Default fallback image

ตับอ่อนคืออะไร หน้าที่ โรคที่เกี่ยวกับตับอ่อนมีอะไรบ้าง

ตับอ่อนถือเป็นหนึ่งในอวัยวะสำคัญ ทั้งต่อระบบย่อยอาหารและการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด หากตับอ่อนทำงานผิดปกติ อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของร่างกายในหลายระบบ

บทความนี้ชวนมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับการทำงานของตับอ่อน ความผิดปกติ และโรคที่เกี่ยวข้องกับตับอ่อน รวมถึงอาการ เพื่อให้เราหมั่นสังเกตตัวเอง หากพบความผิดปกติจะได้รีบรักษาได้ทัน

ตับอ่อนคืออะไร?

ตับอ่อน (Pancreas) เป็นอวัยวะที่มีรูปร่างคล้ายกับรูปไข่ อยู่บริเวณช่องท้องด้านบน หลังกระเพาะและติดกับลำไส้เล็กส่วนต้น มีหน้าที่สำคัญในการผลิตเอนไซม์ย่อยอาหารและฮอร์โมนที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่ ส่วนต่อมที่สร้างฮอร์โมน (Endocrine) และส่วนที่สร้างเอนไซม์ (Exocrine)

หน้าที่ของตับอ่อน

  1. การสร้างเอนไซม์ย่อยอาหาร: ตับอ่อนผลิตเอนไซม์ที่ช่วยในการย่อยสารอาหาร เช่น โปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรต เพื่อให้ร่างกายสามารถดูดซึมสารอาหารได้
  2. การผลิตฮอร์โมน: ตับอ่อนมีหน้าที่ในการสร้างฮอร์โมน เช่น อินซูลิน และกลูคากอน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

ความผิดปกติของตับอ่อน

เมื่อตับอ่อนทำงานผิดปกติ มักจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวม โดยโรคที่เกี่ยวข้องกับตับอ่อนที่พบบ่อย ได้แก่

1. โรคมะเร็งตับอ่อน (Pancreatic Cancer)

มะเร็งตับอ่อน (Pancreatic Cancer) เกิดจากการเจริญเติบโตผิดปกติของเซลล์ในตับอ่อน และเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างควบคุมไม่ได้จนกลายเป็นเซลล์มะเร็ง ซึ่งมักไม่แสดงอาการในระยะแรก ทำให้ส่วนใหญ่มักตรวจพบเมื่อโรครุนแรงแล้ว

ทั้งนี้สาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งตับอ่อนนั้น ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัด แต่อาจเกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ การมีประวัติครอบครัวเป็นโรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน

อาการที่พบบ่อย ได้แก่

  • น้ำหนักลดลงอย่างไม่ทราบสาเหตุ
  • ปวดท้องบริเวณสีข้างหรือด้านหลัง
  • เบื่ออาหาร
  • อาจมีอาการดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง
  • อุจจาระสีซีดหรืออุจจาระเหลว
  • ปัสสาวะสีเข้ม
  • รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย

2. โรคตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis)

โรคตับอ่อนอักเสบ เป็นภาวะที่เนื้อเยื่อของตับอ่อนถูกทำลาย จึงเกิดการอักเสบ โดยแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ตับอ่อนอักเสบชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง

2.1 ตับอ่อนอักเสบชนิดเฉียบพลัน คือการที่ตับอ่อนเกิดการอักเสบโดยทันที โดยจะมีอาการบวมและมีการทำลายเนื้อเยื่อของตับอ่อน

สาเหตุมักมาจากนิ่วในถุงน้ำดี ผู้ป่วยที่ดื่มสุราเป็นประจำ รวมทั้งการติดต่อถ่ายทอดทางพันธุกรรม 

อาการที่พบบ่อย ได้แก่

  • ปวดท้องส่วนบนอย่างรุนแรง และอาจเป็นมากขึ้นเมื่อรับประทานอาหาร
  • อาการปวดท้องอาจลามไปบริเวณหลัง
  • มีอาการดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • มีไข้
  • ท้องอืด เมื่อสัมผัสท้องจะมีอาการเจ็บปวด
  • ภาวะขาดน้ำ หากไม่รีบรักษาอาจมีภาวะช็อกได้

2.2 ตับอ่อนอักเสบชนิดเรื้อรัง คือการที่ตับอ่อนเกิดการอักเสบเรื้อรัง โดยเนื้อเยื่อตับอ่อนจะค่อยๆ ถูกทำลายอย่างต่อเนื่อง

สาเหตุอาจเกิดต่อเนื่องจากการอักเสบเฉียบพลันที่รักษาไม่หาย เช่น ผู้ป่วยไม่ผ่าตัดรักษานิ่ว หรือยังคงดื่มแอลกอฮอล์อยู่

อาการที่พบบ่อย ได้แก่

  • ปวดท้องแบบเป็นๆ หายๆ โดยอาจปวดตลอดเวลา หรือปวดเป็นครั้งคราวก็ได้
  • อุจจาระเป็นสีเทาหรือสีซีดๆ และอาจมีไขมันปนออกมากับอุจจาระ
  • น้ำหนักตัวลดลงอย่างไม่ทราบสาเหตุ

3. โรคเบาหวานชนิดที่ 1 และ 2 (Diabetes Mellitus)

โรคเบาหวานเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่พบได้บ่อยได้คนทั่วไป จากสถิติในปีพ.ศ. 2566 พบว่า คนไทยป่วยเป็นโรคเบาหวานถึง 5.2 ล้านคน และ 40% ของผู้ป่วยมักไม่รู้ตัวว่ากำลังป่วยอยู่

ทั้งนี้โรคเบาหวานเกิดจากการที่ตับอ่อนผลิตอินซูลินไม่เพียงพอ ภาวะการขาดอินซูลิน การดื้ออินซูลิน หรืออินซูลินทำงานไม่ปกติ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยโรคเบาหวานยังแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ โรคเบาหวานชนิดที่ 1 และ ชนิดที่ 2

3.1 โรคเบาหวานชนิดที่ 1 พบไม่บ่อยในประเทศไทย เพียง 3.4% ของผู้ป่วยโรคเบาหวานทั้งหมด ส่วนใหญ่มักพบในผู้ที่อายุน้อยกว่า 30 ปี หรือพบในเด็ก 

สาเหตุเกิดจากตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ตามปกติ สันนิษฐานว่าเกิดจากพันธุกรรม หรือระบบการทำงานร่างกายที่ผิดปกติ

3.2 โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นชนิดที่พบมากประมาณ 97% ของผู้ป่วยโรคเบาหวานทั้งหมด ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอายุมากกว่า 40 ปี และมีภาวะอ้วนร่วมด้วย กลุ่มนี้ตับอ่อนยังผลิตอินซูลินได้บ้าง แต่ร่างกายมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน 

สาเหตุส่วนใหญ่มักมากจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม เช่น ชอบรับประทานอาหารรสหวานเป็นประจำ และขาดการออกกำลังกาย

โรคเบาหวานทั้ง 2 ชนิดจะมีอาการที่บ่งชี้ ได้แก่

  • กระหายน้ำบ่อย
  • ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะเวลากลางคืน
  • น้ำหนักลดอย่างไม่ทราบสาเหตุ
  • อ่อนเพลีย
  • ตาพร่ามัว
  • มือเท้าชา
  • หากเป็นแผล แผลจะหายช้ากว่าปกติ

4. โรคนิ่วในถุงน้ำดี (Gallstones)

โรคนิ่วในถุงน้ำดี (Gallstones) เป็นโรคในระบบทางเดินน้ำดีที่พบได้บ่อยที่สุด เกิดจากการตกตะกอนของหินปูนหรือคอเลสเตอรอลในน้ำดี และเมื่อตะกอนเหล่านั้นรวมตัวกัน จะเกิดเป็นก้อนนิ่วขึ้น ซึ่งก้อนนิ่วนี้สามารถส่งผลกระทบต่อการทำงานของตับอ่อนได้ โดยเฉพาะเมื่อมีนิ่วอุดตันท่อน้ำดี

สาเหตุเกิดจากภาวะน้ำหนักเกิน การบริโภคอาหารที่มีไขมันสูง ไม่รับประทานอาหารที่มีกากใย

อาการที่พบบ่อย จะแบ่งคร่าวๆ ได้ 2 ระยะ คือระยะเริ่มต้น และระยะรุนแรง ดังนี้

  • ระยะเริ่มต้น อาการจะไม่รุนแรงมากนัก ผู้ป่วยจะปวดท้อง จุกแน่นบริเวณลิ้นปี่ คลื่นไส้ อาเจียน โดยเฉพาะหลังจากที่กินอาหารไขมันสูง แต่อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นภายใน 1-2 ชั่วโมง
  • ระยะรุนแรง จะมีอาการปวดท้องรุนแรงขึ้น ต่อเนื่องยาวนานมากกว่า 4-6 ชั่วโมง ร่วมกับอาการดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง มีไข้ หนาวสั่น และอาจนำไปสู่อาการตับอ่อนอักเสบ

5. ภาวะถุงน้ำที่ตับอ่อน (Pancreatic Cysts)

ถุงน้ำหรือซีสต์ที่ตับอ่อน เกิดจากการเจริญอย่างผิดปกติของเนื้อเยื่อในตับอ่อน จนเกิดเป็นถุงน้ำ ภายในมีน้ำหรือของเหลวอยู่ โดยทั่วไปหากตรวจพบแล้วไม่ได้มีข้อบ่งชี้ใดๆ ว่าจะพัฒนาเป็นมะเร็ง แพทย์มักแนะนำให้ตรวจติดตามว่ามีขนาดใหญ่ขึ้ยหรือไม่ แต่หากพบสัญญาณเสี่ยงแพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัดออก

สาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากการอักเสบของตับอ่อน ซึ่งอาจมีสาเหตุจากการดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนักเป็นเวลานาน หรือโรคนิ่วในถุงน้ำดี

อาการที่พบบ่อย ได้แก่

  • ปวดท้อง จุกแน่นบริเวณลิ้นปี่ 
  • รู้สึกปวดมากขึ้นหลังจากรับประทานอาหาร หรือดื่มแอลกอฮอล์
  • คลื่นไส้ อาเจียน

จะเห็นได้ว่าโรคที่เกี่ยวกับตับอ่อนนั้น มีอาการที่ค่อนข้างคล้ายคลึงกัน คือปวดท้อง จุกเสียด แน่นท้อง หรือบางครั้งอาจไม่แสดงอาการที่ชัดเจน ผู้ป่วยจะรู้ตัวก็เมื่ออาการรุนแรงแล้ว ดังนั้น ควรหมั่นสังเกตอาการ และตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ หากพบความผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที เพื่อจะได้วางแผนการรักษาได้ทันท่วงที

ปวดท้อง จุกเสียด แน่น มักเป็นหลังกินข้าว สงสัยว่าเป็นโรคเกี่ยวกับตับอ่อนอยู่หรือเปล่า? ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจวินิจฉัยโรคที่เกี่ยวกับตับอ่อน จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top