ และไม่ต้องให้เคมีบำบัดหรือฉายแสงหลังการผ่าตัด
กรณีกรณีที่ผู้ป่วยเป็นมะเร็งเต้านมระยะลุกลาม หมายถึงเซลล์มะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองแล้ว จะแนะนำให้ ผ่าตัดเต้านมทั้งหมด ควบคู่กับ ผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออกทั้งหมด และ ผ่าตัดเสริมสร้างเต้านม ในภายหลัง โดยกรณีนี้มักต้องรอระยะเวลา 1-2 ปี เพื่อทำการรักษามะเร็งให้หายขาดก่อน จึงผ่าตัดเสริมเต้านมได้
2. เทคนิคการผ่าตัดเต้านม และเสริมสร้างเต้านมใหม่แบบส่องกล้อง (Endoscopic Breast Surgery)
เทคนิคนี้พัฒนามาจากการผ่าตัดแบบเปิด โดยมีรายละเอียดที่ต่างกันคือ เทคนิคนี้จะมีการเปิดแผลขนาดเล็กบริเวณใต้รักแร้ หรือฐานหัวนม แล้วใช้อุปกรณ์ผ่าตัดที่มีกล้องขนาดเล็กติดอยู่ที่ส่วนปลาย สอดเข้าไปผ่าตัดเอาเนื้องอกเต้านมออก
แพทย์จะมองเห็นภาพอวัยวะภายในผ่าจอมอนิเตอร์ แล้วทำการตัดเลาะเนื้อเต้านมและเก็บรายละเอียดได้อย่างแม่นยำ ช่วยลดระยะเวลาการผ่าตัดลง แผลมีขนาดเล็กลง ระยะเวลาพักฟื้นสั้นลงด้วย โดยแบ่งการผ่าตัดออกเป็น รูปแบบเช่นกัน คือ ผ่าตัดเต้านมทั้งหมดส่องกล้อง ควบคู่กับ ผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองเซนติเนลแบบเปิด และ การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านม หรือ ผ่าตัดเต้านมทั้งหมดส่องกล้อง ควบคู่กับ ผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออกทั้งหมดแบบเปิด และ การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านม
ส่วนจะเลือกวิธีไหน และควรเสริมสร้างหน้าอกเมื่อไหร่นั้น ควรให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาเป็นหลัก
การดูแลหลังผ่าตัดเต้านมและเสริมสร้างเต้านมใหม่
หลังผ่าตัดเต้านมและเสริมสร้างเต้านมใหม่แล้ว ควรดูแลตัวเองตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย โดยแพทย์อาจแนะนำให้ดูแลด้วยวิธีต่อไปนี้
- ให้นอนยกแขนข้างที่ผ่าตัดสูง 45 องศา โดยใช้หมอนรองแขน เพื่อให้เลือดไหลเวียนดีขึ้นและป้องกันไม่ให้เกิดอาการแขนบวม
- ระมัดระวังไม่ให้แผลผ่าตัดโดนน้ำ ถ้ามีเลือดซึมให้แจ้งพยาบาลทันที
- รับประทานยาแก้ปวดทุก 4-6 ชั่วโมง หรือฉีดยาแก้ปวดทางหลอดเลือดดำ
- รับประทานยาปฏิชีวนะให้หมดตามที่แพทย์สั่ง
- ระมัดระวังไม่ให้สาย หรือท่อระบายออกจากแผล หัก พบ งอ หรือเลื่อนหลุดจากตำแหน่งเดิม
- หลังจากอาการปวดทุเลาลงแล้ว ให้ทำท่าบริหารร่างกายตามที่นักกายภาพแนะนำ เพื่อฟื้นฟูร่างกาย ป้องกันการเกิดอาการข้อไหล่ติด
- หมั่นทำกิจวัตรประจำวันตามปกติ เพื่อช่วยให้แผลหายเร็ว และเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง
ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้หลังจากการผ่าตัด
ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้จากการผ่าตัดเต้านมและเสริมสร้างเต้านมใหม่ มีดังนี้
- ความเสี่ยงทั่วไปที่พบได้จากการทำหัตถการ เช่น การติดเชื้อ แพ้ยาชา อาการชา บวมช้ำ เลือดออก หรือเลือดคลั่ง
- เกิดการสะสมของน้ำเหลือง หรือเลือดบริเวณใต้ผิวหนัง
- แผลหายช้าจากการที่ขอบแผลมีเลือดมาหล่อเลี้ยงได้น้อย และทำให้ผิวหนังเปลี่ยนสี
- หัวไหล่ติด ยกแขนได้ไม่สุด เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ชั่วคราว สามารถรักษาได้ด้วยการทำกายภาพบำบัด
- แขนบวมข้างที่ทำการผ่าตัด เป็นผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไปจากการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออก
- มีอาการปวดเรื้อรังบริเวณที่ผ่าตัด สามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยาแก้ปวด
- เซลล์มะเร็งกลับมาก่อตัวอีกครั้ง ถ้าหากตรวจพบ จะต้องรักษาด้วยการทำเคมีบำบัด ฉายแสงรังสี หรือทำการผ่าตัดเพิ่มเติม
- อาจเกิดภาวะเยื่อไขมันตายและกลายเป็นก้อนแข็งตามมา เรียกว่า “Fat Necrosis” เป็นหนึ่งในความผิดปกติที่พบได้ในเต้านม อาจมีขนาดคงที่ หรือขนาดเล็กลงก็ได้
- อาจเกิดภาวะซิลิโคนหดตัว (Capsular Contracture) แล้วทำให้เต้านมแข็งตึงและเจ็บได้ หรือทำให้เต้านมผิดรูปจากการที่เนื้อเยื่อบริเวณรอบซิลิโคนเกิดการดึงรั้งได้
ผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมดและเสริมสร้างเต้านมใหม่ที่ไหนดี?
การผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมดและเสริมสร้างเต้านมใหม่ เป็นทางเลือกสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านม ซึ่งจะช่วยเพิ่มความมั่นใจ รวมทั้งฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้ป่วยให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น และกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้อีกครั้ง
แต่การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมนี้ จำเป็นต้องเลือกโรงพยาบาลที่มีเครื่องมือที่ทันสมัย ครบครัน และได้มาตรฐาน รวมทั้งควรเลือกผ่าตัดกับทีมแพทย์เฉพาะทาง ผู้มีความชำนาญการ และมีประสบการณ์ในการผ่าตัดค่อนข้างหลากหลายรูปแบบ เพื่อที่จะได้ให้คำแนะนำและวางแผนการผ่าตัดให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละคน รวมทั้งออกแบบเสริมสร้างเต้านมใหม่ ให้มีความใกล้เคียงกับเต้านมตามธรรมชาติมากที่สุด
สำหรับใครที่กำลังมองหาโรงพยาบาลในการผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านมและเสริมสร้างเต้านมใหม่อยู่ ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมให้คำแนะนำคุณเกี่ยวกับคุณหมอเฉพาะทาง มีประสบการณ์ผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านมและเสริมสร้างเต้านมใหม่มาแล้วหลากหลายเคส
ทีม HDcare สามารถช่วยทำนัด ให้คุณได้เข้าปรึกษาคุณหมอได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องรอคิวนาน ไม่ต้องวุ่นวายเรื่องเอกสารต่างๆ เพื่อให้คุณรู้สึกสบายใจและผ่อนคลายที่สุดก่อนเข้ารับการผ่าตัด ทักหาทีม HDcare ได้ทุกเวลาที่คุณสะดวก คลิกที่นี่เลย