tonsil adenoid treatment process

ผ่าตัดต่อมทอนซิล ต่อมอะดีนอยด์ รักษาที่ต้นเหตุ หยุดป่วยเรื้อรัง

ต่อมทอนซิลอักเสบ ต่อมอะดีนอยด์โต’ คือความผิดปกติที่พบได้บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยส่วนใหญ่ความผิดปกตินี้จะไม่ได้รุนแรง ร่างกายสามารถเยียวยารักษาตัวเองได้ แต่หากเกิดความผิดปกติเรื้อรัง เป็นนานจบกระทบกับคุณภาพชีวิต ก็จำเป็นต้องรักษา เพื่อไม่ให้โรคลุกลามรุนแรง

การผ่าตัดต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาที่ได้ผลดี แต่หลายคนอาจกังวลว่า ขั้นตอนจะเป็นยังไง หลังผ่าตัดต้องดูแลตัวเองยังไง พักฟื้นนานไหม ผลข้างเคียงเป็นยังไง ค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ ข้อมูลทั้งหมดรวมอยู่ในบทความนี้แล้ว

สารบัญ

ทำความรู้จักต่อมทอนซิลในเบื้องต้น

ต่อมทอนซิล (Tonsil) คือ กลุ่มเนื้อเยื่อน้ำเหลืองขนาดใหญ่ เป็นรูปวงรี ภายในมีเม็ดเลือดขาวหลายชนิด ทำหน้าที่ดักจับและกำจัดเชื้อโรคที่จะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางจมูกและช่องปาก

โดยทั่วไปการทำหน้าที่ของต่อมทอนซิลจะค่อยๆ ลดลงเมื่ออายุเพิ่มขึ้น จึงสังเกตได้ว่าวัยผู้ใหญ่จะมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับต่อมทอนซิลน้อยกว่าวัยเด็ก

อาการบ่งชี้ว่าต่อมทอนซิลเริ่มผิดปกติ

เมื่อต่อมทอนซิลเริ่มผิดปกติ ส่วนใหญ่จะมีอาการคล้ายโรคคออักเสบทั่วไป ดังนี้ 

  • เจ็บคอ โดยจะเจ็บมากบริเวณด้านข้างของช่องปากทั้งสองข้าง
  • คอแดง เมื่ออ้าปากจะพบว่า ต่อมทอนซิลมีลักษณะบวมแดงและโตกว่าปกติ
  • มีไข้ 
  • ไอ มีเสมหะ
  • มีน้ำมูก
  • กรณีที่ติดเชื้อชนิดรุนแรง อาจมีจุดหนองที่ทอนซิลและต่อมน้ำเหลืองข้างลำคอโตด้วย
  • บางรายอาจมีอาการนอนกรน เนื่องจากต่อมทอนซิลบวม จนอุดกั้นทางเดินหายใจ

ส่วนใหญ่ผู้ที่ป่วยเป็นต่อมทอนซิลอักเสบ มักมีอาการไม่ค่อยรุนแรง เช่น เจ็บคอเพียงเล็กน้อย ไม่มีไข้ อาจไม่จำเป็นต้องใช้ยารักษา เพียงแค่ดื่มน้ำมากๆ พักผ่อนให้เพียงพอ ก็สามารถหายได้ภายใน 2-3 วั

แต่หากมีอาการมาก เช่น มีไข้สูง เจ็บคอมาก รับประทานอาหารได้น้อย อาจเป็นการอักเสบที่รุนแรง แพทย์จะจ่ายยาปฏิชีวนะร่วมกับยาอื่นๆ เพื่อบรรเทาอาการ ซึ่งอาการมักจะดีขึ้นภายใน 3-7 วัน

สัญญาณบ่งชี้ว่าควรผ่าตัดต่อมทอนซิล

ในกรณีที่รักษาด้วยยาปฏิชีวนะแล้วไม่ได้ผล แพทย์อาจแนะนำให้รักษาด้วยการผ่าตัดต่อมทอนซิลออก ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสัญญาณที่แพทย์มักแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดต่อมทอนซิล มีดังนี้

  • เป็นทอนซิลอักเสบเกิน 6 ครั้ง/ปี หรือ เกิน 3 ครั้ง/2 ปี
  • ต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรังหรือติดเชื้อรุนแรง
  • ต่อมทอนซิลโตเบียดกดทับทางเดินหายใจ
  • เป็นฝีที่ต่อมทอนซิล

ทำความรู้จักต่อมอะดีนอยด์ในเบื้องต้น

ต่อมอะดีนอยด์ (Adenoid) คือ ต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ในส่วนหลังของโพรงจมูก ทำหน้าที่ดักจับและฆ่าเชื้อโรคที่หลุดเข้าไปโพรงจมูก ต่อมอะดีนอยด์ เป็นต่อมน้ำเหลืองที่มีความสำคัญมากในเด็กอายุ 1-10 ปี เพราะจะช่วยป้องกันการติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ

แต่เมื่อเด็กเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นแล้ว ต่อมอะดีนอยด์จะมีขนาดเล็กลง และลดบทบาทหน้าที่ลงเรื่อยๆ จนไม่ได้มีบทบาทสำคัญในการป้องกันโรคในผู้ใหญ่ แต่แม้ว่าต่อมอะดีนอยด์จะไม่ค่อยมีบทบาทในผู้ใหญ่ แต่ก็สามารถเกิดความผิดปกติได้เช่นกัน

อาการบ่งชี้ว่าต่อมอะดีนอยด์เริ่มผิดปกติ

เมื่อต่อมอะดีนอยด์เริ่มผิดปกติ จะมีอาการที่แสดงดังนี้ดังนี้ 

  • คัดจมูกและนอนกรน 
  • ต่อมอะดีนอยด์เป็นหนอง
  • เจ็บบริเวณหลังโพรงจมูก
  • เจ็บคอ กลืนอาหารลำบาก
  • ต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอบวม
  • หูอื้อ หรือหูหนวกชั่วคราว จากการที่หูชั้นกลางอักเสบ
  • หายใจทางจมูกลำบาก ทำให้ต้องหายใจทางปาก ทำให้ริมฝีปากแห้ง ลอก มีกลิ่นปาก
  • น้ำมูกไหลเรื้อรัง
  • ไซนัสอักเสบ ทำให้มีไข้ คัดจมูก น้ำมูกไหล หรือไอ

สัญญาณบ่งชี้ว่าควรผ่าตัดต่อมอะดีนอยด์

สัญญาณที่แพทย์มักแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดต่อมอะดีนอยด์ มีดังนี้

  • ต่อมอะดีนอยด์อักเสบเรื้อรัง ทำให้เจ็บคอบ่อย
  • ต่อมอะดีนอยด์เป็นหนอง
  • หูชั้นกลางอักเสบบ่อย
  • ต่อมอะดีนอยด์โต จนอุดกั้นทางเดินหายใจ
  • มีภาวะนอนกรน หยุดหายใจขณะนอนหลับ

ทั้งนี้โดยส่วนใหญ่ภาวะต่อมอะดีนอยด์อักเสบ มักเกิดร่วมกันกับต่อมทอลซิลอักเสบด้วย ดังนั้นหากเกิดภาวะอักเสบพร้อมกันบ่อยๆ แพทย์จะแนะนำให้ผ่านตัด ซึ่งสามารถผ่าตัดทั้ง 2 ต่อมพร้อมกันในครั้งเดียว

ขั้นตอนการผ่าตัดต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์

การผ่าตัดต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์ เป็นการผ่าตัดที่ไม่ซับซ้อน เป็นการผ่าตัดทางช่องปาก โดยจะไม่มีแผลเป็นภายนอก โดยมากใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง ถึง 1 ชั่วโมง 30 นาที ก็เสร็จสิ้น มีรายละเอียดดังนี้

  1. วิสัญญีแพทย์ระงับความรู้สึกผู้ป่วยด้วยการดมยาสลบ
  2. แพทย์ใส่เครื่องมือเล็กๆ ทางช่องปาก 
    1. สำหรับการผ่าตัดต่อมทอนซิล แพทย์จะใช้เครื่องจี้ไฟฟ้า มีดคว้าน เลเซอร์ Microdebrider หรือเครื่อง Coblator (ขึ้นอยู่กับแพทย์พิจารณาเลือกเครื่องมือ) ตัดต่อมทอนซิลออกทั้งหมด
    2. สำหรับการผ่าตัดต่อมอะดีนอยด์ แพทย์จะใช้เครื่องมือเฉพาะในการผ่าตัด ลักษณะเป็นแท่งสแตนเลส สอดเข้าไปเพื่อผ่าตัด
  3. แพทย์ตรวจสอบความเรียบร้อย และนำเครื่องมือออกจากช่องปาก เป็นอันเสร็จ

การผ่าตัดต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์นี้ ถือเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อ ลดการอุดกั้นทางเดินหายใจ และลดโอกาสเสี่ยงในการเป็นมะเร็งได้ด้วย

หลังผ่าตัดส่วนใหญ่จะไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก เว้นแต่มีปัจจัยไปกระตุ้น เช่น โรคกรดไหลย้อน หรือเป็นภูมิแพ้บ่อยๆ ก็อาจจะทำให้ต่อมโตขึ้นมาได้เล็กน้อย

หลังผ่าตัดต่อมทอนซิลต้องพักฟื้น นอน รพ. กี่วัน?

หลังการผ่าตัดต่อมทอนซิล แพทย์มักให้นอนสังเกตอาการที่โรงพยาบาลประมาณ 1-2 วัน หากไม่มีอาการใดๆ แทรกซ้อน สามารถรับประทานอาหาร และหายใจได้อย่างปกติ ก็สามารถกลับไปพักรักษาตัวต่อที่บ้านได้เลย

การดูแลหลังการผ่าตัดต่อมทอลซินและต่อมอะดีนอยด์

หลังการผ่าตัดต่อทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์ ควรปฏิบัติตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด เพื่อผลลัพธ์ที่ดี และลดโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อ

  • 1-2 สัปดาห์แรกหลังผ่าตัด ควบคุมการรับประทานอาหาร โดยจะต้องรับประทานอาหารเหลวและเย็นเท่านั้น เลี่ยงอาหารที่เป็นของแข็ง ร้อนจัด เผ็ดจัด หรือเปรี้ยวจัดจนเกินไป เพื่อไม่ให้เจ็บคอและป้องกันเลือดออกจากแผลผ่าตัด
  • พยายามนอนโดยยกศีรษะสูงในช่วง 1 สัปดาห์แรก หลังการผ่าตัด เพราะหลังผ่าตัด ระบบทางเดินหายใจอาจจะบวมกว่าปกติ
  • หลังจากกินอาหารแล้ว ต้องบ้วนปากและแปรงฟันทุกครั้ง ป้องกันการติดเชื้อ
  • หมั่นอมน้ำแข็ง และสลับกับประคบเย็นบ่อยๆ ช่วยลดบวม
  • งดใช้เสียง เลี่ยงการตะโกน การไอจามแรงๆ ขากเสมหะ การยกของหนัก หรือการออกแรงมาก ในช่วงแรกหลังผ่าตัด เพราะอาจทำให้เลือดออกได้
  • กินยาฆ่าเชื้อ ยาแก้อักเสบ ยาแก้ปวด ตามที่แพทย์สั่ง

ผลข้างเคียงจากการผ่าตัดต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์

การผ่าตัดต่อทอนซิล เป็นการผ่าตัดที่ค่อนข้างปลอดภัย ผลข้างเคียงต่ำ แต่ก็อาจเกิดขึ้นได้บ้าง ดังนี้

  • ความเสี่ยงทั่วไปที่พบได้จากการผ่าตัด เช่น การติดเชื้อ แพ้ยาชา แพ้ยาสลบ อาการชา บวมช้ำ เลือดออก หรือเลือดคลั่ง
  • มีฝ้าสีขาวอยู่ในช่องคอบริเวณเดิมของต่อมทอนซิล เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ตามปกติที่เกิดจากการกระบวนการซ่อมแซมเนื้อเยื่อของร่างกาย โดยจะค่อยๆ หายได้เองภายใน 2 สัปดาห์
  • อาจมีแผลบริเวณเหงือก ลิ้น หรืออาจมีฟันโยก ซึ่งเกิดจากการใส่เครื่องมือในช่องปาก แต่จะค่อยๆ ดีขึ้น
  • อาจรู้สึกหายใจไม่สะดวก จากการที่ระบบทางเดินหายใจบวมขึ้นจากการผ่าตัด แนะนำให้นอนยกหัวสูง หรือนอนตะแคง และหมั่นอมน้ำแข็งเพื่อลดอาการบวม
  • อาจมีการรับรสที่เปลี่ยนไป โดยรับรสหวาน เค็ม และขมได้ลดลง พร้อมกับอาจมีอาการลิ้นชาได้บ้าง

แต่หลังจากผ่าตัดแล้ว มีอาการผิดปกติ เช่น ดื่มน้ำ หรือกินได้น้อย มีเลือดออก ไข้สูง อาเจียน เจ็บคอมากขึ้น ให้รีบมาพบแพทย์ทันที

หลังจากตัดต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์ออกแล้ว ภูมิคุ้มกันจะลดลงไหม ต้องระวังอะไรเป็นพิเศษหรือเปล่า?

เนื่องจากหน้าที่หลักของต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์คือ ดักจับเชื้อโรค ดังนั้นหลายคนอาจกังวลใจว่า หากผ่าตัดออกแล้ว ภูมิคุ้มกันในร่างกายจะลดลงหรือไม่ 

จริงๆ แล้ว เมื่ออายุ 12 ปีขึ้นไป ทั้งต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์เอง จะไม่ได้ถูกใช้งานแล้ว ฉะนั้นการผ่าตัดต่อมทอนซิลออก จึงไม่ทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำลง 

แต่ในกลุ่มเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 12 ปี อาจจะต้องให้แพทย์พิจารณาข้อดีข้อเสียอีกครั้ง เพราะหากต่อมอะดีนอยด์โต จนอุดกั้นทางเดินหายใจ ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็ก เช่น ความสูงไม่เป็นไปตามเกณฑ์ปกติ มีพัฒนาการช้า สมาธิสั้น หัวใจทำงานหนักเกินไป กรณีนี้แพทย์จะพิจารณาให้ผ่าตัดออก

ราคา ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดต่อมทอนซิล และต่อมอะดีนอยด์

การผ่าตัดต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์นั้น มักครอบคลุมไปถึงค่าห้องพัก ค่ายา และค่าบริการทางการแพทย์อื่นๆ ด้วย สำหรับโรงพยาบาลเอกชน มีราคาเริ่มต้นที่ประมาณ 50,000 บาทขึ้นไป ขึ้นอยู่กับสถานพยาบาลนั้นๆ

ป่วยเป็นต่อมทอนซิลอักเสบบ่อยๆ ต่อมอะดีนอยด์โต นอนกรน ทำยังไงดี ต้องผ่าตัดเลยไหม? ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจผ่าตัดต่อมทอนซิลอละต่อมอะดีนอยด์ จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top