นอนกรนเสียงดังทุกคืน จนกระทบคนรอบข้าง ตื่นมาปวดหัว ง่วง เพลียตอนกลางวัน ทำงานไม่ค่อยมีสมาธิ สงสัยว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับหรือเปล่า? อยากตรวจการนอนหลับ หรือ Sleep Test ให้แน่ใจ แต่ไม่รู้ว่าขั้นตอนเป็นยังไง ต้องเตรียมตัวยังไงบ้าง ราคาเท่าไหร่…บทความนี้จะมาบอกรายละเอียดเกี่ยวกับการตรวจการนอนหลับแบบเจาะลึกทุกขั้นตอน
สารบัญ
การตรวจ Sleep Test คืออะไร
การตรวจการนอนหลับ หรือ Sleep Test เป็นการตรวจวัดและบันทึกสัญญาณทางสรีรวิทยาหลายประเภทระหว่างการนอน เพื่อตรวจวัดคุณภาพการนอน และภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ
แพทย์จะรวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่ได้จากการตรวจ เพื่อนำมาวินิจฉัยโรคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนอน เช่น โรคหยุดหายใจขณะหลับ โรคนอนละเมอ หรือภาวะง่วงนอนมากเกินไปในเวลากลางวัน เพื่อประเมินความรุนแรงของโรค แยกแยะจากสาเหตุอื่นๆ วางแนวทางการรักษา และติดตามผลการรักษาต่อไป
ขั้นตอนการตรวจ Sleep Test
การตรวจ Sleep Test มักทำให้สถานพยาบาล ในเวลากลางคืน ซึ่งเป็นเวลานอนปกติของผู้รับการตรวจ โดยแพทย์จะติดอุปกรณ์สำหรับตรวจวัดและเก็บข้อมูลไว้ตามจุดต่างๆ บนร่างกายของผู้เข้ารับการตรวจ เช่น ศีรษะ ใบหน้า หน้าอก แขน ขา เป็นต้น และให้เข้านอนตามปกติ โดยใช้เวลาตรวจ 1 คืน มีขั้นตอนการตรวจดังนี้
- ผู้รับการตรวจอาบน้ำ ทำความสะอาดร่างกาย เปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดที่สวมใส่สบาย หรือชุดที่โรงพยาบาลจัดเตรียมไว้
- เจ้าหน้าที่จะมาติดอุปกรณ์วัดและบันทึกสัญญาณต่างๆ บนตัวผู้รับการตรวจ รวมถึงตั้งกล้องบันทึกภาพเคลื่อนไหวและเสียง ก่อนจะตรวจสอบว่าอุปกรณ์ทุกชิ้นทำงานตามปกติ โดยอาจให้ผู้รับการตรวจกลอกตา เปิดปาก อ้าปาก ขยับขา
- เมื่อแน่ใจว่าทุกอุปกรณ์ทำงานได้ดี เจ้าหน้าที่จะให้ผู้รับการตรวจเข้านอนตามปกติ
- ขณะที่ผู้รับการตรวจนอนหลับ เจ้าหน้าที่จะคอยเฝ้าสังเกตการณ์ในห้องเฝ้าสังเกตการณ์ตลอดทั้งคืน พร้อมบันทึกข้อมูลสัญญาณต่างๆ ที่เกิดขึ้น และคอยช่วยเหลือถ้าผู้รับการตรวจต้องการลุกจากเตียงหรือเมื่อเห็นปัญหาการนอนที่จะก่อให้เกิดอันตราย
- เมื่อถึงเวลาเช้า เจ้าหน้าที่จะนำอุปกรณ์ต่างๆ ออก แล้วนัดให้ผู้รับการตรวจมาฟังผลภายหลัง
การตรวจ Sleep Test ตรวจอะไรบ้าง
สิ่งที่จะถูกตรวจติดตามระหว่าง Sleep Test ได้แก่
- สัญญาณไฟฟ้าของเซลล์สมอง (Electroencephalography: EEG) อุปกรณ์ตรวจจับสัญญาณนี้จะถูกติดที่ศีรษะ และจะบันทึกคลื่นสมองที่เปลี่ยนแปลงเมื่อเข้าสู่การหลับตื้น-ลึกของผู้รับการตรวจ แสดงให้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการนอน
- คลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: EKG) อุปกรณ์ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจจะถูกติดที่บริเวณหน้าอก เพื่อติดตามจังหวะการเต้นของหัวใจและระบบไฟฟ้าภายใน
- คลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (Electromyogram: EMG) อุปกรณ์ตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อจะถูกติดที่บริเวณผิวหนังที่ใบหน้าหรือขา เพื่อติดตามการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ
- คลื่นไฟฟ้าจอตา (Electro-oculography: EOG) อุปกรณ์ตรวจคลื่นไฟฟ้าจอตาจะถูกติดบริเวณผิวหนังรอบดวงตา เพื่อตรวจจับความเคลื่อนไหวของลูกตา
- การหายใจ ตรวจติดตามด้วยเซนเซอร์จับความเคลื่อนไหวของอากาศบริเวณปากและจมูก
- การเคลื่อนไหวของทรวงอกและช่องท้อง ใช้อุปกรณ์ลักษณะคล้ายเข็มขัดรัดบริเวณทรวงอกกับหน้าท้อง เพื่อตรวจความเคลื่อนไหวเวลาหายใจเข้า-ออก
- ชีพจร ใช้อุปกรณ์ติดที่ปลายนิ้ว
- ออกซิเจนในเลือด ใช้อุปกรณ์เดียวกับที่ใช้ตรวจชีพจร
แพ็กเกจตรวจ Sleep Test จากบางสถานพยาบาลอาจนำการทดสอบเครื่องอัดอากาศ (CPAP) เข้ามาด้วย กรณีนี้จะเป็นการนำเครื่องอัดอากาศมาทดลองสวมใส่ให้ผู้รับการตรวจ และมีเจ้าหน้าที่ปรับแรงดันเครื่องให้เหมาะสม พร้อมดูสัญญาณอื่นๆ ว่าสอดคล้องกับการใช้เครื่องนี้
การเตรียมตัวก่อนตรวจ Sleep Test
สิ่งที่เจ้าหน้าที่หรือแพทย์มักจะแนะนำให้ปฏิบัติก่อนตรวจ ได้แก่
- อาบน้ำ สระผมก่อนตรวจ ไม่ใส่น้ำมันหรือสเปรย์ใส่ผม งดทาครีมที่ใบหน้าหรือร่างกาย ถ้าติดเล็บปลอมควรถอดออก เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถติดอุปกรณ์จับสัญญาณต่างๆ บนศีรษะ ผิวหนัง และที่ปลายนิ้วได้ดี
- ถ้าเป็นคนแพ้ง่าย หรือมีประวัติแพ้สิ่งใดสิ่งหนึ่งบริเวณผิวหนัง ควรแจ้งให้เจ้าหน้าทราบ เพื่อให้เจ้าหน้าที่เตรียมพร้อมสำหรับอุปกรณ์ที่ต้องติดลงบนผิวหนัง
- พยายามปฏิบัติสิ่งที่เคยทำอยู่แล้ว ไม่ทำสิ่งแปลกไปจากเดิมที่มีผลต่อการนอน เช่น นอนกลางวัน หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- งดดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม รวมถึงเครื่องดื่มหรืออาหารที่มีฤทธิ์กระตุ้นประสาทก่อนรับการตรวจอย่างน้อย 8 ชั่วโมง
- เตรียมชุดมาเปลี่ยนสำหรับใส่กลับในวันรุ่งขึ้น
หลักสำคัญของการตรวจ Sleep Test ให้ได้ผลแม่นยำ คือ ควรนอนหลับเหมือนเวลาหลับตามปกติ และระวังไม่ให้อุปกรณ์ตรวจหลุดออกจากร่างกายระหว่างนอนหลับ
การอ่านผล Sleep Test
ตามปกติแล้ว เจ้าหน้าที่จะนัดหมายให้ผู้รับการตรวจ Sleep Test มาฟังผลหลังจากตรวจประมาณ 2-3 วัน
ผลตรวจจากอุปกรณ์ต่างๆ จะถูกนำมาสรุปโดยแพทย์เฉพาะทางด้านการนอน เพื่อให้ผู้รับการตรวจทราบว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับเนื่องจากการอุดกั้นของทางเดินหายใจ (Obstructive Sleep Apnea: OSA) หรือไม่ ถ้ามี มีความรุนแรงระดับใด จากนั้นจึงแนะนำการรักษาที่เหมาะสมให้
ตรวจ Sleep Test ราคาเท่าไหร่?
การตรวจ Sleep Test มีหลายโปรแกรม ราคาแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าเป็นการตรวจสำหรับเด็กหรือผู้ใหญ่ มีรายการตรวจอะไรบ้าง ตรวจที่บ้านหรือตรวจที่สถานพยาบาล และมีการทดสอบการตั้งค่าเครื่องอัดอากาศ (CPAP) ร่วมด้วยไหม
โปรแกรมตรวจ Sleep Test เริ่มต้นที่ประมาณ 4,000 บาท ส่วนโปรแกรมที่ตรวจอย่างละเอียด ครบถ้วน รวมการทดสอบการตั้งค่าเครื่องอัดอากาศจะอยู่ที่ประมาณ 16,000 บาท ดูโปรแกรมตรวจทั้งหมดพร้อมราคา ที่นี่
ตรวจ Sleep Test เบิกประกันหรือใช้สิทธิประกันสังคมได้ไหม?
ผู้มีประกันสุขภาพ จำเป็นต้องตรวจสอบแผนประกันกับตัวแทนว่าครอบคลุมสิทธิการตรวจ Sleep Test หรือไม่
ส่วนผู้ที่มีสิทธิประกันสังคม หรือผู้ประกันตน สามารถเบิกค่าตรวจ Sleep Test ได้ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 สิ่งที่เบิกได้และวงเงินมีดังนี้
- ค่าตรวจการนอนหลับแบบมีเจ้าหน้าที่เฝ้าติดตามขณะตรวจทั้งคืน เบิกได้ตามที่จ่ายจริงภายในวงเงินไม่เกิน 7,000 บาท
- ค่าตรวจการนอนหลับแบบไม่มีเจ้าหน้าที่เฝ้าติดตามขณะตรวจ เบิกได้ตามที่จ่ายจริงภายในวงเงินไม่เกิน 6,000 บาท
- ค่าอุปกรณ์อัดอากาศขณะหายใจเข้า (CPAP) เบิกได้ไม่เกิน 20,000 บาท
- ค่าหน้ากากครอบจมูกหรือปากที่ใช้กับเครื่องอัดอากาศขณะหายใจเข้า เบิกได้ไม่เกิน 4,000 บาท
อ่านรายละเอียดเงื่อนไขเพิ่มเติม ประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน ที่นี่
การตรวจการนอนหลับ Sleep Test เป็นวิธีที่แม่นยำที่สุดสำหรับการวินิจฉัยภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ถ้าคนใกล้ชิดเริ่มทักว่ากรนเสียงดังกว่าปกติ หรือรู้สึกตัวว่าตื่นมาไม่สดชื่น ร่วมกับง่วง เพลีย ในตอนกลางวันบ่อยๆ ทั้งที่ไม่ได้เข้านอนดึก ควรรับการตรวจ Sleep Test เพื่อจะได้ทราบว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับหรือไม่ และจะได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ การปล่อยไว้ไม่รักษาอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนร้ายแรงอื่นๆ จนเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
อยากเช็กราคา หาโปรแกรมตรวจที่เหมาะสำหรับคุณโดยเฉพาะ ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจ Sleep Test จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย