รังไข่ คืออะไร เกิดอาการผิดปกติอะไรบ้าง วิธีรักษา ป้องกัน ครบ จบในที่เดียว

รังไข่ ทำหน้าที่อะไร เกิดอาการผิดปกติอะไรบ้าง วิธีรักษา ป้องกัน ครบ จบในที่เดียว

หากคุณมีอาการปวดท้องประจำเดือนมาก ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ หรือปวดท้องน้อยบ่อยๆ อย่าคิดว่าเป็นเรื่องปกติ  เพราะนี่อาจเป็นสัญญาณเตือนว่ารังไข่คุณกำลังผิดปกติ 

รังไข่ ทำหน้าที่อะไร มีความสำคัญอย่างไรต่อร่างกาย เกิดความผิดปกติอะไรได้บ้าง รักษาได้อย่างไร มาหาคำตอบกันได้เลย

รังไข่ คืออะไร ทำหน้าที่อะไร?

รังไข่ (Ovary) คือ อวัยวะขนาดเล็กซึ่งมีขนาดและรูปร่างคล้ายกับเมล็ดอัลมอนด์ เชื่อมต่อกับปีกมดลูกทั้ง 2 ข้าง

รังไข่ทำหน้าที่ผลิตไข่ ซึ่งเป็นเซลล์สืบพันธุ์ของเพศหญิง และผลิตฮอร์โมนเพศหญิงที่สำคัญ 2 ชนิด ได้แก่ 

  1. ฮอร์โมนเอสโทรเจน (Estrogen) ทำหน้าที่ควบคุมระบบสืบพันธุ์ของเพศหญิง ทั้งการเจริญเติบโตทางเพศ ลักษณะของเพศหญิง ประจำเดือน การตั้งครรภ์ และภาวะการหมดประจำเดือน  
  2. ฮอร์โมนโปรเจสเทอโรน (Progesterone) มีหน้าที่ควบคุมภาวะไข่ตก และการมีประจำเดือน กระตุ้นให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวขึ้น เพื่อเตรียมรับการฝังตัวของตัวอ่อน ควบคุมการตั้งครรภ์ และควบคุมการทำงานพื้นฐานของร่างกาย  

รู้ได้อย่างไร ว่ารังไข่กำลังผิดปกติ?

เมื่อรังไข่ทำงานผิดปกติ ร่างกายอาจส่งสัญญาณเตือน ดังต่อไปนี้

  • ปวดท้องน้อย ซึ่งอาจเป็นๆ หายๆ หรือปวดบิด ปวดแบบฉับพลัน รุนแรง
  • ปวดหน่วงท้องน้อย ซึ่งอาจสัมพันธ์กับประจำเดือนหรือไม่ก็ได้
  • ปวดประจำเดือนมากกว่าปกติ
  • ประจำเดือนมาไม่ปกติหรือไม่มาเลย
  • ปัสสาวะบ่อย
  • คลื่นไส้ อาเจียน 
  • คลำพบก้อนที่ท้องน้อย หรือท้องขยายขึ้น
  • ท้องอืด แน่นท้อง 
  • รับประทานอาหารได้น้อยลง และรู้สึกอิ่มเร็วขึ้น
  • สิวขึ้นเยอะ

หากมีอาการต่อไปนี้ ให้แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ หากมีความผิดปกติใดๆ จะได้วางแผนรักษาได้ทัน

อาการที่เป็นอยู่ใช่โรคเกี่ยวกับรังไข่ไหม? อยากตรวจรังไข่เพิ่มเติมให้มั่นใจ ปรึกษาทีม HDcare หาแพ็กเกจราคาดี จาก รพ. ชั้นนำใกล้คุณได้ ที่นี่ 

รังไข่ เกิดความผิดปกติอะไรได้บ้าง?

ความผิดปกติที่อาจเกิดกับกับรังไข่นั้น มีหลากหลายรูปแบบ โดยสามารถแบ่งได้ 2 กลุ่มหลักๆ ดังนี้

  • ถุงน้ำในรังไข่ (Ovarian Cyst) คือของเหลวที่สะสมอย่างผิดปกติ อยู่ภายใน หรือบริเวณพื้นผิวของรังไข่ มีหลายชนิด แบ่งได้ 2 กลุ่มหลักๆ ตามสาเหตุการเกิด คือ
  • ถุงน้ำที่เกิดขึ้นจากระดับฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง (Functional Cyst) เกิดจากการทำงานของรังไข่ เพื่อสร้างไข่ ซึ่งเป็นเซลล์สืบพันธ์ุของเพศหญิง มักเกิดขึ้นพร้อมกับรอบเดือน จากนั้นจะค่อยๆ ยุบตัวและฝ่อลงไปโดยไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย
  • ถุงน้ำชนิดอื่นๆ เป็นถุงน้ำที่เกิดขึ้น โดยไม่มีความสัมพันธ์กับรอบเดือน หรือการตกไข่ ซึ่งมักก่อให้เกิดอาการผิดปกติตามมา เช่น
  • ถุงน้ำเดอร์มอยด์ (Dermoid Cyst) เกิดจากการที่เซลล์มีการแบ่งตัวผิดปกติ ภายในถุงน้ำ มักตรวจพบน้ำ ไขมัน เส้นผม กระดูก หรือฟันอยู่ด้วย 
  • ถุงน้ำซีสตาดีโนมา (Cystadenoma) เกิดจากการแบ่งตัวที่ผิดปกติของเซลล์บริเวณผิวของรังไข่ ด้านในอาจเต็มไปด้วยของเหลวหรือเมือก ถุงน้ำชนิดนี้สามารถเจริญเติบโตได้ จนมีขนาดใหญ่มาก
  • ถุงน้ำที่เกิดจากเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ (Endometrioma) โดยไปเจริญบริเวณรังไข่ จนทำให้เกิดการอักเสบ และกลายเป็นถุงน้ำที่มีของเหลวภายในคล้ายเลือดเก่า สีข้นคล้ายช็อกโกแลต ทำให้มีอีกชื่อเรียกว่า ช็อกโกแลตซีสต์ (Chocolate Cyst)
  • มะเร็งรังไข่ (Ovarian Cancer) เป็นเนื้องอกรังไข่ชนิดที่เป็นเนื้อร้าย เซลล์จะมีการแบ่งตัวที่ผิดปกติ เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว และสามารถลุกลามแพร่กระจายไปที่อวัยวะข้างเคียงได้

ปวดท้องประจำเดือนบ่อยๆ ปวดหนักมากจนบางครั้งลุกไม่ไหว อย่าเพิ่งนิ่งนอนใจ คิดว่าเป็นเรื่องปกติ ทักหา HDcare ปรึกษากับคุณหมอเฉพาะทางด้านนรีเวช ทางไลน์ ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย แอดไลน์เลย

วิธีการรักษาโรคที่เกี่ยวกับรังไข่

โรคที่เกี่ยวข้องกับรังไข่มีหลายกลุ่มอาการ ซึ่งแต่ละกลุ่มอาการ ก็จะมีการรักษาที่แตกต่างกันออกไป ตามความรุนแรงของโรค และขึ้นอยู่กับแพทย์พิจารณา แต่จะมีวิธีการรักษาเบื้องต้น ดังต่อไปนี้

1. ติดตามอาการและรับประทานยา

กรณีที่สงสัยว่าจะเป็นถุงน้ำรังไข่ ชนิด Functional Cyst แพทย์จะนัดตรวจติดตามว่า ถุงน้ำยุบไปเองหรือไม่ สำหรับผู้ป่วยบางราย นอกจากตรวจติดตามอาการแล้ว แพทย์อาจจะให้รับประทานยาคุมกำเนิด หรือฉีดยาคุมกำเนิด และนัดตรวจซ้ำ หากซีสต์ไม่ยุบหรือโตขึ้น อาจต้องเข้ารับการผ่าตัดรักษาต่อไป

2. การผ่าตัด

การผ่าตัดรักษาเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ใช้สำหรับรักษาโรคถุงน้ำรังไข่ รวมทั้งโรคมะเร็งรังไข่ได้ด้วย โดยจะแบ่งได้เป็น 2 กรณี คือ

  1. ผ่าตัดฉุกเฉิน เป็นการผ่าตัดที่เกิดจากอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน เช่น ถุงน้ำรังไข่แตก ถุงน้ำรังไข่มีขั้วบิด เป็นต้น ซึ่งเกิดได้ทั้งจากโรคถุงน้ำรังไข่ชนิด Functional Cyst และถุงน้ำรังไข่ชนิดอื่นๆ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องมาก และต้องเข้ารับการผ่าตัดฉุกเฉิน ในรายที่มีเลือดออกมาก และมีเส้นเลือดฉีกขาด หากไม่ได้รับการรักษาในทันที อาจทำให้ตกเลือดในช่องท้องและมีโอกาสเสียชีวิตได้
  2. ผ่าตัดไม่ฉุกเฉิน เมื่อแพทย์ตรวจร่างกายอย่างละเอียดแล้ววินิจฉัยว่าถุงน้ำรังไข่ ไม่ใช่ชนิด Functional Cyst แต่เป็นชนิดอื่นๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อร่างกาย เช่น ช็อกโกแลตซีสต์ เดอร์มอยด์ซีสต์ ตรวจพบเซลล์มะเร็ง หรือมีแนวโน้มที่จะแปรเปลี่ยนไปเป็นมะเร็งรังไข่ได้ในอนาคต แพทย์มักแนะนำให้ผู้ป่วยผ่าตัดเพื่อนำถุงน้ำรังไข่ออก

การผ่าตัดทำได้ 2 รูปแบบหลักๆ คือ การผ่าตัดเปิดหน้าท้อง และการผ่าตัดแบบส่องกล้อง โดยมีรายละเอียดการผ่าตัด ดังนี้

A. การผ่าตัดถุงน้ำในรังไข่แบบเปิดหน้าท้อง หรือการผ่าตัดแบบดั้งเดิม
เป็นการผ่าตัดเปิดแผลบริเวณหน้าท้อง อาจเป็นแนวตั้งหรือแนวนอนก็ได้ ความยาวประมาณ 6-8 นิ้ว ขึ้นอยู่กับชนิดของถุงน้ำ ขนาดของมดลูก และความชำนาญของแพทย์ที่ทำการผ่าตัด 

การผ่าตัดด้วยวิธีนี้ เป็นการผ่าตัดพื้นฐาน ที่สามารถรักษาความผิดปกติได้ทุกกรณี แต่เนื่องจากเป็นการผ่าตัดแบบเปิด ผู้ป่วยจึงจะมีแผลเป็นบริเวณหน้าท้อง รวมทั้งใช้ระยะเวลาพักฟื้นนานกว่า โดยจะต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาลประมาณ​ 3 วัน และพักฟื้นต่อที่บ้านประมาณ 1-2 สัปดาห์

B. การผ่าตัดถุงน้ำในรังไข่โดยการส่องกล้องผ่านทางหน้าท้อง
เป็นการผ่าตัดโดยใช้การส่องกล้องผ่านทางหน้าท้อง โดยจะกรีดเปิดแผลใต้สะดือ ขนาดเพียง 0.5-1 เซนติเมตร ประมาณ 2-3 จุด เพื่อสอดเครื่องมือเข้าไปในช่องท้อง และทำการผ่าตัดผ่านกล้อง

วิธีนี้ได้รับความนิยมมากกว่าการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง เนื่องจากแผลจะมีขนาดเล็กเจ็บน้อยกว่า และฟื้นตัวได้ไวกว่า ส่วนใหญ่จะพักฟื้นที่โรงพยาบาลประมาณ 1-3 วัน และพักฟื้นต่อที่บ้านประมาณ 1 สัปดาห์ และยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดพังผืดในช่องท้อง และภาวะแทรกซ้อนด้วย

ทั้งนี้ก่อนผ่าตัดรังไข่ แพทย์จะประเมินอาการว่า จะผ่าตัดเลาะเอาซีสต์ออกอย่างเดียว หรือตัดรังไข่ออกทั้งหมด จะตัดออก 1 ข้าง หรือ 2 ข้าง หรือจะต้องตัดมดลูกออกด้วยหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับอายุผู้ป่วย ชนิดและขนาดของซีสต์ ความต้องการที่จะมีบุตรอีกในอนาคต
การผ่าตัดรังไข่ออก จะส่งผลกระทบต่อร่างกายค่อนข้างมาก เพราะรังไข่ทำหน้าที่ผลิตเซลล์สืบพันธุ์ รวมทั้งผลิตฮอร์โมนที่สำคัญต่อร่างกาย โดยระดับความรุนแรงของผลกระทบจะขึ้นอยู่กับว่าตัดอวัยวะใดออกไปบ้าง ดังนี้

    • กรณีตัดรังไข่ออก 1 ข้าง แต่ไม่ได้ตัดมดลูกออก หากรังไข่ข้างที่เหลืออยู่ ยังทำงานได้ตามปกติ ร่างกายจะแทบไม่ได้รับผลกระทบ ยังคงมีฮอร์โมนเพศ มีการตกไข่ ตั้งครรภ์ได้ และมีประจำเดือนตามปกติ
    • กรณีตัดรังไข่ออก 2 ข้าง แต่ไม่ได้ตัดมดลูกออก ร่างกายจะขาดทั้งเซลล์สืบพันธุ์และฮอร์โมนเพศหญิง แต่ยังมีมดลูกสำหรับการตั้งครรภ์ในอนาคต โดยจำเป็นต้องใช้เซลล์ไข่จากผู้อื่น หรือหากเคยฝากไข่ไว้ ก็สามารถใช้ไข่ของตัวเองได้ ร่างกายจะไม่มีประจำเดือน และเข้าสู่ภาวะวัยทองทันที ยกเว้นจะได้รับฮอร์โมนทดแทนจากแพทย์
    • กรณีตัดรังไข่ออก 2 ข้าง และตัดมดลูกออก ร่างกายจะขาดทั้งเซลล์สืบพันธุ์และฮอร์โมนเพศหญิง และไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ ไม่มีประจำเดือน ส่วนใหญ่แพทย์จะแนะนำการผ่าตัดนี้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีบุตรแล้ว และอยู่ในช่วงวัยสูงอายุ

ผู้ป่วยบางรายที่มีความเสี่ยงจะเป็นมะเร็งรังไข่สูง และอยู่ในช่วงวัยทองแล้ว การผ่าตัดรังไข่และท่อนำไข่ออกทั้ง 2 ข้าง ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งรังไข่และมะเร็งท่อนำไข่ได้

รังไข่ผิดปกติ มีถุงน้ำในรังไข่ มีเนื้องอก ผ่าตัดแบบไหนดีกว่ากัน อยากปรึกษาคุณหมอเฉพาะทาง ทักหาทีม HDcare ทำนัดได้สะดวก คิวเร็ว ไม่ต้องคอยนาน ปรึกษาฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย  คลิกที่นี่เลย

การป้องกันโรคที่เกี่ยวกับรังไข่

แม้ว่าโรคที่เกี่ยวข้องกับรังไข่ อาจยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด และยังไม่มีวิธีป้องกันที่เฉพาะเจาะจง แต่ก็สามารถดูแลตัวเองเพื่อป้องกันความเสี่ยงในเบื้องต้นได้ ดังนี้

  • ตรวจภายในอย่างสม่ำเสมอ เพื่อหาความผิดปกติของอวัยวะภายในอุ้งเชิงกราน ทั้งช่องคลอด ปากมดลูก มดลูก ท่อน้ำไข่ รังไข่ กระเพาะปัสสาวะ ทวารหนัก โดยผู้หญิงอายุ 21-65 ปี ควรเข้ารับการตรวจภายในทุกปี และเข้ารับการตรวจมะเร็งปากมดลูกทุก 3 ปี
  • ควบคุมน้ำหนักไม่ให้มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ เพราะการที่มีน้ำหนักมากอาจทำให้ฮอร์โมนในร่างกายเกิดความผิดปกติได้
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสหวาน ไขมันสูง และเค็ม
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • พักผ่อนให้เพียงพอ

โรคที่เกี่ยวข้องกับรังไข่ เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกคน ซึ่งบางครั้งอาจเกิดขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว ดังนั้น จึงควรหมั่นสังเกตอาการและความผิดปกติอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันความเสี่ยง ลดความรุนแรงของโรค

การตรวจสุขภาพ ตรวจระดับฮอร์โมนในร่างกาย และตรวจภายในอย่างสม่ำเสมอ ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยคัดกรองความเสี่ยงได้ 

สำหรับใครที่มองหากแพ็กเกจตรวจสุขภาพอยู่ ทักมาปรึกษา HDcare ได้เลย เราพร้อมช่วยแนะนำแพ็กเกจตรวจภายใน อัลตราซาวด์ช่องท้อง หรือตรวจมะเร็งมดลูก ดีลดี ราคาคุ้มค่า จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top