รู้หรือไม่ มะเร็งรังไข่ เป็นโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 2 ของมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิง รองจากมะเร็งปากมดลูก และผู้หญิง 1 ใน 70 คน มีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งรังไข่ ซึ่งความเสี่ยงจะเพิ่มสูงขึ้นอีก หากคนในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นมะเร็งรังไข่
จากสถิตินี้ทำให้เห็นว่ามะเร็งรังไข่ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเราเลย และผู้หญิงทุกคนก็มีโอกาสเสี่ยงป่วยเป็นโรคมะเร็งรังไข่ได้ ฉะนั้นมาทำความรู้จักมะเร็งรังไข่กันให้ละเอียดว่า มะเร็งรังไข่คืออะไร สาเหตุ อาการ วิธีรักษา และการป้องกันเป็นอย่างไร เพื่อจะได้ลดโอกาสเสี่ยงป่วยเป็นโรคมะเร็งรังไข่ลงได้
สารบัญ
โรคมะเร็งรังไข่ คืออะไร?
โรคมะเร็งรังไข่ (Ovarian Cancer) เป็นมะเร็งที่พบได้ในผู้หญิงทุกกลุ่มอายุ โดยเกิดจากการแบ่งตัวผิดปกติของเนื้อเยื่อบริเวณรังไข่ (Ovary) หรือท่อนําไข่ (Fallopian Tube) โดยเจริญเติบโตผิดปกติในรังไข่เพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง ทําให้รังไข่มีขนาดโตขึ้นเรื่อยๆ
มะเร็งรังไข่ส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการ จนกว่าจะอยู่ในระยะลุกลาม แพร่กระจาย ซึ่งมักกระจายไปตามเยื่อบุช่องท้อง เข้าสู่กระแสเลือด หรือทางเดินนํ้าเหลือง ทำให้บางครั้งอาจพบเชื้อมะเร็งที่ลุกลามไปยัง อุ้งเชิงกราน ปอดหรือตับได้
สาเหตุของโรคมะเร็งรังไข่ เกิดจากอะไร?
ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัด ถึงสาเหตุหลักที่ทำให้เป็นมะเร็งรังไข่ แต่ผู้ที่อยู่ในกลุ่มต่อไปนี้ มีโอกาสเสี่ยงที่จะป่วยเป็นมะเร็งรังไข่มากกว่ากลุ่มอื่นๆ ได้แก่
-
- ผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป
- ผู้ที่ไม่เคยตั้งครรภ์
- ผู้ที่มีประวัติเคยเป็นโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ลำไส้ใหญ่ หรือเต้านม
- คนในครอบครัวเคยมีประวัติป่วยเป็นโรคมะเร็งรังไข่
- ผู้ที่รับประทานยากระตุ้นให้ไข่ตก ต่อเนื่องกันนานเกิน 12 เดือน
- ผู้ที่มีประจำเดือนครั้งแรกตอนอายุน้อยกว่า 12 ปี และไม่ได้ตั้งครรภ์ และประจำเดือนหมดหลังอายุ 55 ปี
- ผู้ที่มีภาวะโรคอ้วน หรือมีน้ำหนักตัวเกิน
นอกจากนี้หลายการศึกษายังพบว่า ผู้ที่ใช้แป้งบริเวณอวัยวะเพศต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน จะมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งรังไข่สูงขึ้น เพราะแป้งอาจมีสารปนเปื้อนใดๆ ที่ซึมเข้าสู่ร่างกายได้
แม้ว่าสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งรังไข่ยังไม่แน่ชัด แต่หากพบว่าตัวเองมีความเสี่ยง แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคมะเร็งรังไข่ เพื่อให้มั่นใจได้ว่ารังไข่ของคุณยังสมบูรณ์แข็งแรงดี
มาทำความรู้จักรังไข่ให้มากขึ้น! รังไข่ คืออะไร เกิดอาการผิดปกติอะไรบ้าง วิธีรักษา ป้องกัน ครบ จบในที่เดียว คลิกอ่านต่อ
มะเร็งรังไข่ มีกี่ประเภท?
มะเร็งรังไข่แบ่งได้เป็น 3 ประเภท โดยความรุนแรงของโรคจะขึ้นอยู่กับประเภทของเซลล์ และระยะของโรค ดังนี้
- มะเร็งเยื่อบุผิวรังไข่ (Epithelial Cancers) เป็นกลุ่มพบบ่อยได้บ่อยที่สุด ประมาณ 90% ของมะเร็งรังไข่ทั้งหมด โดยพบได้บ่อยในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป มะเร็งชนิดนี้จะเกิดขึ้นบริเวณเยื่อบุผิว ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อที่ห่อหุ้มภายนอกรังไข่ นอกจากนี้ยังอาจเกิดที่บริเวณเยื่อบุผิวบริเวณท่อนำไข่ได้ด้วย
- เนื้องอกที่เกิดจากเซลล์สืบพันธุ์ (Germ Cell Ovarian Tumours) หรือมะเร็งฟองไข่ เป็นมะเร็งที่พบได้ไม่บ่อยนัก โดยอาจพบเพียง 5% ของมะเร็งรังไข่ทั้งหมด และมักพบในคนที่อายุไม่เกิน 30 ปี มะเร็งชนิดนี้เกิดจากเซลล์ที่จะพัฒนาไปเป็นไข่ เกิดความผิดปกติ
- เนื้องอกที่เกิดจากบริเวณเนื้อเยื่อในรังไข่ (Sex Cord Stromal Tumours) หรือมะเร็งเนื้อรังไข่ จัดอยู่ในกลุ่มโรคมะเร็งรังไข่ที่พบได้น้อยมาก เกิดจากความผิดปกติของเนื้อเยื่อที่มีหน้าที่สนับสนุนการทำงานของรังไข่ เช่น เซลล์ที่ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนเพศ Estrogen และ Progesteron เป็นต้น
มะเร็งรังไข่ มีอาการอย่างไร?
อาการของโรงมะเร็งรังไข่ที่บ่อยที่สุดได้แก่
- อาการท้องโตอืดขึ้น เนื่องจากในท้องมีน้ำหรือมีก้อนเนื้องอก
- เบื่ออาหาร
- อาหารไม่ย่อย
- ท้องผูก แน่นเฟ้อ
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ปัสสาวะบ่อย
- มีอาการปวดหลัง
- น้ำหนักตัวลด
- แน่นท้อง อึดอัดในท้อง ปวดท้อง ซึ่งอาจเป็นอาการของโรคที่ได้แพร่กระจายไปในช่องท้องมากแล้ว
อาการเบื้องต้นเป็นสัญญาณเสี่ยงว่าคุณอาจกำลังป่วยเป็นมะเร็งรังไข่ แนะนำให้รีบไปตรวจคัดกรองโดยเร็ว
แต่นอกจากนี้ยังมีอาการเฉียบพลัน รุนแรงที่เกิดจากโรคมะเร็งรังไข่ได้เช่นกัน เช่น ปวดท้องเฉียบพลันเพราะการบิดขั้วของเนื้องอก หรือมีก้อนแตกหรือเลือดออกในช่องท้อง หากมีอาการเหล่านี้ ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
สำหรับคุณผู้หญิงบางรายที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งรังไข่อาจไม่มีอาการ แต่สามารถพบโรคดังกล่าวจากการตรวจภายใน หรือการตรวจร่างกายทั่วไป
อาการที่เป็นอยู่ใช่โรคเกี่ยวกับรังไข่ไหม? อยากตรวจรังไข่เพิ่มเติมให้มั่นใจ ปรึกษาทีม HDcare หาแพ็กเกจราคาดี จาก รพ. ชั้นนำใกล้คุณได้ ที่นี่
โรคมะเร็งรังไข่ มีกี่ระยะ?
มะเร็งรังไข่มีทั้งหมด 4 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 เซลล์มะเร็งกระจายตัวอยู่ในเฉพาะบริเวณรังไข่เท่านั้น ยังไม่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ซึ่งมักไม่แสดงอาการใดๆ แต่หากตรวจภายในเป็นประจำทุกปี ก็มีโอกาสที่จะพบโรคในระยะนี้ได้ ทำให้ผ่าตัดรักษาได้ทันท่วงที
ระยะที่ 2 เซลล์มะเร็งเริ่มมีการแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่อรอบๆ รังไข่ แต่ยังอยู่ภายในอุ้งเชิงกราน ระยะนี้โรคก็ยังไม่แสดงอาการเช่นกัน
ระยะที่ 3 เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังเยื่อบุช่องท้องหรือต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง เป็นระยะที่ร่างกายเริ่มแสดงอาการผิดปกติ จึงเป็นระยะที่ตรวจพบมะเร็งบ่อยที่สุด ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ด้วยอาการท้องบวม ท้องแข็งตึง หน้าท้องขยายอย่างรวดเร็ว แต่น้ำหนักตัวกลับลดลง
ระยะที่ 4 เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปนอกช่องท้อง เช่น ลุกลามไปยัง ตับ ปอด เป็นต้น ผู้ป่วยจะมีอาการผิดปกติที่เห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น แน่นท้อง อึดอัดในท้อง ปวดท้องมาก น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว เป็นต้น
โดยส่วนใหญ่มะเร็งรังไข่ในระยะเริ่มแรก มักไม่แสดงอาการ ทำให้ผู้ป่วยไม่ทราบว่าร่างกายกำลังผิดปกติ และกว่าที่ร่างกายจะแสดงอาการ ก็เข้าสู่ระยะที่ 3 ซึ่งเซลล์มะเร็งมีการลุกลาม กระจายตัวไปยังอวัยวะข้างเคียงแล้ว ทำให้การรักษายากยิ่งขึ้น
ดังนั้นการตรวจร่างกาย ตรวจภายใน หรือตรวจเลือดคัดกรองความเสี่ยงโรคมะเร็งเป็นประจำทุกปี จะทำให้โอกาสที่จะตรวจพบแล้วรักษามีสูงขึ้น และโอกาสหายขาดก็จะสูงตามไปด้วย
มองหาแพ็กเกจตรวจภายใน ตรวจคัดกรองมะเร็งรังไข่อยู่รึเปล่า? ทักหาแอดมิน HDcare ได้เลย ช่วยค้นหาดีลดี ราคาโดนใจ จากโรงพยาบาลและคลินิกใกล้คุณได้ทันที
การรักษาโรคมะเร็งรังไข่ มีกี่วิธี?
การรักษาโรคมะเร็งรังไข่ มีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค ซึ่งบางครั้งการรักษาอาจต้องใช้หลายวิธีควบคู่กันไป เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาอีกครั้ง โดยมีวิธีการรักษาดังต่อไปนี้
- การผ่าตัดรักษา การผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งรังไข่นั้นมีหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับว่าตรวจพบเซลล์มะเร็ง ณ ตำแหน่งใด และระยะใด มีการแพร่กระจายหรือไม่ เช่น
หากพบเซลล์มะเร็งในรังไข่เพียงข้างเดียว และอยู่ในระยะที่ 1 ยังไม่แพร่กระจาย แพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัดรังไข่ออกเพียงข้างเดียว
แต่หากพบมะเร็งรังไข่ในระยะที่ 4 ซึ่งมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะข้างเคียง กรณีนี้จำเป็นต้องผ่าตัดรังไข่ออกทั้งหมด รวมทั้งผ่าตัดนำอวัยวะทุกส่วนที่มีการแพร่กระจายออกให้ได้มากที่สุด
ทั้งนี้เทคนิคการผ่าตัดมะเร็งรังไข่ มี 2 เทคนิคหลักๆ คือ การผ่าตัดถุงน้ำในรังไข่แบบเปิดหน้าท้อง หรือการผ่าตัดแบบดั้งเดิม และ การผ่าตัดถุงน้ำในรังไข่โดยการส่องกล้องผ่านทางหน้าท้อง แพทย์จะเป็นผู้แนะนำวิธีการผ่าตัดให้เหมาะกับอาการของโรคต่อไป
- การใช้เคมีบำบัด คือการใช้สารเคมีทำลายเซลล์มะเร็งภายในร่างกาย วิธีนี้มักจะใช้คู่กับการผ่าตัดรักษา ซึ่งจากข้อมูลทางการแพทย์พบว่า 75-80% ของผู้ป่วยโรคมะเร็งรังไข่ มีการตอบสนองต่อยาเคมีบำบัดเป็นอย่างดี โดยการให้เคมีบำบัดมีด้วยกัน 2 วิธี คือ
-
- การให้เคมีบำบัดหลังการผ่าตัด (Adjuvant Chemotherapy) หลังจากผ่าตัดนำก้อนที่มีเชื้อมะเร็งออกแล้ว แพทย์จะให้ยาเคมีบำบัด 4-6 ครั้ง ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 3-6 เดือน แพทย์จะรักษาด้วยวิธีนี้ กรณีที่คิดว่า การผ่าตัดอาจนำเนื้อร้ายออกไม่หมด อาจมีเซลล์มะเร็งเล็กๆ ที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็นหลงเหลืออยู่ หรือการผ่าตัดนั้นยาก
- การให้เคมีบำบัดก่อนการผ่าตัด (Neo-Adjuvant Chemotherapy) หลังจากตรวจจนแน่ชัดแล้วว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งรังไข่ ในกรณีที่ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ ผ่าตัดได้ยาก มีความเสี่ยงสูง แพทย์อาจจะให้ยาเคมีบำบัดก่อนการผ่าตัด ซึ่งจะช่วยให้ก้อนมีขนาดเล็กลง ทำให้การผ่าตัดง่ายยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ในผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ระยะที่ 4 แพทย์อาจพิจารณาให้เคมีบำบัดเพียงอย่างเดียว เพราะไม่สามารถผ่าตัดนำเซลล์มะเร็งออกได้หมด เนื่องจากมีการลุกลามไปยังอวัยวะหลายส่วน
ทั้งนี้ยาเคมีบำบัด มีทั้งชนิดรับประทานและชนิดฉีด ซึ่งส่วนใหญ่แพทย์จะใช้ชนิดฉีด โดยยาเคมีบำบัดนี้ นอกจากจะเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็งแล้ว ยังเข้าไปทำลายเซลล์ปกติด้วย ผู้ป่วยจึงอาจมีอาการข้างเคียงตามมา เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง ซีดเซียว ติดเชื้อง่ายกว่าปกติ เป็นต้น
3. การฉายรังสี หรือ การฉายแสง (Radiotherapy) คือ การใช้รังสีพลังงานสูง ฉายไปที่ตำแหน่งของเซลล์มะเร็ง เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งนั้นๆ โดยจะทำการฉายรังสีอย่างต่อเนื่องจนเซลล์มะเร็งตาย หรือทำให้ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กลง โดยทั่วไปการให้รังสีรักษามี 2 วิธีคือ
-
- การให้รังสีจากเครื่องที่อยู่ภายนอกร่างกาย (External Beam Radiotherapy) เป็นการฉายรังสีพลังงานสูง จากเครื่องฉายรังสี ผ่านชั้นผิวหนังลงไปสู่ก้อนมะเร็ง โดยข้อดีของวิธีนี้คือ สามารถปรับความเข้มข้นของรังสีได้ตามขนาดและความหนาของก้อนมะเร็ง ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพ และช่วยลดโอกาสที่รังสีจะกระทบต่ออวัยวะข้างเคียงลงได้
- การฉายรังสีรักษาระยะใกล้ (Brachytherapy) คือการฝังแร่กัมมันตรังสี เข้าไปในก้อนมะเร็ง หรือใกล้กับก้อนมะเร็ง ซึ่งมีทั้งการฝังแบบถาวร และการฝังแบบชั่วคราว เพื่อให้รังสีทำลายเซลล์มะเร็ง แต่ปัจจุบันไม่นิยมใช้รังสีในการรักษามะเร็งรังไข่
การรักษามะเร็งด้วยวิธีการฉายรังสีจากเครื่องที่อยู่ภายนอกร่างกาย ถือเป็นวิธีที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย และมีประสิทธิภาพสูงมาก เพราะด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่สามารถกำหนดตำแหน่งที่จะฉายรังสีได้อย่างแม่นยำ ทำให้เนื้อเยื่อโดยรอบมีโอกาสได้รับรังสีน้อยมาก จึงช่วยลดผลข้างเคียง และควบคุมโรคได้ดี มีประสิทธิภาพขึ้น
แต่ก็อาจจะยังมีผลข้างเคียงอยู่บ้าง เช่น หลังทำแล้วมีอาการอ่อนเพลีย น้ำหนักลด เบื่ออาหาร ปัสสาวะลำบาก เป็นต้น
4. การให้ยารักษามุ่งเป้า (Targeted Therapy) เป็นการรักษาโดยการใช้ยาที่ออกฤทธิ์ทำลายเซลล์มะเร็ง โดยไม่มีผลกระทบเซลล์ปกติ หรือส่งผลกระทบน้อยกว่าการใช้ยาเคมีบำบัด หรือรังสีรักษา โดยส่วนใหญ่จะใช้รักษามะเร็งรังไข่ในระยะลุกลาม แบ่งได้ 2 ประเภทหลักๆ ได้แก่
-
- ยากลุ่ม Anti-angiogenesis กลุ่มนี้เป็นยาฉีด ออกฤทธ์ิยับยั้งกระบวนการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ลดการเจริญเติบโตของเส้นเลือดที่มาเลี้ยงก้อนมะเร็ง ทำให้เซลล์มะเร็งไม่ได้รับออกซิเจนและสารอาหาร และตายในที่สุด
- ยามุ่งเป้าที่มีเป้าหมายเฉพาะต่อเอนไซม์ PARP (Poly ADP-ribose Polymerase) กลุ่มนี้เป็นยาชนิดรับประทาน ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ PARP ซึ่งทำหน้าที่ในการซ่อมแซม DNA ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญในการเจริญเติบโตและการแบ่งเซลล์มะเร็ง ทำให้เซลล์มะเร็งฝ่อและตาย
ส่วนใหญ่แพทย์จะใช้วิธีนี้ควบคู่กับการทำเคมีบำบัด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา โดยเซลล์มะเร็งจะตอบสนองต่อการรักษานี้ได้ดีกว่าการใช้เคมีบำบัดเพียงอย่างเดียว
5. การรักษาด้วยฮอร์โมน เป็นการใช้ฮอร์โมนหรือสารต้านฮอร์โมน เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง เนื่องจากเซลล์มะเร็งบางประเภทเติบโตได้จากฮอร์โมนเอสโตรเจน
ส่วนใหญ่วิธีนี้จะใช้รักษาในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งรังไข่ที่มีการแพร่กระจายช้า หรือใช้ในรายที่เป็นมะเร็งซ้ำ
6. การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด เป็นวิธีการใช้ภูมิคุ้มกันต่อสู้กับเซลล์มะเร็ง โดยการใช้ยาเข้าไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้กำจัดเซลล์มะเร็งเอง ซึ่งมีโอกาสที่ร่างกายจะตอบสนองต่อการรักษามะเร็งในระยะยาว และมีผลข้างเคียงน้อยกว่าการทำเคมีบำบัด
7. การดูแลรักษาแบบประคับประคอง เป็นวิธีการรักษามะเร็งในผู้ป่วยที่อยู่ในระยะท้าย ที่มะเร็งมีการลุกลาม แพร่กระจายค่อนข้างมาก โดยจะมุ่งเน้นดูแลรักษาตามอาการ เพื่อให้ผู้ป่วยรวมทั้งคนรอบข้าง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น บรรเทาอาการเจ็บปวดของผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด
ป่วยเป็นมะเร็งรังไข่ ควรเลือกวิธีรักษาแบบไหน อยากปรึกษาคุณหมอเฉพาะทาง หรือขอความเห็นที่ 2 ก่อนเริ่มผ่าตัด ทักหาทีมงาน HDcare ทำนัดได้สะดวก คิวเร็ว ไม่ต้องคอยนาน ปรึกษาฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่ต้องรอคิวนาน คลิกที่นี่เลย
การป้องกันโรคมะเร็งรังไข่
เนื่องจากโรคมะเร็งรังไข่ยังไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด รวมทั้งยังไม่มีวิธีการป้องกันที่พิสูจน์ได้อย่างชัดเจน แต่มะเร็งรังไข่ เป็นโรคที่หากพบเร็ว จะมีโอกาสรักษาให้หายได้สูงขึ้น ดังนั้นวิธีป้องกันโรคมะเร็งรังไข่ที่ทำได้คือ การตรวจคัดกรองโรคเป็นประจำ
สำหรับผู้หญิงอายุ 21-65 ปี ควรเข้ารับการตรวจภายในและตรวจอัลตราซาวด์ทุกปี หากพบความผิดปกติจะได้รักษาได้ทัน
สำหรับผู้ที่มีภาวะไข่ไม่ตก และมีการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดติดต่อกันนานเกิน 5 ปี สามารถลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งรังไข่ลงได้ครึ่งหนึ่ง
นอกจากนี้ควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ เช่น ออกกำลังกายเพื่อไม่ให้มีน้ำหนักเกิน กินอาหารที่มีประโยชน์ ลดอาหารจำพวกไขมัน สิ่งเหล่านี้สามารถช่วยป้องกันโรคมะเร็งรังไข่ได้ส่วนหนึ่ง และยังป้องกันโรคอื่นๆ ที่จะตามมาได้ด้วย
หากต้องการข้อมูลเกี่ยวกับการรักษามะเร็งรังไข่เพิ่มเติม หรืออยากขอความเห็นที่ 2 จากคุณหมอเฉพาะทางด้านสูตินรีเวช ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย