โรคอ้วน นับเป็นหนึ่งในโรคที่พบบ่อยที่สุดโรคหนึ่งของประชากรทั่วโลก แม้ตัวโรคเองจะดูไม่อันตราย แต่เป็นต้นเหตุของโรคร้ายแรงหลายๆ โรค ไม่ว่าจะเป็น โรคหลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน รวมทั้งมะเร็ง
ส่วนใหญ่การตรวจคัดกรองเบื้องต้น ทำได้ง่ายๆ โดยการคำนวณค่า BMI แล้วนำตัวเลขไปเทียบตารางแปรผล ซึ่งจะทำให้ทราบว่าคุณน้ำหนักน้อยเกินไป อยู่ในเกณฑ์ปกติ เข้าขั้นเป็นโรคอ้วน หรืออยู่ในภาวะอ้วนมาก อย่างไรก็ตามวิธีนี้มีข้อจำกัดอยู่ คือ น้ำหนักที่นำมาคำนวณไม่มีการแยกไขมันกับกล้ามเนื้อ ดังนั้นตัวเลขที่บ่งบอกว่าเป็นโรคอ้วนจริงๆ แล้วอาจมาจากน้ำหนักของกล้ามเนื้อก็ได้
ถ้าอย่างนั้นจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเข้าข่ายเป็นโรคอ้วนหรือเปล่า? HDcare รวบรวมสัญญาณอื่นๆ ที่น่าสังเกตควบคู่ไปกับการคำนวณค่า BMI มาให้ 5 ข้อ ถ้าพบสัญญาณเสี่ยงข้อใดข้อหนึ่ง คุณควรพิจารณาการลดน้ำหนัก หรือปรึกษาแพทย์ เพื่อวางแผนการรักษาต่อไป
สารบัญ
1. ร่างกายมีลักษณะอ้วนลงพุง
แม้คำนวณค่า BMI แล้วแปรผลว่าน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือน้ำหนักเกินเล็กน้อย แต่ถ้าสังเกตพบว่าตัวเองมีรูปร่างอ้วนลงพุง มีไขมันสะสมบริเวณท้องปริมาณมาก หรือวัดรอบเอวแล้วพบว่ามีค่าตั้งแต่ 90 เซนติเมตรขึ้นไปในผู้ชาย หรือตั้งแต่ 80 เซนติเมตรขึ้นไปในผู้หญิง ควรพิจารณาลดน้ำหนักหรือรับการตรวจโดยแพทย์ว่าเป็นโรคอ้วนหรือไม่
ภาวะอ้วนลงพุงอาจบ่งชี้ถึงภาวะมีไขมันเกาะที่อวัยวะภายในช่องท้อง ซึ่งเป็นอันตราย โดยผู้มีภาวะอ้วนลงพุงจะมีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและเบาหวานชนิดที่ 2 มากกว่าผู้ที่ไม่มีภาวะนี้
2. หยุดกินไม่ได้ รู้สึกหิวอยู่ตลอดเวลา
“หิวตลอด กินเท่าไรก็ไม่อิ่ม” อาจไม่ใช่สาเหตุ ที่ทำให้ลดน้ำหนักไม่ได้ แต่เป็น อาการหนึ่งของผู้ที่เป็นโรคอ้วนระยะที่ต้องรับการรักษา
ผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนส่วนใหญ่มักค่อยๆ พัฒนาภาวะที่เรียกว่า “ดื้อเลปติน” ขึ้น โดยเลปตินเป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่เซลล์ไขมันผลิตออกมา ออกฤทธิ์สั่งการสมองให้รู้สึกอิ่ม แต่ในผู้ที่เป็นโรคอ้วน มีไขมันในเลือดสูง เลปตินจะถูกผลิตออกมามากจนตัวรับเลปตินในสมองทำงานน้อยลง เป็นผลทำให้รู้สึกหิวอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะกินมากเท่าไรก็ไม่รู้สึกอิ่ม
3. หายใจหอบ เมื่อทำกิจวัตรประจำวัน
ถ้ามีน้ำหนักตัวมาก คำนวณค่า BMI แล้วได้ผลตั้งแต่ 25 ขึ้นไป ร่วมกับเหนื่อยง่ายกว่าปกติ สังเกตจากการเดินในระยะเท่าเดิม ขึ้นบันไดระยะเท่าๆ เดิม ทำกิจกรรมง่ายๆ แต่กลับมีอาการหอบ นั่นเป็นสัญญาณบอกว่าโรคอ้วนอาจส่งผลให้การทำงานของปอดเปลี่ยนแปลงหรือเกิดการอักเสบขึ้น
อาการหอบในผู้เป็นโรคอ้วนมักเกิดเมื่อไขมันไปสะสมมากบริเวณช่องอก (ซึ่งมักเป็นร่วมกับอาการอ้วนลงพุง) ส่งผลให้ปอดขยายตัวได้น้อยกว่าปกติ ถ้าเป็นมาก แม้ในขณะนั่งพัก ก็อาจมีอาการหายใจสั้นๆ ตื้นๆ
นอกจากนี้โรคอ้วนยังทำให้ทางเดินหายใจตีบแคบลง ในกรณีรุนแรงที่สุดคือทำให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจขึ้นได้
ถ้าปล่อยเอาไว้นาน ไม่รักษา อาการเหล่านี้มักนำไปสู่ภาวะอันตรายต่อร่างกายอื่นๆ เช่น กลุ่มอาการเกี่ยวกับการเผาผลาญที่ผิดปกติ (Metabolic Syndrome) การผลิตฮอร์โมนไม่สมดุล ภาวะหายใจผิดปกติขณะนอนหลับ
4. นอนไม่ค่อยอิ่ม เพลียตลอดเวลา
ภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน ทำให้เกิดไขมันสะสมบริเวณช่องคอ ซึ่งเวลาที่เราหลับ กล้ามเนื้อผ่อนคลาย ไขมันนี้ก็จะหย่อนลงมาขวางทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้หายใจเข้าเอาอากาศเข้าสู่ร่างกายได้ยากขึ้น เกิดเป็นเสียงกรน หรือถ้าไขมันหย่อนลงมามากอาจเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea) ได้
นอกจากนี้ ผู้มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนยังมักมีไขมันสะสมมากในช่องอก ทำให้ปอดจุอากาศได้น้อยลง อากาศที่จะถูกปล่อยออกมาเมื่อหายใจออกจึงน้อยลงกว่าปกติ ยิ่งทำให้ชั้นไขมันที่ทางเดินหายใจส่วนบนหย่อนลงได้มากขึ้นอีก
ทั้งนี้การนอนไม่พอ ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของทั้งตัวผู้ป่วยเองและคนใกล้ชิดค่อนข้างมาก ด้านกายภาพคือเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่างๆ เช่น ความดันสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานชนิดที่ 2 กลุ่มอาการเกี่ยวกับการเผาผลาญที่ผิดปกติ ฯลฯ และยังส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต เช่น ความสามารถในการจดจ่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งน้อยลง หงุดหงิดง่ายขึ้น ถ้ามีภาวะซึมเศร้า แพนิก ไบโพลาร์อยู่ก่อนแล้ว การนอนไม่พอยังอาจทำให้ภาวะดังกล่าวแย่ลงอีก
ถ้ามีน้ำหนักตัวมากเกินค่า BMI มาตรฐาน ร่วมกับมีปัญหาการนอน จนทำให้ช่วงเวลากลางวันรู้สึกไม่สดชื่น ง่วงอยู่ตลอดเวลา ควรปรึกษาผู้ชำนาญการหรือแพทย์เพื่อแก้ไขตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะในขณะที่โรคอ้วนทำให้นอนหลับไม่ค่อยดี ปัญหาการนอนก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้น้ำหนักขึ้นด้วย ความเสี่ยงในการมีภาวะสุขภาพร้ายแรงก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น
5. อาการของโรคประจำตัวที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วนแย่ลง
ถ้ามีโรคประจำตัวซึ่งเกี่ยวข้องกับโรคอ้วนอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เบาหวานชนิดที่ 2 ฯลฯ แล้วรู้สึกว่าอาการของโรครุนแรงขึ้น หรือเมื่อตรวจติดตามโรคแล้วพบว่าภาวะโรคที่เป็นอยู่นั้นแย่ลง ควรพิจารณาลดน้ำหนักตัว เพื่อบรรเทาอาการของโรคที่ต้นเหตุ
แม้โรคที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วนจะสามารถบรรเทาได้ด้วยยา แต่การรับประทานยามากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อการทำงานของตับหรือไตได้ โดยทั่วไปการลดน้ำหนักจึงให้ประโยชน์มากกว่า โดยถ้าไม่สามาถทำด้วยตัวเอง ก็ยังมีการลดน้ำหนักด้วยตัวช่วยทางการแพทย์เป็นทางเลือก
8 วิธีรักษาโรคอ้วน ด้วยตัวช่วยทางการแพทย์ คลิกอ่านต่อ
เมื่อคุณรู้สึกว่าตัวเองหรือคนใกล้ชิดมีสัญญาณเข้าข่ายโรคอ้วน ไม่จำเป็นต้องรอให้มีอาการเจ็บป่วยอย่างชัดเจน แล้วค่อยปรึกษาแพทย์ แต่สามารถพบแพทย์หรือผู้ชำนาญการ เพื่อรับคำปรึกษาได้ทันที ซึ่งจะทำให้แก้ไขได้ง่ายกว่า โดยผู้เป็นโรคอ้วนระยะแรกอาจไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยยาหรือการผ่าตัดใดๆ เพียงแค่รับประทานอาหารตามแผนที่ผู้ชำนาญการแนะนำ ร่วมกับออกกำลังกาย น้ำหนักก็อาจกลับเข้าสู่เกณฑ์ปกติได้
ค่า BMI สูง มีพุง รู้สึกสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง แต่ยังไม่แน่ใจว่าจำเป็นต้องจัดการอะไรรึยัง ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย