snoring treatment comparison scaled

วิธีรักษาอาการนอนกรน หยุดหายใจขณะหลับ ผ่าตัด ไม่ผ่าตัด

นอนกรน เป็นปัญหาทั้งต่อตัวผู้ที่นอนกรนเองและคนใกล้ชิด ทำให้นอนไม่เต็มอิ่ม หรือหลับไม่สนิท ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยภาพรวมได้ 

ปัจจุบันมีหลากหลายวิธี ที่จะช่วยให้อาการนอนกรนบรรเทาลงหรือหายได้ ทั้งด้วยการปรับพฤติกรรม การใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ระหว่างนอนหลับ และการผ่าตัด

ทั้งนี้วิธีการรักษาอาการนอนกรน มีหลักการร่วมกันคือ ทำให้ทางเดินหายใจเปิดกว้าง ช่วยให้ผู้มีปัญหานอนกรนหายใจได้ดีขึ้น เช่น ทำให้กล้ามเนื้อในทางเดินหายใจตึงตัว ปรับให้อากาศเมื่อหายใจเข้ามีแรงดันสูง จนสามารถดันเนื้อเยื่อที่หย่อนลงมาปิดทางเดินหายใจให้เปิดโล่ง เป็นต้น

อย่างไรก็ตามการรักษาการนอนกรนสามารถแบ่งได้ 4 แนวทางหลักๆ ได้แก่ การรักษานอนกรนที่ต้นเหตุ ด้วยการปรับพฤติกรรม การรักษานอนกรน ด้วยอุปกรณ์ทางการแพทย์ การรักษานอนกรน ด้วยการผ่าตัด และการจี้ทางเดินหายใจด้วยคลื่นความถี่วิทยุหรือเลเซอร์

สารบัญ

การรักษานอนกรนที่ต้นเหตุ ด้วยการปรับพฤติกรรม

ปัญหานอนกรน โดยเฉพาะผู้ที่ยังมีอาการไม่มาก และยังไม่ได้มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ สามารถบรรเทาได้ด้วยการปรับพฤติกรรม เช่น

  • ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยเกณฑ์ที่นิยมใช้คือการวัดค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index: BMI)
  • เปลี่ยนท่านอนจากนอนหงายเป็นนอนตะแคง
  • หนุนหมอนให้สูงขึ้นจากปกติประมาณ 4 นิ้ว
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้ยาระงับประสาทก่อนเข้านอน
  • เลิกสูบบุหรี่
  • พยายามบริหารเวลาให้มีเวลานอนหลับพักผ่อนเพียงพอ สำหรับเด็กควรอยู่ที่ประมาณ 10-13 ชั่วโมง ส่วนผู้ใหญ่ควรอยู่ที่ประมาณ 8-10 ชั่วโมง

นอกจากนี้ ถ้ามีโรคที่ทำให้หายใจไม่สะดวก เช่น ภูมิแพ้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรักษาให้หายหรือควบคุมอาการให้หายใจได้ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม การรักษานอนกรนด้วยการปรับพฤติกรรมจำเป็นต้องใช้เวลากว่าจะค่อยๆ เห็นผล

การรักษานอนกรน ด้วยอุปกรณ์ทางการแพทย์

อีกทางเลือกสำหรับรักษานอนกรนคือ ใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ช่วย โดยเป็นอุปกรณ์ให้ติดหรือสวมใส่เวลานอน โดยอุปกรณ์ที่นิยมใช้ เช่น

1. อุปกรณ์ครอบฟันแก้นอนกรน

อุปกรณ์แก้นอนกรนชนิดนี้มี 2 แบบ คือ

  • เครื่องครอบฟันที่ช่วยจัดตำแหน่งลิ้น หลักการทำงานคือ ควบคุมไม่ให้ตกไปทางด้านหลังขณะนอนหลับ
  • เครื่องครอบฟันที่ช่วยจัดตำแหน่งขากรรไกรล่าง หลักการทำงานคือยึดขากรรไกรบนกับล่างเข้าด้วยกัน ป้องกันไม่ให้อ้าปากขณะหลับ ร่วมกับเลื่อนขากรรไกรล่าง ลิ้น และเพดานอ่อนไปด้านหน้า อุปกรณ์นี้ยังช่วยให้กล้ามเนื้อลิ้นตึงตัวมากขึ้น ทำให้ไม่หย่อนไปปิดทางเดินหายใจ  

2. ที่ติดจมูกแก้นอนกรน

เป็นอุปกรณ์ลักษณะคล้ายพลาสเตอร์ใช้แปะที่รูจมูกทั้งสองข้าง ตัวพลาสเตอร์มีรูที่ถูกออกแบบให้ผู้ใช้หายใจเข้าได้ปกติ แต่เมื่อหายใจออกจะเกิดแรงดันบวกในทางเดินหายใจส่วนต้น ทำให้ทางเดินหายใจกว้างโล่ง

เมื่อเข้านอนใหม่ๆ ที่ติดจมูกแก้นอนกรนอาจทำให้หายใจไม่สะดวก จนต้องหายใจทางปาก แต่เมื่อหลับแล้วร่างกายจะปรับตัวให้หายใจทางจมูกได้เอง

3. เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (CPAP)

เป็นอุปกรณ์ที่ประกอบด้วยเครื่องสร้างแรงดันอากาศ (เป็นเครื่องแบบเสียบปลั๊ก) กับส่วนครอบจมูกผู้ป่วย สองส่วนนี้เชื่อมต่อกันด้วยท่อยืดหยุ่นได้ ขณะหายใจเข้า เครื่องจะอัดแรงดันในระดับที่พอเหมาะเข้าสู่ทางเดินหายใจ ช่วยให้ทางเดินหายใจเปิดโล่ง หายใจได้สะดวกยิ่งขึ้น

เครื่อง CPAP มีประเภทย่อยคือ แบบปรับแรงดันอัตโนมัติ แบบแรงดันคงที่ และแบบแรงดัน 2 ระดับ ก่อนใช้เครื่องควรรับการตรวจ Sleep Test เสียก่อนเพื่อให้ผู้ชำนาญการทดสอบ ปรับ และตั้งค่าแรงดันที่เหมาะสมให้

การรักษานอนกรน ด้วยการผ่าตัด

นอกจากวิธีรักษานอนกรนด้วยการปรับพฤติกรรมและใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ช่วย ยังมีวิธีรักษานอนกรนด้วยการผ่าตัด ซึ่งมีข้อดีคือช่วยปรับทางเดินหายใจผู้ป่วยได้ทันที และวิธีนี้ยังเหมาะกับผู้ป่วยที่ใช้อุปกรณ์แก้นอนกรนแล้วปรับตัวไม่ได้ หรือใช้แล้วไม่ได้ผล

เทคนิคผ่าตัดเพื่อรักษาอาการนอนกรนในปัจจุบัน ได้แก่

1. การผ่าตัดรักษานอนกรนด้วยการใส่พิลลาร์ในเพดานอ่อน (Palatal Implant)

เป็นการผ่าตัดฝังแท่งอุปกรณ์ขนาด เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5 มิลลิเมตร ยาว 1.8 มิลลิเมตร ที่เรียกว่า พิลลาร์ เข้าไปในเพดานอ่อนของผู้ป่วย วิธีนี้ทำให้เนื้อเยื่อรอบๆ พิลลาร์หดตึงขึ้น การอุดกั้นทางเดินหายใจระหว่างนอนหลับจึงลดลง

2. รักษานอนกรนด้วยการผ่าตัดตกแต่งกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อเพดานอ่อน ลิ้นไก่ ผนังคอหอย (Uvulopalatopharyngoplasty: UPPP)

เป็นการผ่าตัดภายในช่องปากเพื่อนำเอาต่อมทอนซิล ลิ้นไก่ และเนื้อเยื่อที่หย่อนยานบริเวณผนังคอหอยออก ทำให้ทางเดินหายใจบริเวณนี้กว้างขึ้น หายใจได้สะดวกขึ้น

3. รักษานอนกรนด้วยการผ่าตัดเลื่อนกระดูกขากรรไกรบนและล่างมาทางด้านหน้า (Maxillo-Mandibular Advancement: MMA)

เป็นการผ่าตัดเพื่อขยายทางเดินหายใจส่วนหลังเพดานอ่อน คอหอย และหลังโคนลิ้น ถือเป็นวิธีผ่าตัดรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่ได้ผลดีที่สุด อย่างไรก็ตาม การเลื่อนขากรรไกรอาจส่งผลให้โครงหน้าของผู้รับการผ่าตัดเปลี่ยนไปได้

4. การร้อยไหมแก้กรน (Barbed Suspension Palatoplasty) 

คือ การผ่าตัดแก้อาการนอนกรน ด้วยการใช้เส้นไหมเย็บตัดแต่งเนื้อเยื่อตรงตำแหน่งลิ้นไก่และเพดานอ่อนที่หย่อนตัวลงมาปิดทับทางเดินหายใจ ทำให้ทางเดินหายใจบริเวณคอหอยกระชับตัว ไม่หย่อนลง และมีขนาดกว้างกว่าเดิม และทำให้อากาศผ่านเข้าออกได้ง่ายขึ้นระหว่างที่เราหายใจขณะนอนหลับ

การรักษานอนกรน ด้วยการจี้ทางเดินหายใจด้วยคลื่นความถี่วิทยุหรือเลเซอร์ ทางเลือกใหม่ที่ไม่ต้องผ่าตัด

ปัจจุบันมีทางเลือกในการขยายทางเดินหายใจเพื่อรักษาอาการนอนกรน โดยไม่ต้องผ่าตัด ใช้เวลาทำไม่นาน และไม่ต้องวางยาสลบ ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงในการรักษาน้อยกว่าการผ่าตัด เจ็บน้อยกว่า และไม่ต้องนอนพักฟื้นที่สถานพยาบาลหลังการรักษา

วิธีที่ว่านี้คือ การจี้ทางเดินหายใจด้วยคลื่นความถี่วิทยุหรือเลเซอร์ โดยเทคนิคนี้ก็สามารถแบ่งย่อยได้อีก 2 รูปแบบ ตามตำแหน่งที่แพทย์ประเมิน ได้แก่ การจี้บริเวณเพดานอ่อน และ การจี้บริเวณโคนลิ้น

ทั้งนี้การจี้ทางเดินหายใจคลื่นความถี่วิทยุหรือเลเซอร์ วิธีมีขั้นตอนคล้ายคลึงกัน คือ แพทย์จะให้ผู้ป่วยอ้าปาก แล้วสอดอุปกรณ์ให้พลังงานความร้อนเข้าไปยังจุดที่ต้องการจี้ ในทางเดินหายใจ จากนั้นปล่อยพลังงานความร้อนออกมา ทำให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นๆ หดตัว ทางเดินหายใจจึงกว้างขึ้น

ส่วนความแตกต่าง การจี้ทางเดินหายใจด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (Radiofrequency: RF) กับเลเซอร์ (Erbium-YAG laser) มีรายละเอียดบางอย่างต่างกันดังตารางด้านล่าง

RF vs Laser

คลิกที่นี่เพื่อดูภาพขนาดใหญ่

โดยทั่วไป การจะรักษาอาการนอนกรนด้วยวิธีใดนั้น แพทย์จะเป็นผู้แนะนำให้เหมาะสมแก่ผู้ป่วยแต่ละคนโดยเฉพาะ โดยอาจมีการสั่งตรวจ Sleep Test เพิ่มเติมเพื่อดูว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับด้วยหรือไม่ ความรุนแรงมากแค่ไหน มีภาวะแทรกซ้อนใดร่วมด้วยไหม

อยากเช็กให้ชัวร์ ว่านอนกรนแบบนี้รักษาแบบไหนดี ยังรักษาด้วยตัวเองได้ไหม หรือจำเป็นต้องผ่าตัด? ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรค จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top